เดินไปในเงาฝัน : ลูกค้าอยู่ไหน จับปลาที่นั่น

จริงๆ แล้วทุกคนคงประจักษ์ชัดกับตัวเองอยู่แล้วว่าโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใครตามโลก ตามเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน

โอกาสตกสมัยย่อมมีสูง

โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย ที่พยายามปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของตัวเองเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเวลานี้

มองเผินๆ เหมือนเรื่องดังกล่าวเป็นนามธรรม เพราะหาทฤษฎีไหนมากล่าวอ้างให้เกิดเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะจากข้อมูลผ่านมาหลายคนพูดกันไปในหลายมิติ

Advertisement

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าแล้วจะทำอย่างไร ถึงจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้?

จนเมื่อมีโอกาสไปนั่งฟังสัมมนาของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ที่จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันผ่านมา ในหัวข้อ “ธุรกิจไทย ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” ซึ่งมีวิทยากรหลายท่าน จากหลายวงการมาบอกเล่าถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

จึงทำให้รูปธรรมค่อยๆ ชัดขึ้น

Advertisement

โดยเฉพาะกับคำพูดของ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองว่าการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในวันที่โลกไม่เหมือนเดิมจะต้องปรับตัวหลายแนวทางประกอบกัน

fun11290559p1
“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ไม่ว่าจะขี่กระแสไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, เปลี่ยนชัยภูมิไปผลิต หรือค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน, ยกระดับคุณภาพสินค้าด้วยการสร้างนวัตกรรม, หาพันธมิตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือถอยมาตั้งหลัก หรือขยับออกข้างเสียบ้าง”

“เพราะโลกตอนนี้ไม่หยุดนิ่ง ด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ 20 ปีก่อน ทั่วโลกมีอินเตอร์เน็ตใช้เพียง 1% ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งหรือ 3,400 ล้านคน เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้แล้ว สำหรับประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มจาก 6 ล้านคน เป็น 39 ล้านคน”

“ปัจจัยต่อมาคือโครงสร้างของประชากร คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี กว่า 20% ของประชากรโลก ประเทศไทยก็มีแนวโน้มอย่างนั้นเช่นกัน จึงไปสอดรับกับปัจจัยที่สามที่ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนมาที่จีนและอินเดีย และคาดว่าภายในปี 2030 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า จีนกับอินเดียจะมีสัดส่วนจีดีพีรวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก”

ดังนั้น คาดว่าอำนาจซื้อในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มสูงขึ้น และศูนย์กลางการค้าจะย้ายมาอยู่เอเชีย จนทำให้เกิดการลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐและยุโรป

ส่วนปัจจัยสุดท้าย “ดร.ประสาร” มองไปที่กฎ กติกา และมาตรฐานหลายเรื่องจะมีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น คำตือนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย การแชร์ในโซเชียลมีเดียเรื่องตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผัก ผลไม้ออร์แกนิก ฯลฯ

“ตรงนี้สะท้อนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในที่หนึ่งๆ จะแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งยังประเมินขนาดผลกระทบได้ยาก การดำเนินธุรกิจจะคิดเพียงผลิต และส่งมอบสินค้าเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสายการผลิต”

อันไปสอดรับกับความคิดของ “เรืองโรจน์ พูนผล” หรือ “กระทิง” ผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์ ที่มองว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะมีอายุสั้นลงเรื่อยๆ เช่น บริษัทใน S&P 500 ในปี 2501 เคยมีอายุเฉลี่ย 61 ปี

201605241537022-20110316141825
“เรืองโรจน์ พูนผล” หรือ “กระทิง” ผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์

“แต่พอปี 2523 อายุเฉลี่ยลดลงมาเหลือ 25 ปี ปัจจุบันเหลือแค่ 18 ปี และในปี 2570 คาดว่า 75% ของบริษัทใน S&P 500 จะถูกแทนที่โดยบริษัทใหม่ ข้อนี้พิสูจน์เรื่องการอยู่ในยุคทำลายล้างเพื่อสร้างสรรค์อย่างชัดเจน เพราะธุรกิจตอนนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง และอีก 10 ปีข้างหน้าธุรกิจต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีอย่างมากที่สุด”

“ธุรกิจยุคทำลายล้างเพื่อสร้างสรรค์มีหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนคือสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตเป็น 10 เท่าตัวทุกปี กลุ่มนี้สามารถสร้างสรรค์ เพื่อทำลายผ่านการนำเรื่องอินเตอร์เน็ตออฟทิงส์, บิ๊กดาต้า, บล็อกเชน, เอไอ, นาโนเทคโนโลยี, แพสซีฟคอมพิวติ้ง และอื่นๆ มาแข่งขันกับธุรกิจดั้งเดิม เช่น แกร็บ ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สามารถสร้างมูลค่าสูงถึง 1,800 ล้านดอลลาร์”

หรือสตาร์ตอัพด้านบริการทางการเงิน หรือฟินเทค ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และให้บริการด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ตอนนี้เรียกว่าฟินเทคยุค 1.0 หรือการแบ่งผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารออกเป็นชิ้นๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละเรื่อง

ถามว่าทำยากไหม?

ไม่ยาก ถ้าเรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และกล้าที่จะทำให้ลูกค้ายอมรับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งเหมือนกับ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ผู้บริหารระดับสูงของสยามพิวรรธน์ ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

“ชฎาทิพ” บอกว่าธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าแข่งขันกันร้อนแรง และดุเดือดทุกวินาที

จนทำให้สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะถ้าเราช้าเพียงเสี้ยววินาที จะมีผลต่อแคมเปญ อีเวนต์ และกิจกรรมทางการตลาด

-------------------------1
“ชฎาทิพ จูตระกูล” ผู้บริหารระดับสูงของสยามพิวรรธน์

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงให้ความสำคัญกับสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ สินค้าแบรนด์เนม ด้วยการบินไปคุยกับเจ้าของสินค้า หรือเจ้าของแบรนด์ระดับโลกด้วยตนเอง

เพื่อชักชวนเขามาลงทุน

“ชฎาทิพ” บอกว่าเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และรองรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงทุกเวลา

“พื้นที่แต่ละศูนย์การค้าเราไม่ใหญ่ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องมีความหมาย ซึ่งเหมือนกับเทรนด์ของตลาดออนไลน์ขณะนี้ ถามว่ากลัวไหม กังวลไหม ไม่กังวล แต่เราต้องปรับตัว โดยเฉพาะเมื่อรูปแบบค้าปลีกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยโมเดลการขายออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ”

“ยิ่งทำให้เราต้องตอกย้ำภาพความแตกต่างของศูนย์การค้าว่าทำไมผู้บริโภคต้องมาที่ศูนย์การค้า ก็เพราะเราวางทิศทางการตลาด ด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวสินค้า บริการ และแคมเปญอีเวนต์ต่างๆ ตลอดมา ดังนั้น เมื่อเราออกสินค้าใหม่ ยังไงเขาก็ต้องมา”

ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องง่าย

แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องยากมาก

เพราะทุกวันนี้โอกาสอยู่ในมือเราทุกคน แค่คลิก สไลด์ หาข้อมูล สินค้าทุกอย่างก็จะมาอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้ว ดังนั้น ถ้าสรุปจากสามวิทยากร จากสามความเชื่อ ที่เกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในวันที่โลกไม่เหมือนเดิมคือเราต้องรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร

อยู่ที่ไหน ?

“เราถึงออกไปจับปลาที่นั่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image