จิปาถะ ส.พลายน้อย : หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (197) พระลามสำนวนลาว และพระรามชาดก

ภาพจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เรื่อง “พระลามชาดก” หรือ “พระรามชาดก” ที่เล่าจบไปในตอนที่แล้วเป็นเรื่องของลาว ที่เพื่อนคนหนึ่งบอกว่ามีอยู่หลายสำนวน เพื่อนคนนั้นเป็นชาวอีสานและมีญาติอยู่ฝั่งลาว เขาเล่าว่าสมัยเขาเป็นเด็กเคยเห็นชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถือดอกไม้ธูปเทียนไปฟังเทศน์ที่วัด พระจะเทศน์เรื่องชาดกต่างๆ ให้ฟัง เรื่องพระลามชาดกก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนชอบฟังกันมาก ฟังกันหลายวันกว่าจะจบ บางเรื่องที่ใช้เทศน์ผมนำมาเขียนเล่าทางสถานีวิทยุศึกษาเมื่อหลายสิบปีมาแล้วเช่นเรื่องเสียวสวาด เป็นต้น

เรื่องพระลามชาดกเป็นเรื่องโบราณเก่ามาก ประมาณกันว่าจะนานกว่าสองร้อยหรือสามร้อยปีมาแล้ว ก็อยู่ในยุคเดียวกับรามเกียรติ์ของไทย แต่เนื้อเรื่องไม่เหมือนกันเลย จนดูเหมือนว่าลาวจะได้เค้าเรื่องพระรามไปจากที่ใดที่หนึ่งแล้วแต่งให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศลาวเอง ชื่อคนชื่อเมืองจึงเป็นแบบลาว และแฝงคติประเพณีความเชื่อไว้หลายแห่งที่คนอีสานและคนในชนบทของไทยยังเชื่ออยู่ก็มี เช่น เรื่องปลิงเกาะให้ใช้น้ำลายบ้วนลงที่ตัวปลิง ก็เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ครั้งเป็นเด็ก

บางทีจะเป็นด้วยความนิยมฟังเรื่องพระลามชาดกกันมากนี่เองจึงปรากฏว่าเรื่องของพระลามมีแพร่หลายทั้งในประเทศลาวและในประเทศไทย มีผู้นำไปแต่งเป็นหนังสือเทศน์สั้นบ้าง ยาวบ้าง ตั้งชื่อเสียใหม่บ้าง แต่อ่านแล้วก็สนุก มีผู้อ่านหนังสือ “มติชน” วันอาทิตย์คนหนึ่งอายุ 75 ปี อยู่ใกล้วัดไก่เตี้ยไปพบผมที่บ้านจะขอซื้อเรื่อง “หนุมาน” ไปอ่านให้จบ เพราะร้านขายหนังสือพิมพ์เขาหยุดขายวันอาทิตย์ ท่านบอกว่าไม่เคยอ่านรามเกียรติ์มาก่อน เพิ่งมาอ่านเห็นว่ามีหลายสำนวนหลายประเทศ เป็นเรื่องแปลกๆ แตกต่างกันไปสนุกดี มีเรื่องที่ท่านขอให้เขียนเพิ่มเติมอยู่ 2 เรื่อง คือ ท่านอยากรู้ว่า ลำดับสกุลของพระรามมีมาอย่างไร กับเรื่องของพระรามที่เล่ากันในอินเดียยังมีอะไรที่ไม่ได้เล่าอีกบ้าง

ความจริงเรื่องพระรามและเรื่องหนุมานของอินเดียมีมาก ยิ่งเรื่องของพระลามสำนวนลาวก็ยิ่งยาวจนเกรงว่าจะเขียนไม่จบ เพราะผมอายุ 90 ปีแล้ว สายตาและเรี่ยวแรงก็น้อยลง จึงคิดว่าที่พอจะเป็นไปได้ก็คือเรื่องลำดับสกุลหรือพงศาวดารของพระรามตามตำนานของอินเดีย น่าจะเก็บความมาเล่าได้บ้าง เพราะมีบางตำนานที่เล่าแปลกออกไปจากที่เราเคยฟังเคยอ่านพบมา เช่น เรื่องเศียรของพระคเนศนั้นก็ว่าแต่เดิมเป็นหัวช้างซึ่งเป็นพาหนะของพระอินทร์ ซึ่งในตำนานอื่นไม่ได้กล่าวถึงอ้างแต่ว่าเป็นหัวช้างธรรมดา

Advertisement

ผมยังไม่แน่ใจว่าจะเล่าเรื่องไหนก่อน อากาศร้อนอย่างนี้สมองมึนทึบจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image