อาศรมมิวสิค : ‘RBSO กับโมซาร์ทชั้นครู TPO กับเพลงร่วมสมัยอันโฉบเฉี่ยว’ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เป็นอีกครั้งหนึ่ง (และคงจะมีอีกหลายๆ ครั้งต่อไป) ที่วงออเคสตราชั้นนำของไทยทั้งสองวงคือ RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) และวง TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) จัดรายการแสดงคอนเสิร์ตตรงกันในวัน-เวลาเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการแย่งผู้ชม (อันมีน้อยอยู่แล้ว) ให้ต้องตัดสินใจเลือกเพียงรายการเดียว

สำหรับในครั้งนี้ไม่ว่าใครจะเลือกรายการไหน คุณตัดสินใจไม่ผิดในทุกกรณีเพราะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทั้งสองวงคู่ขวัญนี้ทำงานได้น่าประทับใจน่ากล่าวขวัญถึงด้วยกันทั้งคู่ สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว ไม่ยอมพลาดทั้งสองรายการหลังชมวง RBSO ในวันศุกร์ที่ 17 แล้ว วันรุ่งขึ้นเสาร์ที่ 18 พ.ค.ก็ไปชมคอนเสิร์ต TPO ในรายการเดียวกันได้อีก เพราะโชคดีที่ธรรมเนียมปฏิบัติของวง TPO จะจัดคอนเสิร์ตรายการเพลงเดียวกันสองรอบคือ ในค่ำวันศุกร์และบ่ายวันเสาร์ในวันรุ่งขึ้น

ผู้เขียนชอบใจเสมอกับคำว่า “ประสบการณ์ดนตรี” เพราะการชมดนตรีคลาสสิกในการบรรเลงจริงๆ จะให้ประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ๆ กับเราเสมอ มันคือประสบการณ์อันมีค่าทั้งสำหรับตัวผู้บรรเลงและตัวผู้ชม ซึ่งคอนเสิร์ตโดยวง RBSO ในครั้งนี้ ซึ่งอำนวยเพลงโดย “สเตฟานอส ทสิอาลิส” (StefanosTsialis) วาทยกรรับเชิญชาวกรีซในครั้งนี้ ได้สร้างประสบการณ์ดนตรีอันมีคุณค่าให้กับบรรดานักดนตรีในวง RBSO (โดยเฉพาะนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ)

และบทเพลงในครั้งนี้ที่ควรค่าแก่คำว่าประสบการณ์ดนตรีที่ดี ก็เห็นจะได้แก่บทเพลงคลาริเนตคอนแชร์โต ผลงานลำดับที่ 622 (K.622) ของวอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท (W.A.Mozart) ที่ได้ศิลปินเดี่ยวคลาริเนตผู้สูงด้วยรสนิยม, พื้นเพ, การศึกษาและสายเลือดทางดนตรี คือ
“ดิมิทริ อาชเคนาซี” (Dimitri Ashkenazy) ลูกชายคนโตของ “วลาดิเมียร์ อาชเคนาซี” (Vladimir Ashkenazy) ศิลปินเดี่ยวเปียโนและวาทยกรชื่อก้องโลก ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเครื่องปี่คลาริเนตแบบย้อนยุค ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีย้อนยุคทั้งวงแบบที่ในยุโรปกำลังกลับมานิยมกันใหม่ แต่ดิมิทริสามารถพาเราย้อนกลับไปสู่จินตนาการของความงามแห่งดนตรีในศตวรรษที่ 18 ได้อย่างกระจ่างชัด ซึ่งประเด็นที่ชัดเจนที่สุดก็เห็นจะได้แก่เรื่องของวิธีการในทางการใช้ภาษาดนตรีของเขา

Advertisement

ภาษาดนตรีสากลแห่งศตวรรษที่ 18 ซึ่งยังคงพูดจากันอย่างละเมียดละไมสุภาพอ่อนโยน (ก่อนที่จะถูกทุบทำลายโดยเบโธเฟน!) วงดนตรีที่ถูกลดขนาดลงจนเกือบจะเป็นเชมเบอร์ออเคสตรา ต้องยกความดีเป็นอย่างมากให้กับวาทยกร สเตฟานอส ทสิอาลิส ที่สามารถสาธิตในสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ศิลปะแห่งการบรรเลงคลอ (Art of Accompaniment) ได้อย่างงดงาม นำวงดนตรีผสานเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับการบรรเลงเดี่ยวคลาริเนตได้อย่างเรียบเนียนไร้ตะเข็บรอยต่อ

เสียงปี่คลาริเนตของดิมิทริ เป็นเสียงทึบเนียน อวดช่วงเสียงต่ำอันสุขุมและเนื้อเสียงราวกับแพรไหม (Silky Tone), นิ่งเรียบสะท้อนธรรมชาติพิเศษของเครื่องดนตรีชนิดนี้ก็คือไม่ต้องเพิ่มเติมการสั่นไหวใดๆ (Vibrato) เพื่อเติมสีสันทางอารมณ์เข้าไปเสมือนเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ความงามในน้ำเสียงเกิดจากความสงบนิ่งในบุคลิกภาพ โดยไม่ต้องเติมจริตมารยาใดๆ ดิมิทริ สาธิตแนวคิดนี้ได้เป็นที่ประจักษ์

จุดที่น่าสังเกตมากของดนตรีในท่อนช้า ก็คือแนวทำนองหลักของท่อนช้าในเที่ยวย้อนกลับ (Recapitulation) นั้นได้รับการปรับให้เบาลงอย่างโดดเด่น (รวมถึงวงดนตรี) มันเป็นความงดงามทางดนตรีในระดับเสียงเบาที่น่าประทับใจอย่างที่ต้องใช้คำว่า “เหลือเชื่อ” ทีเดียว

Advertisement

ความประทับใจในทางดนตรีแบบเสียงดังนั้นมักจะเป็นอารมณ์ที่ยังดูผิวเผิน, ฉาบฉวย แต่ความประทับใจในความงดงามของน้ำเสียงอันแผ่วเบานั้นตราตรึงและฝังลึกอย่างแท้จริง

ในท่อนสุดท้าย ดิมิทริทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ในแนวคิดของฉันทลักษณ์ดนตรีที่เรียกว่า “รอนโด” (Rondo) ซึ่งโดยธรรมชาติมันแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกอันแจ่มใส, รื่นเริงก่อนที่เพลงจะจบลง และโมซาร์ทก็เขียนดนตรีในท่อนนี้ให้มีลักษณะเช่นว่านี้ได้อย่างชัดเจน แต่ทว่า ดิมิทริพลิกมุมมองใหม่เขาทำให้รอนโดปราศจากรอยยิ้ม, ปราศจากอารมณ์ขี้เล่นแบบที่พวกเรายึดติดกับดนตรีของโมซาร์ท (และตัวตนของเขา) มันจึงกลายเป็นรอนโดที่สง่างามด้วยการสาธิตถ้อยคำ, ภาษาทางดนตรีทั้งในระดับหน่วยพยางค์ที่สั้นกระชับ (แต่ไม่ห้วน) ตลอดไปจนถึงวลีและประโยคแห่งบทเพลง ดิมิทริไม่ล้อเล่นกับรอนโดของโมซาร์ท แต่ราวกับจะสอนเราถึงวุฒิภาวะทางโครงสร้างและตรรกะแห่งดนตรีของโมซาร์ทในช่วงบั้นปลายชีวิต

ผู้เขียนถือว่าบทเพลงนี้คือเพชรเม็ดงามอันเป็นศูนย์กลางแห่งความสำเร็จในคอนเสิร์ตของ RBSO ในครั้งนี้ ที่อยู่ในขั้นตราตรึงอยู่ในความทรงจำ

ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน ที่เลือกมาปิดท้ายรายการเป็นม้าสงครามแก่กรำศึกที่แสนจะบอบช้ำโดยเฉพาะสำหรับวง RBSO ของเรา ครั้งนี้เป็นเบโธเฟนหมายเลข 5 ซึ่งมิได้สร้างความน่าทึ่งหรือน่าประหลาดใจใดๆ “ในแง่มุมของการตีความ” มันเป็นการแสดงแง่มุมทางความคิดของบทเพลงนี้ตามแบบมาตรฐานที่เราได้รู้จักกันมาหลายสิบปี ลีลาดนตรีอันห้าวหาญ, องอาจแบบวีรบุรุษ, การพยายามดิ้นรนต่อสู้กับโชคชะตา ที่มาประสบชัยชนะในท่อนสุดท้าย มันคือแง่มุมเดิมๆ ที่เรารับรู้กันมานาน สเตฟานอส ทสิอาลิส วาทยกรดูว่ามิได้แสดงมุมมองทางความคิดอะไรที่แปลกใหม่ไปกว่าปกรณัมเรื่องราวเดิมๆ นี้

นั่นคือภาพรวมในเชิงการตีความหรือการนำเสนอแง่มุมทางดนตรี ซึ่งแม้ว่าอาจมิได้ทำให้เราตื่นเต้นกับการตีความใหม่ๆ ได้ก็ตาม แต่สิ่งที่จัดได้ว่าเป็นคุณความดีก็คือเขายังสามารถควบคุมระเบียบ, ทิศทางการบรรเลงในภาพรวมให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่ชัด ระเบียบ, วิธีการทางภาษาดนตรีแบบเบโธเฟนที่ชัดเจน แตกต่างไปจากวิธีการทางภาษาดนตรีของโมซาร์ทในครึ่งแรกราวกับเป็นดนตรีคนละศตวรรษ (ความจริงแล้วทั้งคู่เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน) สเตฟานอสเพียงแค่ทำทุกอย่างในบทเพลงนี้ให้แสดงออกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็สามารถสร้างความหมายทางดนตรีที่ดีให้กับการบรรเลงในครั้งนี้ได้ (แม้ว่าจะเป็นความหมายเดิมๆ) ซึ่งต้องถือว่าเป็นความสำเร็จที่ชัดเจนในการแสดงจริง นั่นคือการกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัดและเดินทางไปตามทิศทางจนบรรลุถึงเป้าหมายได้ด้วยดี

ในวันรุ่งขึ้น (เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม) ผู้เขียนไปชมการแสดงคอนเสิร์ตของวง TPO ภายใต้การอำนวยเพลงของ “เจฟเฟอรี เมเยอร์” (Jeffery Meyer) เลือกบทเพลงที่หนักหนาและโหดหินกว่า ด้วยบทเพลงเอกของรายการคือ “Pictures at an Exhibition” ของ “โมเดสท์ มูสซอร์กสกี” (Modest Mussorgsky) ผลงานโรแมนติกขนาดยักษ์ใหญ่ ซึ่งวง TPO เคยนำออกแสดงมาแล้วหลายรอบ ไม่น่าเป็นห่วงใดๆ ในเรื่องประสบการณ์, เทคนิคและพละกำลังของวงที่จะต้องเผชิญหน้ากับบทเพลงอันหนักอึ้งแบบนี้ ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีไม่เกินความคาดหมาย แม้จะเป็นบทเพลงที่มีขนาดใหญ่โตมหึมาที่ใช้พละกำลังของวงดนตรีอย่างหนักมีสุ้มเสียงที่ชวนน่าตื่นตาตื่นใจจนถึงกับขนลุกขนพองในหลายช่วง แต่เราต้องไม่ลืมว่าในเชิงเนื้อหาไวยากรณ์ทางดนตรีนั้นมันมิได้มีความหมายลึกซึ้ง, สลับซับซ้อนทางโครงสร้างแนวคิดแบบ “โซนาตา” (Sonata) ในบทเพลงซิมโฟนีที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย

สำหรับบทเพลง “Concertino Cusqueno” ผลงานดนตรีร่วมสมัยของดุริยกวีสตรีเพศชาวอเมริกันวัย 47 ปี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย” ที่สามารถสร้างจุดลงตัวทางศิลปะได้ชัดเจน, งดงาม แม้สำนวนลีลาทางดนตรี, การประสานเสียงจะเป็นเทคนิคใหม่ที่ให้เฉดสีแห่งความรู้สึกที่ทั้งบีบคั้นบางช่วงและขยายตัวคลี่คลายไปจนรู้สึกเวิ้งว้างล่องลอยในบางช่วง แต่เธอก็สามารถแสดงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นน้ำเสียงของตัวเอง การผสมสีสันทางเสียงที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (แต่กลับเป็นไปได้อย่างดี) เช่น การใช้ขลุ่ยพิคโคโลเสียงสูงปรี๊ดคู่ขนานไปกับเบสคลาริเนตที่เสียงต่ำสุด แต่กลับให้สัมฤทธิผลทางเสียงที่กลมกล่อมได้อย่างน่าประหลาด

ผู้เขียนมีความเห็นที่ชัดเจนว่า บทเพลงที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสำเร็จในคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็คือบทเพลงทรัมเป็ตคอนแชร์โตบทเพลงคลาสสิกร่วมสมัย ผลงานของ “เจมส์ สตีเฟนสัน” (James Stephenson) นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกันวัย 50 ปี ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตตั้งฉายาให้กับบทเพลงนี้หลังจากได้รับชมว่ามันคือ “คอนแชร์โตแห่งการเดิมพัน” (Betting Concerto)

เหตุผลสำคัญก็คือมันเป็นบทเพลงที่เต็มไปด้วยกายกรรมโลดโผน โดยผู้ประพันธ์ซึ่งเคยเป็นนักเป่าทรัมเป็ตมืออาชีพในวงออเคสตราด้วยตัวเองมาก่อน เขาหยั่งรู้ถึงลักษณะการแสดงเชิงศิลปะของเครื่องดนตรีชนิดนี้และรู้ดีในการวางกับดักเสี่ยงภัยอันท้าทายไว้ให้กับศิลปินเดี่ยวตลอดบทเพลงไม่ว่าจะเป็นศิลปะการใช้วลี, วรรคตอนในแบบเพลงร้องในแบบฉบับคลาสสิกดั้งเดิม, การลากเสียงยาวๆ แล้วต้องพุ่งหวีดขึ้นเสียงสูงลิบในทันที, การอวดเทคนิคการเปล่งเสียงอย่างซับซ้อน (Multiple Tonguing) ซึ่งเราอาจต้องใช้คำว่า “ปากานินี
แห่งทรัมเป็ตในศตวรรษที่ 21” ไม่มีการผ่อนปรนเห็นใจใดๆ ในการเขียนแนวบรรเลงเดี่ยว มีแต่การเดิมพันท้าทายว่า ถ้าคุณกระโดดข้ามกับดักต่างๆ นี้ไปได้คุณก็จะได้รับเสียงปรบมือชื่นชม

แต่หากคุณพลาดคุณก็จะตกลงไปในหลุมพรางต่างๆ เหล่านั้นอย่างน่าอับอาย

นิติภูมิ บำรุงบ้านทุ่ม ศิลปินเดี่ยวกระโดดข้ามหลุมพรางเหล่านั้นได้อย่างน่าชื่นชม เขาชนะเดิมพันได้อย่างงดงาม ด้วยเทคนิค, พละกำลังที่ผ่านการเตรียมการมาอย่างดี ชัดเจนผ่านการปฏิบัติ หลังการแสดงคอนเสิร์ต เจมส์ สตีเฟนสัน ผู้ประพันธ์บทเพลงถึงกับลงมือเขียน
เฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศชมเชยฝีมือและความสำเร็จของนิติภูมิในครั้งนี้ มันคือหมุดหมายสำคัญ ประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จที่มีค่ายิ่งสำหรับตัวศิลปินเดี่ยวที่ต้องจารึกไว้เป็นเกียรติในชีวิต

มันไม่ใช่เพียงการรับรองว่าหนุ่มน้อยในวัย 20 ต้นๆ ผู้นี้เหมาะสม, คู่ควรกับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ตของวงออเคสตราระดับชั้นนำของเมืองไทย แต่ผู้เขียนยังมองไปถึงอนาคตของเขาในระดับนานาชาติในวันข้างหน้า หากเขายังพัฒนาตนเองด้วยความเร็วในระดับนี้อย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อกลางปีที่แล้ว “ณัฐพงษ์ วีระพันธุ์” นักเป่าทรัมเป็ตชาวไทยปักหมุดหมายแรกสำเร็จที่วงออเคสตราชั้นหนึ่งของโลกอย่าง “ชิคาโกซิมโฟนีฯ” (CSO) จึงคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกินความใฝ่ฝันที่เราอาจจะฝากความหวังแบบเดียวกันนี้ไว้ให้เขาได้เจริญรอยตามรุ่นพี่ ด้วยการได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของวงระดับโลกอีกหลายๆ วงที่ยังไม่เคยมีนักดนตรีชาวไทยเข้าไปร่วมงาน

เห็นความสำเร็จของศิลปินรุ่นใหม่ๆ แบบนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงฉากหนึ่งของภาพยนตร์ชีวประวัติของศิลปินทรัมเป็ตแจ๊ซอย่าง “อาร์ทูโร ซันโดวาล” (Arturo Sandoval) เมื่อครั้งที่ยังเป็นศิลปินหนุ่มไม่มีชื่อเสียง อยู่ในประเทศคิวบา จนวันดีคืนดีได้พบกับศิลปินรุ่นใหญ่ระดับโลกอย่าง “ดิซซี กิลเลสปี” (Dizzy Gillespie) ที่เมื่อได้ยินเสียงทรัมเป็ตของซันโดวาลแล้วถึงกับเอ่ยประโยคทองที่ควรค่าแก่การจารึกไว้ว่า “เสียง (ทรัมเป็ต) นั้นมันไม่ใช่ของคุณนะ แต่มันเป็นเสียงของคนทั้งโลก” มันเป็นคำกล่าวที่ศิลปินระดับตำนานในฝั่งดนตรีคลาสสิกและนักปรัชญาทั้งหลายก็คงไม่อาจกล่าวอะไรที่งดงามยิ่งใหญ่และจริงใจมากไปกว่านี้ได้

บางครั้งความสำเร็จของลูกหลานในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเปิดใจกว้าง ถึงจุดหนึ่งขึ้นมา เราไม่ควรหยุดเขาให้เป็นเพียงแค่นักดนตรีที่ดีของประเทศไทย หากแต่น่าจะช่วยผลักดันให้เขาก้าวเข้าไปสู่การพัฒนาในขั้นการเป็นศิลปินที่ดีของโลกสากลให้ได้ ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและรั้วเขตแดนการแบ่งเชื้อชาติเริ่มพังทลายลงอย่างสัมผัสได้ชัดเจนในทุกมิติ แนวคิดเรื่องความเป็นพี่น้อง, เป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ทั้งโลกมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น มิใช่เพียงเพียงแต่ความสำเร็จทางดนตรีเท่านั้นที่ต้องมีความเป็นสากล ความเป็นมนุษย์ด้านอื่นๆ ก็คงไม่ต่างกัน

ในโลกยุคนี้เราจะเป็นเพียงคนไทยที่ดีนั้นดูจะไม่เพียงพอแล้ว แต่เราควรจะต้องเป็นมนุษย์ที่ดีที่เจริญในสายตาชาวโลกให้ได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image