เดินไปในเงาฝัน : เกิดใหม่ในกองเพลิง : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ทุกครั้งที่มองภาพของการเมืองไทย ไม่ว่าจะมุมไหนก็ตาม เรามักจะเห็นแต่ความแตกแยกทางความคิดระหว่าง “ความคิดแบบเก่า” กับ “ความ
คิดแบบใหม่” จนทำให้เกิด “พวกเขา” และ “พวกเรา” อย่างชัดเจน

ทั้งยังทำให้เกิดคำว่า “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

ซึ่งผมก็ไม่รู้จริงๆ ว่า “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย” ของแต่ละฝ่ายเป็นของจริงอย่างที่ “พวกเขา” กล่าวอ้างหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น “พวกเขา” หรือ “พวกเรา” ตามที่เขาแยกฝ่ายกันออกมาให้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ เห็น ล้วนแย่พอๆ กันทั้งสิ้น

ไม่เห็นจะมีดีสักฝ่าย

Advertisement

จนทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่พิมพ์ออกมาในวาระครบรอบ 100 ปี ของขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 ของประเทศจีน

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “เกิดใหม่ในกองเพลิง” ซึ่งมี 9 นักเขียนชั้นนำของประเทศจีนเป็นผู้เขียนเรื่องสั้นทั้งหมด 9 เรื่อง และมี ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ เป็นบรรณาธิการ

“เกิดใหม่ในกองเพลิง” เป็นชื่อที่ “กัวมั่วรั่ว” นักประพันธ์ของจีนหยิบยกชื่อของ “นกเฟิ่งหวง” สัตว์ในตำนานของจีนโบราณ ซึ่งเมื่อตายแล้วจะสามารถถือกำเนิดขึ้นมาใหม่จากกองเถ้าถ่านของตัวเอง คล้ายๆ กับ “นกฟีนิกซ์” ของฝั่งตะวันตก

Advertisement

ทั้งนั้นเพราะ “กัวมั่วรั่ว” เชื่อว่าขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 จะอุบัติขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งสมัยที่นักศึกษาในกรุงปักกิ่งออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ เพื่อกดดันรัฐบาลจีนไม่ให้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เนื่องจากเนื้อหาของสนธิสัญญาส่วนหนึ่งระบุให้ญี่ปุ่นได้สิทธิครอบครองคาบสมุทรซานตงต่อจากเยอรมนี

จนกลายเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

และกลายเป็นชนวนต่างๆ ที่ทำให้ “ความคิดแบบใหม่” กับ “ความคิดแบบใหม่” เกิดการปะทะกัน จนทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านราชสำนักชิงที่เมืองอู่ชัง, เกิดการต่อต้านจักรวรรดินิยมต่างชาติของเหล่ากรรมกร กระทั่งตามมาด้วยการสังหารหมู่ที่เซี่ยงไฮ้ และอีกหลายๆ เหตุการณ์

มากไปกว่านั้นขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 ยังเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณของชาวจีนที่พร้อมลุกขึ้นมาใช้ “ความคิดแบบใหม่” เข้ามาเปลี่ยนแปลง “จิตสำนึกแบบเก่า” โดยเฉพาะเรื่องสังคมวัฒนธรรมที่ยังยึดโยงอยู่กับขนบแบบเดิมๆ

จนทำให้ประเทศชาติล้าหลัง

และก้าวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก จนทำให้นักศึกษาจีนรุ่นใหม่เริ่มนำ “ความคิดแบบใหม่” เข้ามาหักล้าง “ความคิดแบบเก่า” เพื่อให้อีกฝ่ายมองภาพไปในทางเดียวกันว่า…สิ่งที่พวกเรากระทำนั้นถูกต้อง

พวกเขาต่างหากที่ล้าหลัง

และพวกเขานี่เองที่ทำให้บาดแผลของประเทศค่อยๆ ปะทุขึ้น จนกลายเป็นฝีเรื้อรังที่พร้อมจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ โดยมีหนองไหลเยิ้มออกมาเป็นหลักฐาน

อันไปตรงกับคำตามของหนังสือเล่มนี้ที่เขียนบอกดังความท่อนหนึ่งว่า…หลังจากวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 ฝีกลัดหนองบนร่างกายของจีนไม่ได้ทุเลาลง ตรงข้ามการบังเกิด และอาการปะทุแตกออกยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางปฏิกิริยาอาการของ “ความคิดแบบเก่า” กับ “ความคิดแบบใหม่” และการปะทะช่วงชิงกันเองของอำนาจภายใน กับอำนาจภายนอก

จนที่สุดผืนแผ่นกายของจีนจึงปริแตกแยกออกจนแทบจะฉีกขาดจากกัน เมื่อต้องผจญผ่านยุคขุนศึกที่แบ่งพื้นที่กันครองอำนาจในระหว่างทศวรรษ 1920 กอปรกับในช่วงเวลาต่อมายังต้องผจญต่อการรบราฆ่าฟันกับกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาแบ่งแยกดินแดนในระหว่างทศวรรษ 1930

จนทำให้ร่างกายของจีนทรุดโทรม และเสื่อมถอย กระทั่งเกิดซากปรักหักพังของร่างกายทิ้งร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์ชาติจีน

เพียงแต่ตอนนั้นใครเล่าจะกล้าเขียนประวัติศาสตร์บนความจริง

ดังนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้จึงถูกซ่อนอยู่งานวรรณกรรม โดยเฉพาะกับเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย ซึ่งมูลเหตุตรงนี้ เมื่อขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 เดินทางมาถึงในปี 2019

อันเป็นช่วงของการครบรอบ 100 ปี

ขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 จึงถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง โดยผ่านงานเขียนของนักประพันธ์ชั้นนำของจีนทั้งหมด 9 ท่าน และ 9 เรื่องสั้นประกอบด้วยเรื่องเซียวเซียว ซึ่งมี “เสิ่นฉงเหวิน” เป็นผู้เขียน, ทายาท ซึ่งมี “เยี่ยเซิ่งเถา” เป็นผู้เขียน, ทวนปลิดวิญญาณ ซึ่งมี “เหลาเส่อ” เป็นผู้เขียน, โศกศัลย์อยู่เพียงผู้เดียว ซึ่งมี “ปิงซิน” เป็นผู้เขียน

จม ซึ่งมี “อวี้ต๋าฟู” เป็นผู้เขียน, หมา ซึ่งมี “ปาจิน” เป็นผู้เขียน, ความวิปโยคของร้านค้าตระกูลหลิน ซึ่งมี “เหมาตุ้น” เป็นผู้เขียน, ของบำรุงของกวนกวน ซึ่งมี “อู๋จู่เซียง” เป็นผู้เขียน และบันทึกประจำวันของนางสาวโซเฟีย ซึ่งมี “ติงหลิง” เป็นผู้เขียน

ทุกเรื่องล้วนสะท้อนความคิดเชิงการเมืองในลักษณะ “ความคิดแบบเก่า” กับ “ความคิดแบบใหม่” อย่างชัดเจน ทั้งยังนำมาครุ่นคิด ต่อยอด และทอดมองต่อการเมืองไทยขณะนี้อย่างดีเสียด้วย
ต้องลองไปหาซื้ออ่านครับ

เผื่อบางทีคุณอาจจะเห็นเหมือนอย่างที่ผมเห็น เพราะไม่นานต่อจากนี้ไปวิกฤตการเมืองของประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็นอย่างขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 ของประเทศจีน

ลองอ่านดูนะครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image