ชีวิตติด ‘ไลฟ์’ ใน ‘เฟซบุ๊ก’ เมื่อความเป็นส่วนตัวถูกคุกคาม

กลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็วหลังเปิดตัวอย่าง Facebook Live หรือการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก

น่าตื่นเต้นใช่ย่อยเมื่อไหร่ที่นับจากนี้ไป เราจะรับรู้การเคลื่อนไหวของเพื่อนร่วมโลกออนไลน์ในระดับวินาที เร็วและดูชัดจริงยิ่งกว่าการเช็กอินสถานที่ผ่านสเตตัส รวมถึงการรายงานเหตุการณ์สดก็ดูจะรวดเร็วและฉับไวยิ่งกว่าการพิมพ์ตัวหนังสือผ่านช่องแสดงความคิดเห็น

ช่องข่าวหลายแห่งจัดรายการข่าวผ่านการ Live สดนี้ ซึ่งมาพร้อมปฏิกิริยาจากคนดูฉับไวและวัดกันด้วยหลักวินาทียิ่งกว่าการฉายจากโทรทัศน์ด้วยการพิมพ์แสดงความคิดเห็นผ่านช่องคอมเมนต์ รวมถึงการกดปุ่มแสดงความรู้สึก อารมณ์ ซึ่งเป็นอีกฟังก์ชั่นหนึ่งของเฟซบุ๊ก

แต่ท้ายที่สุด เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งผู้ใช้ยังไม่ชิน ไม่คุ้นมือ หรือกระทั่งควบคุมลำบาก-การ “สำลัก” ความรวดเร็วของเหตุการณ์ตรงหน้าสำหรับคนไทยแล้วอาจชัดเจนมากที่สุดเมื่อครั้งที่ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตัดสินใจเหนี่ยวไกปลิดชีวิตตัวเองต่อหน้าการถ่ายทอดสดของสื่อมวลชนหลายแขนง

Advertisement

แน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนหน้าจอนั้นย่อมต้องหาคำตอบต่อไป

แต่ใช่หรือไม่ ว่านั่นย่อมหมายถึงการละเมิดสิทธิส่วนตัวของ ดร.วันชัยอย่างเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับกรณีหญิงสาวที่ถ่ายทอดสดตัวเองขณะรับประทานอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ระหว่างที่เด็กๆ ซึ่งเธอพามาด้วยนั้นอาเจียนและวิ่งเล่นรอบร้าน นำมาสู่การวิวาทกันระหว่างหญิงสาวกับเจ้าของร้านดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้ผ่านการถ่ายทอดสดจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์

Advertisement

ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะหรือไม่เหมาะสมนั้น น้อยคนจะถามถึงความสมัครใจในการปรากฏบนสื่อออนไลน์ของผู้คนเหล่านั้นที่ไม่ได้เป็นผู้ถือกล้อง

 

Livestream

ความรับผิดชอบต่อความเป็นส่วนตัวของคนอื่น

การ Live นั้น ในระดับหนึ่งแล้วควรตั้งคำถามว่าเป็นการถ่ายทอดสดในสถานที่หรือสถานการณ์แบบใด เพราะหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา การถ่ายทอดสดในพื้นที่ซึ่งมีความเป็นสาธารณะมากๆ อย่างเช่นการแข่งขันกีฬา ซึ่งตามหลักกฎหมายต่างประเทศแล้ว มีลักษณะคาดหมายความเป็นส่วนตัวต่ำกว่าในพื้นที่อื่นๆ ขณะที่พื้นที่ซึ่งมีความเป็นสาธารณะน้อยลงมาอย่างริมถนนหรือร้านอาหาร ก็สมควรถูกตั้งคำถามว่าการถ่ายทอดสดซึ่งมีแนวโน้มจะติดคนอื่นไปด้วยนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่

“คนที่ไลฟ์เขาอาจไม่ได้เจตนา แต่แค่ไม่ได้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อคนรอบๆ ตัว แต่ถึงอย่างนั้น แม้คุณจะไม่แคร์ความเป็นส่วนตัวของคุณ คุณก็ควรแคร์ความเป็นส่วนตัวของคนอื่น” ผศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ให้ความคิดเห็น ก่อนขยายความถึงลักษณะพื้นที่ของโลกสมัยใหม่ที่มีความทับซ้อนกันมากเกินกว่าจะแยกได้โดยง่ายว่าพื้นที่ใดเป็นหรือไม่เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น โอกาสที่คนทั่วไปจะถูกละเมิดสิทธิจึงสูงมาก

“เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างสดใหม่มากขึ้น แค่ถ่ายภาพไม่พอ แต่ต้องเป็นการถ่ายให้เห็นจุดนั้น เวลานั้น ความไม่เป็นส่วนตัวจึงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและควบคุมได้ยาก”

“ความเร็ว” ในระดับวินาทีเช่นนี้ส่งผลให้ผู้คนไม่อาจทนรอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบอื่นได้อีกต่อไป แต่เรียกร้องความสดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การเสพข่าวนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและลืมง่าย

“ซึ่งแน่นอนว่าพอเราเสพอะไรได้เร็วๆ เราก็จะลืมได้เร็ว แต่คุณต้องนึกถึงอันตรายด้วยว่า แม้คุณจะลืมเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตนั้นไป แต่อินเตอร์เน็ตไม่เคยลืมคุณ นี่คือเรื่องที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากความเป็นส่วนตัวของเราจะปรากฏและถูกบันทึกลงในอินเตอร์เน็ตแล้ว มันยังจะอยู่ไปอีกนานตราบเท่าที่มีการค้นขึ้นมาเรื่อยๆ”

“การถ่ายทอดสดเช่นนี้ ด้านหนึ่งมันกระทบสิทธิคนอื่นที่เขาไม่ได้อยากร่วมเผยแพร่ชีวิตส่วนตัวด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ มันส่งผลถึงคนอื่นๆ ที่ไม่เพียงแค่คนที่ถ่ายทอดสด แต่ยังไปถึงบุคคลระดับที่ 2 คือคนรู้จักหรือแวดวงที่ไปด้วยกันกับคน ไลฟ์เช่นไปกินข้าวกัน คุณก็มักสมมุติฐานเหมารวมไปว่าเพื่อนคงอยากไลฟ์ด้วย ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ถามเพื่อนแล้วเพื่อนก็ยังไม่รู้ตัวเลยว่าคุณไลฟ์ไปแล้ว”

พ้นไปจากนี้ บุคคลระดับที่ 3 ซึ่ง ผศ.คณาธิปเป็นห่วงมากที่สุด คือคนที่ไม่รู้จักกันซึ่งบังเอิญติดอยู่ในการถ่ายทอดสดอย่างไม่ทันรู้ตัว-ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นส่วนตัวถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงขณะที่ไปปรากฏในหน้าจอโซเชียลมีเดีย

“คนไทยไม่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวของตัวเองและของคนอื่น คิดว่านี่เป็นเรื่องเล็ก ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่-เพียงแต่คนไม่ค่อยรู้สึกเท่านั้น”

คณาธิป ทองรวีวงศ์ – ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ – อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล

รักษาสิทธิส่วนตัว

การก้าวข้ามความขี้เกรงใจของคนในสังคม

ประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลซึ่งอาจยังไม่พร้อมที่จะให้เผยแพร่ชีวิตส่วนตัวไปสู่พื้นที่สาธารณะอย่างเด็กหรือเยาวชนด้วย อันเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศแถบตะวันตกที่การเผยแพร่รูปเด็กลงอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิดแล้วคิดอีก หรือหลายครั้งก็เป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควรที่จะลง

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ สำหรับ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นว่า ถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีและการสื่อสารด้วย ว่าที่สุดแล้วควรใช้งานมันอย่างไรจึงจะไม่ส่งผลทางลบกับคนอื่น

“ถามว่าการไลฟ์ไปกระทบสิทธิส่วนบุคคลใครไหม ผมว่าแล้วแต่สถานการณ์ ถ้าเราไม่อยากไปปรากฏตัวอยู่บนการถ่ายทอดสดของใคร ก็ต้องบอกเขาตรงๆ รักษาสิทธิส่วนตัวของเรา ผมว่าคนเราควรรักษาสิทธิตัวเองด้วย คนไทยนิสัยขี้เกรงใจ ไม่กล้าพูด แต่พอไลฟ์ไปแล้วผลกระทบที่ออกมา ถ้าเป็นทางลบ มันก็ไม่ดีหรอก

“ปัจจุบันเทคโนโลยีมันง่ายดายถึงขนาดถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ได้ แล้วมีแนวโน้มจะง่ายมากยิ่งขึ้นกว่านี้ เราเองก็จะต้องตั้งระบบในการควบคุม เข้าใจให้ได้ว่าจะใช้งานมันอย่างไรให้ไม่เป็นการละเมิดคนอื่น”

 

เมื่อการไลฟ์ก้าวไปไกลก่อนกฎหมาย

การตระหนักรู้ถึงความเป็นส่วนตัวของผู้คน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ตเองก็ให้คำตอบชัดเจนว่า การถ่ายทอดสดแล้วไปติดคนที่ไม่อยากติดไปด้วยนั้นย่อมเป็นการละเมิดอย่างแน่นอน ซึ่งหากเป็นกรณีที่มาจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะต้องดูแล แต่การไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กนั้น ดูจะเป็นเรื่องโหดหินของสังคมอยู่เอาการในเวลานี้ ต่อการจะหาคำตอบว่าควรทำอย่างไรต่อไป

“เฟซบุ๊กเองคงมาดูแลตรงนี้ไม่ไหวเหมือนกัน แม้จะเป็นแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กเองก็ตาม อย่างการถ่ายภาพ ระบบคงไม่รู้ว่าที่ปรากฏในภาพนั้นเป็นใคร อาจจะรู้ว่าเป็นหน้าคน แต่ไม่มีทางที่เฟซบุ๊กจะรู้ว่าคนนั้นเป็นใคร หรือได้รับการอนุญาตให้ถ่ายหรือยัง” ฉะนั้น สำหรับอาทิตย์แล้ว การเรียกร้องให้เฟซบุ๊กเคลื่อนไหวหรือทำการอะไรสักอย่างในประเด็นนี้ ก็เป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย

ยิ่งถ้าจะไปถึงขั้นเรียกร้องให้ไม่มีการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กเลย-คงเป็นเรื่องรุนแรงไปสักหน่อย เพราะถึงที่สุด ใครจะปฏิเสธได้ว่ามันมีประโยชน์อยู่เหมือนกัน

“ผมเองตอนนี้ยังนึกวิธีจัดการไม่ได้หรอก แต่ในเบื้องต้น ทางเทคโนโลยีและกฎหมายยังตามเรื่องนี้ไม่ทัน แต่เท่าที่ทำได้ตอนนี้คือ ต้องทำให้คนตระหนักว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากไปอยู่ในวิดีโอของคุณ แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าเวลากล้องถ่าย มันไปติดเป็นฉากหลัง ติดชื่อร้านค้า ซึ่งเขาอาจไม่ได้อยากไปติดอยู่ในนั้น”

“ก็ต้องคิดให้มากขึ้น”

เหล่านี้คือทัศนคติของนักวิชาการ-คนทำงานด้านสื่อ ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาต่อกรณีการถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊ก

ซึ่งถึงที่สุด นอกเหนือจากการขยับก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีแล้ว นี่ยังเป็นการเรียกร้องให้เราก้าวไปสู่การเข้าอกเข้าใจในความเป็นส่วนตัวของคนอื่น-ซึ่งก็อาจถูกละเลยหรือไม่เคยอยู่ในสายตามานานแสนนานเกินไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image