เดินไปในเงาฝัน : เมาธ์มอยเรื่องโลกของการศึกษา : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ช่วงนี้มีโอกาสนั่งคุยกับนักการศึกษาหลายคนด้วยกัน ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าการศึกษาในบ้านเราหากยังเป็นอยู่อย่างนี้ เห็นทีจะผลิตบุคลากรออกมาไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดีโลกของธุรกิจต่างพลวัตรไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

หลายธุรกิจบนโลกใบนี้ต่างปรับตัวเข้าหากระแสของเทคโนโลยีที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว หลายโรงเรียนในระดับไฮสกูล และหลายมหาวิทยาลัยในโลกใบนี้

ต่างปรับหลักสูตร และคณะเพื่อสร้างบุคลากรรองรับโลกแห่งการทำงานในอนาคต

โดยมุ่งเน้นลงทุนทางด้านดิจิทัล แพลตฟอร์มทุกรูปแบบ เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนหันไปทางออนไลน์มากขึ้น ยกเว้นทักษะเฉพาะทางบางด้านที่ยังต้องเรียนกับผู้เชี่ยวชาญจริงๆ

Advertisement

นอกนั้นวิชาสามัญต่างๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาเรียนกับครู หรืออาจารย์ผู้สอนอีกต่อไปแล้ว เพราะเขาสามารถเรียนผ่านทางออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง

สำคัญกว่านั้น หลายโรงเรียน และหลายมหาวิทยาลัยบนโลกใบนี้ต่างลดขนาดองค์กรให้เล็กลง เพื่อให้องค์กรเกิดความกระชับ ปรับเปลี่ยนง่าย ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจเลือกวิธีขยายการลงทุน ด้วยการขยายพื้นที่ของโรงเรียน และวิทยาเขตไปยังเมืองต่างๆ

ซึ่งบ้านเราก็มักจะทำแบบนี้

Advertisement

แต่เนื่องเพราะเขามองเห็นแล้วว่าอัตราการเกิดของประชากรบนโลกใบนี้ลดลงเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับมีประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น

หากยังใช้วิธีแบบเดิมๆ อาจจะไม่มีผู้เรียน

หรือมีจำนวนน้อย

ดีไม่ดีอาจต้องปิดโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในที่สุด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายวิทยาลัย และหลายมหาวิทยาลัยต่างหันมาเปิดหลักสูตรเฉพาะทาง ซึ่งเป็นคอร์สสั้นๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุที่อยากเรียนวิชาบางอย่างที่อยากเรียนจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการบริหารธุรกิจโฮสเทล, การทำอาหาร เบเกอรี่ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับช่างเทคนิคบางอย่าง ที่เมื่อเรียนแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยตรงกับสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว

ผมถามนักการศึกษาบ้านเราว่า…แล้วในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนเช่นนี้บ้างไหม ?

เขาตอบว่า…มีอยู่บ้าง แต่ไม่มาก

เพราะค่านิยมการเรียนในระบบของเรายังยึดติดอยู่กับชื่อเสียงของโรงเรียน และมหาวิทยาลัย หนักไปกว่านั้นระบบการเรียนการสอนของบ้านเราย่ำอยู่กับที่อย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโปรแกรมการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ทุกโรงเรียนยังเปิดโปรแกรมวิทย์-คณิต, ศิลป์-คณิต, ศิลป์-ภาษา (ที่แตกแยกย่อยออกไปเป็นภาษาต่างๆ อีกมากมาย)

นักการศึกษาถามผมว่า…เราเรียนแบบนี้กันมากี่ปีแล้ว

สมควรหรือยังที่เราจะปรับเปลี่ยนโปรแกรมการเรียนการสอนที่ไม่ให้นักเรียนเลือกคณะเดิมๆ อีกต่อไป เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นแพทย์, วิศวะ, สถาปนิก, นักกฎหมาย, นักเศรษฐศาสตร์, นักปกครอง และนักอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ไม่ดี

แต่เขาบอกผมว่าระบบการเรียนการสอนของทุกโรงเรียนต่างแย่งกันแข่งขันเพื่อผลิตบุคลากรเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนเอง เพราะเขาเชื่อในความคิดเดิมๆ ว่ามหาวิทยาลัยของรัฐดี

คณะนี้ดี

เอกชนไม่ดี

มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไม่ใช่ความภูมิใจของโรงเรียน

ผมฟังแล้วเห็นด้วย

หลายโรงเรียน และหลายสำนักติวเตอร์จึงต่างอวดนักเรียนของตัวเองที่สอบติดคณะดังๆ ระดับประเทศเพื่อสร้างความเชื่อใหม่ให้กับผู้ปกครองราย
อื่นๆ ต่อไป

เพื่อที่พวกเขาจะได้พาลูกหลานมาเรียนกับเรา

นักการศึกษายังบอกผมอีกว่าถ้าเราไปดูหลักสูตรของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง เราจะเห็นเลยว่ากี่สิบปีเรียนอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังเรียนอย่างนั้น

อาจารย์ก็ยังสอนแบบเดิมๆ

เขาถามผมว่า…แล้วบัณฑิต มหาบัณฑิตจบออกมาจะมาทำงานให้กับภาคธุรกิจได้อย่างไร ก็ในเมื่อสิ่งที่พวกเขาเรียนไม่ตอบโจทย์โลกทางธุรกิจที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างรุนแรง

ผลตรงนี้ จึงทำให้องค์กรต่างๆ หันมาเปิดสถาบันอคาเดมีของตัวเอง ทั้งนั้นก็เพื่อผลิต และสร้างคนที่เขาต้องการมาทำงานให้กับองค์กรเขาโดยตรง

ผมฟังแล้วเห็นด้วยอีกครั้ง

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นนักเรียนในต่างประเทศ และนักเรียนไทยหลายคนเริ่มผันตัวเองไปเรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนจริงๆ ในมหา’ลัยออนไลน์ที่มีชื่อเสียง ทั้งนั้นก็เพื่อนำความรู้เหล่านี้มาดำเนินธุรกิจของตัวเอง หรือที่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามสตาร์ตอัพ

ตอนนี้โลกของการเรียนการสอน และการทำงานเป็นอย่างนี้จริงๆ และอีกไม่นานต่อจากนี้ไปไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ โรงเรียน และมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะต้องปิดตัว

หลายแห่งจะขายที่ดินเพื่อนำไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ และหลายแห่งจะใช้กลยุทธ์ลด แลก แจก แถมเพื่อดึงนักศึกษาให้มาเรียนกับตัวเอง

ลองค่อยๆ ติดตามดูนะครับ

เผื่อเราจะเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) คนใหม่แก้ปัญหาดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้ได้

นักการศึกษาคนนั้นย้ำเสียงหนักแน่นกับผม

แต่ผมจะเห็นด้วยกับเขาอีกครั้งหรือไม่ โปรดช่วยกันเดา(ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image