รู้เท่าทัน ‘ไวรัสวารสารศาสตร์’ จากปฏิญญารวมพลังสู่ก้าวสำคัญ ต้านข่าวปลอม

ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ ข่าวลวง ข่าวปลอม หรือ เฟกนิวส์ จึงแพร่กระจายจนกลายเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก

ไม่เพียงเพราะคนบางกลุ่มมีจุดประสงค์แค่ให้คนคลิก หรือเสิร์ชคีย์เวิร์ด เพื่อมียอดวิวไปเรียกสตางค์จากโฆษณา แต่ยังเกิดได้จากคนทั่วไปผ่านการเผยแพร่ข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจนส่งผลกระทบในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ 8 องค์กร ภาคีเครือข่าย ทั้ง “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” “Friedrich Nuamann Foundation for Freedom (FNF)” “สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” “ไทยพีบีเอส (Thai PBS)” รวมทั้งในฝั่งวิชาการอย่าง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และองค์กรที่ขับเคลื่อนงานทางสังคมอย่าง “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” จึงผนึกกำลังเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ผ่านการลงนาม “ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

นับเป็นภาพที่สวยงามที่ภาคส่วนในสังคมมาร่วมมือพร้อมถกเถียงเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง เพราะบางเรื่องก็มีเส้นแบ่งบางๆ อย่างประเด็น “กัญชา” ที่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตกองทับถมกันจนไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร

Advertisement

เพราะเรื่องสุขภาพและยารักษาโรค คือเรื่องที่มีการแชร์มากที่สุด ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงชีวิตได้

ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การบอกให้กินยานั้น ยานี้เพื่อหายจากโรค เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง สสส.จึงเข้ามาโฟกัสเรื่องสุขภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพของผู้รับสื่อให้มีทักษะด้านคิดวิเคราะห์ แยกแยะ

เพราะบางโรคไม่ได้หายจากยา แต่หายจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผู้ได้รับผลกระทบที่น่ากลัวคือเด็กและผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งเข้ามาในแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจจะยังไม่รู้เท่าทัน เพราะเทคโนโลยีมีลูกเล่นที่ซับซ้อนกว่าที่คิด แต่คนกลุ่มนี้มักอาศัยความเชื่อซึ่งไม่มีข้อมูลความจริงรองรับ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

Advertisement

“การลงนามปฏิญญาครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือและเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยทั้งกระบวนการของสื่อมวลชน ด้านจริยธรรมและกฎหมาย รวมทั้งข้อมูลวิชาการที่ต้องนำมาแชร์กัน เพื่อผลักดันนโยบาย เพื่อให้สังคมตระหนักในเรื่องนี้ว่า เฟกนิวส์ มีผลกระทบมหาศาลกว่าที่คิด” ดร.ไพโรจน์ย้ำ

จากซ้าย ก้าวโรจน์ สุตาภักดี,พิจิตรา สึคาโมโต้ จักร์กฤษ เพิ่มพูล , สุภิญญา กลางณรงค์ ดำเนินรายการ


แพลตฟอร์ม พื้นที่สำคัญของข่าวลวง

บางครั้งปัญหาของสังคมไทยอาจไม่ใช่ไม่รู้ว่าลวง แต่เต็มใจให้ลวง กลายเป็น “ไม่จริงทั้งหมด แต่ถูกจริตก็เลยต้องแชร์” ส่วนวัยไหนแชร์ข่าวมากกว่ากัน ก็คงต้องขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น twitter facebook หรือ LINE ที่คืนก่อนวันเลือกตั้งล้วนคึกคัก ทุกคนมีข่าวอยู่ในมือของตัวเอง แล้ววันรุ่งขึ้นผลการเลือกตั้งก็สะท้อนข่าวสารที่มาจากแต่ละแพลตฟอร์ม คนที่คึกคักในทวิตเตอร์ก็อาจเลือกพรรคหนึ่ง ผู้ใหญ่ที่ส่งข่าวลือกันใน LINE ก็อาจจะเลือกอีกพรรคหนึ่ง ใน facebook ก็เป็นคนอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง

การลงนามประกาศปฏิญญารวมพลัง ขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม

ที่ว่าแพลตฟอร์มไม่สำคัญ ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะอย่างน้อย facebook และ twitter ก็เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่พอจะทำให้เห็นภาพได้ว่าสังคมกำลังเคลื่อนไปทิศทางไหน

ในมุมของ ก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองว่า แพลตฟอร์มสำคัญมาก

“ลองหลับตาให้นึกว่าพรุ่งนี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีทีวี ซึ่งความจริงก็ถูกเรียกว่า ‘วอลเปเปอร์’ มานานแล้ว เราเปิด social TV และเสิร์ชข่าว keyword ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันคือที่มารายได้ของคนที่เขียนข่าวปลอม ถ้านั่งเขียนข่าวปลอมแล้วโรเนียวไปแจกตามสะพานลอยก็ไม่ได้อะไร เพราะไม่มีแพลตฟอร์มมารองรับเรื่องการหารายได้

สิ่งที่น่ากังวลคือ New comer social media ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ทุกวันนี้เด็กประถมมีเครื่องมือสื่อสาร ดังนั้น เด็กสร้างคอนเทนต์ได้ ผู้ใหญ่ก็สร้างคอนเทนต์ได้ ครอบครัวมี LINE family พ่อแม่ส่งมาว่า นี่ข่าวจริง ‘ผู้ใหญ่ที่กระทรวงบอกมาว่า….’ นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แต่วิธีการเช็กไม่ยาก ไม่คุ้นชื่อเว็บ ไม่แชร์” ก้าวโรจน์แนะ

ปัญหาข่าวลือข่าวลวงมีมานานเพียงแต่ยุคดิจิทัลทำให้ทุกอย่างไวรัล และอยู่ชั่วกัลปาวสาน บางเรื่องที่ควรจะสรุปแล้วก็อาจจะกลับมาวนเวียนอีก จึงเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนในการรับมือ

อย่างไรก็ตาม สื่อหลักยังเป็นที่คาดหวังในการกลั่นกรองเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือสื่อหลัก ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ หรือออนไลน์ แทนที่จะเป็นตัวตรวจสอบ ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวขยายข่าวลวงด้วย

ไวรัสวารสารศาสตร์ คือวิกฤตศรัทธาขององค์กรสื่อ

ก้าวโรจน์ ตอบคำถามในประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า บางครั้งผู้ผลิตก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการดับเบิลเช็กก่อนที่จะส่งข่าวออกไป

ก้าวโรจน์บอกว่า นักข่าวต้องมีจริยธรรมสื่อ เราจึงถูกเรียกว่าเป็น Gate Keeper เกือบทุกสำนักข่าวที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จะมีส่วนของการเช็กข่าวและคอนเฟิร์มข่าวอยู่แล้ว เรามีประชุมกันทุกเดือน มีโครงการ ชัวร์แล้วแชร์ได้ ข่าวไหนที่ผิดก็แชร์เพื่อให้ดูว่าข่าวนี้ผิด หรือข่าวไหนถูกก็จะบอกว่าข่าวนี้ถูกแล้ว

“อย่างข่าวที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก หรือเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์ถ้ำหลวงฯ มีบางสำนักข่าวที่ไม่ใช่สื่อหลักออกไปทำข่าวเพื่อหาเงินจากโฆษณา แต่สำนักข่าวหลักก็ยังเป็น สื่อที่คนเข้าไปตรวจสอบและติดตามข่าวอยู่ แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต คนยังมีความเชื่อมั่นในความเป็นนักข่าวและจริยธรรมสื่อที่สื่อหลักมี

“จริงๆ ไม่ได้อยู่แค่สื่อ องคาพยพต้องไปด้วยกันทั้งหมด สื่อเป็นแค่ส่วนที่อยู่ตรงกลาง ยังมีผู้ปล่อยสารและผู้รับสาร ข่าวปลอมไม่มีวันหาย คนที่รับสื่อจึงต้องมีความรู้เท่าทัน ทุกฝ่ายต้องมีบทบาท ทั้งวิชาการ แพลตฟอร์ม อย่างไลน์ กูเกิล เฟซบุ๊ก และองค์กรวิชาชีพที่จะต้องเป็นกองบรรณาธิการ เช่น ประเทศอื่นในอาเซียนจะมีหลักสูตรให้แต่ละโรงเรียนเข้ามาดาวน์โหลดเพื่อสอนเด็กว่า สื่อนี้ ภาพนี้ จริงหรือปลอม มีวิธีการเช็กข่าวอย่างไร ซึ่งบ้านเราไม่มี ทำให้เกิดเจาะคอนเทนต์แบบนี้ เพราะคนชอบ กลายเป็น เชื่อเพราะชอบ เพราะฉันหมดหวังและฉันอยากเชื่อสิ่งนี้ เช่น ยาชนิดนี้รักษาได้ทุกโรค คนก็เชื่อ ดังนั้นจึงต้องรู้เท่าทันกันไปหมด ทั้งผู้รับสาร ผู้ปล่อยสาร สุดท้ายจึงจะไปด้วยกันได้” ก้าวโรจน์ระบุ

ในมุมมองของ จักร์กฤษ เพิ่มพูน ผู้ดูแลนโยบายไทยพีบีเอส อดีตคนทำงานสื่อหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนาน มองว่า ทุกวันนี้เป็นยุคที่แข่งขันกันสูง ปัญหาข่าวลวงข่าวปลอมทำให้เรื่องจริยธรรมเลือนไป เกิดวิกฤตศรัทธาต่อองค์กรสื่อในภาพรวม

จักร์กฤษเปรียบเทียบว่า เฟกนิวส์ คือ ไวรัสของวารสารศาสตร์ เป็นเชื้อโรคร้ายแห่งความเท็จที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เพราะขยายตัวพร้อมๆ กับการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มีทั้งสื่ออาชีพ มีทั้งคนที่เพียรแต่จะใช้สื่อ เกิดเป็นสารที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว วนอยู่ในมหาสมุทรข้อมูลข่าวสาร ปะปนกันจนแยกไม่ออก และตอบคำถามไม่ได้ว่าสื่อจริงสื่อเท็จจุดแยกอยู่ตรงไหน

“สื่ออาชีพมีส่วนเล็กน้อยเท่านั้น แต่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นสื่อที่ไม่มีจริยธรรมในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันสื่ออาชีพก็มีส่วนด้วย เพราะก็เป็นผู้ช่วยขยายเฟกนิวส์เหล่านั้นออกไป ผ่านการแชร์ และการอ้างแหล่งข่าวต่างๆ

“ทุกวันนี้เรามีช่องทางการสื่อสารมากมาย บางองค์กรมีทั้งออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ บางครั้งอาจจะมองข้ามความถูกต้องเพราะต้องการปริมาณ มีคนจำนวนไม่มากในองค์กรสื่อ ที่ต้องผลิตงานในแต่ละวัน ฉะนั้นกว่าครึ่งไปเก็บเกี่ยวจากโซเชียลมีเดีย ข่าวจริงข่าวปลอมจึงระบาด เพราะพวกเรามีส่วน”

จักร์กฤษเน้นย้ำว่า ความเป็นสื่อมวลชนไม่ได้เป็นง่ายๆ เพราะต้องเป็นผู้ที่มีหลักการทำงาน ต้องมั่นใจว่าสารที่ส่งออกไปได้รับการตรวจสอบอย่างถ้วนถี่ดีแล้วว่ามีที่มา จึงจะนำเสนอ

“ในส่วนของคนทั่วไป ก็ยังเป็นหน้าที่ของสื่อในการให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ เรามี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลเท็จ หากต้องการที่จะมีส่วนในการลดหรือกำจัดเฟกนิวส์ ก็สามารถที่จะไปแจ้งความกับตำรวจได้

เพียงแต่ตำรวจที่กำกับดูแลเรื่องเทคโนโลยีของประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีน้อยมาก ถ้าเป็นตาสีตาสาไปแจ้งความ เรื่องจะหาย เพราะเขาไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี” จักร์กฤษกล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นปัญหาที่สังคมจะต้องตื่นตัวและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

การลงนามประกาศปฏิญญารวมพลัง ขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมอม

หรือ’ข่าวลือ’คือของคู่การเมือง

การขจัดข่าวลือถือเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ความยากกว่านั้นคือ ใครจะเป็นผู้กำหนดว่าปลอมหรือจริง? บางเรื่อง เช่น การเมือง ก็อาจมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความคิดเห็น ความจริง และความลวง

ด้าน จักรกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่า นักการเมืองมักมีนิสัยชอบปล่อยข่าวหยั่งกระแส ซึ่งไม่มีมูลความจริง ทำให้นักข่าวใหม่ที่ชั่วโมงบินไม่สูงตกไปในหลุมพราง โดยเอาเนื้อหาจากไลน์ไปขยายต่อ โพสต์ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

“คนที่ได้ประโยชน์คือนักการเมืองที่ปล่อยข่าว ส่วนคนที่ผลิตเฟกนิวส์ตอนนี้ก็ยังผลิตอยู่ แต่เขาไม่ใช่สื่อในความหมายที่เราเข้าใจเพราะไม่มีหลักการทำงาน แต่เฟกนิวส์ทำให้เขาอยู่ได้”

“ตัวสื่ออาชีพเองที่ไม่ควรจะตกเป็นเครื่องมือในการขยายข่าวเท็จนั้นออกไป ถ้าซื้ออาชีพกลับมาสู่หลักการพื้นฐานเดิม ข่าวทุกข่าวต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และสำคัญที่สุดต้องมีแหล่งข่าว ถ้าไม่ครบถ้วนก็ไม่ควรนำข่าวนั้นมานำเสนอ ความเป็นมืออาชีพสำคัญที่สุดคือ ความน่าเชื่อถือ” จักร์กฤษกล่าวทิ้งท้าย

พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันอีกเสียง ว่า ข่าวลือไม่มีวันตาย แม้ว่าอาจจะลดลักษณะของการแชร์ลง ทำให้ไม่แพร่กระจาย แต่เมื่อเป็นดิจิทัลก็มีสิทธิที่จะถูกนำมาใช้และแพร่กระจายต่อเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะข่าวลือข่าวลวงในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมา อียู ที่เพิ่งมีการเลือกตั้ง ก็เฝ้าระวังจุดนี้ค่อนข้างมาก เพราะการตัดสินใจทางการเมืองของคนจะอ่อนไหวในระยะเวลาอันสั้น คนจะเข้าคูหาโหวตใคร ก็ขึ้นอยู่กับข่าวที่ได้รับขณะนั้น

ความงดงามสอดแทรกในความคิดความเห็นที่หลากหลาย แม้การเมืองช่วงนี้จะมีความตึงเครียดกดดันอยู่รอบตัว เพราะเต็มไปด้วยสงครามข้อมูลข่าวสาร แต่การรวมตัวกันในครั้งนี้ก็อาจเป็นทางออกให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ด้วยสติปัญญา ด้วยเหตุและผล ด้วยข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image