‘สถานีสิรินธร’คว้าแชมป์ RDC 2019 พร้อมสู้ศึก’หุ่นยนต์’นานาชาติ

ในทศวรรษนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างกว้างขวาง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การแพทย์ การทหาร และการบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 (The 12th Robot Design Camp 2019 : RDC 2019) ภายใต้แนวคิด “Robot for a Greener Planet” มีผู้ผ่านการคัดเลือกจากระดับภูมิภาคทั่วประเทศไทย จำนวน 88 คน จาก 32 สถาบันการศึกษา มาแบ่งแบบคละสถาบันออกเป็นทีมละ 4 คน รวม 22 ทีม เพื่อคัดเลือกตัวแทนทีมประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ International Design Contest RoBoCon 2019 : IDC RoBoCon 2019 ในระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2562 ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รอง ผอ.เอ็มเทค กล่าวถึงภารกิจขององค์กรว่าต้องนำความรู้ ความเข้าใจจากผลงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีคุณค่า ทั้งในรูปของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ (RDC) มีเป้าหมายฝึกฝนทักษะและพัฒนาความสามารถด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษา แต่เป็นทีมแบบคละสถาบันเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีการวางแผน ออกแบบ และการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ

สำหรับ RDC 2019 ได้มีการตั้งชื่อทีมเป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เนื่องจากโจทย์การแข่งขันในปีนี้เป็นการจำลองสถานการณ์การขนส่งระบบรองเพื่อพาผู้โดยสารที่อยู่ตามบ้านหรือตามจุดรับ-ส่งต่างๆ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดได้อย่างสะดวก ประหยัด และรวดเร็ว ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ 2 ชนิด คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Auto Robot) และหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) โดยหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ให้และต้องดีไซน์หุ่นยนต์ให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดย Manual Robot จะปฏิบัติภารกิจในการเก็บลูกบอลซึ่งเป็นตัวแทนของคนจากหน้าบ้านไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด ในขณะที่ Auto Robot เปรียบเสมือนรถไฟฟ้าที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งการแข่งขันดำเนินการไปอย่างเข้มข้น จนวินาทีสุดท้ายทีม “สถานีสิรินธร” คว้าแชมป์ RDC 2019 ไปในที่สุด

Advertisement

นาทีนี้ จึงต้องมาทำความรู้จักกับเยาวชนทีม “สถานีสิรินธร” ได้แก่ อ้น-ดำรงฤทธิ์ แทบทาม, ธี-หัฏฐะเนตร วิรุฬห์ศรี, โปรตอน-พัทธกานต์ เลิศปัญญาวิทย์ และ ขนุน-ดวงกมล สายะบุตร

“ผมและทีมรู้สึกตื่นเต้น และดีใจมากกับชัยชนะที่พวกเราได้รับ แต่ที่ดีใจกว่าคือการได้มาเข้าแคมป์ เรียนรู้ และพัฒนาความรู้ ความสามารถไปพร้อมกับเพื่อนๆ ซึ่งต่างคนก็ต่างความคิด ต่างที่มา จึงมีบางครั้งที่เราอาจจะไม่เข้าใจกัน อย่างเช่นในทีมของผมมีสมาชิก 4 คน จาก 4 สถาบัน ซึ่งต่างมีพื้นฐาน มีมุมมองความคิดที่ไม่เหมือนกัน แต่ว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ดีและตอบโจทย์ต่อระบบการขนส่งมวลชนทางรางให้ได้มากที่สุด จึงต้องเปิดใจ พยายามพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล เคารพและเชื่อมั่นในสมาชิกในทีม มีผู้นำและมีผู้ตาม มีผู้พูดและมีผู้ฟัง เหมือนเป็นการละลายพฤติกรรม ก่อนที่จะร่วมกันระดมความคิด ออกแบบทดลอง ผิดบ้าง ถูกบ้าง ค่อยๆ พัฒนาหุ่นยนต์จากวัสดุธรรมดาให้กลายเป็นหุ่นยนต์ Auto สุดเก่งและหุ่นยนต์ Manual สุดเจ๋งที่พวกเราตั้งชื่อว่า ‘ชบาแก้ว’ พาพวกเราคว้าแชมป์มาได้ในปีนี้ครับ” อ้น ดำรงฤทธิ์ หนุ่มวิศวะอารมณ์ดีจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีกล่าว

Advertisement

ส่วน ธี-หัฏฐะเนตร หัวหน้าทีม “สถานีสิรินธร” จากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าเทคนิคแบบเจาะลึกถึงแนวคิดการเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ธรรมดาให้เป็นหุ่นยนต์มากความสามารถให้ฟังว่า

“การแข่งขันครั้งนี้ พวกเราต้องออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบขนส่งสาธารณะทางราง ต้องมีขนาดความจุที่พอดี มีความสมดุลของโครงสร้างโดยรวม โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือหุ่นยนต์ Auto ซึ่งเป็นตัวแทนของรถไฟฟ้าสาธารณะที่ทำหน้าที่วิ่งส่งผู้โดยสารจากสถานีต้นทางไปยังสถานีปลายทาง ด้วยการเคลื่อนที่โดยมอเตอร์และการวางระบบเซ็นเซอร์ให้สมส่วน ตรงกับลายเส้นเซ็นเซอร์ของสนามแข่ง พร้อมจูนค่า PID ควบคุมความเร็วมอเตอร์ให้พอดี ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เพราะหากเร็วไปก็อาจจะหลุดโค้ง ถ้าช้าเกินไปก็จะไม่ทันเวลา สำหรับหุ่นยนต์ Manual ต้องอาศัยการบังคับควบคุมด้วยมือ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากช้างที่ใช้งวงกวาดไปโดยรอบเพื่อหยิบจับอาหารมาเป็นไอเดียในการดีไซน์หุ่นยนต์จับลูกบอล ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่ยืนรอการขนส่งมวลชนสาธารณะอยู่หน้าบ้านเพื่อเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด

ในขณะที่สาวน้อยหนึ่งเดียวในทีม “ขนุน-นางสาวดวงกมล สายะบุตร” สาววิศวะจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความรู้สึกในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่จะไปเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติให้ฟังว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้รางวัลชนะเลิศและได้เป็นตัวแทนประเทศไทย หลังจากนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ การปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตลอดจนฝึกฝนทักษะความรู้ ความสามารถ ทำการบ้านในเรื่องเทคนิคกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ให้มากขึ้น และจะทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยอย่างเต็มที่ จะตั้งใจเรียนรู้และแบ่งปันเทคนิคความรู้จากเพื่อนต่างชาติให้มากที่สุด เพื่อนำมาประยุกต์สำหรับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต”


โปรตอน-พัทธกานต์ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึก และความคาดหวังในอนาคตให้ฟังว่า การทำงานร่วมกันเพื่อสร้างหุ่นยนต์สำหรับแข่งขันในครั้งนี้ต้องใช้ความพยายามกันเป็นอย่างมาก เป็นงานหนักที่ท้าทาย ตลอด 2 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน ทุกคนเครียดมาก เจอปัญหามากมายทั้งเรื่องของการออกแบบ กลไก รูปแบบต่างๆ ที่ไม่เวิร์กบ้าง ช้าไปบ้าง เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนตัวบ้าง ก็แก้ไขใหม่ ช่วยกันระดมความคิด เน้นการทดสอบไปพร้อมๆ กับการลงมือทำ เมื่อเจออุปสรรค จึงสามารถแก้ไขได้ง่ายและตรงจุด สำหรับเทคนิคในการทำงานที่ทำให้พวกเราเข้ามาเป็นผู้ชนะนั้น คิดว่าอยู่ที่การทำงานเป็นทีมเวิร์ก มีการวางแผน และสรุปงานกันทุกๆ วัน ซึ่งการแข่งขันในเวทีนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ

นี่คืออีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ซึ่งถือเป็นเวทีระดับประเทศในการเฟ้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2019 เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เยาวชนไทยก้าวสู่การเป็นบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image