คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ความรู้อายุสั้นในสังคมอายุยืน

ธุรกิจยุคดิจิทัลดิสรัปต์ต้องคิดเร็วทำเร็ว กล้าทำสิ่งใหม่ และไม่กลัวความล้มเหลว เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และยากพยากรณ์อนาคตได้ จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล”

ธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับสิ่งที่ “ไม่(เคย)รู้” มากกว่าในอดีตมาก

ท่ามกลางโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน คนเรายังมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทั้งหมดส่งผลต่อแทบทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่การดีไซน์การใช้ชีวิตในอนาคต เรื่อยไปจนถึงการออกแบบระบบการศึกษา

บนเวที “TEP Forum2019” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษา กล่าวว่า หากจะมองไปถึงภาพใหญ่เกี่ยวกับการศึกษาของไทยได้ต้องมองไปยังตลาดแรงงานเพื่อให้รู้ว่าตลาดแรงงาน และโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไรถึงจะรู้ว่าต้องจัดการการศึกษาแบบใหม่อย่างไร

Advertisement

โดยยกตัวอย่างการปรับองค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งประกาศปรับลดสาขา และจำนวนพนักงาน พร้อมตั้งคำถามว่า “เหตุใดธนาคารใหญ่ที่อยู่มาร้อยปีต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งที่ผลประกอบการปี 2560 มีรายได้เกือบสองแสนล้าน มีกำไรสุทธิเกือบสี่หมื่นล้าน”

แม้ว่ารายได้จะยังดี แต่มีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากปีละหมื่นกว่าล้านลดลงพันล้านในปีเดียว ขณะที่รายได้จากสินเชื่อยังเป็นบวกแต่เริ่มมีสัญญาณไม่ดี จากการมีคู่แข่งหน้าใหม่ เช่น อาลีบาบา เป็นสัญญาณใหญ่ทำให้ต้องปรับตัว

สิ่งที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนเป็นคำกล่าวของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ ไทยพาณิชย์เองที่บอกว่า “ธนาคารทุกวันนี้เหมือนเรือในมหาสมุทร หากยังลอยกันอยู่แบบนี้ ยังเห็นฝั่งกันอยู่ก็จะไม่สามารถหาน่านน้ำใหม่ได้”

Advertisement

บทเรียนขององค์กรธุรกิจจะให้เคล็ดลับบางอย่างกับเราในการปรับระบบการศึกษาของไทยด้วย

“ที่ธนาคารมีโปสเตอร์ใหญ่ติดไว้ในออฟฟิศโชว์ว่า พนักงานคิดอย่างไรกับคำถามที่ว่า คุณตื่นมาทำงานทุกวันด้วยเหตุผลอะไร เป็นกระบวนการในการกระตุ้นให้พนักงานเปลี่ยนแปลง มีประสิทธิภาพขึ้น คล่องแคล่วขึ้น เป็นการ ดิสรัปต์ตนเองก่อนที่จะโดนคนอื่นดิสรัปต์”

จากที่เคยมีสายบังคับบัญชายาวเหยียดก็ทำให้สั้นลง นำ agile มาใช้ทำให้การทำงานคล่องแคล่ว ฝ่ายบริหารไม่ได้แยกจากองคาพยพทั้งหมด โดนทลายห้อง ทั้งซีอีโอ และคณะผู้จัดการนั่งโต๊ะตัวเดียวกัน มีประเด็นอะไรจะได้พูดคุยตัดสินใจกันได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการตั้งบริษัทลูก 2 แห่ง ทำเรื่องบิ๊กดาต้า และลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี เพื่อตามโลกให้ทัน

แม้แต่ภายในองค์กรก็พยายามสร้างสิ่งใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า ตั้งทีม “เอสซีบี 10x” นำเทคโนโลยีมาปั้นธุรกิจใหม่ ใช้กระบวนการการเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า “Design Thinking และAgile”

ลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนให้อิสระกับทีมงาน และทุกคนต้องพร้อมรับกับความไม่แน่นอน และความคลุมเครือ

ผลการปรับเปลี่ยนทำให้ธนาคาร ใช้เวลาอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคล และอนุมัติบัตรเครดิตเร็วขึ้นเหลือ 5 นาที เปิดบัญชีนิติบุคคลเดิมใช้เวลาครึ่งเดือน เหลือครึ่งชั่วโมง เช่นกันกับการอนุมัติเงินกู้ที่ใช้เวลาเพียง 15 นาที

ในวงการธุรกิจเรียกการเปลี่ยนแปลงพลิกผันที่เด็กทุกวันนี้ และคนทุกรุ่นต้องเผชิญว่า “VUCA” หมายถึง “โลกที่เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ”

VUCA มาจากคำ 4 คำ คือ V-Volatility การเปลี่ยนไว U-Uncertainty ความไม่แน่นอน C-Complexity ความซับซ้อน และ A-Ambiguity ความคลุมเครือ

โลกเปลี่ยนมากที่สุดในรอบ 20 กว่าปีนี้จากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความเร็วสูงขึ้น

มีขนาดใหญ่ขึ้น และไม่แน่นอน

“โลกไม่แน่นอนขึ้นซับซ้อนขึ้น มีองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันอย่างหลากหลาย เช่นในโลกการเงิน ธนาคารมีการกู้เงินไปมาพอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงกัน ไม่รู้ว่าถ้าธนาคารแห่งหนึ่งล้มแล้วจะส่งผลไปถึงธนาคารอื่น ธุรกิจอื่นหรือไม่ อย่างไร”

“ซีอีโอ” ในวงการธุรกิจบอกว่า เขากำลังเผชิญกับความ “ไม่รู้” ปรากฏการณ์หลายสิ่งที่เกิดขึ้น คืออะไร แปลว่าอะไร เช่น การที่จีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกแล้วรุกเข้ามาในอาเซียน มีความหมายอะไรต่อบริษัทเขา จะเป็น “คู่ค้าหรือคู่แข่ง” กรณี “อาลีบาบา” เข้ามาในไทยผ่าน “ลาซาด้า” แปลว่าอะไร สำหรับธุรกิจต่างๆ

เทคโนโลยี คือ การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด และมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดเร็วขึ้นมากขึ้น และซับซ้อนขึ้น ยากพยากรณ์ได้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้

“ดร.สมเกียรติ” ยกตัวอย่างบริษัทไทยแห่งหนึ่ง ชื่อ “เซอร์ติส” ที่กำลังเข้ามาปั่นป่วนวงการแพทย์ไทยโดยการพัฒนาแอพพ์ที่ใช้กล้องซึ่งขยายได้มากกว่าปกติ 20 เท่า เมื่อเอาไปถ่ายที่ผิวหนังภาพที่เห็นจะบอกได้ว่า เป็นมะเร็งหรือไม่ ใช้เวลาเพียง 4 นาที และแม่นยำกว่าแพทย์ผิวหนังโดยทั่วไป

“นี่คือการปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ อายุสั้นลงทุกวัน ความรู้ที่เคยใช้ได้ในวันนี้ผ่านไป 45 ปี ครึ่งหนึ่งจะถูกโยนทิ้ง เพราะมีความรู้ใหม่มาแทนหรือค้นพบว่าเป็นความรู้ที่ผิด”

มีการประเมินว่าถ้าส่งลูกไปเรียนในแต่ละสาขาวิชา ความรู้ที่ไปเรียนมาเมื่อจบมหาวิทยาลัยจะเหลือเท่าไร คำตอบที่ได้น่าตกใจมาก เกือบทุกแขนงวิชาครึ่งหนึ่งมีอายุ 10 ปี แปลว่า “ความรู้ที่เรียนมาอีก 10 ปีให้หลังจะเหลือครึ่งเดียว” อีก 20 ปีเหลือ 1 ใน 4 และความรู้ที่เสื่อมค่าลงมากที่สุด คือความรู้ด้านวิศวกรรม เพราะนวัตกรรมเกิดขึ้นรวดเร็ว

“สาขาคอมพิวเตอร์ที่ผมเลือกเรียน แต่น่าจะตัดสินใจผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเมื่อเรียนจบปี 4 ความรู้ที่เรียนมาตั้งแต่ปี 1 ใช้ไม่ได้แล้ว”

ขณะที่ “ความรู้อายุสั้น ชีวิตคนกลับยืนยาว” โดยอายุคาดการณ์คนไทยขยับขึ้นจาก 75 ปีเป็น 80 หรืออาจถึง 95 ปี หากรวมพัฒนาการของเทคโนโลยี และวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น

สิ่งที่ท้าทาย คือเราจะจัดการการเรียนรู้อย่างไร ในโลกที่พลิกผัน ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยืนยาว

ศาสตราจารย์ เฮนรี มินท์ซเบิร์ก นักยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ บอกว่า “เมื่อโลกพยากรณ์ได้เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้”

คำกล่าวนี้เหมาะกับการจัดการการศึกษาในโลกอนาคตที่จะทำอย่างไรให้เด็กของเราเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างรวดเร็ว โดยการมุ่งเน้นไปที่ A-S-K คือ Attitude (ทัศนคติ) skill (ทักษะ) และ knowledge (ความรู้)

“ทัศนคติต้องมาก่อน เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทนรับผิดชอบ ต้องมีทักษะแบบใหม่คือทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม โดยต้องมีความรู้พื้นฐานอย่างน้อย 3 อย่าง คือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน”

เหนือสิ่งอื่นใด คนที่จะปรับตัวอยู่รอดได้ในโลกที่พลิกผันต้องมี “ใจที่เปิดกว้างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ”

โจทย์ในโลกธุรกิจวันนี้เหมือนโจทย์ในโลกการศึกษาที่คนต้องกล้าทดลอง แปลว่า ต้องกล้าล้มเหลว ถ้าผิดพลาด การศึกษาต้องทำให้เด็กกล้าทดลอง กล้าผิดพลาด เรียนรู้จากความผิดพลาดได้ และมีจิตใจแห่งการเติบโต (growth mindset)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image