มารู้จัก ‘ศูนย์บันดาลไทย’ ราชบุรี บันดาลโอกาส

“วัฒนธรรม” มีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกที่ซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ในทุกภูมิภาค เช่น EU, BRIC และ ASEAN ฯลฯ ทำให้ทุกประเทศพยายามหาสิ่งที่แตกต่างและโดดเด่นมาเป็นจุดขายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมหรือทุนทางวัฒนธรรมอย่างมากและหลากหลาย ที่สามารถเพิ่มศักยภาพและสร้างมูลค่าให้กับประเทศในเวทีโลก

การเกิดขึ้นของ ศูนย์บันดาลไทย โดยมี “ราชบุรี” เป็นพื้นที่ต้นแบบจึงเกิดขึ้น โดยมี วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ หรือติ้ว ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานเครื่องเคลือบดินเผาเถ้าฮงไถ่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทย เป็นแหล่งข้อมูลด้านต้นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสรรค์ และต่อยอดการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์

รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการของประเทศ และส่งเสริมให้สร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรม ขยายตัวจากเดิม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งการตลาดด้านอุตสาหกรรม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ทั้งตลาดในประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ

ครั้งนี้จึงเป็นการรวมตัวของศิลปินและนักออกแบบเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยมีเงื่อนไขในการออกแบบว่า จะเดินตามทักษะ ความรู้ ความสามารถ ของผู้ที่เราเข้าไปช่วยเหลือ

Advertisement

‘ศูนย์บันดาลไทย จ.ราชบุรี’ คืออะไร

ศูนย์บันดาลไทย จังหวัดราชบุรี เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เลือกใช้วัสดุที่คุ้นเคยและเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาออกแบบ ได้แก่ หนังใหญ่วัดขนอน งานหล่อทองเหลือง งานผ้าทอ และงานดินเผา (เซรามิก) เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สร้างโอกาสสำหรับคนในชุมชน และเป็นการต่อยอดวัสดุของท้องถิ่นให้มีมูลค่าและเกิดทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ศูนย์ตั้งใจให้เป็นจุดเริ่มสำหรับการพัฒนาผลงาน เพื่อจะใช้สร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ต้องการ

วศินบุรี บอกว่า เพราะทุกท้องถิ่นมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าคนพิการ คนด้อยโอกาส ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ทว่าโดยส่วนมากลักษณะความช่วยเหลือที่คุ้นเคยและทำได้เร็วคือการมอบเงินหรือให้สิ่งของ ซึ่งวิธีเหล่านี้คงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องและตลอดไปในระยะยาว จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มอบโอกาสให้คนที่ต้องการ และพวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้ ก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคงได้ด้วยตนเอง

“ในส่วนของราชบุรี เกิดจากการได้พูดคุยกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อภินันท์ โปษยานนท์ ว่าอยากให้ราชบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบที่จะสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างเพื่อต่อยอด ให้เกิดความแตกต่างและมีรูปแบบที่ดูร่วมสมัยมากขึ้น”

Advertisement

“‘บันดาลไทย ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจที่จะทำให้รู้จักตัวตนของสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี จุดนี้คือ ‘ความเป็นไทย’ นั่นเอง เราจึงพยายามใช้ทุกวิถีทาง หลังจากตีโจทย์จากคอนเซ็ปต์กลาง แล้วปรับให้เหมาะสมกับวิธีดำเนินงานหรือสิ่งที่คนในชุมชนเป็นให้มากที่สุด และคุ้มค่าที่สุด” วศินบุรีกล่าว

pra01310559p2
(บน) วศินบุรี อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รมต.ท่องเที่ยวฯฟัง (ล่าง) ลูกปัดเซรามิก

บันดาล ‘โอกาส’ ด้วยสองมือ

วศินบุรี อธิบายว่า ถ้าเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์บางอย่างที่สามารถให้คนในชุมชนนำไปใช้และเกิดประโยชน์ได้จริง รูปแบบของงานอาจไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือมีรางวัลการันตี แต่ต้องเป็นงานง่ายๆ ที่เด็กทุกคนที่ต้องการโอกาสสามารถทำได้ “อย่างเราเลือกเด็กยากจนที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา ต้องออกแบบงานที่ไม่ยากเกินไปนัก ซึ่งเด็กตั้งแต่ ป.4 ถึง ม.1 สามารถลงมือทำด้วยตัวเองได้” วศินบุรีกล่าว

และว่า โครงการนี้อาจไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1-2 เดือน แต่ต้องรอจนกว่าน้องๆ รุ่นนี้จบปริญญาตรี

หลังจากคัดเลือกนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือจากโรงเรียนเทศบาล 1 ได้แล้ว ก็สอนให้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่สอนการสานปลาตะเพียนจากผ้าขาวม้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การบริหารต้นทุน-กำไร ที่สำคัญคือ ทำให้เด็กรู้จักช่วยตัวเองและแบ่งปัน รู้ว่าสิ่งใดได้มาย่อมมีค่าแลกไป โดยปลาตะเพียน 1 ตัว ขายราคา 55 บาท เด็กจะได้ตัวละ 40 บาท ส่วนอีก 15 บาทปันไว้ส่วนกลาง สำหรับการบริหารจัดการต่างๆ

ด.ญ.จิณัฑตา เศรษฐภากุล หรือบีม นักเรียนชั้น ม.1/14 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี กับรายได้ 8,000 บาท ในระยะเวลาเพียงเดือนเศษๆ บอกว่าโครงการนี้ช่วยเรื่องการเรียนได้มาก มีแม่กับป้าคอยสอน บางครั้งแม่ช่วยสานบ้าง ส่วนยายช่วยแพค โดยจะทำตามออเดอร์ที่ได้รับมาแต่ละครั้ง

ส่วนคนที่มีรายได้จากการสานปลาตะเพียนจากผ้าขาวม้ามากที่สุดคือ ด.ช.ธันวา แพรววิเชียรโชติ หรือวา นักเรียนชั้น ม.1/8 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี กับรายได้ 29,605 บาท เล่าว่าได้รับคัดเลือกจากโรงเรียนให้เป็นนักเรียนทุน จึงได้มาร่วมโครงการนี้ โดยสานปลากับแม่ได้สัปดาห์ละร้อยกว่าตัว เวลามีเรื่องจำเป็นก็เอาเงินส่วนนี้ไปใช้

pra01310559p3
จิณัฑตาและ ธันวา สองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี

เพิ่มมูลค่าของบ้านๆ ด้วยงานดีไซน์
เพิ่มรายได้ กระจายโอกาสสู่ชุมชน

ปลาตะเพียนสานจากผ้าขาวม้า – นภาเพ็ญ เพ็งพินิจ ดีไซเนอร์ได้รับโจทย์ว่าต้องทำของที่ระลึกซึ่งราคาไม่สูงนัก เช่น ตั๊กแตนสาน ที่มักเห็นเด็กหรือคนพิการนำมาขายตามตลาด แต่เราจะสามารถซื้อด้วยความสงสารได้กี่ครั้ง กี่ตัว และนานแค่ไหน? จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถมีงานออกแบบที่สามารถสร้างให้เกิดความหลากหลายได้และมีราคาไม่สูงนักมาจำหน่ายหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ต่อไปเราอาจไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่สงสาร แต่เพราะเป็นงานออกแบบที่เราอยากได้อีกด้วย

06
ปลาตะเพียนสานจากผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้าเป็นสินค้าขึ้นชื่อของราชบุรีมานาน และมีการพัฒนาต่อยอดทั้งเรื่องคุณภาพและลวดลายที่หลากหลายมากขึ้น ลวดลายเหล่านี้เมื่อนำมาออกแบบชิ้นงานที่แม้จะรูปร่างเดียวกัน ก็จะได้เป็นชิ้นงานที่แตกต่างกัน และถ้าเรายิ่งมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ความน่ารักและความสวยงามน่าใช้ก็จะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้หลายคนพร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนชิ้นงานเหล่านี้

นภาเพ็ญ เลือกทำงานกับเด็กจากโรงเรียนเทศบาล 1 ร่วมกับครูสอนศิลปะและหัตถกรรม เพื่อให้ชิ้นงานที่สร้างขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่สนับสนุนการศึกษาและให้โอกาสแก่เด็กด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ

_MG_8085

การันตี ‘ศูนย์บันดาลไทย ราชบุรี’
ตัวเชื่อมสร้างความมั่นคงท้องถิ่น

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานเปิดศูนย์บันดาลไทย จังหวัดราชบุรี บอกว่า คิดว่าตั้งใจถูกที่มาร่วมเปิดงานในครั้งนี้ ตั้งใจมาคุยกับคนที่เชื่อในการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมและผู้อื่น

เพราะศูนย์บันดาลไทยฯ นอกจากตอบโจทย์เรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้ท้องถิ่นให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นการคิดถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพวกเราเอง

เมืองไทยเรามีการเติบโตด้านการท่องเที่ยว แต่คนที่รวยขึ้นกลับเป็นคนกลุ่มเดิม เมืองเมืองเดิม ขณะที่คนอื่นไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ทว่ายากจนลง เกิดช่องว่างทางรายได้และเกิดปัญหาเดิมๆ การท่องเที่ยวจึงต้องเฉลี่ยสุข เราสามารถช่วยกันได้ เป็นโอกาสให้ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

มองว่าศูนย์บันดาลไทย จ.ราชบุรี สามารถช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวได้ สามารถเป็นต้นแบบที่ดีได้ ทั้งนี้ การเลือกนำสิ่งดีๆต้องอิงกับบริบทพื้นที่ของตัวเองด้วย

22

สิ่งสำคัญคือ การที่คุณวศินบุรีสอนให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการผลิตซึ่งในที่นี้คือเด็กได้เข้ามาผลิตและมีรายได้ สอนโรงเรียนและครูในการบริหารจัดการซึ่งถือเป็นการเรียนที่ดีมาก คุณวศินบุรีจะไม่เหนื่อยเปล่าเพราะมาถูกทางแล้ว โครงการนี้น่าจะเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ได้ ในที่สุดจะเกิด Social enterprise ซึ่งชุมชนสามารถยืนบนขาตัวเองได้

ที่น่าคิดคือ ทำอย่างไรจะสามารถต่อยอดไปได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

แม้วันนี้เป็นก้าวแรก แต่ถือเป็นบทเรียนที่ดี มีการออกแบบที่ดี ความตั้งใจดี เพื่อคนที่ดี เพื่ออนาคตที่ดี สุดท้ายอยากให้น้องๆ เป็นเทรนเนอร์ให้รุ่นน้อง เพื่อนๆ พ่อแม่ อันจะเป็นส่วนช่วยกระจายความมั่นคงได้

“ขอบคุณจากใจ และจะเป็นกำลังใจ เราจะจับมือเดินไปร่วมกัน” รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬากล่าว

ภาพโดย : อ๋อง กลุ่มหิ้วกล้องท่องราชบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image