ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล [email protected] |
เผยแพร่ |
ก่อนหน้า “วันชาติ 5 ธันวาคม” ที่เริ่มมีครั้งแรกในปี พ.ศ.2503 ตรามติของคณะรัฐบาลในเวลานั้น ประเทศไทยมี “วันชาติ 24 มิถุนายน” ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482-2502 ส่วนก่อนหน้านั้น เราไม่เคยมีคติ “วันชาติ”
เมื่อ “วันชาติ” เป็นของใหม่ที่ไม่เคยมี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลจึงต้องจัดเต็ม จัดหนัก
การออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้วันที่ 23-25 มิถุนายน เป็นวันหยุด 3 วัน เพื่อฉลองวันชาติ ว่ากันว่าการจัดงานวันชาติ 24 มิถุนายนในปีแรกนั้นยิ่งใหญ่ ราวกับเป็นวันประกาศชัยชนะของอภิวัฒน์
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีคำสั่งว่า หากสถานที่ใดก่อสร้างก่อนวันชาติ 24 มิถุนายน ก็ให้รอไปเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน (เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนอีกหลายสาย ฯลฯ) ส่วนสถานที่ใดก่อสร้างไม่แล้วเสร็จก็เร่งให้แล้วเสร็จทันเปิดงานในวันชาติ 24 มิถุนายน เพื่อให้สถานที่ราชการหลายแห่งได้มีจุดกำเนิดในวันชาติ 24 มิถุนายน ตรงกัน และเป็นการให้ความสำคัญวันชาติ
แต่ทั้งหมดนั้นประชาชนและสังคมจะรับรู้, ยอมรับ และให้ความร่วมมือเพียงใดส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับ “สื่อต่างๆ” ที่รัฐบาลและคณะราษฎรใช้
ซึ่งเรื่องนี้ ณัฐกมล ไชยสุวรรณ ได้เขียนบทความชื่อ “วันชาติ 24 มิถุนายน : ความรุ่งโรจน์และความร่วงโรยผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน” ไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2562 โดยเป็นการปรับปรุงเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณัฐกมล ไชยสุวรรณ เขียนไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับการนำเสนอของสื่อ และการใช้สื่อของผู้นำแต่ละคนขณะนั้นดังนี้
เริ่มจากการใช้ “สื่อวิทยุ” ของคณะราษฎรเองในการปราศรัยในวันที่ 24 มิถุนายน 2478 ของ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า
“วันนี้เป็นวันศุภมงคลวารบรรจบครบรอบปีที่ 3 ที่คณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวสยาม ความมุ่งหมายในการที่จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นนั้น ก็คือเพื่อจะให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยความมั่นคง”
นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกคณะราษฎรที่ผลัดเปลี่ยนมาปราศรัยถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
ส่วนสื่อ “หนังสือพิมพ์” นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและสนับสนุนคณะราษฎร กับฝ่ายที่ไม่สนับสนุน
ฝ่ายที่เห็นด้วยได้นำเสนอ คำปราศรัยของสมาชิกของคณะราษฎรที่ปราศรัยในวันที่ 24 มิถุนายน มาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตน, การตีพิมพ์ภาพข่าว และยังมีบทความระลึกและภาพเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างละเอียด ตัวอย่าง เช่น
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนบทความระลึกวันปฏิวัติในหนังสือพิมพ์ประชามิตร (24 มิถุนายน 2481) ว่า “24 มิถุนายน เป็นวันที่ระลึกสำคัญ หากปล่อยผ่านไปความเสียสละที่อยู่ในการปฏิวัติอาจจะคลายความขลังความศักดิ์สิทธิ์ลงไปไม่น้อย การระลึกจะช่วยให้รักษาสภาพจิตต์ใจของการปฏิวัติไว้ได้…
…ประเทศชาติจะเจริญไม่ได้ ถ้าเราลืมวีรบุรุษของเรารวดเร็วเกินไป วีรบุรุษไม่มาตรหมายการตอบแทน แต่การแสดงความกตัญญูเปนคุณธรรมของอารยชนโดยแท้”
แล้วหนังสือพิมพ์ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนคณะราษฎรนำเสนออะไร และสามารถนำเสนอได้ไหม?
หนังสือพิมพ์ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนคณะราษฎร มีการรายงานข่าวความสำคัญของวันชาติ 24 มิถุนายน แต่จะไม่มีภาพ หรือบทความรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองสักเท่าใด
การแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข่าวต่อต้านคัดค้านคณะราษฎรไม่ได้แสดงออกโดยตรง แต่ก็ได้เสนอข่าวสารให้เห็นความแตกแยกในหมู่คณะราษฎร หรือเสนอบทความอื่นที่มีเนื้อหาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของคณะราษฎร โดยจะตีพิมพ์หลังวันที่ 24 มิถุนายน ไปแล้ว ตัวอย่างเช่น
หนังสือพิมพ์ประมวญวัน ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2480 นำเสนอบทความเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำจอมบงการของอิตาลี, บทความประวัติตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (Prime Minister) ของอังกฤษว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมักจะเป็นสงฆ์ เพราะหากให้คฤหัสถ์มาเป็นก็จะเกิดการแย่งชิงอำนาจมงกุฎกันได้
ข่าวการจัดงานวันชาติ 24 มิถุนายน ที่ส่งออกไปนั้นคงแพร่หลายอยู่พอสมควรทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าการจัดงานวันชาติ 3 ปีแรก (พ.ศ.2482-84) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ไทยในโอกาสวันชาติอย่างสม่ำเสมอด้วย จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปแล้ว ทำให้การสื่อสารผ่านโทรเลขเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้วันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484 พระราชโทรเลขอวยพรในงานวันชาติขาดหายไป
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ ณัฐกมล ไชยสุวรรณ ได้เขียนไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งสื่อมวลชนได้นำเสนอความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของ “วันชาติ 24 มิถุนายน”