อาศรมมิวสิก : ปี่พาทย์งานศพ จะนำคุณค่าของอดีตมารับใช้ปัจจุบันได้อย่างไร : โดย สุกรี เจริญสุข

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับวงปี่พาทย์งานศพมา 2 ครั้งแล้ว เรื่อง “วิญญาณกลับไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยเสียงดนตรี ดนตรีในพิธีกรรมงานศพ ดนตรีเพื่อส่งวิญญาณ” เขียนเมื่อเดือนมีนาคม 2554 อีกบทความหนึ่งเขียนเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เรื่อง “ปี่พาทย์งานศพ” ทั้ง 2 บทความลงตีพิมพ์ในวารสารเพลงดนตรี ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนวงปี่พาทย์ประโคมงานศพ และเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำ “พิธีกรรมของความตาย” ขายเป็นสินค้าวัฒนธรรมให้แก่นักท่องเที่ยวได้ดู

เนื่องจากวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี พิธีกรรม อาหารการกินอยู่เปลี่ยนไป รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ เป็นอดีต ได้หายไปหมดแล้ว ที่ยังดำรงคงอยู่ก็เป็นเพียงร่องรอย การโหยหาอดีต และการฟูมฟายวัฒนธรรมเท่านั้น ในชีวิตจริงๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว อาจจะเหลือเรื่องราวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีภาระผูกพันกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้

พิธีกรรมความตายของสังคมสมัยใหม่ ไม่มีปี่พาทย์ ไม่มีลิเก ไม่มีงิ้ว ไม่มีพิธีกงเต๊ก อีกแล้ว

เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และในระยะอันใกล้นี้ก็จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯของกรุงเทพมหานครใหม่อีก ผมก็ขอถือโอกาสเสนอพิธีกรรมของความตายให้เป็น “นโยบายวัฒนธรรม” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทย ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมใหม่ ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯใหม่ ว่าที่ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครใหม่ จะนำเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม นำความรู้ประสบการณ์ดั้งเดิม มาสร้างทิศทางวิถีชีวิตใหม่ เป็นการพัฒนาฟื้นฟูคุณค่าของวิถีชีวิต เป็นการพัฒนาให้เป็นรายได้สำหรับคนจรและนักท่องเที่ยว โดยนำเอาวัฒนธรรมที่เป็นพิธีกรรมความตายมาขายเป็นสินค้า นอกจากทำให้สังคมไทยสามารถรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้ ยังสร้างรายได้อีกด้วย

Advertisement

ปี่พาทย์งานศพ เป็นบทบาทสำคัญของดนตรีไทยที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทยมายาวนาน มาถึงปัจจุบันสังคมไทยเคลื่อนไปสู่สังคมสมัยใหม่ ไม่มีดนตรีปี่พาทย์ในงานศพเสียแล้ว เนื่องจากเป็นความยุ่งยากในการจัดการของเจ้าภาพ ยุ่งยากกับพื้นที่วัดจะตั้งวงปี่พาทย์ในงานศพ โต้โผวงปี่พาทย์ก็มีปัญหากับฝ่ายจัดการของวัด นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายของวงปี่พาทย์ อาหารเครื่องดื่มของนักดนตรี ก็เป็นภาระเจ้าภาพ การแต่งกายและกิริยาของนักดนตรีวงปี่พาทย์ก็ไม่เหมาะสม บางครั้งก็ได้สร้างความอับอายให้แก่เจ้าภาพ อาการเมาของนักปี่พาทย์ (กินอยู่อย่างราชา นอนอย่างกะหมา) การสูบบุหรี่ของนักปี่พาทย์ ทำให้วงปี่พาทย์ไม่มีพื้นที่ในวัดเพื่อทำพิธีกรรมความตายและหมดอาชีพปี่พาทย์งานศพไปในที่สุด

ฝ่ายจัดการวัดทะเลาะกับโต้โผวงปี่พาทย์เรื่องค่าตัว เจ้าภาพศพเห็นว่า การมีวงปี่พาทย์นั้น เป็นภาระที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองปัจจัย พิธีที่สิ้นเปลืองในการประโคมศพ อีกอย่างหนึ่งการมีวงปี่พาทย์เล่นในพิธีงานศพนั้น ทำให้เวลางานเยิ่นเย้อออกไปอีก

ยิ่งในยุคปัจจุบัน คนมีสมาธิสั้น สนใจเรื่องที่เร็ว รีบเร่ง ด่วน ย่นย่อ เพราะจะต้องใช้เวลาไปทำอย่างอื่น ชีวิตไม่มีเวลาให้กับการนั่งฟังวงปี่พาทย์

Advertisement

โบราณนั้น วงปี่พาทย์อยู่ควบคู่กับวิถีชีวิตไทย งานวันเกิด งานสังสรรค์ งานบวช งานแต่งงาน และกระทั่งงานศพ ซึ่งปี่พาทย์งานศพเป็นพิธีที่สำคัญที่สุด วันนี้คนไม่มีเวลาที่จะทำงานพิธีกรรม โดยเฉพาะการใช้วงปี่พาทย์บรรเลงในงานศพ ปัจจุบันนั้นวงปี่พาทย์หมดบทบาทและหายไปจากสังคมไทยแล้ว นักดนตรีวงปี่พาทย์ไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้ ไม่มีการฝึกหัดดนตรีไทย ไม่มีครูผู้สอน และไม่มีผู้เรียน ซึ่งกำลังเป็นความตายของดนตรีไทยในลำดับต่อไป

อย่าลืมว่า พิธีกรรมความตายเป็นพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับพิธีกรรมอื่นๆ ในชีวิต เพราะพิธีกรรมความตายเป็นเครื่องแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ตาย งานศพจึงมีวงปี่พาทย์แสดงในงาน เพื่อจะบอกถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ตาย เมื่องานผู้ตายยิ่งใหญ่ วงปี่พาทย์ก็จะยิ่งใหญ่ตาม

งานศพไม่มีวงปี่พาทย์ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

มีอยู่ 4 หน่วยงานด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมงานศพคือ วัดที่มีเมรุเผาศพ กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งต้องร่วมมือกัน เลือกวัดอารามหลวง (1-5 วัด) กระจายในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะว่าวัดในกรุงเทพมหานครมีอยู่จำนวนมาก เฉพาะที่มีเมรุเผาศพ (350 วัด) นอกจากนี้ในเขตกรุงเทพมหานครมีศพที่เสียชีวิตวันละหลายศพ (มากกว่า 100 ศพ) หากทั้ง 4 หน่วยงาน สามารถที่จะตกลงกันได้ ก็ให้ดำเนินการต่อไปดังนี้

ประการแรก บูรณะสถานที่ฌาปนกิจ เมรุเผาศพของวัดเสียใหม่ โดยใช้งบประมาณร่วมกัน สร้างเป็นเมรุเผาศพที่มีพื้นที่จอดรถเพียงพอ รอบๆ เมรุเผาศพ ก็จะมีพื้นที่สำหรับทำพิธีกรรมงานศพ อาทิ พื้นที่พระสวด ที่ตั้งวงปี่พาทย์ พื้นที่ของผู้ที่มางานศพ ฯลฯ โดยได้รับการออกแบบอย่างหรูจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหรือการประกวดแบบสร้างอาคารสำคัญของชาติคือ เมรุเผาศพ

ประการที่สอง การบริหารจัดการก็ต้องมีคณะกรรมการร่วมกันทำงาน จากวัดที่สร้างเมรุเผาศพ จากกรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อคิดและนำวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่ เหมือนกับการบริหารโรงมหรสพหลวงเลยทีเดียว อาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีพื้นที่จอดรถที่เพียงพอ สะดวกและสบาย จ้างผู้จัดการที่เก่งเข้ามาบริหาร อย่าเปิดโอกาสให้การจัดการโกงกินศพ

ประการที่สาม ทำพิธีกรรมงานศพให้เป็นพิธีกรรมทางวัฒนธรรมที่สามารถขายเป็นสินค้าได้ เพื่อให้กับคนจรหรือนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ได้ชื่นชม ได้เห็นพิธีกรรมงานศพ เป็นการรื้อฟื้นเพื่อให้พิธีกรรมของความตายให้สืบทอดอยู่ได้และขายพิธีกรรมเป็นสินค้า

ในจำนวน 4-5 วัดที่เลือกมาพัฒนาเป็นตัวอย่างหรือวัฒนธรรมนำร่อง ควรมีมหรสพที่หลากหลาย อาทิ มีปี่พาทย์ มีกงเต๊ก มีมโหรีจีน มีโขน หรือมีรำชาตรี เป็นต้น มหรสพที่อยู่ในพิธีงานศพเหล่านี้จะแสดงประจำวัด หรือมีการหมุนเวียนไปตามวัดก็สามารถจะกระทำได้

เมื่อศิลปินมีรายได้ ก็สามารถรักษาศิลปะเอาไว้ได้ เมื่อมีรายได้ก็สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ เพราะศิลปะการแสดงเหล่านั้นจะอยู่ได้ก็ต้องมีรายได้ การอนุรักษ์โดยคำสั่งหรือโดยอำนาจนั้น รักษาเอาไว้ได้ชั่วคราว อย่าลืมว่า อาชีพศิลปินมีหน้าที่สร้างสรรค์งานศิลปะ “เสียงดังตังค์มา” ไม่ใช่ “ศิลปินไส้แห้ง” อีกต่อไป เมื่อสามารถที่จะสร้างรายได้ อาชีพก็เจริญรุ่งเรือง ซึ่งต้องอาศัยองค์กรที่มีอำนาจรัฐเข้ามาช่วย และมีการบริหารจัดการที่ทำให้พิธีกรรมงานศพอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้ด้วย

ลําพังพิธีกรรมอย่างเดียวโดยไม่ผูกพันกับสังคมก็จะอยู่ไม่ได้ ที่ยกมาเฉพาะพิธีกรรมของความตายเพราะว่า ทุกคนต้องตาย และมีคนตายทุกวัน ทำอย่างไรให้พิธีกรรมของความตายเป็นพิธีกรรมที่แสดงออกด้วยความเคารพต่อผู้ตาย ประกอบกับความเชื่อของคนโบราณที่ว่า “ดวงวิญญาณจะกลับขึ้นสู่สรวงสรรค์ โดยอาศัยเสียงปี่พาทย์” ความจริง ทุกๆ ศาสนาก็เชื่ออย่างนั้นว่า “ดวงวิญญาณกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้าด้วยเสียงดนตรี”

ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯมีโอกาสที่จะนำคุณค่าของวัฒนธรรมที่เคยมีมาแล้ว คุยกับเจ้าอาวาส เพื่อหาแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้า ใช้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของสังคมพัฒนาเคียงคู่กับเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะตัววิถีชีวิตและวัฒนธรรมจะช่วยหล่อหลอมให้จิตใจคนในสังคมคิดถึงรากเหง้า สร้างคนในสังคมให้มีราก โดยการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันอย่างมีคุณค่าและสร้างเป็นมูลค่าได้

เมื่อสามสิบปีก่อนนั้น นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยก็เพื่อต้องการไปพัฒน์พงษ์หรือพัทยา สำหรับในปัจจุบัน ก็ต้องไปหาความสุขที่หาดป่าตอง หรือไปฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงัน ซึ่งเป็นภาพประเทศไทยในแผนที่ของชาวโลก

วันนี้ เวลานี้ เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (คนใหม่) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่จะต้องสร้างค่านิยมใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยมีรสนิยม ชวนกันไปดู “พิธีกรรมงานศพ” เพราะมีมหรสพให้ชื่นชม ส่วนเขาจะไปไหนหลังจากนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image