เปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลง 87 ปี ‘ประชาธิปไตย’ เมื่อไหร่จะตั้งมั่น?

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ประชาธิปไตยไทยยังคงล้มลุกคลุกคลาน ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านรัฐประหาร หมุนเปลี่ยนเวียนซ้ำจนไม่อาจตั้งมั่นหยัดยืนอยู่ในสังคมได้จนถึงวันนี้

เครื่องหมายคำถามเกิดซ้ำและฝังลึก “อีกนานแค่ไหน ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและยั่งยืน” ?

ไม่นานมานี้ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ ร้านเบรนเวค คาเฟ่ มติชนอคาเดมี ดึงร็อกสตาร์ของวงวิชาการไทย ทั้ง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการและสื่อมวลชนฝีปากกล้า ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ มาร่วมค้นหาคำตอบผ่านงานเสวนา “ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น” อันต่อยอดมาจากหนังสือ “ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น” ของ ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์ ที่ถอดแบบการเมืองไทย ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น และย้ำว่ากระบวนการแรกคือ “ทำให้ระบอบเผด็จการสิ้นสุดก่อน”

วินาทีนี้ใกล้เคียงหรือไม่ เพราะประเทศไทยเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 หากแต่รัฐบาลยังโยงใยถึงรัฐประหาร ปี 2557 จะถือว่าเราสิ้นสุดระบอบเผด็จการแล้วหรือยัง?

Advertisement
ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผศ.ดร.ประจักษ์ เปิดฉาก มองว่าตอนนี้ “เป็นระบบผสม” แม้ไม่ใช่เผด็จการเต็มใบแบบสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นความพยายามของ คสช.ในการแปลงกายจากระบอบสฤษดิ์ ไปเป็นระบบที่มีเผด็จการน้อยลงเพื่อได้รับความชอบธรรมทางการเมืองมากขึ้นในสายตาชาวโลก แต่ความพยายามเปลี่ยนรูปกลับล้มเหลวเพราะอภินิหารทางกฎหมาย ทั้งการใช้สูตรคำนวณบทบาทหน้าที่ของ กกต.จนทั่วโลกตั้งคำถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง

“ในส่วนของโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มีโจทย์ในการสร้างประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ชัดเจนที่สุดคือกลไกแต่งตั้ง 250 ส.ว.ที่มีอำนาจในการเลือกผู้นำฝ่ายบริหาร ทั้งที่มีอำนาจเต็มอยู่ในมือ แต่เหตุใดการตั้งรัฐบาลถึงดูยากลำบาก เห็นความทุลักทุเล เห็นความขัดแย้งภายในรัฐบาลด้วยกันเอง”

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.ดุลยภาค เห็นด้วยว่า ตอนนี้เป็นระบอบการเมืองลูกผสม อยู่ในโซนสีเทา ไม่ดำก็ขาว ซึ่งโซนสีเทานี้แบ่งประเภทแยกย่อยออกเป็น “เผด็จการที่จัดให้มีการเลือกตั้ง” แต่พรรคของรัฐบาลควบคุมทรัพยากรต่างๆ ทำให้ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ฝ่ายค้านอ่อนเปลี้ย เช่น กัมพูชา และสิงคโปร์ อีกแบบเรียกว่าเป็น “เผด็จการที่มีการแข่งขัน” ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และหากฝ่ายค้านรวบรวมทรัพยากร มีกลยุทธ์ทางการเมืองก็สามารถคว่ำรัฐบาลได้ หรืออย่างน้อยได้สกอร์แบบรดต้นคอ

“ถ้าถามว่าประเทศไทยตอนนี้ยืนอยู่จุดไหน ก็คิดว่าเป็น เผด็จการกึ่งแข่งขันกึ่งครอบงำ การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารสู่การเป็นประชาธิปไตยควรจะตั้งต้นจาก ‘เผด็จการที่มีการเลือกตั้ง’ ที่รัฐบาลทหารมีความได้เปรียบ ยังกุมภูมิทัศน์การเมืองไทย ค่อยๆ แต่งองค์ทรงเครื่องแปลงร่างตัวเองเข้ามา กระนั้นการก่อตัวทางกลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทยและผลคะแนนของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะของการแข่งขันมากขึ้น พปชร.จึงไม่สามารถควบคุมสภาได้ และไม่ใช่ผู้ครองความเป็นเจ้าในภูมิทัศน์ทางการเมือง แต่ก็ยังมีลักษณะบางอย่าง เช่น ส.ว.250 พลังอำนาจของ คสช.ที่ถ่ายโอนไปยัง กกต. กอ.รมน. ฯลฯ ทำให้ความเป็นเจ้าทางการเมืองยังคงมีอยู่ แต่มีการแข่งขันมากขึ้น” ผศ.ดร.ดุลยภาคระบุ

ดุลยภาค ปรีชารัชช

ถ้ามองในแง่ฟังก์ชั่น ที่ ส.ว.สามารถเลือกนายกฯได้ เช่นนั้น วุฒิสมาชิกจะถือเป็นพรรคการเมืองในทางปฏิบัติหรือไม่?

ผศ.ดร.ประจักษ์อธิบายว่า “วุฒิสมาชิกคือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน” และยังมีความเป็นเอกภาพที่สุด เป็นพรรคการเมืองที่สั่งได้ ซ้ายหัน-ขวาหัน อยู่ได้ยาวกว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสร้างหลักประกันว่า ต่อให้พรรคที่ตัวเองสนับสนุนไม่ได้ชนะถล่มทลาย ก็ยังมีกลไกที่จะมาช่วยพยุงให้รัฐบาลอยู่รอดได้

“ที่บอกว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์สมัย 2 จะอยู่สั้นไม่ถึงปี ก็อาจจะเร็วไปที่จะพูดอย่างนั้น”

ส่วน ผศ.ดร.ดุลยภาค ขอแซวว่า ส.ว.ไม่น่าใช่พรรคการเมือง พร้อมระบุเหตุผลแนบไปว่า พรรคการเมืองตามนิยามของประชาธิปไตยต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.เป็นนวัตกรรมการจำแลงของเผด็จการเพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจ

“ถ้าย้อนดูพัฒนาการของบางรัฐที่มีปัญหาเรื่องการสร้างรัฐ สร้างชาติ กับการสร้างประชาธิปไตย รัฐที่เผชิญความขัดแย้งมายาวนาน หรือเผชิญสงครามกลางเมือง ได้ใช้นวัตกรรมปั้น ส.ว.ขึ้นมาแล้วลากตั้งเข้าไปเพื่อเป็นอำนาจอภิสิทธิ์ให้สามารถทัดทานฝ่ายที่ทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ ด้วยการโจมตีในสภา อินเดีย และเมียนมา ก็ใช้พลังของทหาร แต่ ส.ว.ไทยพิเศษกว่า เพราะมาจากหลายส่วน ไม่ใช่สัญลักษณ์ของเสนาธิปัตย์แบบเพียวๆ”

น่าสนใจว่า 2 นักวิชาการเบอร์ท็อปของไทย ถ้ามีโอกาสคุยกับ พล.อ.เอกประยุทธ์จะแนะนำอะไร เพื่อให้ประเทศกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง

ผศ.ดร.ประจักษ์บอกว่า ก่อนอื่นมติชนควรส่งหนังสือ “ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น” ไปที่สำนักนายกฯ ก่อน

“ผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้ เพราะตั้งโจทย์ได้ตรงคือ ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น เข้าใจว่ามาจากคอนเซ็ปต์ฝรั่งที่เรียกว่า Democratic Consolidation ที่ถกกันว่าประชาธิปไตยมี 2 ระยะ คือ 1.ระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย โดยการโค่นเผด็จการ และ 2.เมื่อได้ประชาธิปไตยแล้ว ทำอย่างไรให้ลงหลักปักฐานอยู่ได้อย่างยั่งยืนตั้งมั่น ซึ่งสังคมไทยเลยโจทย์เรื่องการเปลี่ยนผ่านมาแล้ว แต่โจทย์ที่เผชิญมา 87 ปีจาก 2475 คือเราไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้”

ด้าน ศิโรตม์ ถือโอกาสแย้งด้วยอารมณ์ขัน “ผมไม่เคยทำให้ประชาธิปไตยพังในประเทศนี้”

ก่อนที่ ประจักษ์ จะอธิบายต่อว่า ถ้าดูในแง่การเปลี่ยนผ่าน สังคมไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมากที่สุด ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475, 14 ตุลาคม 2516, พฤษภาคม 2535 อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ใหญ่นี้ ประชาชนลุกขึ้นมาโค่นระบอบเผด็จการอำนาจนิยม แต่ทำไมประชาธิปไตยถึงไม่ตั้งมั่น

“ที่น่าสนใจคือ เวลาที่บอกว่าประชาธิปไตยไทยล้มเหลวหรือไม่ตั้งมั่นกลายเป็นว่าประชาชนตกเป็นจำเลย ทั้งที่ประชาชนอยู่เฉยๆ ไม่มีอำนาจ”

“ถ้าเราร่างประวัติศาสตร์ใหม่อีกแบบ ซึ่งตอนหลังก็เริ่มมีการศึกษาแล้วว่าที่เป็นประชาธิปไตยไม่สำเร็จเพราะหลัง พ.ศ.2475 กลุ่มที่เสียอำนาจไปพยายามแย่งชิงอำนาจกลับคืน มีกบฏบวรเดช มีสงครามกลางเมือง มีการทำอะไรหลายอย่างเพื่อสกัดขัดขวางไม่ให้ประชาธิปไตยตั้งหลักได้…

พอ 14 ตุลาคมปฏิวัติเสร็จ ประชาชนลุกขึ้นสู้ นึกว่าฟ้าสีทองจะผ่องอำไพ ปรากฏว่าอีก 3 ปี ก็กลับมายึดอำนาจ จะโทษใคร? เพราะในประวัติศาสตร์แบบทางการตามตำราเรียนบอกว่า พวกนักศึกษาหัวเอียงซ้ายเกินไป ใจร้อน ทำให้สังคมไม่ชอบ เพราะเหมือนจะไปเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน กลายเป็นว่าเล่าประวัติศาสตร์แบบที่นักศึกษา ชาวนา และกรรมกรกลายเป็นผู้ร้าย แทนที่จะได้รู้ว่าใครกันแน่เป็นผู้สังหารประชาธิปไตย ทำให้ประชาธิปไตยที่เปลี่ยนผ่านไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้ นั่นก็คือกลุ่มชนชั้นนำที่หวงแหนอำนาจ”

“น่าสนใจที่สังคมไทยมีมายาคติอีกชุด เป็นนิทานที่เล่าต่อๆ กันมาอยู่ในแบบเรียนซึ่งยากมากที่จะเปลี่ยน เราเติบโตมากับการที่เรียนรู้ว่า เหตุการณ์ 2475 คือการชิงสุกก่อนห่าม ราษฎรไม่พร้อม เราเติบโตมากับการเรียนว่า 14 ตุลาคมคือชัยชนะของนักศึกษา แต่หลังจากนั้นนักศึกษาผิดพลาด ใจร้อน ในที่สุดทหารกลายเป็นฮีโร่กลับมารักษาความสงบให้สังคมไทย ถ้าเราแก้นิทานประชาธิปไตยซึ่งเล่าประวัติศาสตร์กลับหัวกลับหางไม่ได้ ก็ยากที่จะสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐาน เพราะบทเรียน คือประชาธิปไตยจะไม่สามารถตั้งมั่นได้ ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อของคน” ผศ.ดร.ประจักษ์ย้ำ

ด้าน ผศ.ดร.ดุลยภาค บอกว่า ถ้ามีโอกาสคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนอื่นจะขอชมเชยท่านที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่างชนชั้นนำทหารแปลงรูปทรงเครื่องเป็นระบอบที่มีการแข่งขันมากขึ้น เราผ่านคลื่นกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยและออกจากประชาธิปไตยมา 4-5 ระลอก ปี 2475 จากบนลงล่าง 2516 และ 2535 จากล่างขึ้นบน และ 2550 จากบนลงล่างอยู่ 2 ต่อ 2 สูสีกัน แต่คุณประยุทธ์เพิ่มแต้มการเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่างได้อีก 1 แต้ม จึงเป็นระยะรอยต่อที่มีนัยสำคัญ เป็นการรีฟอร์มยอมคายอำนาจของชนชั้นนำเก่า เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำใหม่เข้าไปเจรจาต่อรอง เป็นการเปลี่ยนผ่านแบบทวิคู่สัญญา

โจทย์ที่ยากกว่าคือ แล้วจะทำอย่างไรให้ชนชั้นนำไทยยอมคืนอำนาจบางส่วนให้ประชาชน ในเมื่อการมีอำนาจได้ทั้งความเป็นอภิสิทธิ์ชน ได้ครอบครองทั้งตำแหน่งที่มีเงินเดือนและผลตอบแทน

คำตอบสั้นๆ ของ ผศ.ดรประจักษ์ คือ ก่อนอื่น “ต้องฟังเพลงกิเลสมนุษย์”

บรรยากาศการเสวนา “ประชาธิปไตยเมื่อไหร่จะตั้งมั่น” ที่ เบรนเวค คาเฟ่ มติชนอคาเดมี

“ชนชั้นนำไม่มีเหตุผลที่จะสละอํานาจ การปกครองแบบคณาธิปไตย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อย การปฏิรูปทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เป็นโจทย์ที่ล้มเหลวมาตั้งแต่สมัยคณะราษฎร สถาบันของไทยที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนหรือปรับเปลี่ยนน้อยมากคือ กองทัพ ถ้าประเทศใดกองทัพยังมีอำนาจสูง จะเกิดสภาพ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ซึ่งยากที่จะมีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นได้ เพราะเมื่อใดที่ทหารเสียประโยชน์ อำนาจถูกสั่นคลอน ก็เข้ามาแทรกแซงการเมืองได้เสมอ เป็นประวัติศาสตร์ที่เราซ้ำรอยมาตลอด” ผศ.ดร.ประจักษ์ ย้ำ ก่อนที่ ผศ.ดร.ดุลยภาค จะกล่าวทิ้งท้าย

“ถ้าชนชั้นนำยังเหนียวแน่นมีเอกภาพ แต่มวลชนแล้วไซร้ยังขาดซึ่งความกระฉับกระเฉงที่จะเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อนั้นเผด็จการจะอยู่ยาว แต่หากมวลชนกระฉับกระเฉง อีลีทแตกความสามัคคี เมื่อนั้นจะได้เห็นประชาธิปไตยในประเทศไทย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image