เดินไปในเงาฝัน : คิดแบบมีเรื่องเล่า : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ตลอดช่วงผ่านมาเชื่อว่าหลายๆ คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ คงได้ยินคำว่า “Design Thinking” หรือ “การออกแบบความคิด” กับคำว่า “Storytelling” หรือ “การเล่าเรื่อง” กันค่อนข้างมาก

ถามว่าทั้ง 2 คำต่างกันอย่างไร? และจะนำไปใช้กับสถานการณ์แบบไหน?

คำตอบคือ “Design Thinking” คือกระบวนการคิดในการมองปัญหาแบบองค์รวม เพื่อนำมาสร้างเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และส่วนใหญ่วิธีการคิดแบบนี้จะนำไปใช้กับสถานการณ์ไม่ปกติ หมายความว่าเมื่อองค์กรหนึ่งๆ ถึงทางตัน ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร

เพราะปัญหาที่มีอยู่ยุ่บยั่บไปหมด แก้ตรงนั้น ก็จะไปพันกับตรงนี้ คล้ายๆ กับสำนวนไทยที่บอกว่าวัวพันหลักคือแก้ตรงไหนก็จะไปพันกับอีกเรื่องหนึ่งเสมอ

Advertisement

จนยากที่จะหาทางออกเจอ

ทางแก้ของเรื่องนี้คือต้องนำทุกปัญหามากองรวมกัน เพื่อพิจารณาดูว่าปัญหาไหนสำคัญที่สุด ที่จะต้องได้รับการแก้ไขก่อน ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบได้

ต่อจากนั้นจึงค่อยพิจารณาปัญหารองๆ ลงไป เพื่อหาทางหยุดยั้งต้นตอของปัญหา ฉะนั้น ถ้าถามว่าวิธีการคิดแบบนี้ใหม่หรือ

Advertisement

คำตอบคือ ไม่เลย

เพราะใครๆ ก็คิดได้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออก

แต่ที่ทุกคนยอมรับวิธีการคิดแบบ “Design Thinking” อาจเป็นเพราะวิธีการคิดแบบนี้จะไม่ยึดติดกับกรอบวิธีการคิดแบบเดิมๆ หมายความว่าเมื่อมีปัญหากองเท่าภูเขา ดูแล้วหาทางจัดการยาก แทนที่จะค่อยๆ แก้ไขปัญหาทีละเปลาะๆ แต่วิธีการคิดแบบนี้จะใช้วิธีการคิดใหม่คือไม่แก้ปัญหาเดิม

แต่จะหาวิธีคิดใหม่ทั้งระบบ

ยกตัวอย่าง “กูเกิล” ครั้งหนึ่งเขามองเห็นปัญหาว่าผู้บริหารระดับกลางคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า ทั้งๆ ที่องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่

เป็นองค์กรที่มีเงินเดือนค่อนข้างสูง

แต่เขาเหล่านี้กลับไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล และทำให้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำรอยอยู่กับที่ จนทำให้พนักงานปฏิบัติงานซึ่งเป็นลูกน้องของพวกเขาเริ่มเบื่อ และลาออกไปในที่สุด

เพราะเชื่อว่าในเมื่อหัวหน้างานเป็นแบบนี้ ใครเล่าจะแก้ปัญหาให้เขาได้ และถ้าไปบอกซีอีโอให้ช่วยแก้ปัญหา ก็ดูจะไกลเกินไปสำหรับพนักงานตัวเล็กๆ อย่างพวกเขา

แต่กาลกลับตรงกันข้าม เพราะซีอีโอต่างรับทราบปัญหานี้ดี ทั้งยังพยายามหาทางออกด้วยการเก็บข้อมูลจากพนักงานทุกฝ่าย พร้อมๆ กับเริ่มทดลองในการทำ Design Thinking ด้วยการใช้กลยุทธ์ “HIPPO”

ซึ่งมาจากคำย่อของคำว่า…Highest Paid Person’s Opinion หรือความหมายในภาษาไทยคือ…ความเห็นของผู้มีเงินสูงสุด

ด้วยการไล่ผู้บริหารระดับกลางออกทั้งหมด

เพราะเขาเชื่อว่าอุปสรรคสำคัญของผู้บริหารระดับกลางไม่เพียงอยู่แค่การไม่กล้าตัดสินใจ ลังเล และทำให้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำรอยอยู่กับที่ หากยังอยู่ที่ “ความเร็ว” อีกด้วย

ซีอีโอของกูเกิลเชื่อว่าโลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็ว หากผู้บริหารระดับกลางไม่สามารถตอบสนองความรวดเร็วของโลกเทคโนโลยี เขาจะกลายเป็นตัวถ่วงสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำงานกับผู้ที่เข้าใจความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่ “Storytelling” อาจจะแตกต่างจาก “Design Thinking” อย่างตรงกันข้าม เพราะ “การเล่าเรื่อง” ไม่เพียงเป็นเสน่ห์พื้นฐานของคนที่เล่าอะไรแล้วมีคนฟัง

มีคนชอบ

และมีคนอยากติดตามอยู่บ่อยๆ

เพียงแต่ระยะหลังๆ เราจะเห็นว่า “Storytelling” ถูกนำไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ เครื่องอุปโภค บริโภค หรือแม้แต่แหล่งประวัติศาสตร์ชุมชนต่างๆ

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องบางเรื่องที่ใช้ “Storytelling” ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วๆ ไป ด้วยการเล่าเรื่องของบุคคลอื่นๆ ที่เคยล้มเหลว ผิดพลาด แต่มาวันนี้เขากลับลุกขึ้นยืนอย่างสง่าผ่าเผย

ทั้งยังประสบความสำเร็จในชีวิต

ฉะนั้น ถ้าถามว่า “Storytelling” จะนำไปใช้กับสถานการณ์แบบไหน ต้องบอกว่าในทุกๆ สถานการณ์ที่เราอยากเล่าให้ใครสักคนฟัง ยกตัวอย่างกาแฟอราบิก้าที่ปลูกบนดอยต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย

ซึ่งใครไปสองจังหวัดนี้ ยังไงก็ต้องอยากลองจิบกาแฟดอยตุง ดอยช้าง และดอยต่างๆ อีกมากมาย เพราะทุกคนรู้ดีว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้เลิกปลูกฝิ่นด้วยการหันมาปลูกกาแฟจนประสบความสำเร็จงดงามในทุกวันนี้

แต่ใครสักกี่คนจะเห็นต้นพันธุ์เมล็ดกาแฟอราบิก้าที่ในหลวงพระราชทานให้กับชาวเขาเหล่านั้น แต่สำหรับกาแฟที่ดอยปางขอน จ.เชียงราย กลับมี Storytelling ที่ลูกหลานของเขาเป็นคนเล่าเรื่องต้นไม้ของพ่อ

ทั้งยังมีต้นพันธุ์กาแฟพระราชทานที่มีอายุหลายสิบปียืนต้นงดงามอยู่ใกล้ๆ กับร้านกาแฟด้วย เป็นใครไม่อินก็แย่แล้ว เพราะนอกจากจะจิบกาแฟปางขอนอุ่นๆ ในยามเช้า หากใครต้องการอยากชมต้นพันธุ์กาแฟพระราชทานก็สามารถให้พนักงานร้าน ซึ่งเป็นลูกหลานเหลนโหลนของชาวเขาคนนั้นพาไปชมได้เลย

เท่านี้ก็สุขใจแล้ว

สุขใจไปกับ “Storytelling” ที่ทุกวันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้ทุกเรื่อง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ?

หมายเหตุ – แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ “เมื่อหัวว่างจึงสร้างสรรค์” ซึ่งมี “กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร” เป็นผู้เขียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image