เก็บตก ‘สิ้นแสงฉาน’ รอบพิเศษ กับการ ‘รอคอย’ ของแฟนหนังสือ

“นวนิยายที่เขียนได้อย่างสมจริง และการเขียนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นราวกับนวนิยาย เป็นคุณลักษณะสองด้านที่ทำให้นวนิยายมีพลัง…”

“สิ้นแสงฉาน เป็นนวนิยายที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วนทั้งสองด้าน คือเป็นเรื่องที่เขียนจากประวัติชีวิตจริงของเจ้าฟ้าหลวงแห่งแคว้นสีป่อในรัฐฉานของเมียนมา โดยมหาเทวีชายาของท่าน…”

“อีกด้าน เนื่องเพราะชีวิตจริงของทั้งสองเหมือนดั่งเทพนิยายที่น้อยคนจักเป็นเช่นนั้น…”

ส่วนหนึ่งในคำนำของหนังสือ “สิ้นแสงฉาน” หรือ Twilight over Burma – My life as a Shan Princess นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยอิงเง เซอร์เจน แปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย “มนันยา” และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 โดย สำนักพิมพ์มติชน

Advertisement

เนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของ อิงเง เซอร์เจน หญิงชาวออสเตรีย ผู้ที่ภายหลังกลายเป็น มหาเทวีสุจันทรี ชายาของเจ้าจาแสง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเมืองสีป่อ โดยทั้งสองได้พบรักที่สหรัฐในขณะที่กำลังศึกษาต่อ โดยที่อิงเงไม่ล่วงรู้ความจริงว่าสามีของตนเป็นเจ้าแคว้น จนกระทั่งกลับมาที่เมียนมา

ทั้งสองกลับมาใช้ชีวิตในฐานะเจ้าผู้ปกครองพร้อมความฝันและแรงมุ่งมั่นในการพัฒนาการเมืองการปกครองของสีป่อจากระบบเจ้าผู้ปกครองนครรัฐให้เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่แล้วเหตุการณ์ “ยึดอำนาจ” ของนายพลเนวินในปี พ.ศ.2505 ได้ดับไฟฝันของทั้งคู่มอดดับไปอย่างสิ้นเชิง

เจ้าจาแสงได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับตัวและหายสาบสูญไป ขณะที่อิงเงได้พาธิดาทั้งสองคนออกจากเมียนมาและใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเมียนมาถึงการสาบสูญของคนรักจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

แน่นอน ด้วยเรื่องราวชีวิตที่สวยงามดั่งความฝันเคล้าไปกับหยาดน้ำตา จึงไม่แปลกที่หนังสือ “สิ้นแสงฉาน” จะได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นอย่างมาก

จนได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในชื่อเดียวกัน กำกับโดย “ซาบีน เดอร์ฟลินเกอร์” ผู้กำกับหญิงชาวออสเตรีย โดยมีมาเรีย แอห์ริค แสดงนำในบทอิงเง เซอร์เจน หรือมหาเทวีสุจันทรี, ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ และสหจักร บุญธนกิจ สองดาราชาวไทย แสดงนำในบทเจ้าฟ้าจาแสง และนายพลเนวิน

ก่อนฉายรอบปฐมทัศน์เป็นครั้งแรกผ่านทางสถานีโทรทัศน์ออสเตรียในปีที่ผ่านมา

คึกคักตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน

ผู้คนเนืองแน่น แห่เซลฟี่ “มาเรีย”

ท่ามกลางความสนใจของแฟนหนังสือ “สิ้นแสงฉาน” ทั่วโลก เช่นเดียวกับแฟนหนังสือในประเทศไทยที่รอคอยอย่างใจจดจ่อ

แต่ก็ยังไม่มี “สัญญาณ” ว่าจะเข้ามาฉายเมื่อไร

กระทั่งในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย โดย เอนโน โดรฟีนิก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรีย ได้ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมชมภาพยนตร์เรื่อง “สิ้นแสงฉาน-บันทึกของเจ้าหญิงแห่งรัฐฉาน” (“Twilight over Burma – My life as a Shan Princess”) รอบพิเศษขึ้น พร้อมพบปะนักแสดงนำในเรื่อง

จุดประกายความหวังของแฟนหนังสือชาวไทยที่จะได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง บรรยากาศในรอบพิเศษจึงเต็มไปด้วยแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญต่างตบเท้ามางานกันอย่างเนืองแน่นและคึกคัก

ขณะที่นักแสดงนำในเรื่องอย่าง มาเรีย แอห์ริค และ ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ ปรากฏตัวพร้อมกับ อัลเฟร็ด ดอยช์ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ในการพบปะกับสื่อมวลชน ทั้งหมดได้เริ่มต้นพูดคุยทักทายกับสื่อมวลชนอย่างเป็นกันเอง โดยเฉพาะ เป้ ทวีฤทธิ์ ที่ต้องรับบทหนักในการพูดคุยเนื่องจากเป็นนักแสดงเจ้าบ้าน

ขณะที่ มาเรีย นักแสดงสาวชาวเยอรมันในวัย 23 ปีเองก็ได้รับความสนใจจากสื่อไทยไม่แพ้กัน ด้วยท่าทีเขินอายเล็กน้อยที่มาพร้อมกับรอยยิ้มและความงามของเธอ ที่ทำให้ผู้คนเข้ามาขอถ่ายรูป-เซลฟี่ตลอดเวลา

ภาพ-เจ้าฟ้าจาแสง พระธิดาทั้งสอง มายรี, เกนรี และมหาเทวีสุจันทรี

สองนักแสดงนำภูมิใจที่มีส่วนร่วม

ส่วนการฉายในไทยยังคงไม่มี “คำตอบ”

ทวีฤทธิ์กล่าวกับสื่อมวลชนว่า รู้สึกดีใจที่เห็นสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติเป็นจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วมงานในวันนี้ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศเมียนมา

“ภาพยนตร์พยายามดำเนินไปตามหนังสือให้มากที่สุด โดยพยายามไม่เปลี่ยนเนื้อเรื่องและเรื่องราวที่ท่านอิงเงได้เขียนเอาไว้ เพราะการที่ท่านเขียนก็เพื่อทำให้สิ่งที่พระเจ้าจาแสงทำเอาไว้ไม่ถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ และส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์เรื่องนี้”

ขณะที่มาเรียกล่าวว่า การแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางไปในประเทศที่ตนเองยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปอย่างประเทศไทยและเมียนมา ทำให้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านทางการรับบทในการแสดงภาพยนตร์อีกด้วย

ปิดท้ายด้วยอัลเฟร็ด ที่ต้องเผชิญกับคำถามของแฟนหนังสือชาวไทย นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายที่ไทยเมื่อไร โดยโปรดิวเซอร์ “สิ้นแสงฉาน” ได้ตอบว่า ยังคงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายที่ประเทศไทยได้เมื่อไร แต่ส่วนตัวหวังและอยากให้ได้ฉายที่นี่ เนื่องจากนักแสดงนำและนักแสดงประกอบส่วนใหญ่เป็นคนไทย อีกทั้งหลายฉากในภาพยนตร์ได้ถ่ายทำที่จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่

“แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกฉายผ่านทางสถานีโทรทัศน์ที่ประเทศออสเตรียไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็เป็นเพียงเวอร์ชั่นเบต้าเท่านั้น ไม่ใช่เวอร์ชั่นสมบูรณ์เช่นเดียวกับที่นำมาฉายในรอบพิเศษนี้” อัลเฟร็ดกล่าว

 

รอยยิ้มและหยาดน้ำตา

กับการ “รอคอย” ตลอดไป

ก่อนการฉายภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่สถานทูตและผู้จัดงานได้ประกาศย้ำหลายครั้งไม่ให้มีการบันทึกวิดีโอและถ่ายภาพขณะที่มีการฉายภาพยนตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์

ขณะที่แขกส่วนใหญ่ต่างทยอยกันมาจับจองที่นั่งภายในห้องออดิโทเรียม ชั้น 5 ไม่ว่าจะเป็น กลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

บ้างก็ร่วมถ่ายรูปกับดารานำ โปรดิวเซอร์ และเอนโน โดรฟีนิก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรีย ที่เดินต้อนรับแขกเหรื่อตลอดทั้งงาน

นาฬิกาบอกเวลา 18.30 น. ห้องประชุมเต็มทุกที่นั่ง ก่อนที่เอนโนและทวีฤทธิ์จะขึ้นกล่าวต้อนรับและขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน และส่งต่อให้มาเรียขึ้นอ่านจดหมายของอิงเง ที่มีเนื้อความแสดงความชื่นชมในการทำงานหนักของผู้กำกับและนักแสดงทุกคนที่ได้พยายามถ่ายทอดเรื่องราวนี้อย่างสุดความสามารถ

และแล้วก็ถึงเวลาเริ่มฉาย

แม้ว่าบางช่วงบางตอนจะมีการปรับหรือตัดทอนไปจากหนังสือบ้าง แต่หลายฉากหลายตอนได้ถ่ายทอดความสวยงามของรัฐฉานได้อย่างงดงาม รวมถึงได้ถ่ายทอดความพยายามของเจ้าฟ้าจาแสงและอิงเงในการเปลี่ยนแปลงพัฒนารัฐฉาน โดยเน้นในเรื่อง “สิทธิ” ของมนุษย์ที่มีอย่างเท่าเทียมกันสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง

และยังคงส่งสารเพื่อ “ตามหา” พร้อมรอคอยคำตอบอันเกี่ยวกับเรื่องเจ้าฟ้าจาแสงตลอดไป

โดยรวมแล้วภาพยนตร์เวอร์ชั่นเบต้านี้ได้สร้างความสุขและเศร้า รอยยิ้มและหยดน้ำตาให้กับผู้ชมได้ไม่มากก็น้อยตลอดทั้งเรื่อง

และแทบจะทันทีที่ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ “สิ้นแสงฉาน” จบลง เสียงปรบมือดังกึกก้องก็เข้ามาแทนที่ดังยาวนานต่อเนื่องนับหลายนาที กระทั่งนักแสดงนำและโปรดิวเซอร์ต้องลุกขึ้นยืนแสดงความขอบคุณต่อเสียงชื่นชมดังกล่าว-แต่กลับยิ่งเป็นการโหมให้เสียงปรบมือกราวใหญ่นั้นดังยิ่งขึ้น

คล้ายเป็นการเร่งเร้าให้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในประเทศไทยในเร็ววัน

(บน) บางฉากในภาพยนตร์ (ภาพจาก http://www.dor-film.com/) (ล่าง) ฐากูร บุนปาน ร่วมถ่ายรูปกับเอนโน โดรฟีนิก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย (ขวาสุด) พร้อมนักแสดงนำและโปรดิวเซอร์ของ “สิ้นแสงฉาน”
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image