พลิกวิกฤตขาดเเคลนเเรงงาน ด้วยการจ้างงาน ‘ผู้สูงวัย’

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2567

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างแรงงาน อันมีผลต่อรายได้ในอนาคต

เนื่องจากแรงงานที่เกษียณอายุไม่มีรายได้ ต้องพึ่งพาลูกหลานส่งผลให้คนทำงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากขาดบุตรหลานพึ่งพิงและไม่มีเงินออมเพียงพอจะใช้ในการดำรงชีวิตบั้นปลาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิต

ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดเวทีเสวนา “แรงงานสูงวัย ลมหายใจของอนาคต” ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่มาพร้อมสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแรงงานและหลักประกันรายได้

Advertisement

วิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ด้วยยุคสมัยและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้คนแต่งงานช้า มีลูกน้อย หรือบางคนไม่มีลูกเลย ประกอบกับเทคโนโลยีสาธารณสุขที่พัฒนาขึ้นทำให้คนมีอายุยืน ทั้ง 2 ปัจจัยที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องของ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยสหประชาชาติได้ศึกษาและแบ่งสังคมอายุไว้ 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) คือ สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7%

2.กลุ่มสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) คือ สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือประชากรอายุ 65 ปีมากกว่า 14%

Advertisement

3.กลุ่มสังคมอุดมไปด้วยผู้สูงอายุ (Super-aged society) คือ สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%

ด้วยสภาพสังคมดังกล่าวทำให้เราเห็นภาพโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป

วิวัฒน์บอกว่า เดิมโครงสร้างประชากรที่เราเห็นจะเป็นทรงพีระมิดฐานกว้าง แต่ปัจจุบันเกือบจะกลายเป็นทรงกระบอกอยู่แล้ว สิ่งที่ตามมาคือผู้สูงอายุสามารถทำงานได้แต่ไม่ได้ทำงาน ขณะที่สถานประกอบการขาดเด็กที่จะพัฒนามาทดแทนผู้สูงอายุที่เคยทำงานอยู่

“ความจริงผู้สูงอายุเขายังทรงคุณค่า มีศักยภาพ มีประสบการณ์ ที่สามารถนำมาทำงานได้ บางครั้งอาจจะไม่ใช่งานเดิมที่เคยทำ เนื่องจากกายภาพที่เปลี่ยนไป แต่ยังสามารถทำงานอื่นที่เขามีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีบริษัทเอกชนหลายแห่งจ้างงานผู้สูงอายุต่อเนื่องในสายงานที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี” วิวัฒน์บอก

ในงานเสวนายังมีตัวแทนผู้ประกอบการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยหลายแห่งมีการจ้างแรงงานสูงวัยเข้าทำงานจริง

ดร.วราทัศน์ วงศ์สุรไกร กรรมการบริหาร บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด ประกาศชัดว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงงานมา 80 ปี จนถึงรุ่นที่ 3 แล้วไม่เคยมีการเกษียณอายุ แต่เน้นความสมัครใจ แรงงานส่วนใหญ่จึงเลือกจะทำงานจนกว่าจะทำไม่ไหว

“เรามีพนักงานกว่า 1,000 คน ประมาณ 4% มีอายุ 60-80 ปี เนื่องจากสมัยปู่เริ่มตั้งโรงงาน มีพนักงานที่เป็นเพื่อนเป็นญาติร่วมกันทำงานร่วมก่อตั้ง แล้วคนกลุ่มนี้ก็ทำงานจนไม่ไหว ทางโรงงานก็ช่วยดูแลมาตลอด เลยเป็นธรรมเนียมของที่นี่ในที่สุด”

วิวัฒน์ ตังหงส์
วิวัฒน์ ตังหงส์

ดร.วราทัศน์ระบุข้อดีของการจ้างแรงงานสูงอายุว่า การที่เรารักษาคนเก่าไว้และดูแลอย่างดี จะเป็นกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน ทำให้เขารู้สึกมีหลักประกันในชีวิต ส่งผลให้เขาตั้งใจทำงานเต็มที่ ขยัน และรักโรงงาน ซึ่งพนักงานของเราพอเริ่มมีอายุมากก็จะย้ายไปทำงานเบาๆ เช่น ประสานงาน คุมงาน ทำความสะอาด หรือเฝ้าโรงงาน

“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เลือกจะทำงานจนไม่ไหว เพราะเขาอยากมาโรงงาน มาทำงาน มาเจอเพื่อนฝูง แต่ก็มีบ้างที่อยากหยุดพักอยู่กับลูกหลาน เราก็จะมีเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจนกว่าจะเสียชีวิต หรือคนที่เจ็บป่วยก็จะช่วยเรื่องค่ารักษา เรื่องเหล่านี้ความจริงมีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่มันเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นซึ่งผมมองว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานด้วยกันมานาน จะมีความรู้ใจและไว้ใจ บางคนมีความสามารถมีประสบการณ์ที่ต้องใช้เวลาฝึกฝน กว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย” ดร.วราทัศน์อธิบาย

ขณะที่ ยุทธนา กล้าผจญ ตัวแทนจากบริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด มองว่า เรื่องของอายุและสุขภาพเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อปัจจัยในการทำงาน แต่ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้หมายถึงตัวชิ้นงาน แต่เป็นแนวคิด การวางกรอบ และการใช้ประสบการณ์ส่งต่อถึงลูกน้องให้ทำงานในส่วนของการปฏิบัติงานแทนได้

“ที่บริษัทเรามีพนักงานส่งของอายุ 63 ปี เราไม่ได้ให้เขาขับรถส่งของ แต่ให้เขาใช้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการขนส่งขนมให้มีประสิทธิภาพ ให้ทันเวลา ต้องมีการจัดระบบเวลาเพราะขนมบางอย่างอายุสั้นต้องรีบส่งก่อน” ยุทธนาอธิบาย

นอกจากการจ้างงานต่อ ผู้ประกอบการบางแห่งมีการรับสมัครพนักงานใหม่แต่สูงวัยด้วย

บรรยากาศงานเสวนา
บรรยากาศการสัมมนา

ชานันท์ วัฒนสุนทร ตัวแทนจากบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า ระยะหลังขาดแคลนแรงงานและหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานยากมาก พอมาดูข้อมูลพบว่าเราอยู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ เลยมาประเมินว่าแรงงานเดิม อย่างที่เป็นพนักงานหน้าร้านต้องมีอายุไม่เกิน 35 ก็ปรับเป็น 53 ปี ส่วนที่มีอายุมากกว่านั้น ถ้าสุขภาพดี ทำงานไหว ก็รับเข้ามาทำงานฝ่ายอื่น

“เราทดลองมาแล้วปีกว่า พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ทำงานและรับผิดชอบได้ดีมาก มีปัญหาเล็กน้อยคือบางครอบครัวลูกหลานไม่ค่อยยอมให้พ่อแม่มาทำงาน มาเป็นพนักงานต้อนรับ เรื่องนี้ก็คงต้องปรับความเข้าใจกันต่อไป”

ตัวอย่างจากผู้ประกอบการน่าจะช่วยให้เห็นภาพของแรงงานในอนาคตชัดเจนขึ้น

เพราะการขยายอายุการทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน ยังสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสังคมและประเทศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image