กิตติพล สรัคคานนท์ ว่าด้วยปรัชญา, ศิลปะ, สังคม และเซ็กซ์ ที่อยู่นอกประเทศไทย ในรายการ ‘สัตตะ’

ในโมงยามที่การแข่งขันผลิตสื่อสูงลิบ ไม่เพียงแต่เจ้าของสถานีโทรทัศน์ แต่ทั้งกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้วางตัวเองในสถานะ “สื่อ” ก็เป็นอีกกลุ่มคนที่ผลิตเนื้อหาออกสู่สาธารณะ

เบียดชิงกันรายงานข่าวสาร ถ้อยความที่เอื้อกับกระแสเพื่อดึงให้คนเข้ามาดูและสนใจ ด้านหนึ่งจึงเป็นความหลากหลายที่หาเสพหาดูได้ตั้งแต่ลืมตา จนหลับตาในช่วงท้ายของวัน-แต่อีกด้านหนึ่ง การไหลตามกระแสอย่างดุเดือดเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่าความหลากหลายที่ว่านั้น บางครั้งก็ซ้ำเดิม

สัตตะ คำในภาษาสันสกฤตอันมีความหมายถึง “Being”-ไม่ใช่รายการที่ช่วงชิงพื้นที่ในกระแสเหล่านั้น ในเว็บไซต์ยูทูบ แชนแนล Satta นำเสนอเนื้อหาทั้งในเรื่องปรัชญา, ศาสนา, ศิลปะ และสังคม-ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระแสโลกหรือวัฒนธรรมป๊อป มากไปกว่านั้น ยังปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับอะไรอื่นใดก็ตามในประเทศไทย

ความไม่เป็นที่นิยม-วรรณกรรมจากโลกอื่นเมืองอื่น-เรื่องลี้ลับทางเพศ-งานสถาปัตย์อันแปลกใหม่ เหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อหาที่สัตตะพยายามนำเสนอในรูปแบบการนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันของพิธีกรอย่าง ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ถนอม ชาภักดี, กมล เผ่าสวัสดิ์, ประชา สุวีรานนท์, กิตติพล สรัคคานนท์ ผลัดเปลี่ยนกันถกเถียงในหัวข้อที่แต่ละคนสนใจ

Advertisement

ในฐานะที่เป็นทั้งพิธีกรและผู้ร่วมก่อตั้งรายการ กิตติพล สรัคคานนท์ ยังมีเรื่องราวให้ได้ตั้งคำถามอีกมาก ทั้งเรื่องความสนใจอันลึกล้ำที่เขามีต่องานวรรณกรรม ปรัชญา สังคม และโลกซึ่งอยู่ไกลออกไปจากประเทศไทยซึ่งไม่มีใครเอ่ยถึงในรายการ “สัตตะ”

จุดเริ่มต้นที่มาทำรายการนี้

ต้องบอกว่าตอนเริ่มต้น อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะมีการพูดคุยพื้นฐานแรกๆ แล้วโดยส่วนตัว ผมสนใจเรื่องวรรณกรรม หนังสือ ฉะนั้นตอนที่เจอกันครั้งแรก เท่าที่จำได้ อ.ธเนศเขามีไอเดียจะทำรายการขึ้นมา ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าคือรายการอะไร แต่คิดว่าเป็นช่องสถานียูทูบธรรมดา แต่รายการนี้มีแก่นที่สำคัญคือ เราจะไม่พูดเรื่องที่อยู่ในประเทศไทยเลย เราจะพูดสิ่งที่อยู่ข้างนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยตรง สิ่งที่เราสนใจไม่ว่าจะเป็นสถาปัตย์ ศิลปะ ภาพยนตร์ หรือวรรณกรรมก็เป็นเรื่องของที่อื่นๆ

ถ้าว่าไป วรรณกรรมต่างประเทศก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ส่วนใหญ่ก็หาอ่านได้ เราเลยเลือกว่าเราจะคุยในเรื่องที่คนไม่คุยกัน วรรณกรรมที่คนไม่ค่อยพูดถึง เลือกเล่มที่มันน่าจะดังน้อยหน่อย อย่างถ้าเป็นนักเขียนโปรตุเกส หลายคนคงอยากคุยกับนักเขียนที่เขาได้รางวัลโนเบล แต่เราเลือกนักเขียนคนที่นักเขียนรางวัลโนเบลชอบ (ยิ้ม) แต่เป็นนักเขียนโปรตุเกสเหมือนกัน คือเลือกคนที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า

Advertisement

ทำไมหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องในประเทศไทย

เวลาพูดไปพูดมา บางทีแม้กระทั่งในเวลาแวดวงวรรณกรรม มันก็อ่อนไหวนะ ถ้าชมผิดก็อาจมีปัญหา เพราะอาจกลายเป็นการอวยไป หรือถ้าจะไปวิจารณ์ เขาอยากให้เราวิจารณ์เหรอ รวมถึงประเด็นเหล่านี้ก็ไม่อยู่ในความสนใจของ อ.ธเนศด้วย เพราะอาจารย์เขารู้สึกว่า ถ้าจะคุยทั้งทีแล้ว ก็คุยกันให้สุดสุด ซึ่งมันก็ต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรา

อันที่จริง เป้าหมายหลักใหญ่ของอาจารย์ที่ดึงผมเข้าไปคือ นำเสนอในส่วนที่ว่า หนังสือแบบนี้ก็มีในโลกนะ วรรณกรรมแบบนี้ก็มี ถ้าพูดถึงละตินอเมริกาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นละตินอเมริกาแบบกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มันน่าจะมีละตินอเมริกาแบบบราซิลได้ไหม เป็นผู้หญิงเขียน อะไรแบบนี้

แล้วถ้าเราพูดถึงบราซิล คนก็จะคิดถึงเปาโล โคเอโย (Paulo Coelho) แต่เราไม่ เพราะเราจะไปพูดถึงนักเขียนที่ดังน้อยกว่า หรือน่าสนใจกว่า แต่ไม่มีใครค่อยรู้จัก

ไม่สนใจว่าเนื้อหามันจะเฉพาะทางไป?

ตามคอนเซ็ปต์แรกที่คุยกันไว้ ว่าเราอยากเสนอให้คนดูเห็นว่า มีสิ่งเหล่านี้ในโลกด้วย เช่นวรรณกรรมฝรั่งเศส เราก็อาจจะนึกถึงฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ หรืออัลแบรต์ กามูส์ หรืออ็องตวน แซ็งแต็ก ซูเปรีย์ แต่เราอยากจะพูดถึงคนในช่วงเวลาไล่ๆ กันนั่นแหละ เช่น งานของฌอร์จส์ เปอเรค (Georges Perec)

พอมันมีความเฉพาะทางมากๆ กลัวดูยากไหม

ไม่ยากนะครับ เพราะที่เราพูด เรามีเป้าหมายคือเราไม่กลัวว่าคนดูจะดูไม่รู้เรื่อง เราพูดในฐานะว่าเราแนะนำ เป้าหมายใหญ่ของ อ.ธเนศคือไม่กลัวว่าคนดูจะดูไม่รู้เรื่องเพราะไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร (ยิ้ม) จะพยายามคุยและนำเสนอในส่วนที่เราอยากนำเสนอ ข้อดีของมันคือเนื้อหาทั้งหมดที่สัตตะทำ มันดูได้ไม่จำกัดเวลา พูดง่ายๆ มันไม่เป็นกระแส เพราะเรื่องที่เราพูดมันไม่เป็นกระแสตั้งแต่แรก ฉะนั้นจะย้อนไปดูหรือฟังเรื่องของนักเขียนคนนี้ ศิลปินคนนั้น ก็ไม่เป็นไรเพราะเรื่องเหล่านี้มันอยู่นอกเทรนด์อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่จะฟังหรือดูตอนไหนก็ได้

ทั้งที่การเป็นสื่อนั้นจะนำเสนอเรื่องที่อยู่ในกระแสเป็นหลัก ทำไมเราไม่ทำแบบนั้น

เป้าหมายของสัตตะตอนแรก แม้กระทั่งผู้สนับสนุนหลัก ก็เข้าใจว่าตรงนี้แหละเป็นโจทย์เลยที่ อ.ธเนศรับมา แล้วบอกว่าถ้าเขาจะทำรายการ ก็จะทำรายการที่ไม่เป็นกระแส แปลว่าอย่ากังวลที่จะทำรายการให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะมันจะหมดสนุก โดยส่วนตัวแล้วความสนุกของรายการนี้คือ หนึ่งเราไม่ได้ตามกระแส เราไม่มีกระแส แต่กระแสของเราคือเป็นลักษณะที่เราอินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วพยายามนำเสนอเรื่องนั้นมากกว่า

ฉะนั้นถ้าถามว่า จุดที่ทำให้คนเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันในรายการ คิดว่าน่าจะอยู่ที่ ปกติแล้วรายการทั่วไปอะไรที่พูดแล้วฟังไม่รู้เรื่องก็จะใช้ไม่ได้ แต่รายการนี้ไม่มีปัญหา คุณพูดไปเถอะ อยากจะพูดถึงคนนั้นคนนี้ ตราบเท่าที่ยังพูดภาษาไทย คุยกันรู้เรื่องก็โอเค สามารถนำเสนอในรายการได้

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าที่คุยๆ กันยังเป็นลักษณะพื้นฐานอยู่ด้วยซ้ำนะ (หัวเราะ) ไม่ใช่ความยากมาก เพราะถ้าฟังตั้งแต่ต้นจนจบ คิดว่าแม้แต่ อ.ธเนศเองก็มีการเกริ่นที่เข้าใจได้ มันยังไม่ได้ดั่งใจว่าข้ามไปให้ลึกกว่านี้ แต่นั่นคือเป้าหมายนะ ที่ในที่สุดเราจะไม่คุยแบบพื้นฐาน

รายการของเราจะพูดก็พูด เหมือนวรรณกรรมที่อยากจะเปิดฉากตรงช่วงไหนของเรื่องก็เปิดขึ้นมา โดยไม่ได้กังวลว่าคนจะเข้าใจหรือไม่

เป็นรายการตามใจผู้จัดน่ะ (หัวเราะ) อาจจะขัดใจคนดูคนฟัง แต่รายการมันมีพื้นฐานตรงนี้จริงๆ

กิตติพล สรัคคานนท์

คือเลือกที่จะพูดในสิ่งที่นอกกระแสซึ่งแต่ละคนสนใจ?

ยังมีคนเข้าไปแซวเลยว่ามันสวนทางกับกรุ๊ปเฟซบุ๊กของ อ.ธเนศ (Thanes Wongyannava) พยายามจะตอบทุกคำถามที่โยนเข้าไป แต่รายการสัตตะมันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น แม้ไม่ได้สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงก็ตามที แต่แน่นอนว่าไม่ได้แคร์ว่าคนจะเข้าใจประเด็นหรือไม่ นี่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราทำรายการแบบนี้

มันมีคำพูดหนึ่งที่เขาบอกว่า ถ้าเราอยากจะพูดแต่สิ่งที่คนทั่วไปอยากฟัง สุดท้ายเราอาจจะไม่ได้พูดอะไรเลยก็ได้ เพราะเรามัวแต่พูดในสิ่งที่คนอื่นอยากฟัง นี่คือการทำสื่อแบบสัตตะ คือเราอยากทำอะไร ถ้าอยากทำสิ่งนั้นก็นำเสนอสิ่งนั้น แล้วถ้ามีคนอยากฟัง ถ้าเขามีเวลาสัก 10-20 นาที/วันก็นั่งดูได้ แล้วถ้าเขาสนใจก็ดูคลิปอื่นๆ ต่อ ซึ่งมันก็น่าจะเป็นการ communicate รูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้ฮาร์ดเซลล์เท่านั้นเอง (หัวเราะ) เราก็พยายามนำเสนอในสิ่งที่คิดว่า ในเวลา 1-2 ตอนมันครอบคลุมแล้ว

อีกอย่าง ด้านหนึ่งเพราะว่าเราอยากชี้ให้เห็น ว่าอะไรที่เราเคยยกย่องว่ามันเจ๋ง สุดยอด เราก็อยากนำเสนอว่ามันมีแบบนี้ด้วย

อ.ธเนศเคยเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเราเคยรู้ใช่ไหมว่าไวน์ที่นี่ดี ไวน์จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ก็มีดีๆ แต่เรารู้ไหมว่ามีไวน์ญี่ปุ่น ไวน์อินเดียที่ดีมากๆ นี่คือสิ่งที่ อ.ธเนศนำเสนอคอนเซ็ปต์ของสัตตะ มันมีสิ่งน่าสนใจที่อยู่ข้างนอก แล้วใครจะมาพูด คงไม่ใช่รายการโทรทัศน์ หรือเซเลบ เน็ตไอดอลสักคนมาพูด ก็คงมีแต่พวกเรานี่แหละที่จะหยิบมาพูด คิดว่าถ้าเราไม่ได้พูดเสียแล้ว สื่อต่างประเทศเองก็ไม่พูดด้วยซ้ำ เป็นจุดหนึ่งที่เป็นคอนเซ็ปต์ของสัตตะ

กังวลว่าคนดูจะดูน้อยไหม

ไม่ค่อยนะครับ คือเนื้อหามันไม่ค่อยตาย ตราบเท่าที่เรายังอยู่บนยูทูบ รายการเดินหน้าต่อไป เหมือนธเนศ วงศ์ยานนาวา พบประชาชน (หัวเราะ) มันมีลักษณะแบบเข้าไปเจอกับผู้คนบ้าง คนก็จะนึกถึงรายการนี้ ถึง อ.ธเนศจะไม่ใช่เซเลบหรือนักวิชาการที่เรียกว่าเป็นที่รู้จักมาก แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ติดตามอยู่พอสมควร เลยคิดว่านี่เป็นเรื่องดีเพราะเวลาที่เราทำงานตรงนี้ ด้านหนึ่งอาจารย์ก็ยังมีคนนึกถึงอยู่ตลอด แต่อีกด้านคือเรานำเสนอเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้จัก

ล่าสุดพูดถึงศิลปินไนจีเรียก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักมาก แต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับศิลปินที่ อ.ถนอม ชาภักดี นำเสนอมันกลับน่าสนใจ ทำให้รู้สึกว่ามีอีกหลายเรื่องในโลกนี้ที่ดูลึกลับมาก ต้องมีตัวแทนอย่างอาจารย์และทีมงานมานำเสนอ

แน่นอนว่ารายการก็ไม่ได้ถึงขั้นปฏิเสธเรตติ้งนะครับ (ยิ้ม) บางตอนก็มีพูดเรื่องเจมส์บอนด์ มี อ.ประชา สุวีรานนท์ เรตติ้งก็ค่อนข้างเยอะ มีแทคติคอยู่แหละ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มีการบังคับกัน เพราะ อ.ธเนศบอกแล้วว่าจะเป็นวรรณกรรม หนังสือจากประเทศอะไรก็ได้ ลิเบีย, ซีเรีย สามารถนำมาคุยได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นยูโรเปี้ยน ถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นประเทศอื่นๆ ที่หมุนเวียน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

มีแนวโน้มจะเอาเนื้อหามาจับกับวัฒนธรรมป๊อปบ้างไหม

ตอนนี้เท่าที่ดู ในส่วนของวรรณกรรมไม่มีข้อเรียกร้องตรงนี้ครับ (หัวเราะ) เพราะวรรณกรรมคงไม่ต้องการความป๊อป เพราะ อ.ธเนศที่เลือกผมไปคงรู้ว่าคงป๊อปไม่ออก เพราะอ่านแต่เรื่องที่ไม่อยู่ในกระแส แต่ถามว่าจะแปลกประหลาดไปเลยไหมก็คงไม่ คงไม่ถึงขั้นเป็นงานที่ไม่มีใครอ่าน

คือเป็นไปได้ที่จะเอามาจับกับวัฒนธรรมป๊อป เท่าที่ดูคิดว่าภาพยนตร์น่าจะเป็นป๊อปได้มากที่สุด วรรณกรรมก็มีความพยายามจะดึงเอาหนังสือที่คนทั่วไปมาพูด ซึ่งไม่ใช่ไม่มีนะ อ.ธเนศก็มี แต่คอนเซ็ปต์ที่อาจารย์หยิบมาพูด อาจไม่ได้โฟกัสที่หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง เช่น มีเรื่องหนึ่งที่อาจารย์พูดว่า ตัวละครโวลเดอร์มอร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ มันน่าสนใจนะ ในแง่ลักษณะที่เราไม่เอ่ยชื่อ หรือเอ่ยชื่อไม่ได้ มันมีอยู่ในอะไรบ้าง มีอยู่ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ และอะไรมีอยู่บ้างในงานของซามูเอล เบ็คเกตต์ (Samuel Beckett) ที่ชื่อ The Unnamable นี่คือการพูดเรื่องทั้งป๊อปและไม่ป๊อปปะปนกันไป โยงเข้ากับปรัชญา ศาสนา

แต่จริงๆ แล้วคิดว่าความสนุกอยู่ตรงที่เราไม่ได้เกาะไปกับความป๊อป แต่วัฒนธรรมที่เราสนใจ บางเรื่องมันก็ป๊อปแหละ

ในรายการพูดเรื่องวรรณกรรม ภาพยนตร์ เซ็กซ์ เพศ คิดว่าทำไมเรื่องพวกนี้ถึงน่าพูดถึงหรือน่าหลงใหล

คนชอบคิดว่า อ.ธเนศเชี่ยวชาญทุกอย่าง แต่สำหรับผม ผมว่าอาจารย์มีความสนใจหลายๆ เรื่อง ถ้าเอาสิ่งที่เป็นตัวอาจารย์จริงๆ ก็ไม่ใช่การเมืองเพียวๆ หรอก แต่เป็นวัฒนธรรม ฉะนั้น ศิลปะ วรรณกรรมเลยโยงกันหมด แต่พอพูดถึงวัฒนธรรมเราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์ ความคิด แกนของเราผมว่ามันคือการพูดถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในมิติต่างๆ น่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาคุยเรื่องหนังสือก็ได้คุยเรื่องอื่นด้วย เช่น วัฒนธรรม ได้รู้ว่าคนอีสานของบราซิลเหมือนคนอีสานบ้านเรา ทั้งรูปลักษณ์ มีค่านิยมคล้ายๆ กัน เช่น มาทำงานโรงงาน จนรู้สึกว่าถ้าไม่อ่านเล่มนี้จะรู้เรื่องนี้ไหมเนี่ย

การเลี่ยงไม่พูดเกี่ยวกับในไทย มันสะท้อนความเปราะบางของสังคมไทยไหม

ก็ด้วยส่วนหนึ่งนะครับ การพูดในบางเรื่อง 15-20 นาที ถ้ามันพูดแล้วเปราะบางกันมากก็เหมือนจัดรายการมาเพื่อวิจารณ์กันแบบไม่ไว้หน้า ถ้าไม่ใช่รายการสัตตะ ก็เป็นความสนใจแบบอื่น แต่สัตตะสนใจเรื่องที่คนไม่สนใจ ฉะนั้น เรื่องที่คนสนใจ เรื่องข้อถกเถียงต่างๆ ทางผู้จัดก็ไม่ได้โยนโจทย์เหล่านี้มาให้เรา และเท่าที่คุยกับ อ.ธเนศ ต่อให้เป็นเรื่องง่ายๆ เช่น แม่ค้าใส่ผงชูรส มันก็เถียงกันได้ มันสร้างข้อถกเถียงแบบมหาศาลได้ ซึ่งสำหรับสัตตะแล้วมันยังไม่อยู่ในไอเดีย เรามีประเด็นอื่นๆ ข้อถกเถียงอื่นๆ ในเชิงคอนเซ็ปต์ ความคิด ว่าด้วยการทำงาน ผลงาน แต่ลักษณะที่มันเป็นประเด็นทางสังคม ข้อโต้แย้งต่างๆ จะไม่ถูกนำมาใส่เลยโดยเฉพาะประเด็นการเมืองบ้านเรา

มีปรัชญาข้อไหนไหมที่พอจะเข้ากับบริบทสถานการณ์บ้านเมืองไทยตอนนี้

ถ้าจะมีคงเป็นเรื่องความซ้ำมั้ง รู้สึกไม่ไปไหน เวียนวน แต่ในความเวียนวนก็ทำให้เกิดอารมณ์หดหู่ สิ้นหวัง ถ้าจะเป็นปรัชญา ถ้าเป็นปรัชญาที่มองโลกในแง่ร้าย แบบที่ตะวันตกอาจจะให้ความสำคัญสักช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็คงจะเหมาะดี แต่จริงๆ แล้วนึกไม่ออกเหมือนกัน (ยิ้ม) สำหรับผม ผมว่ามันมีลักษณะที่มีลมหายใจอยู่ก็ดีแล้ว

คือเป็นภาวะหดหู่ แค่เรายังไม่ตาย ตื่นมาแล้วมีแรงทำอะไรอีกสักอย่างสองอย่างก็โอเคแล้ว ก็ในเมื่อมันสิ้นหวัง ทำอะไรไปข้างหน้าไม่ว่าจะทำรายการหรืออะไรขึ้นมา ถ้าทำได้สำเร็จแล้วมันเกิดประโยชน์หรือมีคุณค่าบางอย่าง แค่นี้มันก็ดีมากเลย เพราะมันไม่มีความหวังข้างหน้า

เราเพียงแค่ตื่นขึ้นมา แล้วยังมีลมหายใจ จากนั้นลงมือทำอะไรที่มันโอเค ก็ทำเลย

อย่างที่บอก-มีลมหายใจอยู่ก็ดีแล้ว

 

Memory Theater

วัตถุบรรจุความทรงจำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิตติพลคือหนอนหนังสือตัวยงที่อ่านงานวรรณกรรมมามากต่อมาก

Memory Theater ของนักเขียนนักปรัชญาชาวอังกฤษ ไซมอน คริทชลี่ย์ (Simon Critchley) คือเรื่องล่าสุดที่เขาอ่าน ซึ่งกิตติพลให้ความเห็นว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว แยกยากมากว่า Memory Theater นั้นเป็นนวนิยาย หรือสารคดี เพราะมองจากเนื้อหาแล้ว เรื่องนี้อยู่ไกลออกไปจากความรับรู้ว่าเป็นเรื่องจริงอยู่มาก

“ในหนังสือ คริทชลี่ย์เขียนถึงเพื่อนนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสของเขาที่เสียชีวิตไปในช่วงเวลาที่มีคลื่นความร้อนบุกยุโรป ก็มีกล่องเอกสารถูกส่งมาที่ออฟฟิศอังกฤษ พอรื้อดูก็ปรากฏเป็นเรื่องราวของสิ่งที่เรียกว่า Memory Theater ที่เพื่อนเขาหมกมุ่นอยู่ ทีนี้เขาเลยหมกมุ่นไปด้วย” กิตติพลอธิบายภาพรวม

“Memory Theater คืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างวัตถุสิ่งหนึ่งที่บรรจุความทรงจำแล้วแสดงมันออกมาเหมือนอัฒจันทร์ แต่สิ่งที่บรรจุบนอัฒจันทร์ไม่ใช่ที่นั่ง แต่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ”

ในความล้ำของเนื้อหา ยากจะบอกว่าเป็นสารคดี หรือนวนิยาย-แม้คนรู้จักกับคริทชลี่ย์จะยืนยันว่าเป็นนวนิยาย เพราะสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ Memory Theater นั้น หากตีพิมพ์นวนิยายจะใช้ปกสีน้ำเงิน ซึ่งสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าคือปกขาวอันใช้กับหนังสือสารคดีนั่นเอง

“ถ้าเราเข้าถึงความทรงจำ เราจะมีช่องทางทะลุไปสู่ความทรงจำที่ไม่สิ้นสุด หรือก็หมายความว่า-เราหยั่งรู้ได้นั่นเอง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image