เดินไปในเงาฝัน : ต่อลมหายใจมหา’ลัยไทย : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

นักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนไม่น้อย ถูกชักจูงให้เข้าเรียนในสาขาวิชาที่สังคมต้องการไม่มาก เพราะรู้ไม่เท่าทัน จึงควรปรับปรุงแก้ไขการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

ทุกครั้งที่เห็นข่าวเกี่ยวกับทุนต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกิจการสถาบันการศึกษาของบ้านเรา ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็น

เพราะอะไร? ทำไมสถาบันการศึกษาของเราดีมากหรือ?
เขาถึงอยากได้?

แต่พออ่านรายละเอียดของข่าวมากขึ้นๆ กลับพบว่าจริงๆ ทุนต่างชาติไม่ได้มากว้านซื้อกิจการของสถาบันการศึกษาของเราแบบเบ็ดเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก

เพียงแต่เข้ามาถือหุ้น

Advertisement

ในสัดส่วนที่มากกว่าคนไทยคือประมาณ 51% ส่วนนักลงทุนไทยจะถือหุ้นอยู่ประมาณ 49% ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของการดำเนินธุรกิจทั่วไป ทั้งในส่วนที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และในตลาดหลักทรัพย์

ตรงนี้พอรับได้

เพราะเป็นกฎ กติกา มารยาทของการดำเนินธุรกิจทั่วไป แต่ที่ลึกไปกว่านั้น และอาจจะรับไม่ได้ถ้าเป็นจริงขึ้นมาคือนักลงทุนต่างชาติมีการตกลงกับนักลงทุนชาวไทยในการปิดหูปิดตาเพื่อรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของประเทศเขา เพื่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี

Advertisement

พูดภาษาชาวบ้านคือไม่ต้องเรียนจบ ม.6 ก็สามารถมาเรียนปริญญาตรีในเมืองไทยได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่านักลงทุนชาวไทยปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติร่วมออกแบบหลักสูตรในระดับปริญญาตรี นัยว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษาของประเทศเหล่านั้นสามารถเรียนจบได้อย่างไม่ยากเย็น

โดยเฉพาะในระดับมหา’ลัยของรัฐแถวสองบางแห่ง

ซึ่งผมเห็นข้อมูลแล้วค่อนข้างรู้สึกเหน็ดเหนื่อยต่อระบบการศึกษาบ้านเราอย่างมาก

แม้จะยอมรับความจริงว่าตอนนี้สถาบันการศึกษาของรัฐ และเอกชนหลายแห่งค่อนข้างประสบปัญหา เพราะขาดแคลนจำนวนผู้เรียน บางคณะต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีใครเรียน

บางมหา’ลัยเริ่มทยอยหาผู้ถือหุ้นรายใหม่เพื่อต่อลมหายใจในการดำเนินธุรกิจการศึกษา ขณะที่มหา’ลัยเอกชนบางแห่งตัดสินใจขายสถาบันการศึกษาทิ้งทันที เพราะขืนเปิดต่อไปจะทำให้กิจการร่อแร่

จึงเลือกกำขี้ดีกว่ากำตด

สัญญาณต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ว่าพึ่งเกิด แต่เริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศต่างๆ มาบ้างแล้ว

เพียงแต่เราคาดไม่ถึงว่าจะเร็วเช่นนี้

และคาดไม่ถึงว่าจะลามมาถึงวงการการศึกษาของเมืองไทย

ทั้งๆ ที่ผ่านมามหา’ลัยของรัฐ และเอกชนพยายามอย่างยิ่งที่จะปรับตัวรับกับกระแสดิสรัปชั่นเพื่อหยุดขยายการลงทุนในวิทยาเขต,แคมปัส แต่หันไปลงทุนในด้านดิจิทัล แพลตฟอร์มแทน

ขณะเดียวกัน ก็พยายามนำมหา’ลัยของตัวเองออกไปโรดโชว์ในกลุ่มประเทศ CLMV,บางประเทศในเอเชีย รวมถึงบางประเทศในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพื่อชักชวนนักศึกษาจากประเทศเหล่านั้นให้มาศึกษาต่อในบ้านเรา

ผ่านมาแม้จะประสบความสำเร็จบ้าง

ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง

แต่กระนั้น ทำให้เห็นอย่างหนึ่งว่าหลายมหา’ลัยในเมืองไทยต่างพยายามปรับตัว ต่างพยายามดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองอยู่รอด โดยเฉพาะมหา’ลัยเอกชน

เพราะทางหนึ่งไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ขณะที่อีกทางหนึ่ง การสอบวัดผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) เพื่อเข้ามหา’ลัยของรัฐต่างดึงเด็กเข้าไปอยู่ในระบบค่อนข้างมาก

จึงมีนักเรียนเป็นส่วนต่างเหลืออยู่บางส่วนที่มองเห็นว่าในบางสาขาของบางคณะไม่ตอบโจทย์ที่ทำให้เขาอยากเรียน ที่สุดนักเรียนเหล่านี้จึงไหลไปอยู่มหา’ลัยเอกชนที่มีบางสาขา บางคณะที่เขาอยากเรียนจริงๆ

อีกบางส่วนยังไปเรียนเมืองนอก และมหา’ลัยออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยากเรียนมหา’ลัยออนไลน์ ตอนนี้ทราบข่าวว่ามีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คำถามคือมหา’ลัยจะปรับตัวอย่างไร?

ในบางประเทศเขาขายพื้นที่บางส่วนเพื่อหันไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ เพื่อรองรับกับดิจิทัล แพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่บ้านเราเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้วอย่างมหา’ลัยดังย่านลาดพร้าวที่แบ่งที่ดินบางส่วนเพื่อหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจคอมเพล็กซ์

อีกไม่นานภาพเหล่านี้จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

และอีกไม่นานเราจะเห็นภาพการขายสถาบันการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการมีกลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมหา’ลัยในบ้านของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศมั่งคั่ง

ลองเฝ้าติดตามข่าวดูนะครับ

แล้วทุกคนจะเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกันว่า…สิ่งที่ผมเล่าให้ฟังทั้งหมดเป็นเพียงแค่เศษส่วนของความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง

เพราะความเป็นจริงมันโหดร้ายกว่าที่เล่าให้ฟังนี้มากครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image