โอกาสในความเปลี่ยนแปลง

ภาพประกอบจาก www.jirathblog.com

เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำพูดที่บอกว่า…เราต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนตกยุค

เรื่องนี้ถ้าเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลคงไม่เสียหายอะไรมาก เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจต่อการเปลี่ยนแปลง เขาพร้อมเป็นคนตกยุค

เป็นคนไม่ล้ำสมัย

เพราะขี้เกียจหมุนตามโลก

Advertisement

แต่ถ้าเรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับธุรกิจ องค์กร บริษัทห้างร้าน หรือใครก็ตามที่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง คงเป็นเรื่องที่หนีอย่างไรก็ไม่พ้น

เพราะโลกของเทคโนโลยีมาแรง และเร็วเหลือเกิน

หากเขาไม่ปรับเปลี่ยน และไม่เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บางทีอาจจะถูกดีดให้ไปยืนอยู่ข้างหลังโดยไม่รู้ตัว

Advertisement

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ผมนึกถึงเนื้อหาการบรรยายของ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ที่มาพูดให้หลายคนฟังในงานไทยแลนด์ ดีเวลลอปเปอร์ เดย์ เมื่อไม่กี่วันผ่านมา

“สัตยา”เริ่มต้นบอกว่าความสำเร็จของไมโครซอฟท์ยุค “บิล เกตส์” และ “พอล อัลเลน” สองผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์เกิดจากการมองหา “โอกาส” และ “การใช้ความคิดสร้างสรรค์”

สองสิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น “โอกาส” และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ “จึงถูกส่งผ่านจากพนักงานก่อตั้งเพียงสองคน แล้วแพร่กระจายไปยังพนักงานไมโครซอฟท์ทั่วโลกจนทุกวันนี้

เหมือนอย่างเช่นปัจจุบัน “สัตยา” ยอมรับว่าโลกการแข่งขันในเรื่องของเทคโนโลยีรุนแรงมาก แต่กระนั้น ก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จ

ดั่งเช่นตอนนี้ไมโครซอฟท์กำลังให้ความสำคัญกับโมบาย และคลาวด์

“โมบายในความคิดของผม ไม่ใช่เครื่องดีไวซ์ที่สามารถพกพาไปที่ไหนก็ได้ แต่โมบายเป็นเรื่องของประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่โลดแล่นอยู่บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แต่ละชิ้นที่เราสัมผัส เพราะฉะนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะมีจออะไรต่างๆ ให้ใช้งานมากมาย ทั้งจอเล็ก จอใหญ่ที่สามารถถ่ายโอนข้อมูลข้ามกันระหว่างอุปกรณ์ทุกชิ้นในชีวิตของคุณ”

“เช่นเดียวกัน คลาวด์ก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทางเพียงจุดเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นแพลตฟอร์มที่กระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อก่อนถ้าพูดถึงคลาวด์จะคิดถึงระบบขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์กว่าล้านเครื่องใน 40 ภูมิภาคทั่วโลก แต่คลาวด์ในอนาคตคือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่แฝงตัวอยู่ทุกหนแห่ง ทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลที่อยู่รอบตัวเรา”

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเดินหน้าสร้างแพลตฟอร์ม โดยมีแพลตฟอร์มคลาวด์อัจฉริยะเป็นแพลตฟอร์มแรก เพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับอุปกรณ์พกพา ด้วยการใช้ระบบคลาวด์มาเป็นกลไกอยู่เบื้องหลัง

ฉะนั้น ต่อไปในอนาคต เราจะมีพนักงานโดยไม่ใช่พนักงานของไมโครซอฟท์อยู่ทั่วโลก เพื่อช่วยกันพัฒนาแอพพลิเคชั่นผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ของเรามากมาย

ตรงนี้คือการให้โอกาส

ที่ไม่ใช่เฉพาะพนักงานของไมโครซอฟท์ แต่เป็นใครก็ได้บนโลกใบนี้ที่จะนำแพลตฟอร์คลาวด์อัจฉริยะไปปรับใช้

ที่สำคัญ “สัตยา” บอกว่า…เรายังให้ความสำคัญกับศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริษัทมาโดยตลอด

“เพราะถ้าพูดถึงสตูดิโอภาพเชื่อว่าคงไม่มีใครสามารถบูรณาการทางด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมดีกว่าสตูดิโอภาพของเรา ยิ่งถ้าเขาสร้างสรรค์ผลงานออกมา และถ้าสตูดิภาพไปจับคู่ในสื่อออนไลน์ ยิ่งจะทำให้เขาทำงานคล่องตัว และต่อเนื่องกว่าที่ผ่านๆ มา”

สำคัญไปกว่านั้นคือ “สัตยา” บอกว่าเรายังจะเสริมสร้างให้แอพพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นมีความฉลาดใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งในเรื่องของความสามารถในการเข้าใจคำพูด ใบหน้า การแสดงอารมณ์ และการตีความภาษามนุษย์แบบธรรมชาติ

หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ “Conversations as a platform”

“ลองคิดดูจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราสามารถสอนให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์รอบๆ ตัวนำพลังของภาษามาใช้งานได้ ดังนั้น ต่อไปคนทั่วโลกจะเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์โดยปราศจากอุปสรรค โดยมีตัวละครหลักอยู่ 3 ตัวคือมนุษย์ และพื้นที่สำหรับการสนทนา ซึ่งอาจจะเป็น Skype,Line,เฟซบุ๊ก”

“ส่วนตัวละครสุดท้ายคือบอท เพราะจากเดิมใครที่ทำธุรกิจมักจะพากันสร้างเว็บไซต์ หรือสร้างแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน แต่ต่อไประบบติดต่อจะสื่อสารกับบอท และระบบนี้นอกจากจะเข้าใจบทสนทนาที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ ยังสามารถสอนแอพพลิเคชั่นให้เข้าใจภาษามนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย”

ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก

แต่กระนั้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เพราะอย่างทุกคนทราบการพัฒนาการของโลกสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

สิ่งที่จะไม่เป็นจริงจะเกิดขึ้นจริง

สิ่งที่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้

ซึ่งเหมือนกับหลายๆ เรื่องที่ “สัตยา” บรรยายให้ฟังในวันนั้น มองเผินๆ เหมือนเป็นความฝัน แต่ความฝันหลายๆ เรื่องนับแต่ “บิล เกตส์” และ “พอล อัลเลน” คิดสร้างไมโครซอฟท์จากวันนั้น จนถึงทุกวันนี้

ความฝันกลับถูกสร้างให้กลายเป็นความจริง

โดยมี “โอกาส” และ “การใช้ความสร้างสรรค์” เป็นแรงบันดาลใจ จนทำให้ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น เพียงแต่ใครจะมองเห็นโอกาสเหมือนดั่งที่ “สัตยา” บรรยายให้ฟังหรือเปล่า

เพราะถ้าเราพินิจพิจารณารายละเอียดในระหว่างคำพูดที่เขาพูดออกมาจะพบว่าในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นสามารถพัฒนามาสร้างธุรกิจเพื่อรองรับในอนาคตได้ทั้งสิ้น

ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดได้ก่อนก็เท่านั้นเอง

เพราะถ้าใครคิดได้ก่อน

พัฒนาจนกลายเป็นรูปธุรกิจ

ก็จะกลายเป็นโอกาสสำหรับคนคนนั้นทันที

ลองคิดดูกันนะครับชาวสตาร์ตอัพทั้งหลาย โอกาสอยู่ในมือพวกคุณแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image