แดดเดียว : ‘ลุง-ป้า’ และสังคมก้มหน้า

ก่อนหน้านี้ เรามีเสียงบ่นเรื่องมนุษย์ลุง มนุษย์ป้า บางคนบางท่าน ชอบทำอะไรแปลกๆ ให้ชาวเน็ตถ่ายคลิปมาลงเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ

ส่งผลให้มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า คือ บรรดาผู้ในวัยใกล้ 60 และเลย 60 ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น

จะทำอะไรเฟื่องๆ ตามอารมณ์ ตามใจตัวเองไม่ได้

ส่วนมนุษย์ลุงที่มีตำแหน่งการเมืองใหญ่ๆ ที่ชอบฟิวส์ขาด นอตหลุดบ่อยๆ คนนั้น ให้สภาเขาจัดการกันไปละกัน

Advertisement

ขณะที่คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ดูจะมีบทบาท หรือเปิดเผยตัวเองผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น

ล่าสุด คนรุ่นใหม่ ออกมาโหวตให้พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นม้ามืด วิ่งแซงพรรคหน้าเดิมๆ เข้าสภามาเป็นอันดับ 3

กลายเป็นเป้าให้ขั้วตรงข้ามถล่มเละเทะอย่างมันมือ

Advertisement

ตอนนี้ส่อเค้าว่าอาจจะโดนยุบพรรคในที่สุด

คนเจเนอเรชั่นต่างๆ ในตอนนี้ เชื่อมโยงกันด้วยโซเชียลมีเดีย ด้วยแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ ซึ่งก็คือโลกออนไลน์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอินเตอร์เน็ตนั่นเอง

ตัวเลขจาก กสทช. ระบุว่า ถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 คนไทยใช้มือถือ 124.63 ล้านเลขหมาย มากกว่าปี 2560 ซึ่งใช้ 119.81 ล้านเลขหมาย

เรียกว่า ท่วมจำนวนประชากรที่มีอยู่ 66.3 ล้านคน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะไปทางไหน จะพบว่าผู้คนทุกเจเนอเรชั่น ต่างก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์ไม่มองหน้ามองตากันแล้ว

แต่ถ้าลงในรายละเอียด จะพบว่า คนแต่ละรุ่นจะใช้สมาร์ทโฟนในการหาข้อมูลข่าวสารไม่เหมือนกัน

ที่น่าห่วงน่าจะเป็นบรรดารุ่นลุงรุ่นป้า

เรามีกรมกิจการผู้สูงอายุ สังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อดูแลลุงป้าน้าอา และที่อาวุโสกว่านั้น

ในปี 2564 หรือสองปีจากนี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม สูงอายุระดับสมบูรณ์ (aged society) มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 20% ของประชากรทั้งหมด

และอีก 10 ปี หรือ 2574 จะก้าวเข้าสู่ สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

หรือมีผู้ที่อายุ 60 ปี เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

ตัวเลขวันนี้ ไทยมีประชากรสูงอายุ คือ 60 ปีขึ้น อยู่ประมาณ 11 ล้านคน หรือ 16.5% ของประชากร ทั้งประเทศ

แต่นี่ยังเบา คลื่นใหญ่ของผู้สูงอายุยังมาไม่ถึง แต่อยู่ใกล้มากแล้ว

เพราะห้วงปี 2506-2526 เรามีตัวเลขคนเกิดกว่าล้านคนต่อปี ติดต่อกัน 20 ปี

เรียกว่ายุค Baby Boom ของประเทศไทย

และด้วยผลของนโยบายวางแผนครอบครัว หลังจากปี พ.ศ.2526 จำนวนคนเกิดได้ลดลง ถือได้ว่าเป็นช่วง Baby Bust

ประชากรรุ่นที่เกิดปีละล้านคน ตลอด 20 ปี จะเริ่มอายุครบ 60 ปี อันถือเป็นผู้สูงอายุในปี 2566 ก็จริง

แต่ตัวเลขคนเกิดที่ไต่อันดับขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีคนอายุ 60 ปี เท่ากับ 20% ของประชากร ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าเกณฑ์สังคมสูงอายุดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ในแง่ของรัฐบาล กำลังเตรียมนโยบายหลายๆ อย่าง ให้คนสูงอายุมีอาชีพ มีงานทำ แก้เหงาและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน

ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะการที่คนสูงอายุยังมีสังคม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ตกยุคง่ายๆ

ย้อนกลับไปที่ประเด็นการใช้สมาร์ทโฟน ใช้การสื่อสารอินเตอร์เน็ต

จะพบว่า คนรุ่นลุงและป้า นิยมใช้ “ไลน์” กันมาก บางคนติดงอมแงม โพสต์ทั้งวัน

ตื่นเช้ามา จะมี “อรุณสวัสดิ์-กู้ดมอร์นิ่ง” เป็นสีประจำวัน ดอกไม้ วิวทิวทัศน์ พระคาถา และถ้อยคำเตือนใจ ปลุกใจ

หลังจากนั้นจะฟอร์เวิร์ดสูตรยาต่างๆ น้ำมะนาว น้ำผัก เห็ดต่างๆ และสมุนไพรนั่นนี่ ถ้าเป็นระยะนี้จะว่าด้วย “น้ำมันกัญชา”

แลกเปลี่ยนข่าวสารความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งปนๆ กันไป จริงบ้างไม่จริงบ้าง

ข้อความเกี่ยวกับการรักษา การดูแลตัวเองนี้ วงการแพทย์ปวดหัวมาก เพราะส่งกันไปมา มีคนเชื่อจริงๆ จังๆ บางคนเป็นมะเร็ง เลิกรักษากับแพทย์ ไปกินสมุนไพร กลับมาอีกที อาการกู่ไม่กลับแล้ว

ที่หนักกว่านั้น คือการฟอร์เวิร์ดข่าวต่างๆ ทั้งจริง ปลอม หรือเฟคนิวส์ ซึ่งต้องยอมรับว่า เฟคนิวส์ของบ้านเราเยอะมากๆ

บางทีไปเอาข่าวคลิปเก่าๆ มาส่งใหม่ แล้วใส่ข้อความด่าคนนั้นคนนี้เข้าไป ส่งกันสนุกสนาน

เท่าที่สังเกต ข่าวการเมืองในไลน์ จะเน้นไปที่การด่าทอ “เสี่ยแม้ว” และเครือข่าย ล่าสุดนี้ มี “ธนาธร” เข้ามาแทน

มีบทวิเคราะห์การเมืองพิลึกๆ โยงโน่นแตะนี่ ในแบบที่เรียกว่า ทฤษฎีสมคบคิด หรือ Conspiracy Theory อ่านแล้วก็เพลินๆ ดี ปัญหาคือมีคนเชื่ออย่างจริงจัง แล้วส่งต่อๆ ไป

นี่ยังไม่นับรูปโป๊ คลิปโป๊ คลิปตลกโปกฮา ที่ไม่รู้ไปสรรหากันมาจากไหน มากมาย แปลกประหลาด และหลากหลายจริงๆ

คนรุ่นสูงอายุจำนวนมากที่รู้เท่าทัน แต่ที่เป็นปัญหาคือ ยังมีอีกไม่น้อย มักจะเชื่อข้อความที่ส่งกันไปมาแบบนี้

จะด้วยสาเหตุอะไร คงต้องหาเหตุผลกันต่อไป แต่ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะ คนที่ส่งมาเป็นพรรคพวกที่รู้จักกัน บางคนอาจมีสถานะน่านับถือ มีผลต่อความเชื่อถือ

แต่ก็เห็นมาเยอะแล้วว่า คนที่ว่ามีสถานะดูดีบางคนนั้น เวลาฟอร์เวิร์ด หรือส่งต่อข่าวทางไลน์นั้น จะส่งข่าวที่เหลวไหลเลอะเทอะอย่างไม่น่าเชื่อ

ตรงจุดนี้ จะต่างจากการเสพข่าวของคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นหลังๆ

ซึ่งขยันหาข้อมูลมากกว่า รู้จักวิธีเช็กว่า รูปหรือข่าวแต่ละชิ้น ชิ้นไหนเก่าเรื่องไหนใหม่ เรียกว่าใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้มาก

ตรงนี้จะมีผลมาก และสร้างความแตกต่างในการเผยแพร่ข่าวลือ บางกลุ่มลื่นไหลไปไกล บางกลุ่มก็แป้ก

แต่เชื่อว่าในระยะยาว คนทุกรุ่น ไม่ว่าจะอายุมากน้อยขนาดไหน จะเรียนรู้ และศึกษาวิธีการตรวจสอบข่าวได้ด้วยตัวเอง และมีความรับผิดชอบ ไม่ส่งต่อข่าวหลอนๆ เหล่านี้ให้แพร่กระจายออกไป

ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ข่าวลือจะขายไม่ออก สังคมจะยกระดับไปอีกขั้น และจะส่งผลต่อสภาพการเมือง ช่วยให้สังคมไม่ย่ำอยู่ในรอยเดิมๆ อีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image