เดินไปในเงาฝัน : การเดินทางของ‘ซาหมวยแอนด์ซันส์’ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จุดเปลี่ยนในชีวิตของคนเราบางทีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอ่านหนังสือ, การเดินทาง และการพบปะเจอะเจอกับผู้คนเสมอไป เพราะบางครั้งจุด เปลี่ยนของชีวิตอาจเกิดขึ้นจากคำพูดของคนใกล้ตัวเพียงไม่กี่คำ

หนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ และ โจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ สองพี่น้องคู่นี้ก็เป็นหนึ่งในจำนวนคนไม่กี่คนที่พบจุดเปลี่ยนของตัวเองจากคำพูดของแม่ที่บอกเขาว่า…มึงทำงานเหนื่อย มึงก็ต้องหาอะไรกินให้อร่อย

ทั้งๆ ที่ขณะนั้น“หนุ่ม”ต้องการเรียนปริญญาโท ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยค่าครองชีพที่ค่อนข้างแพง กอปรกับฐานะทางบ้านก็ใช่ว่าจะดีพอ

ดังนั้น การเรียนหนังสืออย่างเดียวจึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เขาจึงตัดสินใจไปทำงานในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

Advertisement

เพื่อเก็บเงินส่งตัวเองเรียน

ขณะเดียวกัน เมื่อทำงานร้านอาหารมากขึ้นๆ เขาจึงนำเงินส่วนหนึ่งไปลงเรียนคอร์สสั้นๆเกี่ยวกับอาหารตะวันตก เพื่ออยากมีความรู้ทางด้านอาหารติดตัว เพราะไหนๆ ก็ทำงานร้านอาหารไทยแล้ว หากมีความรู้เรื่องอาหารอยู่บ้าง โอกาสที่จะเป็นเชฟคงไม่ยาก

นั่นหมายความว่าเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

Advertisement

“หนุ่ม” ยอมรับว่าตอนนั้นเขายังไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับอาหารไทยมาก เพราะต้องการมีความรู้เรื่องอาหารฝรั่งมากกว่า กอปรกับถิ่นฐานที่เขาอยู่มักชอบปลูกผักออร์แกนิค และชอบทำอาหารเกี่ยวกับฟาร์ม ทู เทเบิ้ล

แต่เขายังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากนัก

จนแม่เขาเริ่มป่วยเป็นโรคมะเร็ง เขาจึงรู้ทันทีว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งล้วนเกิดขึ้นจากการทานอาหารทั้งสิ้น เขาจึงเริ่มลงมือศึกษาอาหารไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มศึกษาการทำอาหารแบบฟาร์ม ทู เทเบิ้ลในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เขาอาศัยอยู่

กระทั่งแม่ของเขาดีขึ้น และหายในที่สุด เพราะ “โจ้” คอยช่วยเหลือดูแลแม่ทุกอย่าง แต่กระนั้น หนี้สินก็เพิ่มพูนมากขึ้น จนที่สุด “โจ้” จึงตัดสินใจเดินทางมาอยู่กับพี่ชาย เพียงเพื่อต้องการหาเงินมาช่วยแม่ปลดหนี้

“โจ้” บอกว่า ผมเริ่มต้นจากพนักงานเสิร์ฟ แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนตรงเกินไป อีกอย่างผมไม่ค่อยชอบคุยกับฝรั่งด้วย พี่ชายจึงบอกเจ้าของร้านให้ผมไปเป็นผู้ช่วยกุ๊ก แต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรมาก

จนวันหนึ่งผมมีโอกาสไปอยู่ร้านอาหารไทยอีกร้านหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโกเช่นกัน และตอนนี้ผมมีโอกาสเป็นกุ๊ก และผมก็ทำทุกอย่างตั้งแต่ต้ม ผัด แกง ทอด จนทำให้ร้านของเขามียอดขายดีขึ้นมาก

“หนุ่ม” จึงชวน “โจ้” เปิดร้านอาหารไทย

แต่ในความรู้สึกของ “โจ้” เขายังไม่มีความรู้อาหารตะวันตกเพียงพอ ขณะที่ความรู้ทางด้านอาหารไทยเขายังมีอยู่เพียงน้อยนิด ที่สุด “โจ้” จึงลงมือศึกษาตำราอาหารตะวันตกอย่างจริงจังๆ พร้อมๆ กับศึกษาตำราอาหารไทยโบราณไปพร้อมๆ กันด้วย

จนค้นพบว่า “อาหารฟิวชั่น” จริงๆ ไม่ได้มาจากวัฒนธรรมของโลกตะวันตก แต่มาจากอาหารไทยโบราณที่บรรพบุรุษของเราเป็นคนทำ “ฟิวชั่น” ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว

ด้วยการผสมผสานสมุนไพรจากพืชผักต่างๆ จนออกมาเป็นอาหารไทยหลายพันเมนูดั่งทุกวันนี้

เมื่อ “โจ้” เริ่มเข้าใจรากวัฒนธรรมอาหารมากขึ้น เขาจึงกลับไปทำงานร้านอาหารไทยอีกแห่งหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโกอีกครั้ง และครั้งนี้เขาไม่เพียงยืน “เชฟคู่” กับ “หนุ่ม” พี่ชายของเขา แต่เขากลับรังสรรค์เมนูออกมามากมาย จนทำให้ร้านอาหารไทยร้านนี้ติดลิสต์ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์

“หนุ่ม” ชวน “โจ้” เปิดร้านอาหารอีกครั้ง

แต่ “โจ้” กลับถามพี่ชายของเขาในค่ำของคืนหนึ่งระหว่างเดินทางกลับบ้านบนสะพานโกลเด้นเกตว่า…ทางกลับบ้านกูอยู่ไหน

“หนุ่ม” ก็ชี้บอกว่า…นี่ไง…ทางกลับบ้านเรา

“กูจะกลับบ้าน กูจะไม่อยู่ที่นี่” โจ้บอกกับพี่ชายด้วยน้ำเสียงจริงจัง

จากนั้นเขาก็พูดต่อว่า…กูจะกลับบ้าน มึงกับกูทำกับข้าวให้คนระดับโลกกินมากมาย แต่ทำไมเราไม่กลับไปทำกับข้าวให้แม่เรากินว่ะ เราจะรอเคาะโลงศพให้แม่กินเหรอว่ะ

คำพูดของ “โจ้” นี่เองที่เปลี่ยนชีวิตของเขาทั้งคู่อีกครั้ง จนที่สุด พวกเขาจึงเลิกความคิดการเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดน แต่เขากลับเลือกที่จะกลับบ้านที่จังหวัดอุดรธานี

เพื่อมาเปิดร้านอาหารยังบ้านเกิดของตัวเอง

เพียงแต่ “โจ้” ผันตัวเองไปอยู่วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุดรธานี เพื่อศึกษาธรรมะก่อน จากนั้นเขาจึงไปศึกษาเกษตรวิถีที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

เขาไม่เพียงเป็นลูกศิษย์ “อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ทางอ้อม หากเขายังเป็นลูกศิษย์ปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายคนที่เข้าใจเรื่องแพทย์แผนไทย, สมุนไพร และอาหารเป็นยาอีกหลายอย่าง

ยิ่งเมื่อ “โจ้” มีโอกาสดูรายการกินอยู่คือทางไทยพีบีเอสก็ยิ่งกระตุ้นความอยากเปิดร้านของตัวเองมากขึ้น เพราะตอนนั้น “หนุ่ม” ไปฝึกงานเป็นเชฟอยู่ที่ร้านโบ.ลาน บาลานซ์

จนเมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ เขาทั้งคู่จึงเปิดร้าน “ซาหมวยแอนด์ซันส์”ขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ณ บริเวณตัวเมือง จ.อุดรธานี บนคอนเซ็ปต์ที่ว่า…ร้านอาหารไทยตามฤดูกาล

โดยคำว่า “ซาหมวย” มาจากชื่อของแม่ที่ชื่อ “หมวย” ส่วน “ซา” มาจากคำภาษาจีนที่แปลว่า “สาม” เพราะแม่ของเขาเป็นลูกคนที่สามของครอบครัว ส่วนคำว่า “ซันส์” ก็มาจากคำภาษาอังกฤษ”sons”อันหมายถึงลูกชายทั้ง 2 คนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น การเดินทางอันหลากเมนูของร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ จึงไม่เพียงเป็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ระหว่างพืชผักท้องถิ่นอีสานของฤดูกาลต่างๆ เพื่อมาผสมผสานกับเนื้อสัตว์หลากชนิด จนกลายเป็นเมนูใหม่ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา

หากยังเป็นเมนูสุขภาพที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของทุกคนด้วย

เพราะทุกเมนูต่างผ่านการคิดค้นเพื่อให้อาหารคือยาทั้งสิ้น

ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ “ร้านซาหมวยแอนด์ซันส์” จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภครุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว และไม่เฉพาะแต่ชาวอุดรฯเท่านั้น หากจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักชิมจากมหานครกรุงเทพล้วนต่างอยากไปทดลองชิมอาหารคือยาจากร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเมนูโปรดอย่างต้มไก่บ้านใส่ตาว, กะเพราเนื้อโคขุนขาลาย, ยำหมูย่างกับผักกูดแนมชมพู่, น้ำพริกตาแดง (ปรุงรสด้วยผักสะทอน) แนมปลายอนย่าง และอื่นๆ อีกมากมาย
ทุกเมนูผมชิมมาหมดแล้วครับ

ดังนั้น ถ้าใครมีโอกาสไป “อุดรธานี” ก็ลองไปชิมกันให้ได้นะครับ รับรองคุณจะอิ่มฟินไปกับ “story telling” ที่ “เชฟโจ้” เป็นคนเล่าเรื่องให้ฟังอย่างกันเอง


หมายเหตุ – ขอขอบคุณภาพถ่ายจากโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image