อาศรมมิวสิก : อภินิหารโยสลัม : โดยสุกรี เจริญสุข

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การค้นหาร่องรอยเพลงไทย” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อค้นหาประวัติ
ศาสตร์ผ่านร่องรอยเพลงเก่า ซึ่งครั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เพลง 12 เพลง โดยคัดเลือกเพลงที่มีบทบาทสูงต่อสังคมไทย ทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และคุณค่าทางสังคม เพลง หมายถึง ทำนองและเนื้อร้อง ทำนองนั้นเป็นหลักฐานที่สำคัญ

การค้นหาเพลง โดยการค้นหาทำนองของเพลงก่อน หากมีโน้ตเพลงก็จะนำโน้ตเพลงมาเรียบเรียงเสียงประสานให้เป็นเพลงสำหรับวงออเคสตรา ส่วนเพลงที่มีทำนองอยู่ในดนตรีไทย ก็ต้องหาครูดนตรีไทยที่รู้เพลง โดยใช้ทางฆ้อง ซึ่งเป็นทางกลาง (ทำนอง) เล่นเพลงโดยใช้เครื่องดนตรีระนาด เพื่อไม่ให้เสียงนั้นก้องกวนเสียงอื่น สะดวกที่จะถอดเสียงออกมาเป็นโน้ตสากล แล้วมอบให้นักเรียบเรียงเสียงประสานไปดำเนินการทำงานต่อ ส่วนเพลงที่มีหลักฐานเป็นของฝรั่ง ก็พยายามค้นหาต้นฉบับกันต่อไป

ครูสุเชาว์ หริมพานิช เป็นครูดนตรีไทยผู้บอกเพลงที่อยู่ในเพลงไทย อาทิ พันธุ์ฝรั่ง วิลันดา โยสลัม แขกบรเทศ ต้นวรเชษฐ์ ยี่แฮม ฝรั่งรำเท้า ลาวคำหอม เป็นต้น ส่วนเพลงที่ต้องค้นจากหลักฐานบันทึกของฝรั่ง อาทิ สุดใจ สายสมร เพลงอีกจำนวนหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของฝรั่งบันทึกเกี่ยวกับชาวสยาม เช่น เพลงยินดีต้อนรับชาวสยาม (Entrãe des Siamois) เพลงเสียงจากสยาม (e air des Siamois) เพลงลาวคำหอม ซึ่งอยู่ในตำราประวัติศาสตร์ดนตรีของฝรั่ง
กลุ่มสุดท้ายเป็นเพลงฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในสังคมไทย ซึ่งได้กลายพันธุ์เป็นเพลงท้องถิ่นไปแล้ว อาทิ ยี่แฮม โยสลัม วิลันดา เพลงเหล่านี้ต้องย้อนกลับไปหาต้นตอเพลงดั้งเดิม

คุณปิยะวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ มารับช่วงต่อเพื่อนำเพลงไปเรียบเรียงเสียงประสาน เพราะเป็นผู้ศึกษาการประพันธ์
เพลงสากล เรียนดนตรีในระดับปริญญาเอก ด้านการประพันธ์เพลง ที่สหรัฐอเมริกา ได้มอบให้เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานขึ้นใหม่ สำหรับการบันทึกเสียงเพลงไทยโดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา (Thai Symphony Orchestra) หลักการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น ต้องการเผยแพร่ให้แก่สังคมด้วย จึงใช้พื้นที่แสดงที่ลพบุรี เพราะเป็นจุดกำเนิดเรื่องราวของเพลง

Advertisement

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2562 ได้เปิดแถลงข่าวที่บ้านวิชาเยนทร์ลพบุรี โดยนำบทเพลงสำคัญ 2 เพลง มาแสดงเป็นตัวอย่าง คือ เพลงสายสมร และเพลงสุดใจ โดยบรรเลงให้ผู้สื่อข่าวฟัง ซึ่งลพบุรีเป็นพื้นที่กำเนิดเพลงทั้ง 2 เพลง ในวันแสดงจริงนั้น จะใช้วงไทยซิมโฟนีออเคสตรา วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2562 รอบแรกแสดงที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์ เวลา 8.30 น. ซึ่งเน้นการบันทึกเสียง ส่วนในรอบที่ 2 นั้น แสดงที่ห้องพระนารายณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เวลา 11.00 น. เพื่อมิตรรักแฟนเพลงโดยตรง

สิ่งที่ค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นการก่อกวนทางปัญญาเสียมากกว่า เพื่อกระตุ้นต่อมสงสัยและต่อมความอยากรู้อยากเห็น ทำนองเพลงสายสมรนั้นเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่การร้องเนื้อตามต้นฉบับยังไม่ได้เป็นที่รับรู้ ส่วนเพลงสุดใจนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักนัก จึงได้นำทั้งสายสมรและสุดใจมาขับร้องเนื้อเพลงตามต้นฉบับ ตีความจากภาษาเพลง ให้นักร้องที่มีความรู้ ร้องเพลงตามโน้ตเพลงที่เขียนไว้ นำเสนอเพื่อให้หายข้องใจ

ยังมีเพลงที่สงสัยอยู่หลายเพลง สงสัยว่าเพลงดั้งเดิมเป็นของโปรตุเกสจริงหรือ อาทิ เพลงโยสลัม ต้นวรเชษฐ์ และแขกบรเทศ ซึ่งทำนองทั้ง 3 เพลง กลายเป็นเพลงของท้องถิ่นชาวสยามไปแล้ว แถมยังได้ออกลูกออกหลานอีกมาก นอกจากนี้ยังพบต้นฉบับเพลงที่ฝรั่งเศสได้เขียนต้อนรับราชทูตโกษาปาน ซึ่งมีหลักฐานเป็นต้นฉบับเก็บไว้ในฝรั่งเศส

Advertisement

อภินิหารโยสลัม เป็นเพลงที่มีทำนองเป็นฝรั่ง แต่ก็ไม่เคยรู้สัญชาติมาก่อน วงปี่พาทย์นิยมนำมาเล่นเป็นเพลงออกภาษาฝรั่ง ตัวอย่างวงเครื่องสายผสมเปียโนของพระสุจริตสุดา ซึ่งขับร้องโดยนางสาวแนบ เนตรานนท์ ใส่เนื้อร้องใหม่จากบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 ตับวิวาห์พระสมุทร ต่อมาครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูวินัย จุลละบุษปะ นำเพลงโยสลัมมาขับร้องแบบสากลกับวงสุนทราภรณ์ ทำให้เพลงโยสลัมได้กลายเป็นเพลงยอดฮิต เป็นที่นิยม และเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันมากขึ้น

อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช (พ.ศ.2551) นิยมชมชอบร้องเพลงโยสลัม จนกลายเป็นเพลงประจำตัว ท่านร้องเพลงโยสลัมบ่อย ท่านอาจจะร้องได้อยู่เพลงเดียว โดยเข้าใจว่าเพลงโยสลัมเป็นเพลงไทย ที่ร้องนั้นก็เพื่อจะอวดสังคมว่า “ตนนั้นรักความเป็นไทย เพราะสามารถขับร้องเพลงไทยได้”

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2562 ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณภูธร ภูมะธน นักวิชาการโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์คนสำคัญ ท่านได้ให้ความเห็นว่า โยสลัม มาจากคำว่า จังซีลอน (Junk Ceylon) หมายถึง เกาะภูเก็ต ซึ่งเป็นชื่อที่พวกโปรตุเกสเรียกเกาะภูเก็ต (Junk หมายถึง เรือสำเภา Ceylon คือ เกาะลังกา) เมื่อออกเสียง “จังซีลอน” เร็วๆ ก็ฟังเป็น “โยสลัม” ประมาณเอาว่า เรือสำเภาโปรตุเกสเดินทางมาเจอเกาะภูเก็ต ก็เข้าใจว่าเป็นเกาะซีลอน (ศรีลังกา) ก็เรียกว่า “จังซีลอน”

ข้อมูลอีกสายหนึ่ง พวกมาเลเซียเรียกเกาะภูเก็ตว่า ตันจังซาลอง (Tanjung Salang) คำว่า Tanjang หมายถึง ช่องแคบ ส่วนคำว่า Salang หมายถึง เมืองถลาง ก็คือเกาะภูเก็ต เรียกชื่อโดยนักเดินเรือและพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส ชื่อนายปิ่นโต (Fernão Mendes Pinto) นายปิ่นโตนั้น ได้เข้ามาถึงเมืองสยามเมื่อปี พ.ศ.2088 ซึ่งคำว่าปิ่นโต ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า ลูกไก่ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายปิ่นโตที่เข้ามาในสยามครั้งแรก ได้ชื่อว่าปิ่นโต ซึ่งเป็นภาชนะใส่อาหาร ชาวไทยเรียกว่า “ชั้น” นิยมใช้ใส่อาหารหิ้วไปถวายพระที่วัด

ยังข้องใจอยู่ว่า “ปิ่นโต” ซึ่งหมายถึง “ชั้น” นั้น ชาวอินเดียใต้เรียกว่าอะไร

คำว่า ฉลอง หรือ ซาลอง (Salang) ชาวบ้านในภูเก็ตและพังงา ออกเสียงว่า “เซล้อง” หมายถึง ชาที่ได้จากศรีลังกา (Ceylon) หากเป็นชาใส่นมก็เรียกว่า “โอล้อง” เป็นต้น

ชาวโปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาในดินแดนสยาม พ.ศ.2061 ในปี พ.ศ.2083 มีหลักฐานว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในสยาม มีมากกว่า 1,000 คน ตั้งบ้านเรือนเรียกชื่อหมู่บ้านโปรตุเกส ในอยุธยามีอาหารโปรตุเกส ใช้ภาษาโปรตุเกส มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว (ใส่ถุงเท้า) อย่างโปรตุเกส ซึ่งชาวโปรตุเกสเข้ามาก่อนยุโรปชาติอื่นๆ หลายปี ฮอลันดาเข้ามาในปี พ.ศ. 2111 อังกฤษเข้ามาในปี พ.ศ. 2159 ฝรั่งเศสเข้ามาในปี พ.ศ.2199 เป็นต้น แต่เมื่อรวมกันแล้วก็มีจำนวนประชากรน้อยกว่าชาวโปรตุเกส

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2562 ได้พบกับคุณวีระ ระบิลวงศ์ (อายุ 87 ปี) ปราชญ์ชาวบ้าน อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเขมร วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ที่วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า เป็นวัดเก่าแก่ที่สุด ได้ก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บริเวณหมู่บ้านเขมรนั้น เป็นชุมชนกะลาสีเรือ (โปรตุเกส) เรือสินค้ามาจอดก็ต้องขนถ่ายสินค้าออกจากเรือใหญ่ การขนถ่ายสินค้าใส่เรือเล็กเข้ากรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลก็คือ เรือสินค้าใหญ่เข้ายาก น้ำตื้น แม่น้ำคดเคี้ยว ล่องเรือได้ช้าและใช้เวลานาน เป็นอันตรายต่อเมืองหลวง การจะอนุญาตให้เรือต่างชาติเข้าถึงพระนครได้โดยง่าย ขณะขนถ่ายสินค้าพวกกะลาสีเรือชอบร้องเพลง (โปรตุเกส)

เชื่อว่าเพลงโยสลัมเป็นทำนองเพลงโปรตุเกส เป็นเพลงยอดฮิตอีกเพลงหนึ่ง เนื่องจากทำนองเพลงโยสลัมนั้น ได้สั่งสมทับถมและซึมซาบอยู่ในสังคมสยามมายาวนาน กลายเป็นจิตวิญญาณเพลงกระแสหลัก กลายเป็นทำนองเพลงของชาวบ้าน เป็นทำนองหลักของเพลงสมัยนิยม แตกลูกหลานออกมามากมาย

เพลงโยสลัม เนื้อเดิม (โปรตุเกส) เป็นอย่างไรยังไม่รู้ แต่ทำนองโยสลัมกลายเป็นแม่แบบของเพลงไทยสมัยนิยม ปรากฏอยู่ในทำนองเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลง โยสลัมมีอิทธิพลเหนือเพลงพื้นบ้านรอบอยุธยา รวมทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงโยสลัมซ่อนอยู่ในทำนองเพลงต่างๆ อาทิ ยวนย่าเหล (รำวงมาตรฐาน) นางใจ (สุเทพ วงศ์คำแหง / เนรัญชรา) ความรักเจ้าขา (รุ่งเพชร แหลมสิงห์ / ไพบูลย์ บุตรขัน) เกลียดห้องเบอร์ห้า (สายัณห์ สัญญา / ลพ บุรีรัตน์ / พลตรี ชัยฤทธิ์ บัวชุลี) สมศรี 1992 (ยิ่งยง ยอดบัวงาม) น้ำตาโนราห์ (ดวงจันทร์ สุวรรณี / ณรงค์ จั่นแก้ว / บุรินทร์
มาศงามเมือง) หรือเพลงสาวผักไห่ (ชาตรี ศรีชล) เป็นต้น

เพลงเหล่านั้น ล้วนเป็นเพลงดังทั้งสิ้น โดยทำนองเป็นร่องรอยของเพลงโยสลัม ความจริงคือทุกคนสามารถฮัมทำนองในใจได้ เมื่อทำนองเพลงมีความคุ้นเคย มีเนื้อร้องเป็นเรื่องราวที่โดนใจ ทำให้เพลงโด่งดังขึ้นทันที เพลงโยสลัมจึงกลายเป็นเพลงยอดฮิตติดตลาด ที่จริงทำนองโยสลัมนั้น แปลกไปจากทำนองเพลงพื้นบ้านทั่วไปอยู่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เพลงโยสลัมได้กลายเป็นเพลงท้องถิ่นไปโดยปริยาย สามารถแปลงทำนองให้อยู่ในเพลงอื่นได้ง่าย เมื่อเพลงกลายตัวเป็นทำนองท้องถิ่นไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้จะไม่มีใครเชื่อด้วยซ้ำไปว่า เพลงฮิตทั้งหลายจะมีเชื้อสายมาจากเพลงโยสลัม วลีที่คุ้นๆ ที่ว่า “เพลงร้อยเนื้อทำนองเดียว”

อย่างไรก็ตาม ความรู้นั้นมีอยู่แล้ว การค้นหาความรู้ไม่ใช่ของใหม่ “ค้นก็จะพบ หาก็จะเจอ” พบสิ่งที่เคยมีมาแล้วในอดีต ที่หายไปจากสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนรุ่นต่อไปต้องแสวงหา หากสิ่งที่หาได้ ไม่ตรงกับความจริงในอดีต ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นต่อๆ ไป ต้องใช้ความรู้ค้นหากันต่อไปอีก เสียงเพลงจะบอกร่องรอยและบอกบริบทของสังคมได้อย่างดี บรรยากาศในบ้านราชทูตวิชาเยนทร์นั้น เป็นพงศาวดารกระซิบ การโหยหาอดีตโดยการใช้เสียงเพลงเป็นสื่อ ซึ่งเป็นเสียงที่เคยอยู่ในสังคมไทยมาก่อน ทำให้ต่อติดได้ง่าย

การนำวิญญาณเพลงเก่ามาแสดงใหม่ในบ้านราชทูตวิชาเยนทร์และแสดงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2562 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เจ้าภาพหลัก มีหน่วยงานอื่น อาทิ ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้ให้การสนับสนุนจัดงานแสดงในครั้งนี้ด้วย

อภินิหารโยสลัม เป็นข้อมูลที่ค้นพบใหม่ ทำนองเพลงโยสลัมกลายเป็นเพลงยอดฮิต สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักแต่งเพลงทั้งหลาย ใช้ทำนองเก่าและใส่เนื้อร้องใหม่ผ่านวิญญาณเพลงโยสลัม ด้วยเหตุว่า เป็นทำนองที่แปลกไปจากเพลงท้องถิ่น เป็นทำนองเพลงฝรั่งเร้าใจสนุกสนาน มีชีวิต การเลียนแบบทำซ้ำนั้น ทำได้ง่ายกว่าการสร้างต้นฉบับ เป็นทำนองเพลงที่คุ้นเคยอยู่แล้ว โด่งดังได้เลย และเข้ากับสภาพของสังคมไทย คนในสังคมไทยยังมีพื้นฐานความรู้และมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะสร้างต้นฉบับได้ การอยู่รอดที่ดีก็คือ “การเลียนแบบและทำซ้ำ” ซึ่งเป็นวิถีและวิธีการหลักของสังคมไทย

หากอยากจะฟังอภินิหารโยสลัม โดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ให้ไปฟังที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์ ลพบุรี เวลา 08.30 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี เวลา 11.00 น. ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2562 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงกันในครั้งต่อไป แต่ก็ต้องมีหลักฐานมาโต้แย้งด้วย การก่อกวนทางปัญญาก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image