เดินไปในเงาฝัน : ชีวิตคืออากาศธาตุ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

มีคนมากมายบนโลกใบนี้ที่ให้อะไรใครโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งเหมือนกับ “มิสเตอร์สมิธ” หรือ “มิสเตอร์

นิรนาม” ที่ปีๆ หนึ่งเขาได้บริจาคเงินให้กับสถาบันเอ็มไอที ประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยที่ไม่บอกว่าเขาเป็นใคร? ทำงานอยู่ที่ไหน?

กล่าวกันว่าตลอดชีวิตของ “มิสเตอร์สมิธ” เขาบริจาคเงินให้กับสถาบันแห่งนี้ไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
เหตุผลเพราะต้องการให้สถาบันแห่งนี้ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ เพราะชีวิตในวัยเด็ก เขาไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ ต้องทำงานเลี้ยงแม่ และน้องสาวสองคน
โดยน้องสาวคนหนึ่งพิการตั้งแต่เด็กๆ

Advertisement

“มิสเตอร์สมิธ” จึงทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากเด็กส่องของในสำนักงานประกันภัยแห่งหนึ่ง ค่าจ้างอาทิตย์ละ 3 เหรียญ จากนั้นจึงมีโอกาสเป็นเสมียนธนาคาร ได้ค่าจ้างอาทิตย์ละ 15 เหรียญ

ส่วนตอนกลางคืนเขาไปทำงานในครัวของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำให้ชีวิตในครอบครัวสุขสบายเท่าไหร่นัก จนวันหนึ่ง “มิส
เตอร์สมิธ” หรือในชื่อจริงคือ “จอร์จ อีสต์แมน” ไปอ่านข่าวเจอจากนิตยสารฉบับหนึ่งว่ามีช่างภาพชาวอังกฤษ ทำน้ำยาเจลาตินขึ้นมาใช้เอง และเมื่อฉาบไปที่เพลตถ่ายรูป จะทำให้ถ่ายรูปเมื่อใดก็ได้

เขาจึงเกิดความคิดว่า หากเขาสามารถทำให้การถ่ายรูปง่าย เหมือนกับการใช้ดินสอล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น ที่สุดเขาจึงลงมือคิดค้น ลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนเขาสามารถประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป และฟิล์มที่ถ่ายรูปได้ประมาณ 100 ภาพขึ้นมา

Advertisement

ภายใต้ยี่ห้อว่า “โกดัก” เมื่อปี พ.ศ.2431 โดยใช้สโลแกนว่า “You press the button, We do the rest” อันมีความหมายว่า “คุณกดปุ่ม เราทำที่เหลือเอง”

ซึ่งไม่เพียงจะทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมาทันที หากยังทำให้เขารับทรัพย์อย่างมหาศาล เพราะฟิล์มหนึ่งม้วนราคา 25 เหรียญ และเมื่อถ่ายรูปเสร็จ จะต้องส่งฟิล์มกลับมาให้เขาล้างอีกในราคา 5 เหรียญ

ซึ่งมีแต่ได้กับได้

แต่ จอร์จ อีสต์แมน กลับไม่ได้สนใจกับรายรับที่เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวด ตรงข้ามเขากลับวางตัวสงบนิ่ง ใช้ชีวิตอย่างสมถะ และไม่ออกงานสังคมใดๆ เลย ถ้าไม่จำเป็น

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ไม่ค่อยมีใครได้ถ่ายรูปเขาเท่าไหร่นัก

จอร์จ อีสต์แมน บอกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้เกิดจากเขาคนเดียว หากเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของลูกน้องทุกคน

ที่สำคัญ เขามีความเชื่อว่าสิ่งที่เราทำระหว่างชั่วโมงทำงาน กำหนดสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราทำในชั่วโมงผ่อนคลายกำหนดสิ่งที่เราเป็น

เหตุนี้เอง จอร์จ อีสต์แมน จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน ขณะที่ในอีกภาคหนึ่ง เขานำเงิน และหุ้นหนึ่งในสามของบริษัทมอบให้กับลูกน้องเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจ

สำหรับเงินบริจาคสาธารณกุศล ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคให้กับสถาบันเอ็มไอที หรือบริจาคให้กับโรงพยาบาล สถานทำฟัน หรือแม้แต่บริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนสอนดนตรี โรงละคร หรือวงออเคสตร้า เขาก็ทำอยู่เป็นประจำ

ในนามว่า “มิสเตอร์สมิธ” หรือ “มิสเตอร์นิรนาม”

จนทำให้คนที่รับบริจาคเกิดความสงสัยว่าใครคือมิสเตอร์สมิธ? และมิสเตอร์สมิธทำงานอะไร? ทำไมถึงบริจาคเงินครั้งละหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ?

แต่แทบไม่เคยมีใครได้รับคำตอบจริงๆ สักที

กล่าวกันว่า เหตุที่ จอร์จ อีสต์แมน มีความคิดเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเขารู้ซึ้งดีถึงความยากลำบากในชีวิต และรู้ซึ้งดีถึงความพิการของน้องสาวของเขา ที่ไม่อาจใช้ชีวิตเยี่ยงคนปกติธรรมดาทั่วไป

จนทำให้เขามองโลก มองคนอย่างเข้าใจว่าบนโลกใบนี้ยังมีคนที่ลำบากกว่าเขาอีกมาก ดังนั้น ถ้าจะแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้กับมนุษย์บนโลกใบนี้บ้าง ก็น่าที่จะทำเสียก่อนตาย

เพราะทุกอย่างเป็นอากาศธาตุ

โดยเรื่องนี้ มีคนเคยถามเขาว่า “โกดัก” มีความหมายอะไรเป็นส่วนตัวกับคุณหรือเปล่า เขาบอกว่า…เปล่า…โกดักเป็นเพียงอากาศธาตุอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

มีเกิด และมีแตกดับ

มีขึ้น และมีลง

ก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ที่เกิดมาพร้อมกับอากาศธาตุ และเมื่อตายไปก็ไปกับอากาศธาตุ ขอเพียงแต่ว่าตอนที่คุณมีชีวิตอยู่ คุณได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้บ้างหรือยังเท่านั้นเอง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริหารของสถาบันเอ็มไอที รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่เคยจดจำชื่อของ จอร์จ อีสต์แมน เลย แต่กลับจดจำชื่อของ “มิสเตอร์สมิธ” แทน

เพราะ “มิสเตอร์สมิธ” เป็นผู้ให้ที่ไม่เคยหวังผลตอบแทน แม้แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่เขาล้มป่วยลงด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่รักษาไม่ได้

เขารู้สึกทรมานมาก ไปไหนลำบาก ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เขาจึงบ่นกับคนใกล้ชิดบ่อยครั้งว่าเขาจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิตเลยหรือ

เพราะเขาไม่อยากเป็นภาระกับใคร

ที่สุดเขาจึงตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมด้วยปืนพกส่วนตัว โดยยิงเข้าไปที่หัวใจ พร้อมกับทิ้งจดหมายลาตายสั้นๆ บอกคนข้างหลังว่า…งานของฉันเสร็จแล้ว ทำไมต้องรอ

ซึ่งเป็นจดหมายลาตายที่ใครอ่านแล้วต้องฉงนสงสัยว่าทำไม จอร์จ อีสต์แมน ถึงเลือกทำเช่นนี้ แต่สำหรับคนที่รู้จักเขาดีคงเข้าใจว่าเหตุที่เขาต้องรีบมาด่วนจากไปในปัจฉิมวัย 77 ปี เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเขามาก

เพราะเขาเชื่อตลอดเวลาว่าทุกอย่างเกิดขึ้น และดับลงพร้อมๆ กับอากาศธาตุ ซึ่งเหมือนกับ “โกดัก” ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป แบรนด์โกดักก็ค่อยๆ มลายหายไป

แต่กระนั้น ก็ทำให้เขาภูมิใจว่า ถึงแม้กล้องโกดัก และฟิล์มโกดักจะถูกสร้างขึ้นเมื่อ 119 ปีผ่านมา แต่ก็ทำให้กล้องและฟิล์มในเวลาต่อมาเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย

จนทำให้เขารู้สึกว่า เมื่อเขาประดิษฐ์ในสิ่งที่มนุษย์เคยคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ในอดีตมาครั้งหนึ่ง ต่อไปที่เหลือคงต้องเป็นหน้าที่ของคนอื่นๆ ที่จะต้องประดิษฐ์ และพัฒนากล้อง และฟิล์มให้ก้าวไปไกลกว่าที่เป็นอยู่

ดังนั้น เมื่อภารกิจของเขาเสร็จสิ้น เรื่องอะไรจะต้องทนอยู่ต่อไปในสภาพคนพิกลพิการ เพราะอย่างที่บอก ตลอดชีวิตของเขาเชื่อในเรื่องของอากาศธาตุ

“โกดัก” เป็นอากาศธาตุอย่างหนึ่ง

“ชีวิต” ก็เป็นอากาศธาตุอย่างหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเขาสำรวจตัวเองแล้วว่าร่างกายของเขาหมดประโยชน์ที่จะทำอะไรต่อไปแล้ว ก็สมควรยิ่งแล้วที่จะ

ต้องปล่อยให้ร่างกายนั้นหลุดลอยไปกับอากาศธาตุ

คืนสู่ผืนดินที่เขาเกิด และแตกดับในสหรัฐอเมริกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image