อาศรมมิวสิก : เพลงสายสมรกับสุดใจ ฟื้นชีวิตวิญญาณเพลงที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์ : โดย สุกรี เจริญสุข

สายสมรเป็นเพลงสยาม (Siamese Song) หลักฐานเขียนไว้เป็นโน้ตสากลเพลงที่สอง ทำนองเพลงพื้นบ้าน สมัยกรุงศรีอยุธยา บันทึกเป็นโน้ตสากลในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ (Simon de La Louère) เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากฝรั่งเศส โดยเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2230 ได้เข้าพักที่บ้านราชทูตเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ลพบุรี

การตีพิมพ์โน้ตเพลงสายสมรนั้นเป็นแผ่นแทรก เมื่อมีการแปลหนังสืออีกในสมัยหลังๆ ผู้พิมพ์ได้ตัดโน้ตแผ่นแทรกออกไป จึงไม่สามารถเห็นโน้ตเพลงในหนังสือฉบับที่พิมพ์ยุค “ออเจ้า” (พ.ศ.2561) ซึ่งทำให้โน้ตเพลงขาดไป สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต้องกลับไปดูการพิมพ์หนังสือในครั้งก่อนๆ จึงจะพบเพลงสายสมร

เพลงสายสมรในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ ผู้บันทึกโน้ตเพลงไม่ได้ยืนยันว่าเป็นใครเป็นคนเขียนโน้ต แต่เป็นผู้ที่มีความรู้เพลงและรู้การบันทึกโน้ตเป็นอย่างดี แม้เพลงจะเป็นแค่ภาพประกอบก็ตาม เรียกว่า เพลงสยาม เป็นเพลงที่ไม่มีชื่อไทย ผู้อ่านโดยทั่วไปเรียกกันว่า เพลงสายสมร เพราะเนื้อร้องนั้นขึ้นต้นไว้ว่า “สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ ขอแนบเนื้อฉะอ้อน เคียงที่นอนในเอย” คนทั่วไปจึงเรียกชื่อตามเนื้อเพลงที่บันทึกไว้ เนื้อร้องฉบับเต็ม มีนักปราชญ์ได้แปลไว้หลายสำนวน แต่ครั้งนี้จะร้องตามสำนวนที่ได้ถอดคำไว้ ดังนี้

“สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ
ขอแนบเนื้อฉะอ้อน เคียงที่นอนในเอย
เพลงนี้ก็เจ้าเอยเพลงใด เพลงระบำหรือเจ้าเอยเจ้าใต้
เพลงนี้ก็เท่าเอย เพลงซอนะเอย พี่เอย
หวังละจะเชย จะเยื้องก้าวย่าง นางช่างจะเลี้ยว จะเดินเอย”

Advertisement

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ยังไม่เคยนำเนื้อเพลงสายสมรมาใส่คำร้องตามโน้ต ครั้งนี้จึงได้นำเนื้อร้องเพลงสายสมรมาเรียบเรียงเล่นด้วยวงออเคสตรา เป็นวงเครื่องสายฝรั่ง โดยมอบหมายให้นักร้อง “ขับร้องตามเนื้อและทำนองดั้งเดิม” (เท่าที่ถอดได้) อาจจะเพี้ยนในทางภาษา แต่ทำนองเพลงไม่ได้เพี้ยนไปแต่อย่างใด หากจะมีนักปราชญ์ทางภาษาสามารถถอดคำได้ใหม่ ก็สามารถเล่นร้องใหม่ได้อีก การบันทึกเพลงจากคำภาษาไทยที่เขียนสะกดด้วยอักษรภาษาอังกฤษ เมื่อนำมาอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ยินอย่างไรก็เขียนตามที่ได้ยิน ผู้ศึกษาได้พยายามนำเสนอให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับทำนองนั้น พระเจนดุริยางค์ (พ.ศ.2426-2511) ได้นำทำนองเพลงสายสมรมาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงสำหรับบรรเลงโดยวงออเคสตรา เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เมื่อปี พ.ศ.2484 ใช้เป็นเพลงเอกของเรื่อง เป็นเพลงประจำตัวพระเจ้าจักรา ตั้งชื่อเพลงเสียใหม่ว่า อโยธยา (Air: King of the White Elephant) พระเจนดุริยางค์นั้นใกล้ชิดกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเรียนที่ฝรั่งเศส เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ พระเจนดุริยางค์ยังใกล้ชิดกับเจษฎาจารย์ฟอร์ ฮีแลร์ (Fran?ois Hilaire) ซึ่งเป็นเพื่อนครูฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษาไทย ท่านสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

ครูฟุสโก (Michael Fusco) ครูดนตรีชาวอิตาเลียนสัญชาติอเมริกัน เป็นหัวหน้าวงดนตรีทหารเรือ (Marine Band) สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะเดียวกันได้เปิดร้านขายเหล้า (ยี่ห้อต่างประเทศ) ให้แก่ชาวฝรั่งทั้งหลาย ที่โรงแรมทร็อกกาเดโร (Trocadero Hotel) หัวมุมถนนสุรวงศ์ ท่านยังเป็นหัวหน้าวงดนตรีสำหรับวงเต้นรำที่โรงแรมอีกด้วย ปัจจุบันโรงแรมถูกรื้อไปแล้ว

Advertisement

ครูฟุสโก ได้เขียนโน้ตเพลงสายสมร สำหรับเล่นเปียโน ตีพิมพ์ลงในหนังสือ “สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก” โดยตั้งชื่อเพลงใหม่ว่า เพลงสรรเสริญพระนารายณ์ (Pra Narai) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2442 เพื่อแจกเป็นของที่ระลึก เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป หนังสือเล่มนี้ใช้เพื่อเผยแพร่ความเจริญของประเทศสยาม

วงบางกอกแซกโซโฟนควอเท็ต เคยนำเพลงสายสมรมาเรียบเรียงแสดงข้างถนน และได้บันทึกเป็นแผ่นเสียงไว้ ต่อมา พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ ได้นำทำนองเพลงสายสมรมาเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงสำหรับวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก
ออเคสตรา (Thailand Philharmonic Orchestra) เมื่อปี พ.ศ.2548 ใช้ชื่อว่า “ศรีอยุธยา” เป็นบทเพลงไทย เปิดแสดงเป็นเพลงแรกของวงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิกออเคสตรา

และยังได้ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สั้น “Conduct Yourself” เพื่อแนะนำมารยาทในการฟังการแสดงดนตรีคลาสสิก ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา

สําหรับการแสดงครั้งใหม่นี้ ได้มอบหมายให้นายปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงเพลงสายสมร สำหรับวงออเคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ประกอบด้วยนักร้อง ซึ่งใช้เนื้อเพลงต้นฉบับ จากหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ และร้องเพลงตามโน้ตต้นฉบับเป็นครั้งแรก

 

เพลงสุดใจนั้น เป็นเพลงแรกที่บันทึกในสมัยอยุธยา โดยนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ซึ่งเป็นนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ผู้ติดตามคณะบาทหลวงผู้เผยแผ่ศาสนาเข้ามาในสยาม (พ.ศ.2224-2229) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้เขียนบันทึกเรื่องราวที่พบในกรุงศรีอยุธยา (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) การบันทึกเรื่องราว อาทิ การเมือง การปกครอง วิถีชีวิต การนับถือศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ โน้ตเพลงสุดใจนั้น เป็นเพลงที่บันทึกไว้ในหนังสือของนิโกลาส์ แชร์แวส

ในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นคำกำชับจากวาติกัน (Vatican) ว่า นักเดินทางผู้เผยแผ่ศาสนา จะต้องจดบันทึกเรื่องราวที่ได้พบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว เพื่อบันทึกไว้ศึกษา เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ ว่าจะเผยแผ่ศาสนา การค้า และการปกครองได้อย่างไร

มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ชื่อเพลงสุดใจ น่าจะอ่านใหม่ได้ว่า “ฉุยฉาย” ซึ่งอาจจะลากเข้าความมากไป ในที่สุดแล้ว “สุดใจ” น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งนี้ พยายามถอดเนื้อเพลงได้ดังนี้

“สุดใจเอ๋ย ไสเจ้าจะจำพราก ไปสู่อันน่านวล เจ้ามาชิดถึงพี่บ้าง สุดใจเอย

สายใจฤๅชัง ไปต้นเรือง เรือง เรือง ในเอย”

ถอดคำได้เพียงแค่นี้ จนกว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญมาถอดให้ใหม่ แต่ตอนนี้จะขับร้องตามเนื้อนี้ไปก่อน

การนำเพลงสายสมรและสุดใจ มาเรียบเรียงใหม่สำหรับวงออเคสตรา แสดงกับนักร้อง โดยแสดงที่บ้านราชทูตวิชาเยนทร์ เวลา 08.30 น. และแสดงอีกครั้งที่ห้องพระนารายณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เวลา 11.00 น. ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2562 การค้นหาร่องรอยเพลงไทยเป็นโครงการใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ความตั้งใจจริงนั้น เพื่อจะรื้อฟื้นชีวิตและจิตวิญญาณเพลงในพื้นที่แหล่งกำเนิด นอกจากผู้ค้นคว้าจะตกอยู่ในภาวะโหยหาอดีตแล้ว ยังต้องการค้นหาพลังและแรงบันดาลใจ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเพลงอีกมิติหนึ่งด้วย การปลุกกระแสพลังสร้างสรรค์และพลังแห่งจินตนาการให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องได้พลังแรงบันดาลใจในอดีตที่มีอยู่ก่อนแล้ว นำร่องรอยมาทำพิธีกรรมเสนอต่อสังคมไทย การขุดสมบัติและจิตวิญญาณในอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เป็นหน้าที่สำคัญของคนชาวสยาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image