เดินไปในเงาฝัน : โลกของนักประพันธ์ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

เชื่อว่าทุกคนที่เป็นนักประพันธ์ ไม่ว่าชาติใดในโลก คงไม่หากินกับจินตนาการแต่เพียงถ่ายเดียว เพราะจินตนาการไม่เพียงเกี่ยวเนื่องกับความฝัน

หากจินตนาการยังเกี่ยวเนื่อง และเกี่ยวข้องกับภาพลวงตาด้วย

ภาพลวงตาที่จะต้องทำให้เกิดเป็นภาพจริง หรือภาพเสมือนจริง

เพราะหาไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้ เหตุนี้เอง นักประพันธ์หลายคนบนโลกใบนี้ จึงเลือกที่จะใช้ประสบการณ์จริง ด้วยการลงไปค้นหา พูดคุย หรืออ่านหนังสือจำนวนมาก ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพของผู้คน ชีวิต หรือสถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นสถานที่สวยงาม หรือสถานที่ที่ไม่สวยงาม

Advertisement

รวมถึงสถานที่ที่ไม่น่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ต้องเข้าไป เพื่อเก็บเป็นวัตถุดิบสำหรับงานประพันธ์ในชิ้นต่อๆ ไป แต่กระนั้น ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่ากลวิธีการประพันธ์ กลวิธีการเล่าเรื่องของนักประพันธ์แต่ละคน ล้วนมีเอกลักษณ์หรือสไตล์ที่แตกต่างกันไป

ซึ่งไม่มีใครผิด หรือใครถูก

ขอเพียงแต่ว่าเรื่องที่ประพันธ์อออกมาจะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้อ่าน ยิ่งถ้าเรื่องที่ถูกประพันธ์ขึ้นเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ยิ่งจะทำให้ผลงานของนักประพันธ์ผู้นั้นกว้างขวางยิ่งขึ้น

Advertisement

ซึ่งเหมือนกับ “แฮร์มันน์ เฮสเส” นักประพันธ์ชาวเยอรมัน เจ้าของผลงานอมตะอย่าง สิทธารถะ, สเตปเปนวูลฟ์, นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ที่ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก

กล่าวกันว่า “แฮร์มันน์ เฮสเส” เป็นนักประพันธ์ชาวเยอรมันผู้หนึ่งที่เข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และตัวละครของเขาแทบทุกเรื่อง ล้วนส่งผลต่ออิทธิพลทางความคิดของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต ความเป็นขบถของมนุษย์ รวมถึงการแสดงออกทางด้านพฤติกรรมต่างๆ

ในทางตรงกันข้าม ตัวละครของเขาในนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” ก็ทำให้ผู้อ่านหลายคนประจักษ์ชัดถึงความเข้าใจในปรัชญาของโลกตะวันออกด้วย

ซึ่งนับว่าเป็นนักประพันธ์จากยุคศตวรรษ 20 ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

แต่กระนั้น หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “แฮร์มันน์ เฮสเส” มีกลวิธีการประพันธ์อย่างไร ถึงทำให้ตัวละครของเขาทุกตัวทรงอิทธิพลทางความคิดกับผู้อ่าน
สำหรับเรื่องนี้เขาเคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “มาจากทางสายเปลี่ยว” ที่มีผู้แปลคือ “พจนา จันทรสันติ” สำนักพิมพ์ตถตาเป็นผู้จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี 2528 ดังความตอนหนึ่งว่า…

“ในศิลปะการประพันธ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้ฝึกฝนมา ไม่เคยมีวิธีการทำงานอย่างมีขั้นมีตอน มีเหตุผล แต่อาศัยความมุ่งมั่น และความมานะพากเพียรเป็นปัจจัย วิธีการชนิดนี้ไม่เคยมีปรากฏอยู่เลย สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้ว นวนิยายเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในวินาทีที่ข้าพเจ้าแลเห็นมโนภาพก่อตัวขึ้นเป็นภาพ”

“ซึ่งสามารถเป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนของประสบการณ์ ของปัญหา ของความคิดคำนึงแห่งตน การปรากฏขึ้นของบุคคลในจินตนาการ ดังเช่น ปีเตอร์ คาเมนซินด์, คนุลป์, เดเมียน, สิทธารถะ, แฮรี่ ฮัลเลอร์ ฯลฯ ล้วนถูกสร้างขึ้นมาอย่างฉับพลัน จากทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่างที่ปรากฏขึ้น”

“งานนวนิยายร้อยแก้วแทบทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้น ล้วนเป็นบทบันทึก เป็นประวัติศาสตร์ของจิตวิญญาณ และในงานเหล่านั้น จุดที่คำนึงถึงที่สุดไม่ได้อยู่ที่โครงเรื่อง ไม่ได้อยู่ที่ความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ได้อยู่ที่กลวิธีการหน่วงเรื่อง แต่แก่นของมันอยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นสำคัญ”

“ซึ่งให้ตัวละครเพียงตัวเดียว หรือคนในจินตนาการนั้นแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับโลกภายนอก และตัวเขากับโลกภายใน หรือตัวเขาเอง งานนิยายเช่นนี้แหละที่ถูกเรียกว่านวนิยาย แต่แท้จริงแล้วมันหาใช่นวนิยายไม่ ซึ่งในสายตาข้าพเจ้า จึงถือเป็นงานอันศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งวัยหนุ่ม”

ที่มองเผินๆ เหมือนกับ “แฮร์มันน์ เฮสเส” อหังการ และเชื่อมั่นในวิธีคิดของตัวเองมากเกินไป แต่หากมองเข้าไปในตัวตน ทั้งจากงานประพันธ์ที่เขารังสรรค์ขึ้น หรือจากสิ่งที่เขาเขียนบอกเล่าในหนังสือเล่มนี้ จะเห็นได้อย่างหนึ่งว่าตลอดชีวิตของเขา ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการค้นหาคำตอบ

ค้นหาว่าทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ มีความงดงามอย่างที่กวี นักปราชญ์ หรือนักประพันธ์ในรุ่นๆ เดียวกันกล่าวไว้จริงหรือไม่

ซึ่งเหมือนกับ “วิลเฮล์ม เชฟเฟอร์” นักประพันธ์ชาวเยอรมันอีกคนหนึ่งที่เขาให้ความเคารพนับถือในผลงานของตัวเอง และครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าววาทะอมตะบอกว่า…หน้าที่ของกวี มิใช่เพียงแค่ถ่ายทอดความรู้สึกแสดงออกถึงสิ่งสามัญพื้นๆ แต่จะต้องสะท้อนสิ่งที่มีคุณค่าออกมาอย่างง่ายๆ

กล่าวกันว่า “แฮร์มันน์ เฮสเส” ใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นานกับวาทะอมตะของ “วิลเฮล์ม เชฟเฟอร์” ว่าทำไมเขาถึงมองเรื่องสิ่งที่กวีถ่ายทอดออกมานั้นจะต้องแสดงถึงสิ่งสามัญพื้นๆ

ขณะเดียวกัน จะต้องสะท้อนสิ่งที่มีคุณค่าออกมาอย่างง่ายๆ ซึ่งมันขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่มีคุณค่าน่าจะเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน และมีเหตุผล

เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมวลมนุษยชาติ

และเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

แต่ทำไมถึงจะต้องแสดงออกถึงสิ่งสามัญพื้นๆ ด้วย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “แฮร์มันน์ เฮสเส” เขียนบทความบางตอนตอบโต้ “วิลเฮล์ม เชฟเฟอร์” ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า…มิใช่หน้าที่ของกวีที่จะตัดสินเอาเองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ หรือมีความหมาย

“มิใช่ธุระกงการของเขาที่จะทำตัวเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้อ่านในอนาคต และทำหน้าที่เป็นผู้เลือกสรรเอามาจากความสับสนของโลก แต่แค่หยิบยกมาสื่อสารแต่เฉพาะสิ่งที่มีคุณค่า และมีความสำคัญอย่างแท้จริงเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนี้แน่”

“ตรงกันข้าม ภาระหน้าที่แท้จริงของกวีคือจะต้องค้นให้พบ และแสดงออกอย่างแจ่มชัด ถึงความยิ่งใหญ่ และความเป็นอมตะ ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในทุกๆ สิ่งอันธรรมดายิ่ง และแฝงเร้นอยู่ในทุกๆ สิ่งอันว่างเปล่าที่ไร้กวีมองเห็นคุณค่าของมัน แต่จะต้องอยู่ซึ่งปัญญาญาณที่พระเจ้าทรงสถิตอยู่ทุกหนแห่ง จนทำให้ต้องกล่าวออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

“ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงค้นพบทฤษฎีว่าด้วยความหมาย หรือภาระหน้าที่ของกวี ซึ่งสำหรับตัวข้าพเจ้า และจากแง่มุมของตัวเองแล้ว มันเป็นจริง และมีคุณค่าเสียยิ่งกว่าวาทะเดิม แม้ว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าจะเคยคล้อยตาม และเห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น”

“ทว่าบัดนี้กวีตามความเข้าใจที่ลึกซึ้งที่สุดของข้าพเจ้า มิใช่หน้าที่ตัดสินใจว่าสิ่งใดในโลกนี้ที่มีคุณค่า สิ่งใดไม่มีคุณค่าดังที่ตนแลเห็น ทว่าเขามีภารกิจที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงคือเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะชี้ให้เห็นว่าคุณค่าความหมายนั้นเป็นแต่เพียงถ้อยคำ จะต้องชี้ให้เห็นว่าคุณค่าความหมายนั้น ไม่อาจหยิบยกให้แก่สิ่งหนึ่งสิ่งใดบนโลก แต่จะต้องมอบให้แก่ทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ต่างหาก”

ซึ่งนี่คือตัวตนของ “แฮร์มันน์ เฮสเส”

นักประพันธ์ผู้เชื่อว่าเขาพร้อมเกิดมาเพื่อเป็นนักประพันธ์โดยแท้ หรือไม่ก็ไม่ต้องเป็นอะไรเลย แต่ที่สุด ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการลงมือศึกษา ปฏิบัติ ทดลองอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงส่งผลให้เขากลายเป็นนักประพันธ์คนหนึ่งที่ถูกยอมรับมากที่สุดในประเทศเยอรมนี และอีกหลายประเทศทั่วโลก

จนปี 2489 เขาจึงได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม พร้อมๆ กับรางวัลเกอเธ่แห่งประเทศเยอรมนี

ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดแล้วสำหรับนักประพันธ์คนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้

ที่ไม่ธรรมดาเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image