อาศรมมิวสิก : รายการแสดงซิมโฟนี คอนเสิร์ตอันน่าสนใจที่กำลังจะมาถึง : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การแสดงดนตรีเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเขียนถึงความประทับใจในการบรรเลงที่สูงด้วยมาตรฐานจนบางครั้งก็มีท่านผู้อ่านได้ปรารภขึ้นด้วยความเสียดายว่าไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการแสดงดนตรีรายการนั้นๆ เกิดขึ้น มารู้ข่าวอีกทีก็ได้อ่านจากบทวิจารณ์ที่กล่าวยกย่องชมเชยในการแสดงที่ผ่านไปแล้ว แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารแต่ก็มิใช่ว่าเราจะรู้ข่าวสารไปได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะข่าวดีๆ เพราะโดยธรรมชาติแห่งการรับรู้ข่าวสารนั้นเรื่องดีๆ อาจไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับข่าวสารในเชิงลบซึ่งก็จะชิงปริมาณพื้นที่ข่าวไปได้มากกว่า ยิ่งเมื่อผู้เขียนได้เห็นข่าวสารการแสดงดนตรีดีๆ ที่มีเกิดขึ้นมากมาย (แม้จะดูว่าสวนทางกับปริมาณผู้ชมที่ผู้จัดการแสดงทุกๆ ที่จะบ่นไปในเสียงเดียวกันว่าเดี๋ยวนี้มีน้อยลงจนน่าถอดใจ) จึงตัดสินใจขอใช้พื้นที่บทความในครั้งนี้พูดถึงการแสดงดนตรีที่จะมีขึ้นในเดือนนี้และเดือนถัดไป เผื่อว่าท่านผู้อ่านอาจจะได้เตรียมตัวหาเวลาว่างไปหาความงาม, ความสุนทรีย์
มาเติมชีวิตให้มีความสุขกันขึ้นมาได้บ้าง ท่ามกลางชีวิตที่สับสนเคร่งเครียดการได้หาโอกาสเดินทางไปรับชม,รับฟังดนตรีดีๆ

คงจะเป็นการเพิ่มความสุขทางจิตใจและเพิ่มความหมายให้กับชีวิตได้เป็นอย่างดี

ขอเริ่มกันในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ.2562 ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) จะนำเสนอรายการแสดงดนตรีที่ใช้ชื่อรายการว่า “Hungarian Rhapsody-German Passion” นำเสนอบทเพลง 4 เพลงในรายการซึ่งถือได้ว่ามีความสัมพันธ์กันในแนวคิดภาพรวมได้เป็นอย่างดี เริ่มรายการด้วยบทเพลง Hungarian Rhapsody No.2 ของฟรันซ์ ลิซท์ (Franz Liszt) นักประพันธ์ดนตรีชาวฮังการีคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติก นี่เป็นบทเพลงที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี กล่าวคือเป็นบทเพลงที่ดัดแปลงมาจากบทเพลงบรรเลงเดี่ยวเปียโนดั้งเดิมของเขาที่ประพันธ์ขึ้นในลีลาดนตรีแบบพื้นบ้านยิปซีในประเทศฮังการี เต็มไปด้วยลักษณะการผันเปลี่ยนอารมณ์ทางดนตรีอย่างรวดเร็ว, ทันทีทันใดแบบคาดไม่ถึง ใครที่พอจะทราบถึงธรรมชาติแห่งปฏิภาณ, ไหวพริบที่ฉลาดรวดเร็วว่องไวของเผ่าพันธุ์ยิปซี คงจะอดอมยิ้มน้อยๆ ไม่ได้กับบทเพลงนี้ที่ ฟรันซ์ ลิซท์เขียนขึ้นในอารมณ์แบบยิปซีที่ดนตรีมีการเคลื่อนไหว, ดำเนินไปในลักษณะที่ฟังดูยากแก่การคาดเดา เรียกได้ว่าสนุกกันทั้งผู้ฟังและผู้บรรเลง เป็นบทเพลงที่มีความยืดหยุ่นของการผันเปลี่ยนจังหวะและอารมณ์ดนตรีอย่างสูง นอกจากโน้ตดนตรีที่เขียนไว้สำเร็จบนแผ่นกระดาษแล้ว การบรรเลงที่เกิดขึ้นสดๆ จริงๆ ในขณะนั้นบนเวทีจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้เป็นเรื่องท้าทายอย่างสูงสำหรับนักดนตรีและน่าลุ้น, น่าติดตามจากมุมมองของผู้ฟัง

บทเพลงในลำดับที่สองคือ เปียโนคอนแชร์โตในบันไดเสียง เอไมเนอร์, ผลงานลำดับที่ 7 ของ “คลารา ชูมันน์” (Clara Schumann)!!! ใช่แล้วไม่ผิดแน่นอน นี่คือการนำเอาบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตที่ถือว่าหาฟัง (การบรรเลงสดๆ) ยากมากเพลงหนึ่งทีเดียว เพราะโดยปกติเรามักจะรู้จักชื่อเสียงและผลงานของ “รอแบร์ต ชูมันน์” (Robert Schumann)สามีของเธอกันมานานนับร้อยปี จนแฟนเพลงหลายๆ คนก็ลืมไปแล้วว่า คลารา ชูมันน์ภริยาของรอแบร์ตนั้นเป็นศิลปินเดี่ยวเปียโนฝีมือเยี่ยมในระดับที่เป็นตำนานแห่งยุคสมัย มีฝีมือและชื่อเสียงที่ดังกระฉ่อนไปทั่วยุโรป และนอกจากฝีมือเปียโนอันฉกาจฉกรรจ์แล้ว เธอยังมีผลงานการประพันธ์ดนตรีอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตที่เราจะได้ฟังกันในครั้งนี้ที่เธอเขียนขึ้นในขณะที่อายุได้เพียง 14 ปี! โดยเริ่มแรกตั้งใจจะให้เป็นเพียงบทเพลงที่มีเพียงท่อนเดียว (Concert Movement) และมี “รอแบร์ต” ว่าที่สามีในอนาคต เป็นผู้ช่วยเรียบเรียงเขียนแนวการบรรเลงของวงออเคสตราให้ และบทเพลงท่อนเดียวนี้ก็ได้กลายมาเป็นท่อนสุดท้ายของบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตในที่สุดเพราะในอีก 1 ปีถัดมาจึงมีการประพันธ์บทเพลงในท่อนแรกและท่อนที่สองเสริมขึ้นมาจนกลายเป็นบทเพลงคอนแชร์โต 3 ท่อนมาตรฐานในที่สุด บทเพลงบรรเลงต่อเนื่องกัน 3 ท่อนโดยไม่มีการหยุดพักระหว่างท่อน (เธอคงรำคาญกับการปรบมือของผู้ชมในระหว่างจบท่อนนั่นเอง) และประเด็นที่น่าสังเกตมากอีกประการหนึ่งก็คือบทเพลงในท่อนสุดท้ายนั่นแหละที่มีท่วงทำนอง, ลีลาทางดนตรีที่ฟังดูโดดเด่นน่าจดจำมากที่สุดทีเดียว นี่จัดได้ว่าเป็นเพชรน้ำเอกเม็ดหนึ่งของวรรณกรรมเพลงเปียโนคอนแชร์โตแห่งยุคโรแมนติกที่ถูกโลกลืมไปอย่างน่าเสียดาย

Advertisement

บทเพลงในลำดับที่ 3 คือบทเพลง “Introduction & Allegro Appassionato” สำหรับบรรเลงเดี่ยวเปียโนร่วมกับวงออเคสตรา ของ “รอแบร์ต ชูมันน์” นำมาบรรเลงต่อจากเปียโนคอนแชร์โตของ “คลารา” ภริยาสุดที่รักของเขา นี่เป็นบทเพลงที่มีเพียงท่อนเดียวโดยแบ่งออกเป็นสองส่วนส่วนแรกเป็นท่อนนำที่บรรเลงในจังหวะช้าราวกับอารมณ์แห่งการบรรเลงแบบด้นสด (Improvisation) จากนั้นจึงตามด้วยจังหวะเร็วที่กระชับขึ้นและเต็มไปด้วยพลังอารมณ์ ตัวรอแบร์ตเองถือว่าบทเพลงมีความสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปประพันธ์เพิ่มให้ครบ 3 ท่อนเพื่อให้กลายเป็นบทเพลงคอนแชร์โตแต่อย่างใด และวง RBSO ก็เลือกปิดท้ายรายการคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยบทเพลงซิมโฟนิกโพเอ็ม (Symphonic Poem) ผลงานชิ้นเอกของ ฟรันซ์ ลิซท์ นั่นก็คือบทเพลง “เลส์ เพรลูด” (Les Prelude) บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่สัมพันธ์กับบทกวีของ “อัลฟอนส์ เดอ ลามาร์ทีน” (Alponse de Lamartine) ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามกับความหมายและการต่อสู้ดิ้นรนของการมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความหมายแฝงเชิงปรัชญานี้หรือความหมายหลักทางกระแสเสียงดนตรีอันลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ (โดยมีโมทิฟ, ใจความดนตรีเล็กๆ สร้างเอกภาพให้กับบทเพลงทั้งเพลง) นั้น ลิซท์สามารถเชื่อมโยงผสานทั้งสองความหมายนี้ให้เข้ากันได้สนิทอย่างน่าศึกษาโดยแท้จริง

คอนเสิร์ตในครั้งนี้อำนวยเพลงโดยวาทยกรรับเชิญนาม “ชาร์ลส โอลิเวียริ มันโร” (Charles Olivieri-Munroe)และบรรเลงเดี่ยวเปียโน โดย “คาธารินา ทรอยต์เลอร์” (Katharina Treutler)

สัปดาห์กลางเดือน ในวันศุกร์ที่ 13 (เวลา 19.30 น.) และบ่ายวันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ.2562 ทางวง ที.พี.โอ. (Thailand Philharmonic Orchestra) จัดรายการคอนเสิร์ตที่เข้มข้น และมีประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้รักดนตรีทุกท่าน ณ หอแสดงดนตรี
มหิดลสิทธาคาร “บ้านประจำ” ของพวกเขา คอนเสิร์ตครั้งนี้ใช้ชื่อรายการว่า “Echoes of The War Cry” โดยนำเอาบทเพลง “Concert Champetre” ของ “ฟรังซิส ปูลังค์” (Francis Poulenc) นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 20 มาบรรเลงให้ฟังกัน นี่เป็นบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตที่เต็มไปด้วยสีสันและความท้าทายที่น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง สำหรับใครที่กลัวๆ กล้าๆ ด้วยความรู้สึกว่านี่เป็น “ดนตรีแห่งศตวรรษที่ 20” ที่คงจะฟังยาก, เข้าใจยากก็ขอบอกได้เลยว่าท่านคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้ว เพราะดนตรีของ ฟรังซิส ปูลังค์ มิได้เต็มไปด้วยเสียงกระด้างระคายหูแบบที่ท่านอาจจะกริ่งเกรง แต่เสียงดนตรีของเขาและกลุ่มสำนักฝรั่งเศสในช่วงต้น-กลางศตวรรษที่ 20 นั้น โดยรวมจะเป็นเสียงที่มีสีสัน (Timbre) ที่แปลก คล้ายกับล่องลอยอยู่ในความฝัน ความคมคายที่ใช้ไม่ถึงกับรู้สึกกระด้างบาดคม บทเพลง “Concert Champetre” ในครั้งนี้จะบรรเลงเดี่ยวเปียโนโดย “สเตฟาโน บอลลานิ” (Stefano Bollani) ศิลปินเดี่ยวเปียโนและนักประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งเคยมาฝากฝังความประทับใจอย่างมิรู้เลือนมาแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ.2560 ด้วยอัจฉริยภาพทางดนตรีรอบตัว (ผู้เขียนจงใจใช้คำแบบไม่ประหยัดว่า “อัจฉริยภาพ” สำหรับเขาผู้นี้) เขาเป็นทั้งนักประพันธ์เพลงด้วยตัวเอง, เป็นศิลปินเดี่ยวเปียโน, เป็นศิลปินดนตรีแจ๊ซ (Jazz) และป๊อป (POP) และยังเป็นนักด้นกลอนสดทางดนตรี ด้วยปฏิภาณดนตรีอันน่าทึ่ง นอกจากจะนำเอาเพชรน้ำเอกของวรรณกรรมเปียโนคอนแชร์โตสำนักฝรั่งเศสมาเปิดการบรรเลงในครั้งนี้แล้ว ขอให้ปรบมือขอเพลงแถม (Encore) จากเขาเถิด

Advertisement

แล้วท่านจะได้รับประสบการณ์ “ดนตรีแห่งอัจฉริยปฏิภาณ” (Improvisation) ในแบบที่มือหนึ่งระดับโลกหลายต่อหลายคนก็ไม่อาจมอบประสบการณ์นี้ให้กับท่านได้

วง ที.พี.โอ. เลือกปิดท้ายรายการในครั้งนี้ด้วยบทเพลงที่สอดคล้องกับชื่อรายการคอนเสิร์ต ด้วยการนำเสนอบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 7 ของ “ดมิทริ ชอสตาโควิช” (Dmitri Shostakovich) ที่มีชื่อเฉพาะว่า “เลนินกราด” (Leningrad) ซึ่งเป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในยามทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวเมืองเลนินกราด (ชื่อเมืองในขณะนั้น) ในช่วงปี ค.ศ.1941-1944 ระยะเวลาเกือบ 3 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพนาซียกพลเข้าปิดล้อมเมือง ด้วยกลยุทธ์อันแสนโหดร้ายหวังให้ชาวเมืองอดตายและยอมจำนน แม้กองทัพนาซีต้องพ่ายแพ้ในที่สุดแต่ก็ยังให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ต้องจารึกไว้ว่ามีผู้คนต้องล้มตายไปอย่างทุกข์ทรมานนับหลายแสนคน ชอสตาโควิชดุริยกวีรัสเซียผู้ถือกำเนิดและผูกพันกับเมืองนี้อย่างแนบแน่น ได้ใช้เวลาช่วงวิกฤตในขณะนั้นรังสรรค์บทเพลงนี้ขึ้นมา มันจึงมีความสำคัญที่ยิ่งไปกว่าเพลงซิมโฟนีธรรมดาๆ เพลงหนึ่ง หากแต่มันมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองอย่างสูง สำหรับคุณค่าและความหมายทางดนตรีในตัวของมันเองนั้น นี่เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอก (Masterpiece) ของดุริยกวีผู้ยิ่งใหญ่อย่างชอสตาโควิช ซึ่งหลังจากประพันธ์เสร็จสิ้นในขณะน้ำหมึกยังหมาดๆ นั้น มีวงออเคสตราและวาทยกรชั้นนำของโลกในขณะนั้นทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรปต่างรอเฝ้าชะเง้อ เพื่อโอกาสที่จะได้บรรเลงมันโดยเร็วที่สุด สำหรับในครั้งนี้วง ที.พี.โอ.จะบรรเลงภายใต้การควบคุมโดย “อัลฟอนโซ สการาโน” (Alfonso Scarano) ผู้อำนวยการดนตรีคนปัจจุบันของวง ซึ่งมีแนวทางอำนวยเพลงที่ออกไปในทางเคร่งครัด, เน้นระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียงในระดับสูง ซึ่งดูจะถูกจริตกับลักษณะธรรมชาติของเพลงซิมโฟนีสายพันธุ์รัสเซียในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยพื้นที่กระดาษอันจำกัดผู้เขียนขอปิดท้ายด้วย การกระโดดข้ามไปกล่าวถึงคอนเสิร์ตในช่วงปลาย “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21” (Bangkok’s 21st International Festival of Dance&Music) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในช่วงราวเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี ในด้านการแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ตของเทศกาลประจำปีนี้ นับเป็นการแสดงที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือการมาเยือนเมืองไทยของวง “Concerto Budapest Symphony Orchestra” ในค่ำวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2562 สำหรับแฟนๆ เพลงคลาสสิกนี่อาจไม่ใช่ชื่อวงดนตรีระดับพระกาฬ แต่ด้วยความที่เป็นวงเก่าแก่มีอายุถึง 112 ปี (ก่อตั้งวงในปี ค.ศ.1907) และผ่านประสบการณ์กับศิลปินระดับโลกในระดับตำนานแห่งยุคสมัยมาทั้งสิ้นจวบจนถึงปัจจุบัน

ใครที่ยังสงสัยคลางแคลงใจกับวงดนตรีวงนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของวงดนตรีวงนี้ ดูประวัติย่อๆ ของวง และกิจกรรมการแสดงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตท่านจะได้คำตอบด้วยตัวเอง

ในการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้แม้จะมิได้มีการนำเสนอบทเพลงเดี่ยวคอนแชร์โตสำหรับเครื่องดนตรีใดๆ แต่บทเพลงที่เลือกมาบรรเลงนั้น อ่านเจตนาได้ว่านี่ไม่ใช่การดูถูกเมืองไทย, การมาพักร้อน หรือมองกรุงเทพฯเป็นแค่ทางผ่านใดๆ ทั้งสิ้น รายการเพลงเริ่มต้นด้วย “Les Prelude” ของฟรันซ์ ลิซท์ (นักประพันธ์ดนตรีเอกของโลกแห่งประเทศของเขาเอง) ต่อด้วยบทเพลง “ฟรันเชสกา ดาริมินิ” (Francesca da Rimini) ซิมโฟนิกแฟนตาเซีย (Symphonic Fantasia) ผลงานของไชคอฟสกี (P.Tchaikovsky) ที่แสนจะโรแมนติกและล้ำลึก หากใครที่ศึกษาตำนานรักอาภัพและบาปอันน่าโศกรันทดของเธอ (ฟรันเชสกา แห่ง “ริมินิ”) และได้ฟังบทเพลงนี้แล้วจะต้องรู้สึกสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง และตราตรึงอยู่ในโสตประสาทไปยาวนานทีเดียว ปิดท้ายด้วยการประกาศศักดิ์ศรีด้วยบทเพลง คอนแชร์โต สำหรับวงออเคสตราของ เบลา บาร์ท็อค” (Bela Bartok) ดุริยกวีเอกชาวฮังการีแห่งศตวรรษที่ 20 แฟนเพลงคลาสสิกทุกคนจะต้องรู้ดีว่านี่ไม่ใช่เพลงล้อเล่นสำหรับวงออเคสตราใดๆ ก็ตาม มันคือเพลงในระดับอวดเทคนิคและความเป็นเลิศของวงอย่างแท้จริง ผู้เขียนจึงขอแนะนำถึงการแสดงของวงดนตรีวงนี้อย่างมีนัยสำคัญ ผู้อำนวยเพลงในครั้งนี้คือ “อันดราส เคลเลอร์” (Andras Keller) อดีตนักไวโอลินมือหนึ่งของวง “เคลเลอร์ ควอเต็ท” (Keller Quartet) อันเลื่องชื่อ คงรับประกันได้เป็นอย่างดีถึง “ความเป็นดนตรี” ในทุกอณูของศิลปินผู้นี้

นับว่าไม่ควรพลาดทั้งสามรายการ สำหรับผู้รักเสียงดนตรีทุกท่าน ประสบการณ์ฟังเสียงดนตรีจริงๆ จากวงออเคสตราจริงๆ ในโรงคอนเสิร์ตจริงๆ ย่อมดีกว่าเพียงการฟังจากชุดเครื่องเสียงที่ต่อให้ดีแค่ไหนแพงแค่ไหนก็คงเป็นเพียงวงออเคสตราจำลอง หรือภาพถ่ายทางเสียงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image