เดินไปในเงาฝัน : ‘จีน’สร้างชาติด้วยการ‘อ่าน’ : สาโรจน์ มณีรัตน์

นับเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสไปดูงานบุ๊กแฟร์ที่ต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้างว่าในหลายประเทศแถบยุโรปมีงานบุ๊กแฟร์กันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นแฟรงก์เฟิร์ต บุ๊กแฟร์ ประเทศเยอรมนี, ลอนดอน บุ๊กแฟร์ ประเทศอังกฤษ
ปารีส บุ๊กแฟร์ ประเทศฝรั่งเศส

และอีกหลายๆ บุ๊กแฟร์ในเอเชีย

แต่สำหรับปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผมพึ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ทั้งนั้นเพราะ “คุณจรัญ หอมเทียนทอง” อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่งคือเจ้าของ และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาวเป็นผู้ชักชวนผมมาดู

ทั้งนั้นเพราะเขาคงเห็นว่าผมนิยมชมชอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จึงอยากพามาเปิดหูเปิดตา เพื่อจะได้มาสัมผัสกับตัวเองจริงๆ ว่าวงการธุรกิจหนังสือระดับโลกเขาบริหารจัดการอย่างไร ?

Advertisement

เทรนด์หนังสือเขาไปถึงไหน ?
และเขาก้าวไปไกลระดับไหนแล้ว ?
ครับ…ผมเห็นแล้ว ต้องยอมรับว่าทึ่งจริงๆ

ทั้งในเรื่องของสถานที่จัดงานที่ใหญ่โตมโหฬาร ผมไม่ทราบว่างานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ใช้สถานที่ทั้งหมดกี่ฮอลล์ รู้แต่ละว่าแต่ละฮอลล์ต่างอัดแน่นไปด้วยสำนักพิมพ์ต่างๆ มากมาย

โซนหนึ่งเฉพาะประเทศจีน
โซนหนึ่งเฉพาะนานาชาติ
โซนหนึ่งเฉพาะมัลติมีเดีย

Advertisement

และอีกหลายโซนที่ผมเดินไม่ทั่วถึง เพราะใช้เวลานานมาก เกรงว่าถ้าผมเดินทั่วทั้งหมด อาจตกขบวนจากเพื่อนร่วมทริปได้ เพราะเพื่อนแต่ละคนที่มา ล้วนมาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ในเมืองไทย

หลายสำนักพิมพ์ใช้โอกาสนี้เจรจาทางธุรกิจ ด้วยการดิวบิสซิเนส ทู บิสซิเนส กับสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เขาเห็นว่าน่าจะนำหนังสือประเภทเหล่านั้นไปแปลเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นนิทานภาพ, เรื่องสั้น, นวนิยาย

อัตชีวประวัติ
ประวัติศาสตร์
และอื่นๆ อีกมากมาย

พูดง่ายๆ หนังสือที่ดีลธุรกิจภายในงานบุ๊กแฟร์มีครบทุกประเภท และมีทุกกลุ่มช่วงอายุ ทั้งยังมีงานเปิดตัวหนังสือภายในงานด้วย

เพื่อที่จะให้ผู้สนใจนั่งฟังมุมมองของผู้เขียน, บรรณาธิการสำนักพิมพ์ และนักวิจารณ์มองเห็นภาพไปในทางเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าใครสนใจอยากจะนำต้นฉบับภาษาจีนมาแปลเป็นภาษาไทย เขาจะมีเอเจนซี่คอยทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษให้กับเจ้าของสำนักพิมพ์เหล่านั้นนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ

รวมทั้งล่ามภาษาไทยด้วย

ที่สำคัญ หากสำนักพิมพ์เมืองไทยสนใจเกี่ยวกับงานศิลปวัฒนธรรม, อัตชีวประวัติ และประวัติศาสตร์เชิงอารยะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางสำนักพิมพ์ โดยผ่านรัฐบาลจีนจะลดค่าลิขสิทธิ์ให้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็น 20-50% เพราะถือเสียว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ เหล่านั้นนำงานของประเทศเขาไปเผยแพร่ในวงกว้าง

ในทางตรงข้ามหากสำนักพิมพ์ของจีนสนใจงานของสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่มาออกบูธในวันนั้น เขาก็จะมีเอเจนซี่คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์การจัดพิมพ์เป็นภาษาจีนอีกทางหนึ่งด้วย

เพราะฉะนั้น หนังสือทุกประเภทของสำนักพิมพ์จากทั่วโลกกว่าแสนๆ เล่มที่มาออกบูธในงานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 จึงเป็นหนังสือที่นำมาโชว์เพื่อเจรจาทางการค้าทั้งสิ้น

ซึ่งเห็นแล้วทำให้ผมคิดอย่างหนึ่งว่าแม้โลกของเทคโนโลยีจะดิสรัปชั่นวงการหนังสืออย่างไร แต่สำหรับโลกของการอ่านยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอ

และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย

หากหลายประเทศทั่วโลกเขาก็ต่างเข้าใจในเรื่องของดิสรัปชั่นเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นในอีกฮอลล์หนึ่งจะต่างเต็มไปด้วยดิจิทัล รีดเดอร์ แพลตฟอร์มกันอย่างมากมายหรือ

เพราะเขารู้แล้วว่ายังไงๆ โลกของหนังสือย่อมถูกดิสรัปแน่ๆ

เพียงแต่เขาจะถอยหรือจะสู้ต่อเท่านั้นเอง

แต่เท่าที่ผมเห็น หลายสำนักพิมพ์ทั่วโลกเขาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบจากหนังสือที่เคยถืออ่านด้วยมือ และใช้จินตนาการเพื่อให้เกิดภาพตาม มาแปรเปลี่ยนเป็นการอ่านผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ ด้วยรูปแบบของหนังสือสี่มิติ ห้ามิติ

ที่ไม่เพียงจะมีทั้งเสียง และภาพไปในคราวเดียวกัน

หากยังสร้างเรื่องราวให้เราติดตามอย่างง่ายๆ จนทำให้รู้สึกว่ากำแพงตัวอักษรไม่ว่าจะเป็นของชาติใดในโลก แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในดิจิทัล รีดเดอร์ แพลตฟอร์มเดียวกัน ทุกคนสามารถเข้าถึงการอ่านได้อย่างครบอรรถรสทั้งสิ้น

ผมไม่รู้ว่าพัฒนาการของหนังสือบ้านเราไปถึงไหนแล้ว แต่สำหรับงานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ที่ผมมีโอกาสไปร่วมงานครั้งนี้ พร้อมๆ กับเพื่อนๆ สำนักพิมพ์จากเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์มติชน, สำนักพิมพ์แสงดาว, สำนักพิมพ์ยิปซี, สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, สำนักพิมพ์แอร์โรว์ มัลติมีเดีย และอื่นๆ อีกมากมาย

ล้วนทำให้ผมค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่าการเดินทางของตัวหนังสือจากเหล่าบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ ของเมืองไทยที่มีโอกาสมางานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ด้วยกัน พวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่เฉพาะการสรรหาเมนูพิเศษดีๆ จากเมืองไทยเพื่อกำนัลแด่หนอนหนังสือสยามเพียงอย่างเดียว

หากเขาพยายามไปคัดสรรเมนูระดับฮ่องเต้จากเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเพื่อมากำนัลแด่ผู้อ่านอย่างแท้จริง

เพราะไม่เช่นนั้น หลังจากที่พวกเขากลับมาถึงโรงแรม ทุกคนต่างนำมาเล่า มาบอกกล่าวว่าอีกไม่นานแฟนานุแฟนจากเมืองไทยจะต้องได้อ่านหนังสือเล่มนั้น เล่มนี้

ซึ่งผมเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็อดถามต่อไม่ได้ว่า…แล้วนักแปลภาษาจีนบ้านเรามีเพียงพอหรือ ?

พวกเขาตอบคล้ายๆ กันว่า…บ้านเรามีคนแปลภาษาจีนดีๆ อยู่หลายคน เพียงแต่เราต้องหาให้เจอเท่านั้นเอง แต่กระนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากจนเกินไป เพราะอาจารย์มหา’ลัยอยากแปลหนังสืออยู่หลายคนด้วยกัน

ผมถึงบางอ้อทันที

พร้อมกับรู้คำตอบไปในทันทีว่า…เหตุนี้เอง “คุณจรัญ” ถึงอยากชวนผมให้มางานปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊กแฟร์ 2019 ครั้งนี้ เพราะเขาคงเห็นว่ารัฐบาลจีนใช้วัฒนธรรมการอ่านจากหนังสือกระดาษมาเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดกระบวนการคิดของคนในชาติ

“ที่สำคัญ รัฐบาลจีนสนับสนุนให้เยาวชนของชาติมีนิสัยรักการอ่าน และทั่วทุกหนแห่งบนถนนในเมืองปักกิ่งจะมีร้านหนังสือใหญ่โตมาก และคนจีนเองก็ชอบพาลูกหลานมาซื้อหนังสือ เพราะเขารู้สึกว่าการอ่านจะเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจได้ ไม่เหมือนกับบ้านเรา ที่ทุกรัฐบาลต่างมุ่งส่งเสริมโอท็อปกันทุกตำบล อำเภอ แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่ให้ความสำคัญกับการอ่าน ทั้งยังไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนอีกด้วย”

ผมฟังแล้วก็เข้าใจ

และรู้ซึ้งดีว่า…ทำไมวัฒนธรรมการอ่านของบ้านเราถึงซบเซาลงไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image