‘มั่งกู่เปา’ กระเป๋ากรุงเทพ A must ITEM สำหรับนักท่องเที่ยว ‘เราขาย NaRaYa ไม่ได้ขายกระเป๋า’

เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ “นารายา” (NaRaYa) เข้าร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ดีไซน์กระเป๋าคอลเล็กชั่นพิเศษ จำนวน 84 ชิ้น โดย 9 ใน 84 ชิ้นนี้ยังเพิ่มความพิเศษสุดสุดด้วยการประดับคริสตัลสวารอฟสกี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวาระ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในปีนี้

ในงานแถลงข่าว “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 9” ซึ่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้ภายใต้แนวคิด “ที่สุดแห่งวิถี ความรัก และความภาคภูมิสู่หัตถศิลป์บนผืนฝ้าย” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าและการร่วมเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการใช้ผ้าฝ้ายทอมือของไทย

ทุกปีราวกับเป็นธรรมเนียมนิยมที่จะเชิญดีไซเนอร์ชื่อดังมาร่วมในการออกแบบลายผ้า ซึ่งเป็นลายลิมิเต็ด สำหรับจำหน่ายในงานโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการใช้ผ้าฝ้ายทอ สร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ต่อยอดให้มีการนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

ปีนี้ก็เช่นกันได้รับความร่วมมือจาก ดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย 4 ท่าน ได้แก่ พลพัฒน์ อัศวะประภา จาก asava มิลิน ยุวจรัสกุล จาก Milin ณัฏฐ์ มั่งคั่ง จาก Kloset และชาตรี เท่งฮะ จาก Shaka

Advertisement

และที่เป็นเกสต์รายใหม่เข้ามาร่วมในงานปีนี้คือ “นารายา” ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายที่ติดตลาดไปแล้วอย่างลอยลำ จำหน่ายใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก และมีเอเยนต์ในอีกหลายๆ ประเทศ

 

นารายาขายอะไร …ถ้าไม่ใช่กระเป๋า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “นารายา”

Advertisement

จากร้านจำหน่ายสินค้าบนพื้นที่เพียง 2 ตารางเมตร ภายในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์ บนถนนราชดำริ เมื่อ 27 ปีก่อน มีจักรเย็บผ้าไม่ถึง 20 เครื่อง วันนี้นารายาทำรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท มีพนักงานทำงานในบริษัทราว 1,500 คน มีคนงานกว่า 4,000 คนสำหรับผลิตเฉพาะงานกระเป๋าและสินค้าประกอบอื่นๆ

แม้ในภาวะเศรษฐกิจขาลงเป็นกราฟดิ่งลงเหว และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์การส่งออกไทยปลายปีที่แล้วหดตัวลง 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนปีนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว…

ตรงกันข้ามกับ “นารายา”

ล่าสุดเพิ่งเปิดร้านใหม่หมาด ภายในศูนย์การค้า “สยามสแควร์ วัน” ในชื่อ “LA LA MA” by naraya ขยายฐานลูกค้ามายังกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสยายปีกภายใต้แบรนด์ “นารายา” ออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย

ใครๆ ก็รู้ว่า ถ้า “นารายา” ต้องเป็น “กระเป๋า” เท่านั้น

ทำไมลำพังแค่ขายกระเป๋าผ้าฝ้ายจึงประสบความสำเร็จในระดับโลก?

นั่นเพราะ “นารายา ไม่ได้เป็นแค่กระเป๋า” วาสนา ลาทูรัส ประธานบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของแบรนด์ “นารายา” บอก

สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะคนจีน หนึ่งในของขวัญของฝากที่จะต้องติดไม้ติดมือกลับไปฝากญาติมิตรเพื่อนฝูงคือ ผลิตภัณฑ์จากนารายา

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ไทย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักของเราก็เจอกับภาวะเศรษฐกิจ จีนก็เป็น รวมทั้งยุโรปด้วย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และทุกคนก็ระวังในการใช้สตางค์”

แต่ด้วยการวางตำแหน่งสินค้าเป็น “ของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว” ถือเป็นจุดได้เปรียบกว่าสินค้าอื่นๆ

“สินค้าของเราราคาไม่แพง และในแถบเอเชียยังมีวัฒนธรรมในการซื้อของฝากกันอยู่ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะซื้อของเราที่ราคาไม่แพง ใบละ 40-50 บาทก็มี คุณภาพดี และแพคง่าย แค่มีพื้นที่ในกระเป๋าเดินทางนิดหน่อยก็ใส่ได้แล้ว”

วาสนา ลาทูรัส เจ้าของ “นารายา”

‘มั่งกู่เปา’ กระเป๋ากรุงเทพ

เป็นธรรมดาโลก (ไปแล้ว) สินค้าต่อให้ตัวแบบยากขนาดไหน ถ้าขายได้ และขายดี ย่อมเกิดการลอกแบบ

ในข่ายนี้ นารายา ไม่น่ารอด…

กับคำถามนี้ วาสนายิ้มละไมแล้วบอกว่า “ตอนนี้เราไม่ได้ขายกระเป๋า เราขายนารายา เราขายคุณภาพ”

“กระเป๋าแบบนี้ใครก็ซื้อได้ ที่ไหนก็ขาย แต่ลูกค้าทั้งต่างชาติและไทยมองก็รู้ว่าอันไหนใช่อันไหนไม่ใช่ เพราะความเนี้ยบต่างกัน ทั้งด้านนอกและด้านในกระเป๋า”

“สินค้าทุกอย่างของนารายาจะติดป้าย “เมดอินไทยแลนด์” ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยต้องมาซื้อกระเป๋า “มั่งกู่เปา”

คำว่า “มั่งกู่” เป็นภาษาจีนแมนดาริน แปลว่า “กรุงเทพฯ” ส่วน “เปา” คือ กระเป๋า

เราจดทะเบียนการค้าเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความที่คนจีนส่วนหนึ่งอ่านออกเสียง นา-รา-ยา ไม่ได้ก็จะเรียกว่า นา-นา-นา บ้าง เราก็เลยจดทะเบียนการค้าเป็นภาษาจีนด้วย และจดทะเบียนในอีกชื่อว่านารายา โดยด้านล่างเขียนว่า “มั่งกู่เปา” สำหรับประเทศที่ใช้ภาษาจีน ฉะนั้นคนจีนจึงเรียกผลิตภัณฑ์นารายาว่า “นารายา มั่งกู่เปา”

ปัจจุบัน คำว่า “มั่งกู่เปา” กลายเป็นสมญานาม เหมือนกับที่นิยมเรียกเครื่องถ่ายเอกสารว่า ซีร็อกซ์ เรียกผงซักฟอกว่า แฟ้บ กระเป๋าเหล่านี้นักท่องเที่ยวก็จะเรียกว่า “มั่งกู่เปา”

ส่วนหนึ่งของนารายาคอลเล็กชั่นพิเศษ จำหน่ายเฉพาะในงาน “ฝ้ายทอใจ” 23-26 มิ.ย.59 ที่ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร

แรร์ ไอเทม สำหรับติ่ง ‘นารายา’

“ผ้าฝ้ายไทยคุณภาพไม่แพ้คนอื่น แต่กรรมวิธีในการผลิต โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีอาจจะไม่เท่าที่อื่น ถ้ามีการส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยีไม่น่าแพ้ใคร”

วาสนา บอกในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายไทยที่ทำชื่อเสียงในระดับโลก โดยซื้อผ้าฝ้ายไทยทอแน่นในระดับอุตสาหกรรม และให้ชาวบ้านทำในส่วนของลายผ้า

ทุกวันนี้เรามีเด็กในความดูแล 5,000-6,000 ครอบครัว ตลาดหลักเป็นเอเชีย ซึ่งนอกจากจดลิขสิทธิ์ในไทย ในญี่ปุ่นแล้วยังจดลิขสิทธิ์ที่สหภาพยุโรป รวมทั้งที่อเมริกา มีลูกค้า 40-50 ประเทศ และยังมีตัวแทนจำหน่ายในอีก 7-8 ประเทศ

“เราก็มองตลาดยุโรปบ้าง แต่ศักยภาพทางการผลิตเรายังไม่พอ เพราะเราใช้ชาวบ้านจริงๆ และเน้นที่ฝีมือ อย่างการตีมือ (ตีเส้น) ฝรั่งชอบเพราะมันมีเท็กซ์เจอร์ มีความนูนขึ้นมา แต่ก็ใช้เวลา” วาสนา บอกพร้อมกับหยิบกระเป๋าสตางค์ใบเล็กที่เดินเส้นเป็นตารางแนวทะแยงให้ดู

สำหรับการมาร่วมงานครั้งนี้ เธอว่า ใช้เวลาคิดนานพอสมควร จริงๆ แล้วอยากทำถวายสมเด็จท่าน พระองค์ทรงอุปถัมภ์งานผ้าไทยไว้มาก อย่างที่ไปเห็นผ้าที่เกาะเกร็ดมีจำนวนมาก ทรงรับซื้อไว้ทั้งหมด ที่นั่นจึงมีทั้งคลังผ้าฝ้ายและคลังผ้าไหม

“ผ้าฝ้ายในโครงการเป็นผ้าเนื้อดีมีคุณภาพ แต่เป็นผ้าเนื้อนิ่ม เราทำกระเป๋าทรงแข็ง ซึ่งถ้าทำทรงนิ่มก็จะเหมือนเจ้าอื่นในตลาด จึงทำไม่มาก เพียง 84 ใบ” ออกแบบเป็นกระเป๋าสวยหวานตามสไตล์นารายา โดยใช้สีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำพระองค์

เพื่อให้พิเศษไปกว่านั้น จึงเพิ่มการประดับด้วยคริสตัลสวารอฟสกี้ 9 ใบ และจะทำกระเป๋าผ้าไหมสีฟ้า 1 ใบ เพื่อถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งจะเสด็จไปทรงเป็นประธานในวันเปิดงาน

รายได้จากการจำหน่ายมอบให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สำหรับสาวๆ แฟนคลับนารายา งานนี้พลาดไม่ได้ จัดจำหน่ายเฉพาะในงาน “ฝ้ายทอใจ” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2559 ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image