โลกสองวัย : ก่อนมาถึงทุเรียนจันท์

เรื่องของผลไม้ที่ข้ามห้วยข้ามจังหวัด จากเดิมที่ไม่เคยมีผลไม้ประเภทนี้ กลับกลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ย่านจังหวัดภาคตะวันออกซึ่งเริ่มตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

เมืองชลบุรีพื้นที่เดิมเมื่อกว่า 60 ปีก่อน เป็นแหล่งไร่อ้อย ปลูกอ้อยป้อนโรงงานผลิตน้ำตาล

เริ่มแรกปลูกอ้อย ความต้องการคือคนงานทำไร่อ้อยกินพื้นที่จากอำเภอเมือง อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง อำเภอศรีราชา เป็นต้น ระยะนั้นประมาณปี 2500 ถึง 2503 มีข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ไร่อ้อยเมืองชลฯเป็น “ไร่นรก” คือคนทำงานตัดอ้อยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากภาคอีสาน หรือตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าแรงงานขณะนั้นวันละ 10 บาท แต่เนื่องจากคนงานไร่อ้อยต้องกินนอนในไร่ ค่าแรงงานต้องถูกหักออกไปบ้างเท่าไหร่ไม่ทราบ

เมื่อต้องกินนอนในไร่ คล้ายถูกกักกันไม่ให้ออกมา ด้วยเกรงว่าจะหนีกลับบ้าน หรือหนีเข้ากรุงเทพฯ ทั้งมีผู้คุมถือปืนอาจเกรงว่าจะหลบหนี หรือมีปัญหาระหว่างคนงานด้วยกัน หรือกับผู้คุม

Advertisement

หลังจากมีผู้หนีออกมาได้นำเรื่องออกมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้รัฐบาลขณะนั้น คือรัฐบาลปฏิวัติมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง

เมื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็น “ไร่นรก” ตามที่เข้าใจกัน ทางราชการจึงจัดให้กรมประชาสงเคราะห์ส่งนักเรียนนักศึกษาเข้าไปทำงานระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน ปีสองปีนั้น

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เป็นผู้หนึ่งที่สมัครไปทำงานในไร่อ้อย เป็นคนงานตัดอ้อยกับเขาด้วยคนหนึ่ง

Advertisement

บริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี มีผลไม้และพันธุ์พืชอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นที่นิยม คือหวาย ระกำ ต่อมาพากันปลูกสละ

หลังจากนั้น ที่จังหวัดระยอง ชาวไร่ชาวสวนระยองต่างพากันนำต้นยางไปปลูก เพราะยางพาราขณะนั้นราคาดี พื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดภาคใต้น่าจะไม่เพียงพอ

จังหวัดระยองเลยไปถึงเมืองจันทบุรีปลูกยางได้สักพักใหญ่ มีการนำยางพาราขึ้นไปปลูกในภาคอีสาน

ทางจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่แยกจังหวัดสระแก้วออกไป หันมาทดลองปลูกไผ่ตง เพื่อจำหน่ายหน่อไม้ไผ่ตง และต้นไผ่ตงที่มีขนาดใหญ่ที่นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้

ระยะเดียวกันนั้น ทุเรียนเมืองนนท์เป็นที่นิยมอย่างมาก และมีราคาสูงขึ้น จึงมีชาวสวนระยอง จันทบุรี นำพันธุ์ทุเรียนไปทดลองปลูก ทั้งด้วยการเพาะเมล็ด และต่อกิ่งต่อก้าน

เท่าที่ทราบ เมื่อแรกๆ ทุเรียนเริ่มออกผล แต่ยังเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์ มีเมล็ดใหญ่ รับประทานไม่อร่อย เรียกว่า “ทุเรียนนอก” ห้ามนำเข้าไปขายในบริเวณท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่เฉพาะจำหน่ายทุเรียนนนท์

ต่อจากนั้นไม่นาน ชาวสวนระยอง จันทบุรี เริ่มปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนของตัวเองให้มีผลผลิตที่ดีขึ้น พูงาม มีเนื้ออร่อยขึ้น รวมทั้งพันธุ์ที่นำเข้าไปปลูก เช่น หมอนทอง เริ่มมีคุณภาพ ผู้ที่สู้ราคาทุเรียนนนท์ไม่ไหว จึงหันมารับประทานทุเรียนระยอง ทุเรียนจันท์ หรือแม้แต่ทุเรียนตราดเพิ่มมากขึ้น

กระทั่งปัจจุบัน ที่ระยอง จันทบุรี ตราด มีทุเรียนหลายพันธุ์ที่รสชาติไม่แตกต่างจากทุเรียนนนท์มากนัก เป็นที่นิยมของนักกินทุเรียนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน

ทุกปีถึงหน้าทุเรียน มักจะมีทัวร์ชมและชิมผลไม้ระยอง จันทบุรี เป็นประจำ แม้แต่มติชนอคาเดมี จัดทัวร์เมืองจันท์ทุกปี ทั้งยังมีรายการจัดเทศกาลผลไม้เมืองจันท์ เมืองระยอง ดังที่องค์การบริหารส่วนตำบลตะพง จังหวัดระยอง จัดถนนผลไม้ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายนนี้

พื้นที่รอยต่อสามจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ยังเป็นป่าอยู่บ้าง ในป่ารอยต่อทั้งสามจังหวัดมีผลไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าลูกสำรอง ชาวระยอง เมืองจันท์ชอบเข้าไปโค่นต้นสำรอง นำผลสำรองมาคั้นน้ำขาย

ใครไปเที่ยวเทศกาลผลไม้เมืองระยอง เมืองจันท์ ลองหาซื้อมาดื่มกินดีเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image