อาศรมมิวสิก : ครูมีแขก นักดนตรีที่โลกลืม : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำบุญ ณ วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดพระแก้ววังหน้า โดยอาศัยบารมีท่านอธิบดีกรมศิลปากร ท่านอนันต์ ชูโชติ และได้รับความช่วยเหลือจากท่านอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อาจารย์นิภา โสภาสัมฤทธิ์ แม่งานหลัก คือ หมอฟอร์ด (นายแพทย์ดนัย โอวัฒนาพานิช) ผู้หลงรักวังหน้า การทำพิธีครั้งนี้ ได้เชิญครูบาอาจารย์ ร่วมด้วยเกจิจากหลายสำนัก ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ได้ร่วมทำบุญสวดภาวนาที่พระอุโบสถ วังหน้า

วัตถุประสงค์ที่เข้าไปทำบุญที่วังหน้า คือ การสร้างเหรียญพ่อแก่ โดยการทำพิธีปลุกเสกขั้นสุดท้ายที่พระอุโบสถ วังหน้า พ่อแก่นั้นเป็นครูของนักดนตรี รวมทั้งโขนละคร วังหน้านั้นเป็นสถานที่ซึ่งครูมีแขกรับใช้ราชสำนักอยู่ที่นั่น ตั้งแต่รัชกาลที่ 2-5 ในระหว่างที่เกจิทั้งหลายกำลังทำพิธีอยู่นั้น ใจผมได้รำลึกถึงครูมีแขก เมื่อครั้งหนึ่ง (พ.ศ.2546) ซึ่งได้สร้างประติมากรรมครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) ขึ้น เนื่องจากว่าครูผู้ใหญ่ คือ อาจารย์สงัด ภูเขาทอง ท่านได้ปรารภและให้ความเห็นกึ่งรำพึงว่า

“คนอย่างครูมีแขก เป็นคนดีที่โลกลืม ไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครใส่ใจ อาจจะเป็นเพราะเป็นลูกเชลย ลูกแขกปัตตานี ท่านไม่มีลูกศิษย์คอยเชียร์ วันนี้ไม่มีใครรู้จักครูมีแขกแล้ว ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครศึกษา ไม่มีแม้หลานศิษย์หรือเหลนศิษย์ ที่จะช่วยประโคมผลงานของครูมีแขกให้เป็นที่รู้จัก ทั้งๆ ที่ดนตรีไทยและนักดนตรีไทย รับมรดกมาจากครูมีแขกทั้งสิ้น ครูมีแขกกลายเป็นคนดีที่โลกลืม”

จากคำปรารภของอาจารย์สงัด ภูเขาทอง ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมอย่างมาก ได้ศึกษาเรื่องของครูมีแขกอย่างจริงจัง ตั้งจิตอธิษฐานที่จะสร้างประติมากรรม สร้างรูปปั้นครูมีแขก มุ่งไปที่ความสวยงาม มีรูปลักษณ์สมัยใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อาศัยภาพวาดครูมีแขกที่มี พัฒนาเป็นมิติในจินตนาการ เพื่อเป็นอนุสรณ์ตอบแทนคุณงามความดีของศิลปินนักดนตรีไทยคนสำคัญของชาติ ซึ่งภาพของครูมีแขกก็มีอยู่ภาพเดียว ก็พอจะเห็นเป็นภาพต้นแบบได้

Advertisement

ภาพวาดครูมีแขก เป็นภาพวาดด้วยสีน้ำมัน ครูมีแขกท่านนุ่งผ้าม่วง โจงกระเบน ผ้าขาวม้าคาดเอว มีปี่วางบนตัก นั่งบนเก้าอี้หลุยส์และไม่ใส่เสื้อ ซึ่งได้วาดโดยขุนประเสริฐหัตถกิจ จากภาพที่เห็นนั้น ครูมีแขกเป็นครูผู้มีบุญ สง่างาม มีบารมี น่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือ และดูมีฐานะภูมิฐานดี พระบรมราชโองการ “ให้พระประดิษฐ
ไพเราะ ปลัดจางวาง ถือศักดินา 500” (พ.ศ.2396)

ปัญหาของผมเห็นว่า ช่างปั้นไทยนั้นมีข้อจำกัดในการปั้นที่แหวกแนวแหกคอก ข้อจำกัดก็ไม่รู้จะไปหาใครปั้นรูปต้นแบบให้ เพราะช่างปั้นไทยส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญปั้นรูปเหมือนและปั้นพระพุทธรูป แม้จะมีทักษะสูงแต่ก็อยู่ในขนบ ซึ่งช่างทั้ง 2 แบบ (รูปเหมือนกับรูปพระ) เป็นจริตที่ผมไม่ต้องการ ที่สุดก็ได้รับความอนุเคราะห์จากนายช่างเอกของกรมศิลปากร คุณโสพิศ พุทธรักษ์ (ช่างแข่ว) ซึ่งเป็นนายช่างที่จิ๊กโก๋และหรูสุดแล้วในเวลานั้น ทั้งในด้านความสามารถและประสบการณ์ วิธีคิดก็แหกคอกนอกกรอบ เมื่อได้สร้างประติมากรรมเสร็จ ผมได้เขียนหนังสือเรื่องราวของครูมีแขก ชื่อว่า “นักดนตรีที่โลกลืม”

หากจะเปรียบครูมีแขก ผู้มีความยิ่งใหญ่ประหนึ่งบาค (โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค) นักดนตรีชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเพลงวัดของยุโรปโบราณเอาไว้ ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของเพลงคลาสสิกยุโรป เมื่อมีการค้นพบผลงานของบาค (Bach) ได้รับการศึกษาพัฒนานำไปต่อยอด ทำให้เพลงคลาสสิกในยุโรปเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ากระทั่งปัจจุบัน แต่บาคได้กลายเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

Advertisement

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก (พ.ศ.2310) เพลงของชาวสยามสูญหายไปกับสงคราม นักดนตรีได้ล้มตายและถูกกวาดต้อนไปอยู่กรุงอังวะ ในพม่า การรวบรวมเพลงไทยที่เหลือจากสงคราม จึงเป็นบทบาทของครูมีแขกมากที่สุดและโดดเด่นที่สุด

การรวบรวมทำนองเพลงไทยไว้เป็นปึกแผ่น สืบทอดให้ลูกหลานได้กอบกู้ไว้และนักดนตรีรุ่นหลังได้ศึกษาผลงานดนตรีไทยในเวลาต่อมา ต่อจากผลงานของครูมีแขก

เพลงไทยที่ตกทอดมา มีเพลงราชสำนัก เพลงพิธีกรรม เพลงเพื่อความบันเทิง เพลงในวรรณคดี และเพลงพื้นบ้าน ซึ่งล้วนเป็นเพลงเก่าสมัยอยุธยาทั้งสิ้น ครูมีแขกเป็นผู้รวบรวมเพลงเอาไว้ เพลงจำนวนมากได้ซ่อนอยู่ในเพลงละคร เพลงเรื่อง เพลงตับ ทำให้นักดนตรีรุ่นหลังได้เรียนรู้และพัฒนาเพลงให้ก้าวหน้าไปอีก

วัตถุประสงค์หลักที่ได้สร้างประติมากรรมครูมีแขกนั้น สิ่งที่ซ่อนไว้อยู่เบื้องลึกก็คือ สถาบันการศึกษาระดับสูงของไทยต้องเป็นหลักในการสืบทอดการศึกษาดนตรีไทย การเก็บรักษามรดกเพลงไทย พิพิธภัณฑ์ดนตรี ศึกษาครูดนตรีไทย สร้างและพัฒนาวงดนตรีไทย แล้วนำดนตรีไทยมาพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้หลักของชาติ ทำดนตรีไทยให้เป็นสินค้า ความรักชาติก็คือการรักษาสืบทอดและพัฒนามรดกของชาติไว้

สมัยรัชกาลที่ 2 นั้น ครูมีแขกอายุ 22-37 ปี ท่านเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนซอสามสาย ชื่อซอสายฟ้าฟาด พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบุหลันลอยเลื่อนไว้ ในสมัยนี้ครูมีแขกได้สร้างเพลงไทยไว้หลายเพลง อาทิ กราวรำมอญ ขวัญเมือง การเวก แขกมอญ แขกมอญบางช้าง แขกบรเทศ กำสรวลสุรางค์

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ครูมีแขกมีอายุ 37-65 ปี เป็นเจ้าของเพลงจีน เพลงทยอย หากได้ฟังเพลงเชิดจีนแล้ว จะรู้ถึงความเป็นปราชญ์ของครูมีแขก ยุคนี้มีเพลงจีนเก็บบุปผา จีนขิมเล็ก อาเฮีย จีนขิมใหญ่ จีนแส แป๊ะ ทยอยนอก ชมสวนสวรรค์ เชิดใน ตวงพระธาตุ ทยอยใน ทยอยเขมร ทยอยเดี่ยว ทะแย เทพรัญจวน พญาครวญ พญารำพึง พญาโศก ภิรมย์สุรางค์ สารถี สี่บท หกบท เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ของครูมีแขก

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ต้องหนีราชภัยไปพึ่งอาศัยครูมีแขก ผู้มีบารมีสูง จึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้สุนทรภู่แต่งวรรณคดีสุดยอดขึ้น คือ พระอภัยมณี ซึ่งครูมีแขกน่าเป็นพระอภัยมณีตัวจริง

พระอภัยมณีนั้น ได้เป่าปี่แสดงเดี่ยว 15 ครั้ง ครูมีแขกเป็นผู้ริเริ่มแต่งเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีเป็นคนแรก โดยพระอภัยมณีได้เป่าเพลงเดี่ยวเพลงต่างๆ ดังนี้ ครอบจักรวาล ปี่แก้วน้อย พัดชา เทวาประสิทธิ์ แขกลพบุรี สาลิกาชมเดือน พญาโศก สร้อยเพลง กล่อมพญา กระบี่ลีลา ธรณีร้องไห้ สารถี ลีลากระทุ่ม ลิงโลด ขอมกล่อมลูก ตามกวาง กล่อมนารี เขมรกล่อมลูก สมิงทอง สังขาร แขกมอญบางช้าง ประพาสเภตรา นางนาค พราหมณ์ดีดน้ำเต้า ซึ่งเพลงเหล่านี้ครูมีแขกจะต้องรู้จักเป็นอย่างดีหรือเป็นเพลงที่ครูมีแขกรวบรวมหรือแต่งขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3

ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ครูมีแขกมีอายุ 65-81 ปี เป็นช่วงเวลาที่ครูมีแขกได้รับราชการเป็นครูดนตรีอยู่ที่วังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดนตรีอย่างมาก โดยเฉพาะการแอ่วลาวเป่าแคน แม้การต้อนรับแขกเมือง ในปี พ.ศ.2398 การต้อนรับเซอร์จอห์น เบาริ่ง (John Bowring) ทูตอังกฤษประจำฮ่องกงและดูแลประเทศไทยด้วย ทางราชสำนักวังหน้าได้จัดต้อนรับด้วยเพลงแอ่วลาวเป่าแคน แอ่วเคล้าซอ

สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้านายวังหน้าสิ้น ครูมีแขกอายุ 81-85 ปี เป็นบั้นปลายของชีวิตครูมีแขก ซึ่งมีหลักฐานว่า ครูมีแขกได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีบทเพลงสำคัญ คือ เพลงอาทิตย์ชิงดวง และเพลงสรรเสริญพระบารมี (ไทย)

ครูมีแขกเป็นต้นตอของเพลงไทย เป็นรากฐานของดนตรีไทย เมื่อได้ทำพิธีกรรมที่วังหน้า บันดาลให้ศาลครูมีแขกที่ตั้งอยู่ข้างประติมากรรมครูมีแขกพังร่วงลงมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เมื่อผมได้เขียนบอกเล่าในสื่อ (face book) ก็มีผู้รับรู้ ได้ไปซื้อศาลมาตั้งให้ใหม่ ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ผู้มีอำนาจได้สั่งให้คนเอาศาลครูมีแขกออกไปทิ้ง เพราะถือว่าเป็นการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ

มรดกของครูมีแขกกลายเป็นบุคลิกของนักดนตรีไทยที่อ่อนน้อมถ่อมตน ครูสอนให้รู้จักการไหว้ครู ครูมีแขกผู้มีคุณธรรม รักษาจริยธรรม เป็นผู้ที่ประกอบด้วยศีลธรรม แม้ครูมีแขกจะเป็นแขก (ปัตตานี) เป็นลูกเชลย ครูมีแขกเป็นผู้ที่วางรากฐานดนตรีไทย สร้างพิธีไหว้ครูดนตรีไทย จากบทเสภาไหว้ครูจะบอกถึงลักษณะของครูมีแขก คนดนตรีไทยจึงเคารพนับถือ

“ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ”

หลายคนอาจจะพูดว่า “ทำดีเกือบตาย สุดท้ายพวกน้ำลายเอาไปกิน” สำหรับครูมีแขกแล้ว ท่านเป็นคนดีที่โลกลืม แม้จะสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้สังคมไทยก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ไม่มีอยู่ในระบบการศึกษา หรือได้รับการยกย่องแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image