เมื่อศิลปะไต่เส้นศรัทธา จาก’ภิกษุสันดานกา’ ถึง’พระพุทธอุลตร้าแมน’

เดือดปุดๆ ชนิดที่ฉุดรั้งอุณหภูมิไว้ไม่อยู่ สำหรับประเด็นฮอตสุดขีดฝ่าใจกลางพายุแห่งพุทธสาวก สาวิกา และวงการสงฆ์ เมื่อนักศึกษาหญิง คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปิ๊งไอเดียวาดจิตรกรรมบนผืนผ้าใบเป็นภาพชุดพระพุทธรูปที่มีลักษณะหลอมรวมความเป็นฮีโร่สไตล์ญี่ปุ่นอย่าง

“อุลตร้าแมน” ปล่อยลำแสงกู้โลก โดยมีฉากหลังเป็นโลโก้แบรนด์แฟชั่นหรู จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะเป็นที่ฮือฮาและมีผู้จับจองทุกภาพหมดเกลี้ยง ทว่า สุดท้ายกลายเป็นข่าวดังยิ่งกว่าเก่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พานักศึกษารายดังกล่าวเข้า “ขอขมา” เจ้าคณะจังหวัด จนสังคมได้เห็นหยดน้ำตาของผู้สร้างผลงาน ไม่เพียงเท่านั้น พ่อเมืองโคราช ย้ำชัดต้อง “คุมเข้ม” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ตามมาติดๆ ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งออกมาบอกกล่าวในทำนองเดียวกัน เพราะหวาดหวั่นกระทบความรู้สึกคนในสังคม ดังที่เกิดวิวาทะสนั่นทั้งโลกออนไลน์และในชีวิตจริง

ฝั่งคัดค้าน วิพากษ์หนักถึงความไม่เคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝั่งให้กำลังใจ มองว่าเป็นการตีความของศิลปิน โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวเปิดเผยแนวคิดของการสร้างผลงานที่ว่า

Advertisement

“พระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุข”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายในสงครามทางความคิดอันเกี่ยวเนื่องกับลัทธิ ความเชื่อ การตีความ

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจ และความคิดเห็นมากมายที่น่าฟังยิ่ง

Advertisement

 

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า ‘ปกรณ์ พรชีวางกูร’ ระบุว่าตนคือผู้ซื้อ 1 ใน 4 ภาพที่เกิดวิวาทะ โดยล่าสุดเปิดประมูลมียอด 3.5 แสนเมื่อ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 12.00 น. หลังมีความพยายามจะนำภาพไปเผาทำลายที่จังหวัดนครราชสีมาโดยบุคคลบางกลุ่ม


จินตนาการคนรุ่นใหม่ที่ ‘พุทธไทย’ ตามไม่ทัน?

เริ่มที่ผู้มีบทบาทสืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างภิกษุสงฆ์ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมไม่พึงใจต่องานศิลปะชุดดังกล่าว แต่ในอีกมุมหนึ่ง พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร แห่งวัดสร้อยทอง ผู้มีคอมเมนต์ในประเด็นสังคมอย่างเปิดเผยมานักต่อนัก มองว่า เราอาจมองพระพุทธเจ้าด้วยความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ที่ต่างกัน บ้างเห็นเป็นเทพ บ้างเห็นเป็นพรหม บ้างเห็นเป็นสมณะนักบวช แต่ในความต่างกันนี้ ไม่อาจตำหนิเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่ได้ แม้จะไม่ได้เห็นเช่นเดียวกันกับเธอ

“เวลาที่ได้อ่านคอมเมนต์ของคนพุทธบางกลุ่ม ซึ่งมักจะใช้วิธีการโจมตีคนอื่น ที่คิดไม่เหมือนกับตัวเองว่า ไม่ปกป้องพระพุทธเจ้าบ้าง ไม่รักพ่อตัวเองบ้าง หรือแม้แต่เลยเถิดไปจนถึงว่าอกตัญญูและเนรคุณ เห็นวิธีคิดแบบนี้แล้วอาตมานึกถึงสมัยพุทธกาล ตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็มีคนประเภทแบบนี้เยอะเหมือนกัน คือ ถ้าเห็นใครไม่ทำอะไรเหมือนตนเองหรือเหมือนคนกลุ่มใหญ่ ก็จะต้องใช้ความอคติเข้าไปตัดสินทันทีว่า คนพวกนี้ไม่มีความรัก ไม่มีความศรัทธา วิธีคิดและพฤติกรรมของคนประเภทนี้มีมานานแล้ว มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว”

พระมหาไพรวัลย์ยังเปรียบเทียบระหว่าง ถึง “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ที่คนโบราณสร้างขึ้นโดยให้ทรงสวมใส่อาภรณ์และเครื่องประดับเฉกเช่นกษัตริย์ กับพระพุทธรูปในชุดอุลตร้าแมนว่าสุดท้ายแล้วไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะล้วนแต่เป็นเครื่องสื่อให้เห็นถึงความมีภาวะพิเศษอันเป็นพระคุณธรรมอย่างประเสริฐสุดของพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งคู่

พระพุทธรูปทรงเครื่อง

ด้าน สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการชื่อดังผู้ศึกษาลึกซึ้งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาทั่วแคว้นอุษาคเนย์ ไม่เพียงไม่ตำหนิผลงานชุดนี้ แต่ยังชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ โดยฝากแง่คิดที่ว่า “อย่าทำให้พุทธศาสนาเป็นสิ่งแตะต้องไม่ได้”

“การที่ผู้ว่าฯ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ นำนักศึกษาคนนี้ ไปขอขมาเจ้าคณะจังหวัดฯ พวกคุณใช้สิทธิและอำนาจอะไร? ถ้าคิดว่าการสร้างสรรค์ของนักศึกษาคนนี้มีปัญหา นั่นก็หมายความว่าศาสนาในบ้านนี้เมืองนี้ก็มีปัญหาแล้ว ขอย้ำอีกทีว่านักศึกษาคนนี้ไม่ผิด คนผิดคือพวกพุทธไทยที่วิ่งตามเธอไม่ทัน”

นอกจากนี้ สมฤทธิ์ ยังตั้งคำถามว่า หากการวาดภาพดังกล่าวคือสิ่งผิด แล้วการ “ปลุกเสก” พระเครื่อง หรือทำพิธี “เบิกเนตร” พระพุทธรูปนั้น ไม่นับเป็นการดูหมิ่นหรืออย่างไร? สิ่งที่น่ากังวลใจยิ่งกว่างานศิลปะคือการที่มีกลุ่มบุคคลหลอกนักท่องเที่ยวจีนไปซื้อของขลังในวัดไทยมากกว่า

ในช่วงเวลานี้ ยังมีการนำคำกล่าวของ “พุทธทาสภิกขุ” มาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ว่า

“พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า หมายความว่า ถ้าใครไปหลงใหลในพระพุทธรูป ไปติดอยู่เพียงแต่ในพระพุทธรูปแล้ว คนนั้นจะไม่รู้จักพระพุทธเจ้า”

‘เรื่องมันอ่อนไหว’ สร้างสรรค์แค่ไหน ‘ไม่ล้ำเส้น’?

อีกหนึ่งความเห็นน่าฟังอย่างประนีประนอม คือถ้อยความของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้คลุกคลีอยู่กับการศึกษาพระพุทธรูปตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันในมุมมองนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งระบุว่า งานศิลปะชุดนี้ถือว่าเป็น การแปลความหมายใหม่ ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่ายดูหมิ่น แต่การที่พุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งจะไม่พอใจก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

“ศิลปินย่อมสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสะท้อนความคิด ในมุมนี้จึงมีสิทธิเสรีที่จะแสดงออกความรู้สึกนึกคิดออกมา ไม่ควรมีสิ่งใดขวางกั้น แม้กระทั่งสิทธิเสรีในการแปลความหมายใหม่ต่อพระพุทธรูป หากไม่ใช่เจตนาดูหมิ่นดูแคลนก็ไม่ควรมีปัญหาใดๆ

แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง เมื่อพระพุทธรูปเป็นรูปแทนองค์พระพุทธศาสดา เป็นที่สักการบูชาของผู้คนมากมาย มีคติความเชื่อหรือกติกาสังคมควบคุมการสรรค์สร้าง ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งที่คิดจะแผลงเป็นแบบใดก็ได้ ในมุมนี้ย่อมเป็นสิ่งเข้าใจได้ที่พุทธศาสนิกชนหลายท่านจะเกิดความไม่พอใจ ไม่สบายใจ

ด้วยมุมที่ต่างกันนี้ปัญหาจึงเกิดขึ้น คำถามสำคัญคือ เมื่อเรื่องมันอ่อนไหว แล้วศิลปินจะแสดงออกได้แค่ไหน แล้วศาสนิกชนจะยอมรับได้เพียงใด คำตอบต่อเรื่องนี้ย่อมไม่สำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน”

สำหรับ “ทางออก” ของปมร้อนนี้ รศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่า การให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอยไม่ใช่ทางออกในระยะยาว ส่วนการ “ก่นด่า” ฝ่ายเห็นต่างด้วยถ้อยคำรุนแรงก็ยิ่งไม่ใช่ทางออก และ “ไม่มีสิทธิห้ามคนคิดต่าง”

“การที่เราจะก้าวไปพร้อมๆ กันได้โดยตลอดนั้น น่าจะต้องเอาหัวใจของคนคิดต่างมาใส่ในหัวใจเรา นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ ในฟากฝ่ายศิลปิน อาจพึงระลึกเสมอว่าการข้องเกี่ยวกับพระศาสดาของศาสนาใดๆ ก็ตาม ควรจะไตร่ตรองถึงความรู้สึกของผู้มีจิตศรัทธาด้วย หรือหากศิลปินสร้างด้วยจิตศรัทธาแล้วก็ต้องระวังว่าผู้เสพงานศิลป์อาจแปลความหมายไปในทางอื่นได้”

พระพุทธรูป ต้นกำเนิด ‘อุลตร้าแมน’ สัญลักษณ์ ‘พระศรีอาริย์’?

“ทำไมอุลตร้าแมนจะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้?”

คือข้อความที่ถูกโพสต์ในเฟซบุ๊กของ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชาวเน็ตร่วมแชร์มากมายในโลกโซเชียล ด้วยข้อมูลหนักแน่น เฉียบคม และลึกซึ้งอย่างยิ่ง อ้างอิงจาก “Notes from the Land of Light: Observations on Religious Elements Seen in Ultraman” โดย Justin Mullis (2017)

“ในบรรดาศาสนาอันหลากหลายที่สร้างภูมิทัศน์ทางจิตวิญญาณของญี่ปุ่น พุทธศาสนามีอิทธิพลมากที่สุดในคาแร็กเตอร์ของอุลตร้าแมน อุลตร้าแมนนั้นสะท้อนมโนทัศน์ของพุทธว่าด้วยพระโพธิสัตว์ บนเส้นทางไปสู่การเป็นพระพุทธผู้ตรัสรู้ แต่แทนที่จะนิพพาน กลับเลือกที่จะอยู่ต่อบนโลกมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ

การแปลงร่างของอุลตร้าแมน เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ หรือที่เรียกว่า ‘henshin’ ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงการแปลงกายของเทพเป็นร่างมนุษย์เพื่อเป้าประสงค์ในการสอนหลักธรรมของพุทธศาสนาให้แก่มนุษย์

อุลตร้าแมนจึงเป็นสัญลักษณ์ของพระศรีอริยเมตไตรย ตามความเชื่อของเอเชียตะวันออก หรือพระพุทธเจ้าในโลกหน้า (future Buddha) ผู้ซึ่งเป็นพระผู้มาโปรด ผู้นำเอาความสว่างและแสงธรรมมาสู่โลก และดังนั้น ‘แสง’ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นอย่างบ่อยครั้งในซีรีส์อุลตร้าแมน ไม่ว่าจะเป็นนครแห่งแสงสว่าง (Land of Light) ดินแดนที่อุลตร้าแมนจากมา หรือการอาบแสงที่ปล่อยจากเบต้า แคปซูลเพื่อเพิ่มพลังชีวิต ซึ่งสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดใหม่ในพุทธศาสนาของเอเชียตะวันออก”

พุทธศิลป์ร่วมสมัย ใช้ ‘สติ’ ตีความ

ปรากฏการณ์นี้ ยังนำมาซึ่งการย้อนขุดที่มาของอุลตร้าแมน ซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่ามีต้นแบบมาจากพระพุทธรูป ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำงานศิลปะร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้ามาเผยแพร่ ดังเช่นเพจ Zen Smile Zen Wisdom ซึ่งหยิบยกผลงานศิลปินเกาหลี นามว่า “ยังคยองซู” ผู้มีพ่อแม่เป็นศิลปิน “พุทธศิลป์แบบประเพณี” แถมมีลุงเป็นพระ ทว่า เจ้าตัว

ได้สร้างงานอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ จนถือเป็นหนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นแห่ง “เครือข่ายยุวพุทธเกาหลี” ที่มีส่วนช่วยพัฒนาความเข้าใจในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งต่อสังคม

หนึ่งในงานเด่น คือ “มฤคทายวัน” ชุดภาพพุทธประวัติ 8 ตอน ตีความการแสดงพระธรรมเทศนาแบบร่วมสมัย รายล้อมด้วยกลุ่มตัวละครจากคอมมิคและมังงะ

โดยพระพุทธองค์ทรงเป็น “ดีเจ” พระรัศมีที่พระเศียรกลายเป็นบอลดิสโก รัศมีด้านล่างเป็นบทสวดปรัชญาปารมิตา เบื้องหลังเป็นผู้คนในผับบาร์ ที่กำลังสดับซาวด์พระธรรมอย่างเบิกบาน ปรากฏคลื่นธรรมแผ่กระจายออกไปแก่สรรพสัตว์

ผลงานศิลปินเกาหลี “ยังคยองซู” (ภาพจากเพจ “Zen Smile Zen Wisdom”)


เพจดังกล่าวระบุว่า นี่เป็นตัวอย่างของพุทธศิลป์ร่วมสมัย ที่เปิดกว้างให้ทั้งศิลปินและผู้ชมได้ใช้ “สติปัญญา” ตีความภาพ เข้าไปสู่เนื้อหาอันเป็นแก่น โดยไม่จำต้องยึดติดในพุทธศิลป์ในประเพณีเดิม

“จริงๆ แล้วตลอดเวลาจากสมัยแห่งพุทธศิลป์อินเดียโบราณ เช่น สมัยเมารยะที่ไม่สร้างรูปพระพุทธเจ้า จนมาริเริ่มสร้างรูปพระองค์ในศิลปะคันธาระ หรือมถุรา ต่อมาจนแตกแขนงไปยังพุทธศิลป์ดินแดนต่างๆ รูปแบบและการสื่อแสดงออกมีการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถิ่นฐาน ตลอดจนการผสานเข้ากับคติความเชื่อท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่แปลกถ้าผู้คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันจะไม่รู้สึกอินหรือเก็ตกับพุทธศิลป์แบบประเพณีเดิมที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาอาจเข้าถึงแก่นพุทธศาสนาด้วยมุมมองหรือวิธีการอันร่วมสมัยที่เขาคุ้นเคย”

ช่างสมัยกรุงธนบุรีวาดแค่ “บัลลังก์กับดอกบัว” แทนรูปพระพุทธเจ้า มีรายละเอียดในหนังสือ ‘ศิลปะกรุงธนบุรี โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542), 79.)


เมื่อครั้งภาพ ‘ถวัลย์’ ถูกกรีด ย้อนอดีต ‘ภิกษุสันดานกา’

ประเด็นร้อนแรงอันสืบเนื่องจากงานศิลปะที่ไป “แตะต้อง” ส่วนหนึ่งส่วนใดของพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนไปใน พ.ศ.2514 ผลงาน ถวัลย์ ดัชนี ถูกมือดีบุกทำลายภาพเขียนด้วยการใช้คัตเตอร์กรีด หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ตีพิมพ์บทความตำหนิผลงานอย่างรุนแรง ยัดข้อหาหมิ่นบวรพุทธศาสนา ซึ่งศิลปินดังยืนยันว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะเจตนาสื่อถึงกิเลสตัณหาที่ยั่วยุผ่านรูปชายหญิงแก้ผ้าโจ๋งครึ่มภายในวัดอันงดงามเปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ หวังให้ผู้ชมเลือกทางเดินของตัวเองว่าอยากให้ชีวิตสูงหรือต่ำ

ภาพของถวัลย์ ดัชนี ที่ถูกบุกกรีดเมื่อ พ.ศ.2514


ถัดมา ใน พ.ศ.2550 พระมหาโชว์ ทัศนีโย แกนนำ สมัชชาชาวพุทธแห่งชาติ นำขบวนสงฆ์ประท้วงผลงาน “ภิกษุสันดานกา” ของ อนุพงษ์ จันทร ซึ่งคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 สร้างแรงวิพากษ์ในสังคมด้วยภาพพระภิกษุ 2 รูปหลับตาเอาศีรษะชนกันและมีปากเป็นปากของกา นอกจากนี้ ยังมีรอยสักเต็มตัว และแสดงกิริยาแย่งสายสิญจน์กับตะกรุดที่อยู่ในบาตร ส่วนลายสักเป็นรูปกบกำลังผสมพันธุ์และตุ๊กแกกำลังผสมพันธุ์กัน

“ภิกษุสันดานกา” โดย อนุพงษ์ จันทร โดนขบวนสงฆ์ประท้วงเมื่อ พ.ศ.2550

ภาพชุดนี้ถูกคนกลุ่มหนึ่งมองว่าดูหมิ่นวงการสงฆ์ ในขณะที่บางกลุ่มมองว่า สะท้อนถึง “ภิกษุเลว” บางส่วนในสังคมซึ่งต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง

ประท้วงภิกษุสันดานกา (ภาพจาก http://www.thaitribune.org)

ตัดฉากกลับมาในปัจจุบัน วิภาช ภูริชานนท์ คิวเรเตอร์ศิลปะร่วมสมัย และอาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลป์ ตั้งคำถามจากข่าวดังอย่างน่าสนใจในประเด็น “เมืองศิลปะ” ของโคราชซึ่งจะเป็นเจ้าภาพ “ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2020” รวมถึงกรณีการสร้างอนุสาวรีย์ “น้องมาเรียม” จาก “โฟม” ที่กระบี่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ “ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2018” โดยเมืองหนึ่ง พยายามตรวจสอบการสร้างศิลปะ เพราะกระทบความเชื่อที่มีอยู่เดิม ในขณะที่เมืองหนึ่ง ใช้วัสดุที่ขัดแย้งกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสาร เพราะเอาโฟมมาสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เป็นความย้อนแย้งในมรสุมความขัดแย้งด้านความคิดที่สังคมไทยต้องร่วมทบทวนอย่างรอบด้านอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image