อาศรมมิวสิก : ดนตรีบำบัดที่ศิริราช : โดย สุกรี เจริญสุข

ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่อง “ดนตรีบำบัด” คลินิกผู้สูงอายุ ในวันอัลไซเมอร์โลก ประจำปี พ.ศ.2562 จัดโดยภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล เป็นโต้โผในการจัดงาน เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา (13.00-15.00 น.) จัดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช

ดนตรีบำบัด เป็นเรื่องใหม่ของระบบการศึกษาไทย ผมได้รับการทาบทามชักชวนจากศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ.2529 ติดต่อผ่านศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล เพื่อจัดการเรื่องดนตรีบำบัด เมื่อตกลงกันแล้ว ความยุ่งของผมก็ไม่ได้ทำเรื่องดนตรีบำบัดที่สัญญาไว้ เพราะว่าผมนั้นเป็นนักดนตรี มีความรู้เรื่องการเล่นดนตรีและการสอนดนตรี จึงทำเรื่องวิทยาลัยดนตรีก่อน ต่อมาเมื่อหมอณัฐเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2547 ผมต้องไปกราบศพท่าน แล้วสัญญาว่าจะทำเรื่องดนตรีบำบัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและช่วยพัฒนาผู้พิการให้จงได้

ดนตรีบำบัด เป็นเป้าหมายของการนำดนตรีไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย เป็นทางเลือกเพื่อใช้ดนตรีในการฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย การใช้ดนตรีในการพัฒนาศักยภาพผู้พิการทางกาย ทางสมอง ช่วยเด็กพิเศษ เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม ใช้ดนตรีในการพัฒนาอาชีพให้กับคนตาบอด ในที่สุด มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เปิดสอนวิชาดนตรีบำบัด ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยคนพิการสามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ และได้ตั้งวงขับร้องประสานเสียง “หนุ่มสาวน่อยน้อย” สำหรับเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ร้องเพลง “ปล่อยแก่” เป็นการบำบัดอีกช่องทางหนึ่ง

  เมื่อได้เริ่มเปิดสอนดนตรีบำบัด ก็ต้องศึกษาความเป็นมนุษย์และองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์ มนุษย์หมายถึงสัตว์ที่มีจิตใจสูง รู้จักใช้เหตุผล ศึกษาเรื่องมนุษยธรรม ธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มีเมตตา มีกรุณาต่อกัน ศึกษาเรื่องศาสตร์ของมนุษย์ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณค่าทางจิตใจ คุณธรรมจริยธรรม คุณค่าของศิลปะ คุณค่าของดนตรี ประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา ปรัชญา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เพื่อใช้ประกอบดนตรีบำบัด เพราะดนตรีไม่ใช่ผู้เล่นและผู้ฟังอีกต่อไป แต่เป็นผู้ป่วย คนแก่ คนลืม และคนพิการ

Advertisement

ในความเป็นคนนั้น คนมีคุณลักษณะ อาทิ คนดี คนไม่ดี คนสูง คนต่ำ คนดำ คนขาว คนพิการ คนชาย คนหญิง คนจน คนรวย คนสวย คนขี้เหร่ คนแก่ คนป่วยอัลไซเมอร์ เป็นต้น ในความเป็นมนุษย์นั้น ประกอบด้วย หัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ รู้สึกรัก รู้สึกเกลียด รู้สึกไม่พอใจ ศรัทธาในความจริง ศรัทธาในความดี ศรัทธาในความงาม นึกถึงอดีต คิดถึงอนาคต ในส่วนที่สอง เป็น สมอง เรื่องของความจำความลืม การจำแนกแตกต่าง ความกลัว การฮึดสู้ การตัดสินใจ

ส่วนที่สาม สังขาร เป็นเรื่องของศักยภาพ ความสามารถ สมรรถภาพ คนที่สมประกอบหรือมีความบกพร่องไม่สมประกอบ ความสามารถในการนั่ง ยืน นอน เดิน วิ่ง ห้อยโหน ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของ ขวัญ จิตใจ จิตวิญญาณ เกี่ยวข้องกับพลังในจิตใจ เป็นพลังจิตหรืออำนาจจิต อาทิ ขวัญดี ขวัญเสียหรือเสียขวัญ ขวัญหาย ขวัญหนีดีฝ่อ กำลังใจ พลังรัก พลังหวัง พลังศรัทธา พลังจินตนาการ พลังสร้างสรรค์ พลังกระตุ้น พลังจิตที่เข้มแข็งกว่าจะควบคุมพลังจิตที่อ่อนแอกว่า

พลังที่มีอยู่ภายนอกกายนั้น จะมองไม่เห็น พลังคืออำนาจ พลังเป็นอำนาจที่มองไม่เห็น พลังนั้นมีอานุภาพสร้างความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา และการพัฒนาทำให้เกิดความเจริญ เนื่องจากทุกส่วนของร่างกายทำงานร่วมกัน เมื่อกายป่วย สมองก็จะป่วย แล้วก็จะลามไปที่ความรู้สึกของหัวใจ และในที่สุด จิตก็พลอยป่วยตามไปด้วย

Advertisement

พลังงานที่อยู่ภายนอก เป็นมิติของคลื่นหรือกระแสคลื่น อาทิ คลื่นเสียงหรือกระแสเสียง คลื่นแสงก็เป็นกระแสแสง คลื่นไฟฟ้าเป็นกระแสไฟฟ้า พลังที่เป็นคลื่นเทคโนโลยีแผ่เป็นรังสี พลังเสียงเข้าในร่างกายทะลุโดยผ่านรูขุมขน สัมผัสผ่านผิวหนัง พลังแสงเจาะผ่านผิวหนัง พลังไฟฟ้าทะลุผ่านร่างกายได้ทุกส่วน และพลังเทคโนโลยี (เลเซอร์) เป็นรังสีทะลุผ่านสู่ร่างกายทุกส่วนโดยง่าย ควบคุมโดยผู้ใช้พลังงานเหล่านั้น อาทิ แพทย์ นักรังสีเทคนิค เป็นต้น..

ดนตรีบำบัดใช้พลังของเสียงดนตรีที่มีอานุภาพใช้ในการบำบัด เสียงสามารถเชื่อมอณูในร่างกายทุกส่วนเข้าด้วยกัน เสียงทำให้อณูทุกอณูขยายออกเชื่อมต่อกัน เสียงดนตรีทำให้มนุษย์มีความรู้สึกที่ได้เปลี่ยนแปลง มากกว่าอารมณ์เฉยๆ อาทิ เกิดอารมณ์จำ รำลึก โหยหาอดีต คิดถึงจนน้ำตาไหล เสียงสร้างความสะเทือนใจ เสียงสร้างความรู้สึกที่สดชื่น หวานฉ่ำ ตระหนกตกใจ เสียงบอกเล่าถึงความหลัง เสียงช่วยเตือนความจำ เสียงสร้างจินตนาการ สร้างความฝัน สร้างความคิดสร้างสรรค์ เสียงทำให้เกิดความจำ เสียงกระตุ้นให้เกิดความหวัง เสียงเพลงกระตุ้นให้กาย สมอง และจิตใจตื่น และเสียงดนตรีช่วยปลุกอดีต

พลังของเทคโนโลยี เทคโนโลยีจำนวนมากได้ยึดพลังความจำของสมองมนุษย์ออกไป มนุษย์หยุดใช้พลังของสมอง มนุษย์หมดพลังภายในลง พลังของมนุษย์สิ้นสุดลงเพราะเทคโนโลยียึดเอาพลังเอาไป เทคโนโลยีทำให้มนุษย์ลดความจำลง อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ ได้เอาความจำจากสมองไปไว้ในเครื่องโทรศัพท์ มนุษย์ไม่จำตัวเลขโทรศัพท์อีกต่อไป มนุษย์คิดเลขไม่ได้อีกแล้ว ทุกคนพึ่งเครื่องโทรศัพท์คิดเลข

ความรู้สึกของมนุษย์หายไป การดมกลิ่นของจมูกทำไม่ได้อีกแล้ว หูที่เคยแยกเสียงได้ก็ไม่สามารถที่จะแยกเสียงได้อีกต่อไป มนุษย์สูญเสียประสาทสัมผัสเพราะมนุษย์หยุดการเรียนรู้ ไม่ได้ใช้ประสาทที่มีอยู่แล้วหันไปพึ่งเทคโนโลยี มนุษย์จำเส้นทางขับรถไม่ได้อีกแล้ว เพราะไปพึ่งแผนที่ทางอากาศของเทคโนโลยี

มนุษย์นอกจากจะหมดพลังไปโดยธรรมชาติแล้ว สังขารร่วงโรยลง มนุษย์จึงตัดสินใจใช้เทคโนโลยีและได้ทำลายตัวเองในเวลาเดียวกัน เมื่อมนุษย์สูญเสียความจำ มนุษย์สูญเสียความรู้สึก สูญเสียการรับรู้ สูญเสียจิตใจ และสูญเสียร่างกาย มนุษย์ก็จะเหลือเพียงแค่ก้อนเนื้อรวมๆ กองอยู่เท่านั้น

ดนตรีบำบัด เป็นการรักษาพลังของมนุษย์เอาไว้ ฝึกและกระตุ้นให้มนุษย์ใช้พลังของตนเอง โดยการใช้เสียง การใช้พลังเสียง การรับเสียง การส่งเสียง การใช้พลังร่างกาย ก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะฝึกให้ร่างกายมีพลังกลับคืนมา การฝึกพลังสมอง ส่วนของสมองก็ต้องคิด ต้องฝึกจำ ฝึกท่องบ่น ฝึกอ่าน ฝึกหูให้ได้ยิน กระตุ้นโดยการใช้พลังเสียง เช่นเดียวกันในการฝึกพลังจิต ฝึกจิตให้นิ่ง รวบรวมจิตให้อยู่เป็นจุด พยายามไม่ให้จิตกระจาย ฟุ้งซ่าน ฝึกใจให้เย็น ไม่ยอมให้ใจร้อน ฝึกอยู่เฉยๆ จนเป็นเช่นนั้น

ดนตรีบำบัดจึงเป็นการใช้เสียงบำบัดทั้งผู้ป่วยและผู้ที่เฝ้าคนป่วย เสียงมีทั้งเสียงที่หยาบไม่น่าฟังและไม่อยากฟัง เสียงดนตรีเป็นเสียงที่ไพเราะ เป็นเสียงละเอียดอ่อน ละเมียดละไม น่าฟัง ซึ่งทุกคนชอบฟังเพลง แต่เพลงของแต่ละคนที่ชอบจะไม่เหมือนกัน การใช้เพลงสำหรับการบำบัด ก็ต้องใช้เพลงที่ผู้ป่วยชอบ เพลงที่ชอบนั้นได้ฝังไว้ในหัวใจ ฝังไว้ในสมอง ฝังไว้ในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถูกกระตุ้นด้วยเพลงที่คุ้นเคย เพลงที่รู้จัก พลังงานเสียงก็จะทำหน้าที่ขูดเขม่าออกจากความลืม เปิดเผยความจำให้กลับมา

ดนตรีใช้บำบัดใคร เสียงดนตรีใช้บำบัดทุกคน เพราะดนตรีใช้ได้กับทุกคน ทั้งผู้ป่วย ผู้ไม่ป่วย ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย เสียงดนตรีสร้างความเพลิดเพลินมอบให้แก่ผู้ป่วยและผู้ที่ดูแลผู้ป่วย สิ่งสำคัญจะต้องเป็นดนตรีที่ไพเราะประณีต ตั้งใจมอบเสียงที่ผู้ป่วยคุ้นเคยและเพลงที่รู้จักเป็นอย่างดี อย่าลืมว่า “ความคุ้นเคยเป็นเสบียงอันประเสริฐ” ความคุ้นเคยจะเป็นสะพานบุญเชื่อมระหว่างความจำกับความลืมให้ติดต่อกัน..

ผู้ฟังในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การนำเสนอเป็นการพูดสลับการเล่นดนตรีและร้องเพลง แต่ใช้เพลงที่เป็นเพลงตลาด เพลงที่เคยสร้างความประทับใจกับผู้สูงอายุมาก่อน คนส่วนใหญ่รู้จักเพลงที่ขับร้อง โดยการพูดบรรยายใช้เพลงประกอบ ผู้สูงอายุชอบใจก็ปรบมือ ประทับใจก็ส่งยิ้ม รู้ได้ว่าชอบ เพราะไม่มีใครลุกออกจากที่นั่ง มีแต่เดินเข้าไปนั่งเพิ่มผู้คนในโรงพยาบาลที่เดินผ่านก็หยุดฟัง

เสียงเพลงที่ดี เสียงที่ไพเราะ สามารถสะกดผู้ฟังให้อยู่กับที่ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ เป็นเสียงดนตรีที่เป็นธรรมชาติ (Acoustic) เพราะเสียงดนตรีที่เป็นธรรมชาตินั้น เล่นโดยนักดนตรีที่มีฝีมือสูง เสียงออกจากใจคนเล่น แล้วพุ่งเจาะเข้าสู่ใจของผู้ฟังได้ จึงสามารถสร้างความประทับใจและสามารถสะกดจิตใจผู้ฟังได้ ยกเว้นเสียงนกหวีดที่ยามเป่าให้จอดรถ เป่าไล่รถที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นเสียงธรรมชาติและเป่าโดยยาม แต่ก็ไม่ไพเราะ นกหวีดเป่าออกมาจากใจที่ดุดัน หยาบกระด้าง คนที่รำคาญ เสียงนกหวีดก็กระด้าง จึงเป็นเสียงที่หนวกหู ไม่ประณีต อย่าลืมว่า “เสียงที่สดใส ออกมาจากจิตใจที่สะอาด”

ส่วนเสียงเพลงที่ใช้เครื่องไฟฟ้า ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เสียงจะกระด้าง ไม่สามารถจะเข้าถึงจิตใจได้ จะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ฟังธรรมดาก็ไม่ชอบที่จะฟังเสียงกระด้าง ซึ่งจะแตกต่างจากการฟังเพลงในผับในบาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงไฟฟ้า แต่วัตถุประสงค์ของการใช้ดนตรีแบบในผับในบาร์หรือคาราโอเกะ เป็นเสียงที่หยาบต่ำกว่าสะดือ ใช้เสียงกระด้างเพื่อกระตุ้นอวัยวะส่วนล่าง ทั้งนี้ เสียงดนตรีขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้

เนื่องจากผมไม่ได้เป็นหมอ มองดนตรีบำบัดจากมุมของคนดนตรี มองด้วยอารมณ์และความรู้สึก ที่ไพเราะ อบอุ่น และเป็นมิตร อาจจะแตกต่างไปจากมุมของหมอ (รักษา) ที่มองจากมุมวิทยาศาสตร์และมุมเทคโนโลยี ซึ่งต้องการใช้เหตุผล ความมนุษย์นั้น ประกอบด้วย หัวใจ สมอง ร่างกาย และจิตวิญญาณ ในการรักษามนุษย์อาจจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป เพราะพลังแต่ละชนิดอาจจะใช้รักษาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่พลังวิทยาศาสตร์ไม่สามารถรักษาได้ทุกอย่างในร่างกาย

หมอในโรงพยาบาลอาจจะรักษาร่างกายได้ แต่จะไม่สามารถรักษาความรู้สึกของหัวใจ และไม่สามารถจะรักษาจิตวิญญาณของผู้ป่วยได้..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image