เริงโลกด้วยจิตรื่น : มิติแห่งอิสรภาพ : โดย จันทร์รอน

เมื่อพูดถึง “เสรีภาพ” และ “อิสรภาพ” อาจจะดูเป็นคำที่ไม่น่าสนใจอะไรนัก เป็นคำที่คุ้นชิน ไม่กระตุ้นให้เกิดความคิดใคร่ค้นหาความหมายที่แท้จริง ได้ยินแบบผ่านมาแล้วปล่อยให้ผ่านไป ไม่มีอะไรสะดุดใจ

แต่หากหวนมาลองตั้งใจที่จะนึกถึง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ศึกษาความหมายของชีวิตแล้ว จะพบว่า “เสรีภาพ” และ “อิสรภาพ” เป็นสภาวะที่ทุกศาสดาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายที่ถูกชี้ให้ไปให้ถึงของทุกศาสนาก็ว่าได้

อิสรภาพแห่งชีวิต เสรีภาพแห่งจิตวิญญาณ จิตหลุดพ้น ความว่าง” หรืออะไรก็ตามที่ให้ความหมายในผลบั้นปลายสุดของการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรม

Advertisement

ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ภาวะแห่ง “อิสรภาพ และเสรีภาพ”

“อิสระเสรี” แท้จริงแล้วเป็นภาวะเช่นใด

หากพูดถึงมิติของร่างกาย “อิสระเสรี” อาจจะให้ความรู้สึกถึงความหมายว่าไม่ถูกจองจำ กักขัง หรือจำต้องอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ จำต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คนอื่น หรือสิ่งอื่นจัดการให้เป็น

Advertisement

หมายถึงชีวิตไม่ถูกผูกมัดด้วยอะไร จะไปไหนต่อไหน หรือทำอะไรก็ได้ตามแต่ใจ

ในมิติของจิตใจ ยิ่งละเอียดซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดถึงในภาวะที่ร่างกายไปไหนต่อไหน หรือทำอะไรตามแต่ใจไม่ได้ ซึ่งจิตใจย่อมถูกผูกมัดไปตามร่างกายอยู่แล้วเป็นปกติ

แต่แม้ว่าร่างกายจะเป็นอิสระ ไปไหนต่อไปหรือทำอะไรได้ตามแต่ใจ ก็ยังไม่ได้หมายความว่าใจจะมีอิสระเสรีตามไปด้วย

ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรมาผูกมัดร่างกาย แต่จิตใจกลับถูกยึดโยงไว้ด้วยอะไรบางอย่างให้ห่วงกังวล ให้เกรงกลัวที่จะสูญเสีย หรือเสียดายที่หากบางสิ่งบางอย่างต้องจบสิ้นลง

นั่นย่อมไม่ใช่ชีวิตที่มีอิสระ เสรีภาพ

เป็นจิตใจที่ถูกมัด ถูกโยงไว้ด้วยภาระบางอย่าง

และหากเลยไปสู่มิติแห่งจิตสำนึก หรือวิญญาณ อิสระเสรียิ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง

เมื่อน้อมจิตไปสัมผัสถึงอารมณ์ ความรู้สึก นึกคิดที่ตกตะกอนอยู่ในใจ อันมีบทบาทต่อความคิดและการกระทำโดยไม่รู้ตัว จะพบว่าแท้ที่จริงแล้วตะกอนอารมณ์เหล่านี้ที่เองที่จะเป็นการสำคัญทำให้เกิดความคิดที่ไปเกาะไปเหนี่ยวกับความรู้สึกต่างๆ ไว้

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวงแหน เสียดาย อยากได้ ไม่พอใจที่จะสูญเสีย หรือไม่ได้มา หรือผูกโยงไว้กับความเชื่อต่างๆ

นั่นเป็นมิติที่ลึกลงไป

ขณะที่ชีวิตปกติไม่พิจารณาแค่อิสรภาพในมิติของร่างกาย หรืออย่างมากก็แค่จิตใจ ซึ่งทางแก้ไขจัดการชัดเจน คือ ไม่ทำให้ร่างกายและจิตใจถูกจองจำ แต่หากเผลอไปทำเข้าก็หาทางที่จะหลุดให้พ้นออกมาให้ได้ ใครทำไม่ได้ก็ยอมรับสภาพไป

ความไม่ซับซ้อนเช่นนี้ อาจจะทำให้ความหมายของอิสรภาพในมิติร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องที่ฟังแล้วผ่านเลย

แต่ที่ศาสดาแห่งลัทธิ ศาสนา และความเชื่อต่างๆ ให้ความสำคัญต่อชีวิตที่เป็นอิสรภาพในระดับแทบจะเป็นเป้าหมายของหนทางการปฏิบัติ เพราะการชำระตะกอนอารมณ์ที่เป็นเรื่องผูกโยงจิตวิญญาณไว้ ไม่ให้เป็นอิสระนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้ง ต้องอาศัย สติ สมาธิในการมองเห็น และเป็นพลังที่จะเข้าไปสลาย ด้วยความฉลาดในการเลือกวิธีการที่เหมาะสม

ซึ่งไม่ใช่เรื่อง่ายๆ เพราะมีความซับซ้อนอยู่มากมาย

การไปให้ถึงอิสระ เสรีภาพ จึงเป็นเรื่องแล้วแต่ใครจะมีภาวะที่เห็นในมิติไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image