เพราะ ‘ความหวัง’ ทรงพลังกว่าความกลัว 15 ปีที่ผ่าน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (ยังคง) เป็น ‘บ้านของเรา’

"ต่างวัยแต่เป้าหมายเดียวกัน" อ.เมือง จ.ปัตตานี ภาพโดย เอกมล บุญชม

“สิบห้าปีล่วงผ่าน ในสายตาคนข้างนอก

ที่นั่นอาจดูน่ากลัว อันตราย และรุนแรง

แต่ในสายตาคนข้างในที่นั่นยังคงเป็นบ้าน

และพวกเขายังคงมีความหวังว่าสักวัน

Advertisement

ทุกอย่างจะคลี่คลายและกลับสู่สภาวะปกติ”

พลิกอ่านข้อความหลังปกหนังสือ “เสียงของความหวัง”

บทสนทนาของ 15 ผู้เล่าเรื่องชายแดนใต้ ที่ได้จากงานฉายสารคดีและเสวนา “เสียงแห่งความหวัง” เมื่อบ่ายปลายเดือนสิงหาฯ ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปสัมผัส 15 ปีที่ผ่าน ของเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

Advertisement

Cinema Oasis สุขุมวิท 43 คือสถานที่ ที่ชาวไทยพุทธ-มุสลิมมารวมตัวร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ว่าด้วยเรื่อง “สื่อ” กับการขับเคลื่อนเพื่อ “สันติภาพ” จากการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เริ่มด้วยหนังสั้น ที่ ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้กำกับหนุ่ม อดีตนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวร่วมกับ วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของเพจ “ใต้สันติภาพ” ผู้ใช้เวลา 1 ปี ในดินแดนปัตตานี เพื่อศึกษาวิจัยในแง่มนุษยวิทยา คลอดออกมาเป็นสารคดี “เป็นเขาและเป็นแขก” ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธและมุสลิม ผ่านวัยรุ่น 2 ศาสนา ที่ปะทะกันในโซเชียล ทว่าเมื่อเจอหน้ากลับไม่กล้าเอาความเห็นมาชนกัน แต่เลือกเอาความเป็นมนุษย์มาใช้ปฏิสัมพันธ์

สองหนุ่มสำรวจ 3 จังหวัด และถ่ายทอดผ่านบทสนทนาจากการสัมผัสวิถีชีวิตของ พหุวัฒนธรรม ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งมุสลิม มลายู และไทยพุทธ ไปจนถึงตลาด ศาสนสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติโอบล้อม

วิไลวรรณ เล่าด้วยอารมณ์ขันว่า ก่อนลงไปมีแต่คนให้ของศักดิ์สิทธิ์เพราะคิดว่าต้องตายแน่ พอลงไปเห็นและซึมซับ กลับพบว่าที่แห่งนี้มีทั้งผู้คน เรื่องเล่า และวัฒนธรรมที่สวยงามมากมายหลากหลาย

“เราเชื่อว่าสื่อ ‘ทรงพลัง’ เมื่อสื่อส่วนกลางสร้างอคติให้กับคนนอกพื้นที่ แต่ยังมีพื้นที่ใหม่ ที่จะนำเสนอมุมบวกได้ จึงใช้ ‘โซเชียล’ เป็นพื้นที่เผยแพร่ในรูปแบบของหนังสั้น เพราะกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ คนรุ่นใหม่” ในฐานะนักวิชาการ วิไลวรรณเชื่ออย่างนั้น

จริงอยู่ ถ้าดูจากคอมเมนต์จะเห็นว่าอคติและความเกลียดชังยังไม่หายไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว นี่อาจเป็นวิถีแย่งชิงพื้นที่ให้ “คนนอก” ได้รับรู้อีกมุม และ “หวัง” ว่าความรู้สึกจะเปลี่ยนไป

คงจะดี ถ้า 15 ปีที่ล่วงผ่าน คนข้างนอกได้ลองมาฟังเสียงคนข้างใน ว่าพวกเขาคิด และคาดหวังอะไร ต่อพื้นที่ที่พวกเขาเรียกว่า “บ้าน” ผ่านการพูดคุยอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง “ความหวัง” โดย กันต์ ณรรธราวุธ เมืองสุข รับช่วงต่อ พา ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ มาร่วมพูดคุย กับ ฮาดีย์ หะมิดง นักกิจกรรมชายแดนใต้ ชาวปัตตานี และ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว THE STANDARD และ a day

(จากซ้าย) ณรรธราวุธ เมืองสุข, ฮาดีย์ หะมิดง, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, ก้อง ฤทธิ์ดี

ถ้ามองย้อนตั้งแต่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา 15 ปีที่ผ่าน ปัญหาชายแดนใต้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

ในมุมของ ฮาดีย์ หะมิดง มอง 3 จังหวัดผ่านประสบการณ์จากการงานที่มีโอกาสลงไปสัมผัสหลายพื้นที่ และเฉี่ยวเรื่องความขัดแย้งมาโดยตลอด

“สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ‘คน’ ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน พยายามจะอยู่ให้ได้เสมอ เพราะพรุ่งนี้เราอยากเห็นอะไรที่ดีกว่า เช่นเดียวกับคนในพื้นที่ หลายปีต่อมา ผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรมากมาย” 

“แสงและเงาอาจบิดเบือนไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างมัน ยังคงเป็นจริงเสมอ” ส่วนหนึ่งในหนังสือ “เสียงของความหวัง”

ด้าน วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ มองว่า สถานการณ์ความรุนแรงเหมือนเกลือที่อยู่ในน้ำ บางช่วงเวลาน้ำเค็มจนไม่สามารถดื่มได้และอาจเป็นอันตราย แต่หากเราช่วยกันเติมน้ำเข้าไป เกลือไม่หาย แต่จะเจือจางลง จนเป็นน้ำที่เราดื่มกินได้

จากการสัมผัสพื้นที่ วงศ์ทนงบอกว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต้องอธิบายว่าเขาอยู่ร่วมกันได้

“เพื่อนบางคนที่จบ ม.อ.ปัตตานี แต่งงานแล้วตั้งรกรากอยู่นั่น ถามว่าทำไมไม่ย้ายจังหวัด อีก 2 จังหวัดก็ปลอดภัยแล้ว เขาตอบว่าที่นี่เป็น ‘บ้าน’ คำนี้มีความหมายมาก ความอุ่นใจ สบายใจ ไม่สามารถละทิ้งไปง่ายๆ เชื่อว่ามีคนใน 3 ชายแดนที่อดทนสถานการณ์ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเพราะพวกเขามีหวัง อยู่ด้วยความหวัง ไม่ใช่แค่นามธรรม แต่คือความรู้สึกตั้งต้นที่แปรเปลี่ยนเป็นการกระทำให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ อย่างที่ มหาตมะ คานธี บอกว่า สันติภาพ เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี ความหวัง

ความสุขง่ายๆ ของผู้คนใน อ.เมือง จ.ปัตตานี

ในมุมคนมองหนัง ก้อง ฤทธิ์ดี คิดเห็นว่าตัวเลขเหตุอาชญากรรมรายวัน ช่วงปี 2549-2550 คือช่วงพีคที่สุด คนเจ็บ-ตายน้อยกว่านครศรีธรรมราชจังหวัดเดียว อาชญากรรมมีมาก ทะเลาะก็ยิง ฆ่ากัน เป็นเหตุน่าสลดใจที่เกิดกับคนทั่วไป แต่เมื่ออยู่ชายแดนใต้เป็นปัญหาอีกสเต็ปที่พัวพันกับเรื่องเงินเยียวยา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถระบุคนก่อเหตุได้และถูกยกฟ้องภายหลัง

“ก่อนหน้านี้สัดส่วนเป็นความไม่สงบมาก ที่ลดลงเพราะเปลี่ยนเป็นระบุสาเหตุไม่ได้ มีนัยสำคัญ จึงดูเหมือนความรุนแรงลดลง ยังมีการเสียชีวิตจากความขัดแย้ง มีอิทธิพลในท้องถิ่น เราทราบว่าช่วง 15 ปีที่ผ่านมาปฏิบัติการจากรัฐไทยเกิดจากหลายอย่างที่สั่งการโดยไม่เข้าใจปัญหาที่แท้”

ตลาดนัดจะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี

ก้องเล่าว่า จากที่คุยกับชาวบ้านในร้านกาแฟที่ปัตตานี และนราธิวาส ต้องยอมรับว่าชาวบ้านมีความคิดไม่ค่อยดีกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กองทัพ

น่าสนใจว่าในฐานะคนทำสื่อจะไปต่ออย่างไร สื่อสารแบบไหน?

ก้อง เสนอว่า อาจจะเอาเสียงตัวเองออกมา ให้เรื่องเล่าเป็นเชิงพื้นที่มากขึ้น ในศิลปะแขนงต่างๆ หมายรวมถึงวรรณกรรม

“เด็กที่โตมาเป็นความหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่มหา’ลัย มีช่องทางรับสื่อมากขึ้น ใจกว้างมากขึ้น ความรับรู้ก็หวังว่าน่าจะขยับเช่นกัน แต่อีกจุดสำคัญคือ การสื่อสารจะต้องนึกถึงว่า ‘เราคุยกับใคร’ มุสลิมอย่าคุยกันเอง คนที่ได้รับสารควรจะเป็นคนนอกพื้นที่ อาจจะโปรโมตเป็นงานฮิพๆ ให้คนไปเที่ยวดีไหม เราทุกคนควรช่วยกันผลักออกไปให้มากขึ้น”

วิถีชีวิตยามเช้า อ.เมือง จ.นราธิวาส

ในส่วนของ “ภาพยนตร์” ก้องยกเรื่อง ปิตุภูมิ ของผู้กำกับ ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่แม้จะดองจนเปรี้ยว แต่ก็อยากให้ออกมาฉาย โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ว่าจะเชียร์ฝั่งไหน ไม่เป็นไร ควรออกมาให้ถกเถียง ไม่ควรดองไว้ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ละคร ถ้าเอาวัฒนธรรมย่อยเข้าไป เช่น นางเอกเป็นชาวเขา คนกลุ่มน้อย เอากลิ่นกาสะลองเป็นตัวอย่าง หนังอาจจะยาก แต่ทีวีมีโอกาสมากกว่า”

การเดินทางกลับบ้านของเด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา อ.เมือง จ.ปัตตานี

สิ้นเสียงสนทนา จันทร์จิรา ยอดรักษ์ ข้าราชการชาว จ.ยะลา ขอจับไมค์เล่าความรู้สึก ยืนยันอีกเสียงว่า ตอนนี้ 3 จังหวัดยังน่าอยู่มาก แม้ว่าตอนนี้ตนจะยังอยู่ในพื้นที่และถอยฉากออกมาเป็นระยะ แต่งานวันนี้ทำให้นึกถึงภาพเก่าๆ ที่ยังชัดเจน

“เราโตมากับชุมชนมุสลิม โตมากับวัฒนธรรมการหยุดฮารีรายอ โตมากับไทยพุทธ 5 คน ในห้องเรียน 30 คน ที่เป็นมุสลิม โตมากับการหนีโรงเรียนตอนประถมด้วยการไปนอนบ้านเพื่อนมุสลิมและกินข้าวเที่ยงที่นั่น เย็นก็เดินกลับบ้านปกติ แต่ถ้าให้เราไปเข้าบ้านเพื่อนมุสลิมตอนนี้ก็ไม่กล้าแล้ว มันมีภาพของความไม่ไว้วางใจ เป็นเส้นบางๆ หลายๆ ชั้น เพราะปัญหาเกิดจากหลายบริบท ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จากสื่อหลายสื่อ จากหลายกลุ่มคนเราเลยรู้สึกว่า ห่างไว้ดีกว่า เพื่อความปลอดภัย”

จันทร์จิรายังบอกอีกว่า สิ่งที่รู้สึกดีใจมากที่สุด และอยากให้เกิดในพื้นที่มากที่สุด คือ การสื่อสารเชิงบวก เพราะภาพลบมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราขยายภาพบวกให้โต ภาพลบจะย่อส่วนไปเอง ทั้งๆ ที่ยังคงอยู่

เพราะ 3 จังหวัดมีหลายมุมเล็กๆ ที่สวยงาม ที่แทบจะขายไม่ได้ในวงการสื่อ คนไม่ได้สนใจมากกว่าระเบิดเกิดตรงนั้นตรงนี้

นูรฮีซาม บินมานุ หรือ “ซัง ยังยิ้ม” ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มยังยิ้ม” กลุ่มเยาวชน ใน อ.แว้ง จ.นราธิวาส ที่โดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องราวของนกเงือก

“พอบอกว่ายะลาน่าอยู่ ป่าฮาลา-บาลา มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืช ก็มักจะบอกว่า ที่อื่นก็มี แถมที่นี่น่ากลัว ไม่น่าไป ความหลากหลายของป่าเขาใหญ่ก็เยอะทำไมจะต้องไปถึงยะลา แต่ส่วนตัวเคยพาเพื่อนจากอุดรธานีไปเบตง ผ่านเส้นทางเขื่อนบางลาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สวยมาก เป็นความโหดที่สวยงาม ทางเลาะภูเขา ด้านซ้ายเป็นทะเล น้ำในเขื่อนเป็นสีฟ้า หน้าแล้งเป็นสีเขียวมรกต ฝั่งขวาเป็นสวนผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด สวนยาง กล้วย เพื่อนถามทำไมไม่มีรีสอร์ต ถ้าเป็นบ้านเขามีแน่นอน เราก็สะท้อนใจว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์มันก็คงจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน”

ด้านนักกิจกรรม อธิปัตย์ มณีนุช บอกอยากไปสามจังหวัดมานานแล้ว แต่ถูกหล่อหลอมว่าน่ากลัว

“คนรอบข้างก็บอกอย่าไปเลย น่ากลัว แต่พอผ่านมาช่วงชีวิตหนึ่ง มีเพื่อนไปทำงาน 3 จังหวัดค่อนข้างเยอะ ทั้งตำรวจ ทหาร นายอำเภอ เวลาเขากลับมาเราจะถามว่าเป็นไงบ้าง ฟีดแบ๊กที่ได้กลับมา คือ ความจริงเป็นเมืองที่เงียบ สงบ และธรรมชาติสวยงาม แต่เหมือนถูกม่านบาเรีย (เฟคนิวส์) ให้มองว่าเป็นเมืองที่อันตราย เพราะมีเรื่องของทรัพยากร ผลประโยชน์ ถ้าหมอกนี้หายไปเขาจะไม่ได้รับกัน

อธิปัตย์ มณีนุช

จบการสนทนา แวะพักดื่มชาชัก เคี้ยวกือโป๊ะทอด และโรตี ให้อารมณ์เหมือนอยู่ปัตตานี ก่อนจะเข้าชมสารคดีเรื่องถัดไป

50 นาทีเพียงพอที่จะบอกเล่า 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้คนที่ไม่เคยไปได้สัมผัสและซึมซับ

สารคดี “เสียงแห่งความหวัง” ตอนที่ 1 เรื่องราวของ 2 หนุ่มชาวกรุงเทพฯ ที่หลงใหลในการบันทึกเรื่องราวผ่านรูปภาพ ตัดสินใจแพคของลองทำในสิ่งที่ “อยาก” แต่ “ไม่กล้า” มาก่อน มุ่งหน้าสัมผัสวิถีชีวิตจริงของชาวนราธิวาส จากการเห็นคลิปของ ยูโซฟ เจ้าถิ่นผู้เชื่ออยู่เสมอ ว่าความงดงามของธรรมชาติ กับไมตรีของคนสุคิริน จะเอาชนะความกลัวของคนต่างพื้นที่ได้ในสักวัน

ยูโซฟอาสาเป็นไกด์พา 2 หนุ่ม ดูชีวิตของกลุ่มเด็กนาขั้นบันไดบ้านยาเด๊ะ ที่ร่วมกันสร้างและส่งเสริมการท่องเที่ยว จากมือและสมองของเขาเอง เริ่มจากล่องแก่ง จนกระทั่งเกิดเป็นงานใหญ่ Bala Trail Running งานวิ่งเส้นทางธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของชาวบ้าน ที่ออกมาต้อนรับ “คนนอก” อย่างอบอุ่น ประทับใจ

สารคดียังไม่จบเท่านี้ ติดตามต่อได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Voice of Hope

กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์

แต่ก่อนจะลา กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ์ ผู้กำกับสารคดีและโปรดิวเซอร์โปรเจ็กต์นี้ จับไมค์เผยความรู้สึกว่า

“3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เหมือนกรุงเทพฯ เมื่อประมาณสัก 30 ปีที่แล้ว ทั้งจังหวะชีวิต และเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนไปเที่ยวตลาดร้อยปีที่ไม่ได้เซตอัพ เป็นอย่างไรก็อย่างนั้น

บางครั้งเราก็คิดในแง่ดีว่า การที่มีเหตุการณ์ก็ทำให้อะไรหลายอย่างที่นี่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์อยู่ แต่ในทางกลับกันก็เหตุการณ์อันเดียวกันนี้ที่ทำให้ความเข้าใจของคนในประเทศถูกพยายามทำให้กลายเป็นอย่างเดียว

ความรักชาติมีอย่างเดียว ความเป็นไทยมีอย่างเดียว คือความเหมือน เป็นบล็อก ที่พอมีความต่างเข้ามาก็จะเกิดการปฏิเสธ มีกระบวนการบางอย่างที่พยายามจะทำให้เราทุกคนต้องเหมือนกัน อะไรที่ต่างคือ ‘ไม่ใช่’ หรือแม้แต่มายาคติบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถจะยอมรับความแตกต่างได้ง่ายเท่าไหร่ นี่คือเหตุผลที่เราพยายามจะทำให้คนรู้สึก เสนออะไรที่แตกต่าง และอยากให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ”

แม้กระบวนการไม่ง่าย แต่ กวีนิพนธ์ ตั้งใจว่า อย่างแรกที่ต้องทำ คือ ทำให้คนรู้จัก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน ส่วนความเข้าใจก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

แต่เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าถ้าเกิดความ “เข้าใจ” ปัญหาที่ตามมาน่าจะลดน้อยลง

“ถ้ามีโอกาส ลองไปสัมผัสพื้นที่แห่งนี้ดู จะเห็นความสวยงามของที่นี่ มากกว่าเสียงของความรุนแรงที่ได้รับ” กวีนิพนธ์กล่าวทิ้งท้าย

ท่ารถโดยสารระหว่างเมือง อ.เมือง ปัตตานี-ยะลา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image