อาศรมมิวสิก : วัฒนธรรมใหญ่ กลืนกินวัฒนธรรมเล็ก : โดย สุกรี เจิญสุข

คนอยู่ที่ไหนวัฒนธรรมอยู่ที่นั่น วัฒนธรรมอยู่ที่ไหนคนก็จะอยู่ที่นั่น เพราะวัฒนธรรมนั้นเป็นหุ้นส่วนของวิถีชีวิตคนในสังคม วัฒนธรรมเกิดจากการรวมกลุ่มของคนที่อยู่รวมกัน ตั้งแต่เรื่องวิถีชีวิต การกินอยู่หลับนอน ศาสนา พิธีกรรม ขนบประเพณี ความเชื่อ ความรู้ การสืบทอดองค์ความรู้ การแต่งกาย รสนิยม กีฬา ศิลปะ และดนตรี ล้วนเป็นหุ้นส่วนของวัฒนธรรมทั้งสิ้น

เมื่อก่อนสังคมยุโรปปกครองโดยศาสนจักร สำนักวาติกันดำริให้นักบวชเดินทางสู่ตะวันออก เพื่อแสวงหาประชากรใหม่ที่เชื่อว่ายังเป็นคนดิบที่ยังไม่มีศาสนา เพื่อต้องการขยายศาสนจักรโดยผ่านการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากยุโรปสู่ตะวันออก นอกจากจะนำศาสนาเข้ามาเผยแผ่แล้ว ยังได้นำการค้าขาย การศึกษา ความรู้ เทคโนโลยี วิทยาการใหม่ รวมทั้งนำวัฒนธรรมเข้ามาในภูมิภาคด้วย อาทิ การแต่งกาย การใส่เสื้อผ้า การใส่ถุงเท้า วิธีการกินอาหาร การปรุงอาหาร รวมทั้งศิลปะและดนตรี ซึ่งภูมิภาคอุษาคเนย์ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากยุโรป เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว

วัฒนธรรมเป็นเครื่องหมายของความเจริญ ความเจริญที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น สืบเนื่องจากการเรียนรู้และการพัฒนาวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างต่อเนื่อง วัฒนธรรมทำให้ความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้นจากเดิม การพัฒนาของสังคมจะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม

สังคมไทยได้รับอิทธิพลของยุโรปในส่วนของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเป็นชนชั้นปกครอง รับเอาวัฒนธรรมยุโรปครอบและได้นำมาพัฒนาสังคมอย่างยาวนาน ส่วนวัฒนธรรมชุมชนและวิถีชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ถูกปกครอง ก็ยังคงดำรงวิถีชีวิตอยู่อย่างยถากรรม เพราะชาวบ้านไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ ไม่มีโอกาสจะศึกษาหาความรู้เพียงพอ ไม่รู้เท่าทัน ไม่มีฐานะทัดเทียม ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่มีพื้นที่และไม่มีเวที ไม่มีอำนาจทางการเมืองและการปกครอง ไม่มีอำนาจที่จะพัฒนาให้ชีวิตดีขึ้น ไม่มีประสบการณ์และไม่สามารถที่จะเงยหน้าอ้าปากได้ วัฒนธรรมของท้องถิ่นและชุมชนก็ค่อยๆ ตายไปทีละชิ้นทีละส่วน

Advertisement

วัฒนธรรมในชุมชนไทยส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมของชาวบ้าน อยู่กันอย่างตามมีตามเกิด หน้าแล้งน้ำแห้ง เมื่อฝนตกน้ำก็ท่วม แต่ก่อนเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมและชุมชนเล็กๆ เมื่อไม่มีอำนาจในการต่อรอง ในที่สุดก็ถูกควบคุมโดยวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า โดยใช้วัฒนธรรมของชาวเมืองซึ่งมีอำนาจมากกว่า นำวัฒนธรรมของชาวบ้าน

ถ้าจะเจาะไปที่วัฒนธรรมเพลง วัฒนธรรมเพลงตะวันตกอยู่เหนือและนำวัฒนธรรมเพลงตะวันออกและท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเสียงดนตรี คุณภาพของนักร้อง คุณภาพของนักดนตรี คุณภาพของเครื่องดนตรี วงดนตรี เทคโนโลยีที่ใช้ประกอบเพลง กระบวนการผลิตเสียงดนตรี ความยิ่งใหญ่อลังการของเสียง รวมทั้งพิธีกรรมและการนำเสนอดนตรี ซึ่งวัฒนธรรมเพลงตะวันออกของชาวบ้านตามไม่ทัน ได้แต่เป็นผู้ตามอยู่ตลอดเวลา เพลงฝรั่งจึงมีอิทธิพลเหนือเพลงไทยตลอดมา

“ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่”

Advertisement

วันนี้ วัฒนธรรมเพลงจากตะวันออกเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะวัฒนธรรมเพลงจีน เพลงญี่ปุ่น เพลงเกาหลี สามารถบอกได้ชัดว่า พื้นที่ในเมืองใหญ่มีความเป็นนานาชาติสูง เพลงที่ได้รับความนิยมก็เปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นเพลงฝรั่งล้วนอีกต่อไป ซึ่งเพลงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ได้เข้ามาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมอื่นๆ อาทิ วิถีชีวิตคนในสังคม เสื้อผ้าการแต่งกาย อาหาร เครื่องสำอาง เพราะไทยนั้นเป็นฐานทรัพยากรในการผลิตสิ่งของในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมที่ใหญ่กว่านั้นเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะแยกจากกันไม่ได้ ค่านิยมและรสนิยมที่ใช้กันในสังคม ก็จะบอกได้ว่าวัฒนธรรมไหนใหญ่กว่ากัน
แน่นอนว่าจำนวนประชากรยุโรปที่เข้ามาในเมืองไทยย่อมมีน้อยกว่าจำนวนประชากรซีกโลกตะวันออก แต่สังคมยุโรปนั้นก็ขายเทคโนโลยีแทน เอาเทคโนโลยีมาทำงานแทนคน แล้วควบคุมคนอีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่ชาวตะวันออกมีกำลังผู้คนเหลือเฟือ แม้จะคิดเทคโนโลยีไม่ทัน แต่ก็ใช้คนทำงานไปก่อน ซึ่งไม่เดือดร้อน
กลางศตวรรษนี้ สังคมตะวันออกได้พัฒนาเทคโนโลยีได้ไกลทัดเทียมและนำหน้ายุโรปด้วยซ้ำไป เมื่อมีประชากรมากกว่า ทำให้มีตลาดที่ช่วยเสริมทางเศรษฐกิจที่กว้างกว่าด้วย ในที่สุด วัฒนธรรมเพลงตะวันออกเริ่มพัฒนาฝีมือไปได้ไกลกว่ายุโรปอีกหลายๆ กรณี ซึ่งพบว่า เพลงจีน เพลงญี่ปุ่น เพลงเกาหลี ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดเพลงไทยมากขึ้น ทั้งที่ผู้ฟังไทยยังไม่สามารถเข้าใจเพลงร้อง ทั้งภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาเกาหลีก็ตาม แต่อารมณ์เพลงทำให้ผู้ฟังติดใจและติดตามมากขึ้น

รวมทั้งมีดาวในดวงใจมากขึ้นด้วย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา นักร้องชาวญี่ปุ่น ชื่อ เลีย (Lia) เธอเป็นนักร้องที่ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูน ร้องเพลงประกอบเกมของญี่ปุ่น (animation) เธอเดินทางมาแสดงที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ เธอเดินทางมาแต่ตัว อย่างอื่นนั้นหาเอาจากประเทศไทย อาทิ นักดนตรี เครื่องดนตรี วงดนตรี เครื่องเสียง ซึ่งเป็นวิธีใหม่ของนักร้องชั้นนำของโลก นอกจากไม่สิ้นเปลืองแล้ว ยังแถมไม่เป็นภาระ แต่ต้องหานักดนตรีที่มีฝีมือดีเล่นประกอบนักร้อง เมื่อทำได้ก็สามารถที่จะไปแสดงที่ไหนก็ได้ในโลก

ในประเทศที่ด้อยพัฒนา การดนตรีก็ไม่แข็งแรง โอกาสที่จะมีดาราระดับโลกเดินทางมาแสดงก็เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะยกมาทั้งวงก็แพง รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย รัฐบาลของทุกประเทศให้การสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมต่ำมากอยู่แล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นจึงยาก จะทำได้วิธีเดียวคือ ใช้ระบบธุรกิจขายตั๋วเข้าชม การที่ดารามาคนเดียว ทำให้ต้นทุนต่ำ โอกาสจึงจัดงานได้ง่ายขึ้น องค์ประกอบอื่นๆ จึงต้องหาจากภายในประเทศ

ญี่ปุ่นนั้นนำสินค้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา การเปิดโรงงานผลิตสินค้าในประเทศไทย อาทิ การผลิตรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักร อาหาร ฯลฯ สินค้าที่มีในตัวเราทุกวันนี้ ทั้งตัวประกอบด้วยสินค้าญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่นมีราคาสูงกว่าร้านอาหารไทย เครื่องใช้สินค้าญี่ปุ่นก็มีราคาสูงกว่าสินค้าไทย มีชุมชนญี่ปุ่นใหญ่ มีโรงแรมญี่ปุ่น โรงเรียนญี่ปุ่น มีศูนย์การค้าญี่ปุ่น คลับญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ภาษาญี่ปุ่น ดาราญี่ปุ่น และการท่องเที่ยวไปญี่ปุ่น ก็มีบทบาทมากขึ้น

เพลงญี่ปุ่น หนังญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่น มีบทบาทและได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะเด็กเยาวชนที่ติดเกม ติดการ์ตูน ก็จะจดจำเพลงญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับเกมและการ์ตูน จึงมีแฟนๆ หนาแน่น มีผู้ฟังคลั่งไคล้ และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่สำคัญในสังคมไทย คนไทยรุ่นใหม่เติบโตด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น มากกว่าของการ์ตูนวอลต์ดิสนีย์ของอเมริกันเสียอีก

เมื่อก่อนนั้น นักร้องต่างชาติจะเข้ามาคนเดียวไม่ได้ จะต้องมีนักดนตรีตามมาด้วย ไม่มีวงดนตรีหรือนักดนตรีของไทยที่มีความสามารถจะรองรับได้ เพราะยังไม่แข็งแรงพอที่จะเล่นกับดาราระดับนานาชาติได้ แต่ในวันนี้ มีนักดนตรีที่แข็งแรงพอแล้ว มีนักเรียบเรียงเพลงที่สามารถถอดเพลงของนักร้องได้หมด เรียบเรียงเพลงให้เป็นวงดนตรีแบบไหนก็ได้ ทำให้วงการดนตรีของเมืองไทยเปิดกว้างมากขึ้น

การเข้ามาแสดงครั้งแรกของนักร้องเลีย (Lia) ซึ่งเป็นนักร้องต้นฉบับของการ์ตูนและเกมของญี่ปุ่น เธอมาคนเดียว โดยมีผู้จัดการที่มีความแม่นยำ มีวินัย และรู้ว่าจะจัดการและต้องการอะไร มีมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งฝ่ายไทยก็มีแต่คนทำงานรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มนักดนตรี กลุ่มผู้จัดการ โดยมีวงไทยซิมโฟนี (Thai Symphony Orchestra) กับคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันจัดงานขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่ของคนไทยเหมือนกัน โดยใช้มาตรฐานของนานาชาติ เพื่อสร้างราคาของความน่าเชื่อถือ

การแสดงครั้งนี้ นอกจากจะขายบัตรเข้าชมแล้ว ยังต้องหาผู้สนับสนุนในการจัดงานด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่หลายฝ่าย ทำให้การจัดงานเป็นไปด้วยดี เมื่อได้เห็นแฟนเพลงแล้ว รู้สึกแปลกใจมากที่มีคนดูเยอะ ทั้งๆ ที่เป็นคนดูเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นเพลงตลาด แต่ก็เป็นเพลงที่อยู่กับการ์ตูนและเกม ซึ่งผู้ฟังที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ก็สามารถร้องเพลงตามได้ ข้อแตกต่างก็คือ เพลงการ์ตูนและเพลงเกม เดิมใช้เสียงอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในการแสดงครั้งนี้ ได้นำเอาเพลงมาเรียบเรียงเป็นวงออเคสตรา คือ ใช้เสียง
อะคูสติก (acoustic) ที่เป็นเสียงธรรมชาติหมด

ที่ยากอีกอย่างนั้น คือ เมื่อเพลงประกอบกับการ์ตูนและเกม หัวใจอยู่ที่การ์ตูนและเกม เพลงเป็นเพียงส่วนประกอบ ครั้นเอาการ์ตูนและเกมออกไป เหลือแต่บทเพลงเป็นหลักมุ่งเพื่อความไพเราะ แถมเป็นเพลงเฉพาะกลุ่มที่หลงรักการ์ตูนและเกมที่รู้จักเพลง ผู้ฟังเหล่านี้ก็ใช้วิธีนึกภาพของเกมและการ์ตูน แล้วฟังเสียงดนตรี สำหรับคนที่ไม่ได้ติดเกมและการ์ตูน ก็จินตนาการยากหน่อย

ญี่ปุ่นใช้วัฒนธรรมเกมและการ์ตูนนำเศรษฐกิจ ส่วนเพลงจีนและเกาหลีนั้น ก็ยังวิ่งตามญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าน้อยกว่า เพลงจีนและเพลงเกาหลีก็ตามมาติดๆ ที่สำคัญเห็นได้ชัดก็คือ วัฒนธรรมตะวันออกในเมืองไทยมีบทบาทสูง แย่งพื้นที่ของวัฒนธรรมตะวันตกได้มากขึ้นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image