เดินไปในเงาฝัน : ความขี้เกียจสร้างสตาร์ตอัพ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

บางทีก็ทำให้รู้สึกว่าเพราะ “ความขี้เกียจ” ของผู้คนในยุคปัจจุบันหรือเปล่า ถึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาราวกับดอกเห็ด เพราะมองไปทางไหนจะมีแต่แอพพลิเคชั่นของเหล่าบรรดาสตาร์ตอัพหลากหลายชนิดมาก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน

ซื้อของ ขายของ

งานบริการทุกประเภท

รวมไปถึงสินค้าต่างๆ ทั้งในหมวดอุปโภค และบริโภค

Advertisement

จนทำให้คิดว่า “คน” เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าร้านโชห่วย,คอนวิเนี่ยนสโตร์,ห้างสรรพสินค้า,ฟู้ดส์มอลล์ และมินิมาร์ทกันแล้ว

เพราะเสียเวลาเดินทาง

สู้โหลดแอพพลิเคชั่นเอาไว้ในสมาร์ทโฟน ต่อจากนั้นถ้าอยากกินอะไร,ใช้อะไร และทำอะไร พวกเขาจะสั่งผ่านแอพพลิชั่นจากหมวดต่างๆ ที่เปิดให้บริการ

Advertisement

ไม่เกิน 30 นาที สินค้าที่สั่ง จะมาถึงมือโดยไม่ยากเย็น

ผมเห็นแล้ว รู้สึกว่าโลกธุรกิจที่เคยซ้ำซ้อน แต่มาวันนี้ทุกอย่างกลับง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ เพราะระบบการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนต่างเอื้อให้พวกเขาซื้อสินค้าง่ายด้วย

ขอเพียงมีเงินอยู่ในบัญชีเท่านั้น

ก็สามารถซื้ออะไรบนโลกใบนี้ได้

ขอเพียงแค่คุณคิดให้ออกเถอะว่า…คุณจะขายอะไร? ให้บริการอะไร?
และกลุ่มลูกค้าของคุณอยู่ที่ไหน?

เพียงเท่านั้น คุณจะกลายเป็นสตาร์ตอัพร้อยล้าน หรือพันล้านโดยไม่ยากเย็น ยิ่งถ้าสตาร์ตอัพรายไหนจับจุด “ความขี้เกียจ” ของคนหมู่มากในปริมาณเยอะๆ ถูก เขาจะกลายเป็นที่สนใจของเหล่าบรรดายักษ์ธุรกิจทั้งหลาย

เพราะเขาจะจ่ายเงินในราคาตาลุกวาวให้กับคุณอย่างไม่ลำบากใจเลย เนื่องเพราะเขาเห็นแล้วว่าธุรกิจของคุณสามารถนำไปต่อยอดได้ในราคาที่สูงกว่านี้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นเหล่าบรรดาสตาร์ตอัพจากทั่วทุกมุมโลกกลายเป็นเศรษฐีใหม่ในชั่วข้ามคืน ทั้งนั้นเพราะเขามองเห็น “ความขี้เกียจ” ของหลายๆ คนบนโลกใบนี้เป็นธุรกิจ

พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเรื่อง “Winning with Ideas จากหนึ่งถึงพันล้าน” ที่มี “มาโนช พฤฒิสถาพร” เป็นผู้เขียน เพราะเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้บอกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเหล่าบรรดาสตาร์ต
อัพในสหรัฐอเมริกา

ที่สำคัญ เหล่าบรรดาสตาร์ตอัพเหล่านี้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจาก “ความขี้เกียจ” ของผู้คน โดยเฉพาะ สตาร์ตอัพลักซ์ (Luxe) ที่ให้บริการหาที่จอดรถยนต์ให้กับลูกค้า

เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดีว่าในเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาหาที่จอดรถค่อนข้างยาก แถมราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น เวลาใครอยากทานอะไร ?
ซื้ออะไร ? ก็ต้องไปจอดในอาคารจอดรถยนต์ ซึ่งไกลกว่าร้านค้ามากนัก

หรือถ้าใครอยากจะทานร้านอาหารริมฟุตปาธก็ไม่สามารถจอดรถยนต์ได้ เพราะไม่มีที่จอดรถยนต์ อีกอย่างสนนราคาที่จอดรถยนต์ไม่คุ้มกับอาหารมื้อนั้นๆ

ลักซ์จึงเป็นทางเลือกให้กับทุกคนที่อยากจะทานอาหารในร้านที่เขาเหล่านั้นต้องการ ด้วยการให้บริการรับจอดรถยนต์โดยคิดค่าบริการเพียงคันละ 5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

กล่าวกันว่า “ลักซ์” ประสบความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างงดงาม จนขยายการให้บริการไปยังเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญ ลักซ์สามารถระดมทุนในการขยายกิจการได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์จากคนที่เชื่อแบบเดียวกันว่าธุรกิจเช่นนี้จะเติบโตต่อไปในอนาคต

นอกจากนั้น ในหนังสือเล่มนี้ยังมีสตาร์ตอัพอีกหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่ประสบความสำเร็จงดงามเช่นเดียวกัน ซึ่งเหมือนกับ “ดอลลาร์เชฟคลับ” สตาร์ตอัพขายที่โกนหนวด

ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า…ที่โกนหนวดธรรมดาๆ แต่กลับมีลูกค้าถึง 3 ล้านคน

ทั้งๆ ที่ผู้นำตลาดในขณะนั้นคือ “ยิลเลตต์”

เพียงแต่ “ยิลเลตต์” สนนราคาค่อนข้างแพง แถมเวลาจะซื้อ ต้องเสียเวลาไปซื้อตามร้านค้าต่างๆ ทั้งยังต้องซื้อครีมโกนหนวดเพิ่มอีก

แต่เมื่อ “ดอลลาร์เชฟคลับ” มองเห็น “ความขี้เกียจ” ของลูกค้า “ไมเคิล ดูบิน” ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงเริ่มต้นแนะนำสินค้าด้วยการทำคลิปวิดีโอลงยูทูบอย่างกันเอง ปรากฏว่ามียอดผู้ติดตาม และดูกว่า 24 ล้านคน

“ไมเคิล ดูบิน” จึงใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นฐานในการเจาะหาลูกค้า เพราะเขารู้ดีว่าจุดแข็ง จุดอ่อนของ “ยิลเลตต์” อยู่ตรงราคา และต้องซื้อหาด้วยตัวเอง

ที่สุด “ดอลลาร์เชฟคลับ” จึงทำราคาเริ่มต้นเพียง 1 ดอลลาร์ ด้วยการให้ลูกค้าสมัครสมาชิกเพื่อจ่ายเป็นรายเดือน ต่อจากนั้น เขาจะส่งที่โกนหนวดไปให้ลูกค้าถึงบ้าน โดยบวกค่าขนส่งอีก 2 ดอลลาร์ ซึ่งลูกค้าจะได้ที่โกนหนวดแบบธรรมดา 2 อัน และใบมีด 5 ใบ

โดยบริษัทจะส่งใบมีดให้ทุกเดือน

พร้อมๆ กับแนบแผ่นพับเล็กๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับแบรนด์ และวิธีการดูแลตัวเองของผู้ชายมาในกล่อง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ลูกค้าประทับใจ

หากยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า “ดอลลาร์เชฟคลับ” เสมือนเป็นเพื่อนที่คอยช่วยดูแลความหล่อเหลาให้กับพวกเขา ทั้งๆ ที่ “ยิลเลตต์” ราคาเริ่มต้นเพียงอันละ 8 ดอลลาร์

แต่สำหรับ “ดอลลาร์เชฟคลับ” ราคาเริ่มต้นเพียง 1 ดอลลาร์เท่านั้น แต่สามารถครองใจลูกค้า จนทำให้สตาร์ตอัพกลุ่มที่โกนหนวดยี่ห้อนี้มีลูกค้าตอบรับถึง 3 ล้านคน

ภายในระยะเวลา 4 ปีเท่านั้นเอง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ยูนิลีเวอร์” อยู่เฉยไม่ได้เสียแล้ว ที่สุดจึงส่งคนไปเจรจาเพื่อขอซื้อ “ดอลลาร์เชฟคลับ” ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์

ทั้งยังให้ “ไมเคิล ดูบิน” นั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในการบริหารกิจการต่อไป เพราะเขาเชื่อมั่นว่าสตาร์ตอัพที่เกิดจากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความขี้เกียจ” ก็ควรที่จะให้คนที่รู้ และเข้าใจเท่านั้นบริหารงานต่อไป

ถึงวันนี้ “ดอลลาร์เชฟคลับ” ยังขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้ผมมานั่งคิดว่าเพราะ “ความขี้เกียจ” ของผู้คนแท้ๆ จึงทำให้เกิดสตาร์ตอัพกลุ่มต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งยังมีแนวโน้มอีกด้วยว่า…ต่อๆ ไปคนเราจะยิ่งขี้เกียจมากขึ้น

ก็เชื่อแน่ว่าน่าจะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย

ผมเชื่อเช่นนั้นนะ

แล้วคุณล่ะเชื่อแบบผมหรือเปล่า ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image