นที เกวลกุล “ผมทำงานประติมากรรม เพราะฉะนั้นผมเป็นประติมากร”

เปล่าเลย, ข้อความในเครื่องหมายคำพูดที่ปรากฏในพาดหัวบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ไม่ใช่คำกล่าวด้วยเจตนาเล่นคำ

หากแต่มาจากความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึกในใจของประติมากรหินอ่อนฝีมือเยี่ยม นาม “นที เกวลกุล” ผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญมาแล้วมากมาย อาทิ พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย 3 พระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ณ สถานทูตไทย ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ หอประชุมอาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย

พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย 3 พระองค์แห่งราชวงศ์จักรี ณ สถานทูตไทย กรุงโรม ประเทศอิตาลี

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจัดสร้างเพื่อทูลเกล้าถวายเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐาน ณ ที่ทำการแห่งใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เป็นต้น

Advertisement

รวมถึงผลงานล่าสุดที่ประติมากรผู้นี้ทุ่มเทสุดกำลัง ด้วยความประณีต ละเอียดลออยิ่ง นั่นคือ พระรูปพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งจะประดิษฐาน ณ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยใช้เวลานานเกือบ 2 ปีแล้ว

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ที่ทำการแห่งใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ


นที เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2522 ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน

“พ่อเป็นวิศวกร ก็เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไปที่พอพูดถึงศิลปากร ก็นึกถึงฮิปปี้ มีแต่พวกน่ากลัว (หัวเราะ) แต่เขาก็ปล่อยให้เราทำในสิ่งที่อยากทำ”

Advertisement

จบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร แล้วลัดฟ้ามุ่งหน้าเมืองหลวงศิลปะโลกอย่างอิตาลี ปักหมุดภาควิชาประติมากรรมที่ Accadamia di Belle Arti di Carrara พร้อมทำงานเป็นประติมากรที่ Studio Arte di Cave Michelangelo และ Marble Studio Stagetti ตามลำดับ ก่อนย้ายกลับเมืองไทยเมื่อปลายปี 2551 เปิดสตูดิโอซึ่งในวันนี้ใช้เป็นทั้งสถานที่สร้างสรรค์ผลงานอันสมจริงราวมีชีวิต เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ พร้อมกันนั้นก็เป็น “บ้าน” ที่อยู่อาศัยกับภรรยา และสุนัขจรน่ารักอีกหลายตัว

ต่อไปนี้คือบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่งซึ่งสะท้อนตัวตนของผู้ชายที่บอกว่า ผมไม่ค่อยบอกด้วยซ้ำว่างานที่ทำเป็นงานศิลปะ ผมทำงานประติมากรรม เพราะฉะนั้น ผมเป็นประติมากร”

ขั้นตอนการทำงานของประติมากรอย่างคร่าวๆ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง?

อย่างแรกไปคุยก่อนว่าสถานที่ที่จะไปตั้ง สภาพเป็นอย่างไร ภายใน ภายนอก หรืออยู่ในสวน ต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์อะไรบ้างหรือไม่ ต้องออกแบบให้ครบทั้งหมด ถ้าบอกว่าอยากได้รูปคนครึ่งตัว แต่สถานที่เป็นลานกลางแจ้ง อย่างสนามฟุตบอล รูปครึ่งตัวเล็กๆ จะกลายเป็นหัวไม้ขีดซึ่งไม่เหมาะ แทนที่จะตั้งตรงกลาง ลองย้ายไปตรงมุมดีไหม

หรือถ้าสถานที่ตั้งสวยงาม แต่เป็นทางเดิน มันเกะกะหรือเปล่า ถ้าคนต้องเดินผ่านจะสมควรไหม หรือขยับไปนิดหนึ่งแล้วปรับอะไรเพิ่ม เช่น เปิดช่วงกำแพงบ้าง หรือก่อสร้างอะไรขึ้นมารองรับ

อย่างพระรูปสมเด็จย่า ซึ่งทางมูลนิธิทันตนวัตกรรม มีแนวคิดสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานในสวนหน้าอาคารซึ่งเป็นลานกว้าง เมื่อไปดูสถานที่แล้ว ก็สรุปกันว่าจะแกะสลักเป็นภาพประทับนั่ง โดยต้องมีการปรับภูมิทัศน์ด้านหลังด้วยการนำต้นไม้ไปแทรก ปรับเนินดิน สร้างความสูงเพิ่มเพื่อให้บังเสาไฟฟ้า และสะพานรถวิ่งข้างหลังที่รบกวนสายตา ผมดีไซน์ออกมาคร่าวๆ ว่าอยากให้เป็นรูปประทับนั่งอยู่บนเนินเขาในอิริยาบถสบายๆ ดูผ่อนคลาย จากนั้นมีการพูดคุยร่วมกันว่าเห็นชอบไหม แล้วจึงปั้นดินเหนียวต้นแบบ มีการตรวจอีกรอบเพื่อปรับเพิ่มเติม ขั้นตอนต่อมาคือหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ทำพิมพ์ แล้วหล่อออกมาอีกที

เราจะใช้รูปปูนปลาสเตอร์เป็นตัววัดขนาดว่าต้องใช้หินขนาดแค่ไหนที่จะไม่แหว่ง ไม่เว้า หรือมีรอยพาดผ่าน จนกระทั่งหาหินได้ ซึ่งผมใช้เวลาเกือบ 2 เดือน สำหรับการหาหินจากคาราร่า อิตาลี เพื่อสร้างพระรูปนี้ หาแล้วหาอีก ขึ้นไปตระเวนบนเหมืองเอง

ทำไมไม่ใช้วิธีสั่ง แต่ทุ่มเทเดินทางไปด้วยตัวเอง?

จริงๆ จะไม่ไปก็ได้ แค่สั่งไปว่าเอาแบบนี้ ขนาดแค่นี้ก็ได้ แต่สิ่งที่จะตามมาคือเราไม่มีทางรู้ว่ามันมีรอยแตก รอยร้าวอะไรตรงไหน มีรอยดำๆ พาดผ่านตรงไหน และเป็นหินจากที่ไหน ผมจะรู้ว่าหินจากจุดไหน เหมืองไหน มีคุณสมบัติเป็นแบบไหนที่เหมาะกับชิ้นงาน หินอ่อนหลายสิบ หลายร้อยชนิดไม่ใช่ว่าจะเหมือนกันหมด เราต้องรู้ว่างานที่จะทำต้องใช้ความแกร่งประมาณแค่ไหน เนื้อละเอียดแค่ไหน บางชนิดสีออกอมเทา บางชนิดอมเหลือง บางชนิดมีลายเป็นเส้น บางชนิดลายเป็นจุด ขึ้นอยู่กับว่ามาจากแหล่งไหน เลยต้องไปเลือกเอง บางทีเราสั่งไปว่าอยากได้ขนาดเท่านั้นเท่านี้ เขาถ่ายรูปส่งกลับมาให้ โอเค แต่เขาไม่พลิกด้านล่างให้ดูนะ จะรู้ได้อย่างไรว่าข้างล่างไม่เป็นรอยหรือเป็นรูอยู่

เลือกหินผิดชีวิตเปลี่ยน?

ใช่ สมมุติว่าทำงานมาทั้งหมด 9 เดือน แล้วขุดมาเจอรอยบนหน้า เท่ากับว่าทิ้งเวลาทั้ง 9 เดือน รวมอีก 2 เดือนที่ไปหาหิน ต้องเริ่มใหม่ ซึ่งก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น สมัยยังอยู่อิตาลี ด้วยความที่เหมืองอยู่หลังบ้าน ขับรถขึ้นไปแค่ 20 นาทีก็ถึงแล้ว มันก็ไม่ได้มีผลอะไรมาก ไปเลือกใหม่ได้ แต่นั่นผมเลือกชิ้นเล็กๆ เอามาทำไซซ์เล็กๆ ในขณะที่แบบโอเวอร์ไซซ์ยากมากที่จะหาให้ได้สมบูรณ์ บางก้อนความสูงถึง แต่ปลายเท้าแหว่ง ขาดไปนิดเดียว บางทีหายไป 10 ซม. ซึ่งไม่ใช่จะไปตัดหินก่อนอื่นมาแปะได้ มันไม่สวย ไม่เหมือนจิตรกรรมที่เป็นงาน 2 มิติ บรรยากาศ สี แสง น้ำหนัก สามารถผลักให้เกิดความลึก ยังพอหลอกได้บ้าง

ด้วยลักษณะงานที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในแต่ละชิ้น ค่าใช้จ่ายที่ได้รับเพียงพอหรือไม่?

จริงๆ แล้วหลายงานที่ทำ พูดตรงๆ ว่ามีเข้าเนื้อบ้าง แต่ด้วยความที่ตั้งใจอยากจะทำเพื่อใคร บางงานมีความสำคัญ ไม่ใช่งานที่อยากหากำรี้กำไร อย่างงานมูลนิธิต่างๆ เงินบางอย่างเขาเอาไว้สำหรับทำประโยชน์ให้สังคม เลยรู้สึกว่าโอกาสที่ได้ทำงานก็เป็นค่าตอบแทนในความรู้สึกระดับหนึ่ง แม้จะเข้าเนื้อไปบ้างจะมากจะน้อยแล้วแต่งาน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เอามาเปิดเผยเท่าไหร่ เพราะไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ รู้สึกว่าเป็นงานที่รัก สบายใจที่ได้ทำ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาและทำงานจริงในอิตาลี ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงด้านศิลปะของโลก วัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ กับคนที่นั่นแตกต่างกันไหม?

ก็ค่อนข้างแตกต่างนะ ระบบการเรียนรู้ของเราอย่างที่ศิลปากร จะเรียนทุกด้านตั้งแต่ปีแรกๆ คนที่จบสาขาประติมากรรม เรียนปั้น ก็เพนต์ได้ คนเรียนเพนต์ก็ทำงานปั้นได้เหมือนกัน สำหรับที่นู่นเวลาเรียนก็เรียนอย่างนี้แหละ แต่พอไปทำงานจริงๆ ในสตูดิโอเขาจะแบ่งกันเลยว่าคนนี้ทำงานด้านนั้น คนนี้ทำงานด้านนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่ขึ้นรูปจากหินก้อนสี่เหลี่ยม ค่อยๆ กะเทาะชิ้นใหญ่ๆ เอาค้อนทุบแรงๆ ให้ดูรู้ว่าตรงนี้เป็นหัว ตรงนี้เป็นแขน ขา ให้พอเห็นคร่าวๆ ขึ้นโครงไว้เสร็จแล้วจะส่งไปอีกแผนกหนึ่งที่มีหน้าที่เก็บรายละเอียดซึ่งก็แบ่งย่อยออกไปอีก เช่น คนนี้ทำเสื้อผ้า คนนี้ทำผม มือ หน้า แล้วส่งต่อแผนกขัด คนที่แกะจะปั้นไม่ได้ แกะหินได้อย่างเดียว ช่างปั้นก็ปั้น ช่างทำแม่พิมพ์ก็ทำแม่พิมพ์

ทำไมชอบแกะสลักรูปบุคคล ความท้าทายอยู่ตรงไหน?

เพราะไม่ใช่แค่ว่าทำให้เหมือนแล้วจบ มันท้าทายตรงที่ว่าเราจะถ่ายทอดรูปบุคคลให้ถ่ายทอดความรู้สึกของคนคนนั้นส่งต่อให้คนที่ดูงานได้อย่างไรโดยผ่านมุมมองของเรา แต่ต้องไม่เอาแนวความคิดของตัวเองไปบัง ไม่ต้องไปใส่สไตล์ หรือความรู้สึกของตัวเองมาก นึกภาพว่าเราไปที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเห็นคนเดินผ่านแวบๆ ด้วยหางตา เรารู้ว่า อ๋อคนนี้เรารู้จัก เราจำได้ ผมอยากให้เกิดความรู้สึกแบบนั้นกับงาน

ทำไมแค่ “ความเหมือน” จึงไม่พอ?

เป็นแนวคิดส่วนตัว ไม่แน่ใจว่าทุกคนควรคิดอย่างนี้ไหม คือผมรู้สึกว่าการถ่ายทอดความรู้สึกของคนแต่ละคนมีแง่คิดอะไรบางอย่างซึ่งมีความลึก ไม่ได้ถ่ายทอดด้วยคำพูดง่ายๆ แต่ดูแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง อย่างสมเด็จย่า เราอ่านพระราชกรณียกิจ หรือเคยเห็นวิดีโอเก่าๆ ทั้งหมดทั้งมวล รวมกันแล้วทำให้รับรู้ได้ว่าพระองค์ท่านทรงมีแนวคิดอย่างไร แล้วทั้งหมดจะถ่ายทอดอย่างไรกับรูปปั้นที่นั่งนิ่งเฉยๆ นี่คือเรื่องของการประมวลผลว่าจะดึงส่วนไหนที่ชัดที่สุดมานำเสนอ คนดูแล้วสัมผัสได้ในสิ่งที่เราเรียนรู้มา

ระหว่างบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และเสียชีวิตไปแล้ว งานไหนยากกว่า ความแตกต่างอยู่ตรงไหน?

แตกต่างกันแน่นอน ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว อาจเหลือแต่ภาพถ่าย มันยากตรงที่ว่าจะหาข้อมูลอย่างไร ถ้าเป็นรูปวาด ขอแค่มีภาพถ่าย 1 ใบ เพราะเป็น 2 มิติ ไม่ต้องมองมุมอื่น แต่พอเป็นรูปปั้นปุ๊บ เราต้องหาข้อมูล ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง เฉียง ก้ม เงย ทุกด้านที่ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถามว่าใครจะถ่ายรูปเยอะขนาดนั้น ถ้าไม่ได้จำเป็น การหารูปภาพที่เราจะเห็นทุกๆ ด้านในวันเดียวกัน ชุดเดิม ช่วงอายุเดิม แทบเป็นไปไม่ได้เลย โครงหน้าคนเปลี่ยนตลอด หรือแม้แต่ก้มนิดหนึ่ง มุมปากก็เปลี่ยน เงยนิดหนึ่งก็เปลี่ยน เหมือนเวลาถ่ายเซลฟี่ พอทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ การหาอ้างอิง แล้วต้องการทุกด้านให้ครอบคลุม เป็นเรื่องยากมาก ที่เหลือจึงต้องอาศัยจินตนาการมาผสม บางทีได้รูปด้านข้างอายุ 19 รูปหน้าด้านตอนอายุ 40

ที่กล่าวกันว่าหินอ่อนจาก “คาราร่า” ดีที่สุด มีคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ และสุนทรียะอย่างไร?

หินอ่อนที่คาราร่า ในอิตาลี ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก ไม่ใช่ว่าสวยที่สุดในโลก แต่เหมาะที่สุดที่จะเอามาแกะสลักแบบนี้ เพราะเนื้อค่อนข้างละเอียด ผลึกคริสตัลเป็นผงเล็กมากๆ การอัดตัวแน่น ไม่ร่วน ในขณะที่หินในโซนเอเชียทั้งหมด อย่างจีน เวียดนาม พม่า ไทย คริสตัลใหญ่ อย่างที่สระบุรีมีหินอ่อนเหมือนกัน แต่คริสตัลเกาะกันค่อนข้างหลวม จินตนาการถึงน้ำตาลก้อนสี่เหลี่ยม ขอบมันจะแตกๆ เป็นแบบนั้นเลย เวลาแกะสลักขอบเหรียญเครื่องราชฯ รายละเอียดพวกนี้จะหาย เพราะป่นหมด นี่คือสาเหตุว่าทำไมใช้ไม่ได้ ก่อนไปอิตาลีก็เคยแกะพวกหินแกรนิตบ้าง หินบะซอลต์ หินทราย แต่ไม่ตอบโจทย์ เพราะผมต้องการแสดงความอ่อนช้อย ความมีเลือดมีเนื้อที่วัสดุอื่นไม่สามารถให้ได้ ไม่ว่าจะหล่อเป็นบรอนซ์ก็ตาม ด้วยความที่เป็นโลหะ ไม่สามารถแสดงความเป็นเลือดเป็นเนื้อชัดเจน แต่หินอ่อน เวลาขัดแต่งทุกอย่างเรียบร้อย เมื่อโดนแสงสามารถให้ความมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นผิวหนังที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ซึ่งหินชนิดอื่นทำไม่ได้


ความมี “ชีวิต” ของประติมากรรมหินอ่อนมาจากอะไร ความเหมือน ทักษะ อารมณ์ ฯลฯ?

ทั้งหมดที่กล่าวมาเลย การจะทำให้รูปรูปหนึ่ง มีชีวิตได้อย่างแรกคือกายวิภาค ต้องเรียนว่าคนเรามีกระดูกกี่ชิ้น ชิ้นไหน อยู่ตรงไหน เรียกชื่ออะไรบ้างซึ่งผมไม่เคยจำได้เลย (หัวเราะ) แต่จำได้ว่าชิ้นนี้อยู่ตรงไหน ปลายกล้ามเนื้อ หัวเส้นเอ็นเกาะตรงจุดไหน การขยับแขน บิดแขนขึ้นมาข้างหนึ่ง กล้ามเนื้อชิ้นไหนทำงานบ้าง สิ่งเหล่านี้ประกอบให้เราทำงานแล้วเข้าใจมากขึ้น ทุกอย่างจะไม่เหลวไปเหลวมา

อย่างที่สองคือ เรื่องอารมณ์ที่จะแสดงผ่านชิ้นงานไม่ว่าจะภาพเขียน รูปปั้น การจะถ่ายทอดออกมา ต้องศึกษา เช่น ทำรูปบุคคล ซึ่งถ้าเขาไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเขานิสัยอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูล ถ้ามีแค่รูปถ่ายแล้วทำเลย โอเค อาจจะได้รูปหนึ่งที่เหมือน ดูแล้วเหมือนๆๆๆ แต่มันไม่รู้สึกว่ามีชีวิตชีวา

ด้วยลักษณะงานที่ต้องประณีตมาก นอกจากฝีมือ ต้อง “ใจเย็น” มากกว่าปุถุชนทั่วไปหรือเปล่า?

จะทำงานอย่างนี้ต้องมีความอดทนกับทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่เริ่มงานจนจบกระบวนการมันยาวมาก อีกอย่างคือความรู้สึกรักในงานที่ทำ เพราะนี่คืองานที่สามารถทำให้เกิดความท้อถอยได้ตลอดเวลา ผิดพลาด ก็ต้องเริ่มใหม่ ถ้าไม่รักจริงๆ สมมุติง่ายๆ จะเริ่มงาน ชิล..ชิล มาก หยิบค้อนมาทุบไป เป้งๆๆ เป้งที่ 3 ลงนิ้ว เลือดสาด จะรู้สึกว่าอยากทำงานต่อไหม ถ้าอยากทำ เจ็บก็เจ็บช่างมัน ใจจดใจจ่อกับงาน เดี๋ยวหายก็ทำต่อ

แล้วเคยมีงานที่ทำจะเสร็จอยู่แล้ว แต่พังในเสี้ยววินาทีไหม แก้ไขอย่างไร?

เคยครั้งหนึ่ง ตอนที่เริ่มแกะหินอ่อนครั้งแรกตอนไปอิตาลี เป็นรูปเด็กในจินตนาการ เพราะชอบความไร้เดียงสา แกะๆ ไปจนใกล้เสร็จ ด้วยความที่ชินว่าองศานี้ เครื่องมือนี้ ลักษณะนี้ตอนที่แกะหินทราย มันใช้ได้ คืออยากเซาะให้เป็นร่อง คล้ายๆ ตัดเส้น ให้คมขึ้น ลึกขึ้น ก็ลองทำดู ทำปุ๊บ นิ้วกระเด็นหัก ผมก็ โอ้! (หัวเราะ) ทำอยู่ 2 เดือนกว่าๆ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เลยติดกาว แต่ก็ทำให้เกิดคราบเหลือง เนื้อกาวแม้จะดีแค่ไหน ผสมอะไร ก็เกิดรอยนิดๆ เป็นตราบาปว่าทำพลาด (หัวเราะ) ไม่ควรมี ครั้งนั้นเป็นบทเรียนว่าต้องวางระเบียบแบบแผนให้ชัดเจนกว่าเดิม ต้องคิดตั้งแต่การร่างต้นแบบสเกตช์

ปัจจุบันภาครัฐพยายามสนับสนุน “ศิลปะร่วมสมัย” ทั้งการจัดเทศกาลศิลปะนานาชาติ สนับสนุนจังหวัดหลายแห่งเป็นเมืองศิลปะ ส่วนตัวมองวงการนี้อย่างไร?

จริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ในวงการเท่าไหร่ เพราะไม่ได้มีงานแสดงในแกลเลอรี่ ไม่ได้ทำงานเป็นคอลเล็กชั่น ผมไม่ค่อยบอกด้วยซ้ำว่างานที่ทำเป็นงานศิลปะ ผมทำงานประติมากรรม เพราะฉะนั้นผมเป็นประติมากร ศิลปินอาจต้องมีลักษณะงานที่สร้างสรรค์ สื่ออะไรมากกว่านี้ แต่ผมเจาะจงทำงานแกะสลักหินอ่อน สิ่งที่ต้องการจะสื่อในชิ้นงาน ไม่ใช่ความรู้สึกของตัวผมโดยรวมว่าอยากจะพูดเรื่องนั้น อยากจะทำหัวข้อนี้ แต่ตอนอยู่อิตาลีก็เคยไปพวกงานเบียนนาเล่อยู่บ้าง

ความมุ่งหวังสูงสุดในอาชีพประติมากรคืออะไร?

จริงๆ แล้วที่ผมเลือกทำงานแกะสลักหินอ่อน เพราะว่าวัสดุมีความพิเศษของมันอยู่ ตัวชิ้นงานอยู่ได้ยาวนาน และสื่อเรื่องความรู้สึก อยากให้ตัวชิ้นงานอยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ อยากให้ของทั้งหมดที่ทำไว้เป็นสมบัติชาติ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เป็นสมบัติของโลก เหมือนเวลาเราดูงานของไมเคิล แองเจโล 500 กว่าปีแล้วที่เขาทำทิ้งไว้ ทุกวันนี้คนก็ยังต่อแถวเพื่ออยากจะเห็นสักครั้ง.

—————————-

จาก”เด็กอมมือ” สู่ประติมากรอนาคตไกล

เมื่อ”พรแสวง” สำคัญกว่าพรสวรรค์

“ตอนนั้นผมไม่มีความรู้ ทำอะไรไม่เป็นเลย เข้าไปนี่แบบ…เป็นเด็กอมมือ สู้เขาไม่ได้ เรียนตามเพื่อนแทบไม่ทัน ด้วยความที่ทุกคนเป็นหมดแล้ว วิชาศิลปะของเราก็แค่ส่งกระดาษ 1 รูปต่อหนึ่งอาทิตย์”

ประติมากรหนุ่ม นที เกวลกุล เล่าย้อนอดีตเมื่อครั้งเข้าเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ รั้ววังท่าพระ ซึ่งครั้งนั้นเจ้าตัวอายุเพียง 16 ปี เพราะสอบเทียบตั้งแต่ชั้น ม.4 แล้วสอบเข้าสถาบันการศึกษาด้านศิลปะเก่าแก่ของประเทศ เมื่อ พ.ศ.2538 ด้วยแรงบันดาลใจจากการ “แปรอักษร” จากเด็ก “สายสามัญ” สู่นักเรียนศิลปะอย่างเต็มตัว


“ผมเรียนมัธยมที่อัสสัมชัญ บางรัก วาดการ์ตูนเขียนโต๊ะไปเรื่อยเปื่อย วิชาศิลปะ วาดสีน้ำ ทำได้ ไม่ถึงกับเด่น แต่ดูดีกว่าคะแนนสอบวิชาเลข (หัวเราะ) ตอนฟุตบอลประเพณีจตุรมิตร มีการแปรอักษร สมัยก่อนไม่มีคอมพิวเตอร์ การที่จะให้คนบนอัฒจันทร์ทั้งหมด เปิดแล้วพลิกเป็นรูปภาพรูปหนึ่ง เราต้องพรินต์กระดาษมารูปหนึ่ง พรินต์ตารางกราฟ เอาสีระบายแต้มเป็นจุดเพื่อทำเป็นรูปภาพ สีเมจิกแต่ละอันแทนหมายเลข เอาสีนั้นไปเขียนเป็นโค้ดบนกระดาษ แล้วขึ้นไปแจกบนอัฒจันทร์คนละแผ่น ว่าแต่ละคนได้โค้ดอะไร ทุกอย่างมันแมนนวลมากๆ ชอบที่ได้วาดรูปลงสีเล่น ได้ไปคลุกคลีกับรุ่นพี่ที่เขาอยู่ใน ม.5 ม.6 ซึ่งเตรียมสอบเอ็นทรานซ์แล้ว ตอนนั้นศิลปากรไม่อยู่ในหัว ไม่รู้จักคณะจิตรกรรมฯ”

อาจเป็นคำถามเชยๆ แต่ต้องฟังจากปากประติมากรตัวจริงว่า ระหว่างพรสวรรค์ของศิลปิน กับพรแสวงของคนธรรมดาที่มุ่งมั่นสร้างงานศิลปะ อย่างไหนสำคัญกว่า

“พรสวรรค์ทำให้เราจับอะไรง่ายขึ้นเยอะ แต่พรแสวงสำคัญกว่าเพราะเป็นเรื่องทักษะ ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองโอกาสดีเพราะเริ่มเร็ว เลยมีเวลาในการฝึกเร็วกว่าคนอื่น”

ตอบอย่างเรียบง่าย ถ่อมตัว แม้เป็นประติมากรฝีมือเยี่ยมดังประจักษ์แก่สายตาในวันนี้.

ภาพส่วนหนึ่งจาก www.natee-marblesculpture.com

ชมผลงานเพิ่มเติม IG : natee_kev

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image