ดริฟต์รอบเจดีย์ ดราม่า ‘ฉายซ้ำ’ ตอกย้ำความผิดพลาดเมืองประวัติศาสตร์ ‘อยุธยา’

กลายเป็นประเด็นฮือฮาอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมีคลิปวิดีโอถูกแชร์ว่อนโซเชียลเน็ตเวิร์ก สำหรับการแข่งดริฟต์รถยนต์ด้วยความเร็วสูงรอบ วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม บนถนนโรจนะ ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมียอดคลิกเข้าชมนับแสนครั้งในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง พร้อมๆ กับกระแสสังคมที่ถาโถมดุเดือดผ่านโลกออนไลน์ ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเจดีย์ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน ซ้ำยังอยู่ในเมืองมรดกโลก

แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงสนับสนุนว่าเป็นกิจกรรมสุดเจ๋ง ที่สร้างทั้งสีสัน และชื่อเสียงให้อยุธยา ทั้งยังเป็นวงเวียนที่มีรถวิ่งผ่านเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมามีข้อมูลเผยว่า เป็นการถ่ายภาพยนตร์โฆษณาบุหรี่ยี่ห้อหนึ่งของอินโดนีเซีย ไม่ใช่การแข่งรถจริงๆ ทั้งยังได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จึงยิ่งถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไฟเขียว

อย่างไรก็ตาม หากเปิดแฟ้มวิวาทะและดราม่าโบราณสถานทั้งปวงในอดีต จะพบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หากแต่ปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนยากจะหลีกประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย ตอกย้ำความผิดพลาดในอดีตให้เจ็บจี๊ดถึงขั้วหัวใจ

pra01100659p3
(บน) ชาวกรุงเก่าร่วมประเพณีแห่ผ้า-ห่มรอบเจดีย์วัดสามปลื้ม เมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา (ล่าง) กองถ่ายหนังฝรั่งเศส ขนเครื่องเรือนประกอบฉากขึ้นตำหนักพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีจิตรกรรมอายุกว่า 300 ปี

 

Advertisement

ผิดตั้งแต่”ตัดถนน” พุ่งชนโบราณสถาน?

เรื่องเจดีย์และวัดวาอาราม ต้องสอบถามไปยัง ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งให้ข้อมูลว่า เจดีย์วัดสามปลื้มนี้มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1900-2100 เป็นโบราณสถานเก่าแก่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง

ส่วนประเด็นดริฟต์รถรอบเจดีย์นั้น อาจารย์ตอบสั้นๆ แต่ชวนสะดุ้งว่า ผิดตั้งแต่การสร้างถนนโรจนะ โดยวางแนวให้ซ้อนทับกับโบราณสถานดังกล่าวแล้ว

“ทั้งที่เห็นอยู่ว่าเป็นโบราณสถานก็ยังวางแนวถนนให้ตรงกับวัด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นโดมิโน เพราะเมื่อมีถนน ต่อให้ไม่มีการแข่ง แต่รถวิ่งผ่านทุกวันก็กระทบโบราณสถานอยู่แล้ว เนื่องจากมีแรงสั่นสะเทือน ดังนั้นอย่าโทษแค่คนแข่งรถ ต้องโทษตั้งแต่คนวางแผนสร้างถนนสายนี้”

Advertisement

ถึงไม่ถ่ายหนัง ก็ต้องพังอยู่แล้ว?

มาถึงความเห็นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนที่ยังไม่ทันชมคลิปสุดฮอต ก็บอกทันควันว่า “ถึงไม่ถ่ายหนังโฆษณา ก็ต้องพังอยู่แล้ว เพราะแรงสั่นสะเทือนจากรถยนต์ การตัดถนนเข้า-ออกเมืองในอดีต เป็นเหตุให้โบราณสถานมากมายถูกทำลายหายเหี้ยนไถทิ้งหมดทั้งวัด และไม่ใช่วัดเดียว แต่โดนไปนับสิบๆ วัด”

สุจิตต์ ยังกล่าวว่า เจดีย์วัดสามปลื้มไม่ได้กำเนิดมาโดดๆ แต่เดิมเป็นเจดีย์ประธานของวัดที่มีโบสถ์ วิหาร และศาสนสถานอื่นๆ ครบครัน น่าจะเป็นวัดสำคัญ ไม่ใช่วัดเล็กๆ อยุธยาซึ่งเป็นมรดกโลก มีศักยภาพที่จะทำการตลาดได้อย่างวิเศษ หากแต่สังคมและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่สนใจ จึงยังคิดไม่ออกว่าทางรอดของอยุธยาจะป้องกันแก้ไขอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีกรณีให้ผู้รักในศิลปวัฒนธรรมของชาติหัวใจจะวายมาก่อนแล้วหลายหน โดยเฉพาะการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังยุคกรุงศรีอยุธยาอายุราว 300 ปีที่เฝ้าถนอมกันมาหลายชั่วคน

ย้อนอดีตกองถ่าย ใจสลายซ้ำซาก

หากย้อนเวลากลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยุธยาเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์มากมาย เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดมหาธาตุ โบราณสถานถูกปีนป่าย และติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายทำ ซึ่งย่อมกระทบต่อโบราณสถานไม่มากก็น้อย รวมถึงวัดพุทไธศวรรย์ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ก็เกิดเป็นข่าวฮือฮาในเดือนมีนาคม 2558 เมื่อกองถ่ายหนังสัญชาติฝรั่งเศส ขนไฟและเฟอร์เนิเจอร์มากมาย ทั้งตู้ เตียง เก้าอี้ ที่นอน ขึ้นไปบนตำหนักเพื่อเซตฉาก

บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมงานขออนุญาตกับไวยาวัจกรของวัดโดยตรง กรมศิลป์ไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องดังกล่าว แต่มีหน้าที่ดูแลการบูรณะ ไม่ให้มีการรื้อถอน หรือก่อสร้างเพิ่มเติมในโบราณสถานเท่านั้น

ผนึกกำลังต้าน “แข่งฟอร์มูล่าวัน”กรุงรัตนโกสินทร์

ย้อนมาที่กิจกรรมดริฟต์รถในเขตโบราณสถาน ซึ่งก่อนหน้านั้นมีสถานการณ์เทียบเคียงอย่างกรณีการแข่งขันรถยนต์ฟอร์มูล่าวัน ชิงแชมป์โลก ปี 2558 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยวางแผนจะใช้เส้นทางแข่งขันบนถนนรอบกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักโดยเครือข่ายชุมชน 20 แห่งในเขตพระนคร เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ นักวิชาการ และประชาชน

ซึ่งถึงกับออกแถลงการณ์ลงวันที่ 8 มิ.ย.2556 โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ทั้งด้านวิถีชีวิต จิตวิญญาณ สิ่งแวดล้อมไหนจะช่วงเตรียมงาน จัดสถานที่ ปิดถนนระหว่างแข่ง เคลียร์พื้นที่หลังจบงาน สุดท้ายแผนดังกล่าวก็ต้องพับไปโดยปริยาย

pra01100659p2
ประชาชนต้านการแข่งฟอร์มูล่าวันรอบกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปี 2556

เจอกันครึ่งทาง แนะสร้าง”มาตรฐาน”ให้ชัด

ปัญหามากมายเช่นนี้ จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า อย่างนี้แล้วไม่ต้องอนุญาตให้ถ่ายทำเลยดีหรือไม่ เพราะไหนๆ ก็เป็นโบราณสถาน ควรมีไว้แค่เชิดชูบูชาและศึกษาเท่านั้น?

ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ หุ้นส่วนบริษัท 3,000 บีซี จำกัด ผู้ผลิตสารคดีด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งต้องใช้บริการพื้นที่เขตโบราณสถานเป็นประจำ มองว่า การถ่ายทำเพื่อเผยแพร่ก็มีส่วนช่วยในการเรียนรู้และช่วยส่งเสริมให้คนรู้จักมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ วิธีการที่ถูกต้อง ควรสร้างมาตรฐานให้ชัดเจนว่ากรณีไหนควรอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยมีกฎเกณฑ์เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

อย่างกรณีดริฟต์รถรอบเจดีย์ ซึ่งในเอกสารขออนุญาตปรากฏข้อความเขียนด้วยลายมือ ว่าเป็นการใช้พื้นที่รอบเจดีย์ ไม่มีการเข้าไปถ่ายทำในตัวโบราณสถาน ซึ่งสุดท้ายได้ไฟเขียวนั้น ฆนัทมองว่า ผู้พิจารณาควรรอบคอบกว่านี้ ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนอนุมัติ

“ควรมีกฎเป็นข้อๆ มาเลย สมมุติว่าผ่าน 10 ข้อนี้ อนุญาต ผ่านไม่ครบกี่ข้อไม่อนุญาต เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้หลายมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งจะสามารถแทงเรื่องกลับไปตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาได้ด้วยในกรณีที่ผ่านเกณฑ์ แต่ไม่ได้รับอนุญาต เพราะที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาว่า บทจะยากก็ยาก บทจะง่ายก็ง่าย คือ ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน”

ฆนัทยังเล่าอีกว่า ตนเคยร่วมงานกับกองถ่ายละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งใช้พื้นที่โบราณสถานเป็นฉาก ปรากฏว่าทีมงานสอบถามด้วยความไม่รู้ ว่าสามารถฝังระเบิดไว้ใต้กองอิฐเก่าได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องหาอิฐใหม่มาวาง

“พอได้ยินอย่างนั้นแล้วตกใจมาก ต้องรีบอธิบายว่า ซากอิฐผุๆ แค่ 10-20 ก้อนนี้มีคุณค่ามากแค่ไหน เพราะเป็นฐานเจดีย์รายล้อมรอบเจดีย์ประธานของวัด ถามว่าทีมงานผิดไหม เขาไม่ผิด เพราะไม่รู้ ปัญหาคือ ทำไมเขาไม่รู้ ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของมัน ตรงนี้คงต้องส่งคำถามกลับไปยังสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ทำไมคนไทยไม่ให้ความสำคัญในมรดกวัฒนธรรมของเรา”

ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่หลายคนคาดหวังให้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย แต่คงไม่ง่ายที่จะเป็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image