เจาะปมร้อน ย้อนปม’เด้ง’ ปวิตร มหาสารินันทน์ 19 เดือนในมรสุม’หอศิลป์ กทม.’

“ผมอึ้งไปเลยครับ”

คงเป็นประโยคบอกเล่าธรรมดาๆ ถ้าไม่ได้มาจากปาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ บ่งบอกถึงความรู้สึกในวินาทีแรกที่ได้รับทราบว่าโดน “เด้ง” กระเด็นกระดอนจากเก้าอี้

ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกสั้นๆ กันอย่างติดปากว่า “หอศิลป์ กทม.” โดยเจ้าตัวบอกว่า ไม่มีเค้าลางใดๆ มาก่อน นำมาสู่การร่อนจดหมายเรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดใหม่ ซึ่งเข้ารับตําแหน่ง

อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 “ไล่ออก” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยให้ปฏิบัติงานวันสุดท้าย วันที่ 30 กันยายน 2562

Advertisement

เมื่อข่าวสะพัดออกไป ชาวโซเชียลทั้งในและนอกวงการศิลปะ ตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง ผุดแคมเปญในเว็บไซต์ change.org จี้ให้เปิดเผยรายละเอียดการประเมินอย่างโปร่งใส ไม่เพียงเท่านั้น ยังนำแผนภูมิผลประกอบการหอศิลป์ยุค ผอ.ท่านนี้นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2561 ถึงปัจจุบันมายืนยันว่านอกจากไม่ได้มีปัญหาอะไรแล้ว ยังสามารถหารายได้นอกเหนือจากการสนับสนุนของ กทม.อีกด้วย ส่วนจำนวนผู้เข้าชมก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

แน่นอนว่าสปอตไลต์ฉายไปยังหน่วยงานรัฐอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยมีประเด็นร้อนแรงเมื่อราว 1 ปีก่อน หลังเล็ง “ยึด” หอศิลป์กลับไปบริหารเอง จนประชาชนไทยร่วมใจลงชื่อค้านพุ่งทะลุหมื่น เหล่าศิลปินบุกยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ยังไม่นับกิจกรรมนัดแต่ง “ชุดดำ” ร่ายบทกวีและครวญเพลงไว้อาลัย สุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. พับแผน โดยทิ้งท้ายว่า จะปล่อยให้มูลนิธิหอศิลป์บริหารถึงปี 2564 ตามบันทึกลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จากนั้นค่อยว่ากันอีกที

Advertisement

ตัดฉากมาในเหตุการณ์ไล่ออก ผอ.หอศิลป์ครั้งนี้ เกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงว่าไม่มีเอี่ยวแน่นอน เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการมูลนิธิ

เหตุการณ์นี้ แม้สร้างความอึ้งตะลึงงันให้ทั้ง ผศ.ปวิตร รวมถึงสังคมไทยที่คาใจประเด็นดังกล่าว ทว่า หากย้อนไปพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีแล้ว ก็มีเงื่อนปมที่บ่มเพาะสถานการณ์จนสุกงอมมาถึงวันนี้ และเป็นเรื่องที่คงอธิบายได้ไม่ยาก หากแต่โปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวก็แง้มประเด็นไว้ในจดหมายที่ส่งถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในตอนหนึ่งว่า

‘เหตุผลหนึ่ง จากการบอกเล่าด้วยวาจา คือ กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ไม่พอใจ การแสดงความเห็น เรื่องการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน’

เมื่อย้อนกลับไปดูถ้อยความในการพูดคุยกับสื่อ แถลงข่าวต่อสาธารณะ และให้สัมภาษณ์ แม้ ผศ.ปวิตรไม่ได้แสดงอาการขึงขัง ทว่ามี “ท่าที” บางอย่างที่อาจสร้างความ “ไม่โอเค” ในความรู้สึกของผู้มีอำนาจหรือไม่ เพราะไม่เพียงสะท้อนปัญหาหลากหลายและ “หยุมหยิม” ที่ต้องมานั่งแก้ แต่อาจยังทำให้อีกฝ่ายกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในภาพจำของสังคม เช่น เมื่อครั้งงานแถลงข่าว “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 10 ปี พื้นที่แห่งการเรียนรู้” ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ซึ่งผู้บริหารหอศิลป์มีการให้ข้อมูลแน่นปึ้ก เกี่ยวกับผลงานและการดำเนินงานรวมถึงงบประมาณปี 2561 ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ในทางปฏิบัติ

ในวันนั้น ผศ.ปวิตรกล่าวว่า ในขณะที่ประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ ยังมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้น เช่น จัดงานแล้ววิทยากรที่เชิญมาขอ “ไม่รับค่าตัว” ทั้งยังกล่าวเชิญผู้ฟังบรรยาย “ร่วมบริจาค” ด้วย นอกจากนี้ ทางหอศิลป์ยังได้รับเชิญจากพิพิธภัณฑ์ในเมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี ให้ไปแสดงงานโดย “ได้รับเงินค่าใช้จ่าย” จากทางพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้นในงานเดียวกัน ผศ.ปวิตรยังรับหน้าที่เป็นพิธีกรเอง โดยกล่าวอย่างติดตลกว่า “ต้องประหยัด เนื่องจากมีปัญหาด้านงบประมาณ” ส่วนค่าจ้างยามต้องเอาเงินส่วนอื่นมาจ่าย

สลับฉากมายังช่วงหลังถูก “ไล่ออก” เจ้าตัวเปิดใจกับโต๊ะข่าวบันเทิงของ “มติชน” ว่า จากที่ได้ยินจากคำบอกเล่าของคณะกรรมการบางคนอย่างไม่เป็นทางการ เรื่องนี้มีเหตุผล 2 ข้อ

“เรื่องแรกคือผมไปวิจารณ์การทำงานของ กทม. ท่านว่าเป็นการวางตัวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผมอยู่ตรงกลางไงครับ ระหว่างกลุ่มศิลปินที่เขาเรียกร้องและโจมตีค่อนข้างรุนแรง กับมูลนิธิที่สงวนท่าที ทีนี้ผมจะสงวนท่าทีตามกรรมการมูลนิธิคงไม่ได้ ศิลปินก็คงไม่ยอม กรรมการท่านก็ให้ความเห็นว่าผมไปด่าเขา ซึ่งผมก็ทบทวนดูว่าสิ่งที่ผมพูด คือการด่าหรือเปล่า ผมว่าก็ไม่ถึงขั้นด่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการบอกให้ประชาชนรับทราบ ว่าปัญหาคืออะไร

การบอกว่าตอนนี้หอศิลป์มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ขอให้ทุกคนช่วยกันมาหอศิลป์ และถ้ามีเงินเหลืออยากจะบริจาคก็ได้ ไม่ได้เป็นการด่าว่า กทม.ไม่ให้งบ และผมไม่ได้ใช้คำผรุสวาท หรือคำที่รุนแรงเวลาพูดถึง การที่กทม.ส่งหนังสือมาว่างบประมาณปี 63 ไม่ได้รับการอนุมัติ หรือส่งใบแจ้งหนี้ค่าน้ำค่าไฟ ย้อนหลังมาอย่างละ 20 ฉบับ อันนี้ผมมองว่าประชาชนก็ต้องรับทราบ เพราะมันคือหอศิลป์ของประชาชน”

“ส่วนเรื่องที่สอง คือเรื่องที่ผมปรับตัวเข้ากับการทำงานของที่นี่ได้บ้างแล้ว แต่ใช้เวลาปรับตัวได้ช้าเกินไป ซึ่งผมก็บอกว่า อย่างแรกมันเจอปัญหาถาโถมเข้ามา เพราะอย่างนั้นงานหลักในช่วงที่ผ่านมาของผม คือควบคุมไม่ให้มันเสียหาย ให้อยู่รอดได้ อีกเรื่องคือบุคลากรคนสำคัญ เช่น หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการก็ลาออก หอศิลป์ไม่มีหัวหน้าฝ่ายนิทรรศการอยู่ 7 เดือนครึ่ง คือผมก็มีประสบการณ์อยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการได้ 100% เพราะฉะนั้นหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องบกพร่องอยู่แล้ว”

แต่ผมต้องขอเรียกร้องความเห็นใจนิดหนึ่ง ว่าตอนที่สมัครงานนี้เข้ามา ผมไม่นึกว่าจะเจอปัญหาระดับนี้ ปัญหาที่กรรมการมูลนิธิเองก็ยอมรับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับหอศิลป์ การที่หอศิลป์ยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ และอยู่ในสภาพที่ดีเหมือนทุกวันนี้ มันก็คือผมและทีมงานทุกคน ผมว่าน่าจะพิจารณาตรงนี้ด้วย เพราะมันก็เหนื่อยมาก ไม่มีเรื่องโดนไล่ออกนี่ ผมก็หงอกไปหลายเส้นแล้ว”

ผศ.ปวิตรยังระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เข้าชมหอศิลป์ กทม.โดยเฉลี่ยวันละ 5,600 คน และประชาชนจํานวนมากก็กรุณาบริจาคเงินสมทบทุนช่วยเหลือองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็มาร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ทําให้รายจ่ายของหอศิลป์ลดลงตามลําดับ จากปี 2560 จํานวน 75 ล้านบาท ปี 2561 จํานวน 63 ล้านบาท และปี 2562 นี้ประมาณการไว้ที่ 48 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชมงานปีนี้ ประมาณการว่าจะสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา คือ 1.9 ล้านคน

ภาพจาก change.org


เมื่อเจาะลงไปใ
นรายละเอียดของปมปัญหาอันนำมาซึ่งการแสดงออกทางความเห็นต่อสื่อของ ผศ.ประวิตร ที่ถูกมองเป็นการ “ด่า” นั่นคือ “งบประมาณ” ซึ่ง สรรเสริญ มิลินทสูต ประธานคณะกรรมการหอศิลป์ เคยแถลงในรายละเอียดไว้เมื่อ พ.ศ.2561 ในช่วงที่มีประเด็นร้อนแรงเกิดขึ้นแล้ว ตอนหนึ่งว่า ปี 2560 หอศิลป์มีรายรับ 85 ล้านบาท กทม.ให้ 45 ล้านบาท นับเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 47 เปอร์เซ็นต์ คือ 40 ล้านบาท มาจากการบริหารพื้นที่ โมเดลหอศิลป์ต่างจากที่อื่นคือ มีร้านค้า ร้านอาหาร เป็นพื้นที่ซึ่งไม่ใช่แค่โชว์งาน แต่ให้คนมาใช้ชีวิตได้ โดยเป็นหอศิลป์ของประชาชนที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน มีการเชื่อมโยงกันของกิจกรรม

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องงบประมาณประจำปี 2561 แม้งบจำนวน 40 ล้านบาท อยู่ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว แต่ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถเบิกจ่ายงบดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องขออนุมัติโดยผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แตกต่างจากที่ผ่านมาซึ่งได้รับเป็นงบอุดหนุนให้นำมาบริหารจัดการเอง

“ที่ผ่านมา หอศิลป์ได้งบ 40-50 ล้านต่อปี เป็นงบอุดหนุน สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ กทม.ไม่ได้โอน 40 ล้านมาทั้งก้อน แต่งบอยู่ที่สำนักวัฒนธรรมฯ เราต้องตั้งโครงการขึ้นไปขออนุมัติเป็นเรื่องๆ ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบราชการ อย่างค่า รปภ.ก็เบิกไม่ได้ เพราะทำสัญญาไว้ก่อน พอตั้งงบไป ก็ไม่ได้ เกิดการติดขัดในการดึงมาใช้ เลยต้องใช้งบจากรายได้ส่วนอื่นบริหาร ผลกระทบที่เกิดคือต้องประหยัด ลดจำนวนกิจกรรมลง” สรรเสริญระบุ

ในขณะที่ มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดัง ในฐานะกรรมการบริหารหอศิลป์ ก็เคยเปิดใจถึงสถานการณ์ “รัดเข็มขัด” จนท้องกิ่ว

เพราะวืดงบปี 61 รวมถึงปมที่ภาครัฐพาหอศิลป์ “ถอยหลังลงคลอง” เนื่องจากมีข่าวในขณะนั้นจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ว่า ทางสำนักฯได้รับงบจำนวน 40 ล้านบาท สำหรับหอศิลป์ กทม. โดยต้องเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

“โดยปกติงบประมาณที่หอศิลป์ได้รับ เรียกว่างบอุดหนุน คือ เป็นงบที่มอบให้หอศิลป์บริหารจัดการเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ทางสภา กทม. ไม่เห็นด้วยที่จะให้งบอุดหนุน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความพยายามในการของบประมาณเพื่อใช้ประโยชน์จึงให้เปลี่ยนวิธีการให้งบไปอยู่ใน ‘หมวดรายจ่ายอื่น’ ซึ่งการจะเบิกงบต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น หอศิลป์จึงไม่สามารถใช้งบดังกล่าวได้

“ผู้ที่กำกับดูแลคือสำนักวัฒนธรรม จะบอกว่าให้งบหอศิลป์ ก็ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือเปล่า เพราะไม่ใช่งบอุดหนุนแล้ว แต่เป็นงบค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ เพราะระเบียบวิธีการเบิกจ่ายต้องเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง เท่ากับว่าหอศิลป์ไม่สามารถใช้งบนี้ได้ ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ของหอศิลป์ไม่สามารถดำเนินต่อได้ภายใต้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักวัฒนธรรม ซึ่งสำนักฯก็ไม่สามารถเบิกจ่ายให้เรามาใช้ในกิจการเหล่านี้ได้ โดยอ้างว่าผิดระเบียบ มีวิธีการเปิดประมูล ซึ่งทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า เราได้งบมันก็ไม่ถูก”

มานิต ยังระบุว่า ปัญหานี้ เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นของการจัดตั้งหอศิลป์ จนมีการแก้ไขโดย กทม.ในยุคนั้นตั้งมูลนิธิหอศิลป์ขึ้น เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่พอมาถึงยุคนี้ กลับถูกนำระบบเก่าที่มีปัญหามาใช้อีก นับได้ว่าเป็นการถอยหลังลงคลอง

“เราเคยใช้ระบบนี้มาก่อนตอนตั้งหอศิลป์ใหม่ๆ ในช่วงพยายามหาโมเดลที่พยายามจัดการให้เกิดความคล่องตัว เพราะพบปัญหาว่าเป็นไปไม่ได้เลยภายใต้วิธีการทำงานแบบราชการ จึงเกิดงบอุดหนุน ไม่ใช่ว่าไม่เคยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านสำนักวัฒนธรรม เหตุที่เกิดมูลนิธิ ก็เพราะ กทม. รุ่นเก่าก็เห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหา ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรจะให้เกิดความคล่องตัวในกิจการของหอศิลป์ กทม.จึงจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา แต่ข้าราชการรุ่นใหม่ อาจขาดช่วง ไม่ทราบประวัติ สภากทม. ส่วนหนึ่งไม่เข้าใจความเป็นมา ยื่งชุดที่มาจากการแต่งตั้ง เขาไปดูข้อระเบียบต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการอธิบายกันหมดแล้ว มีการถกเถียงกันจนสรุปมาเป็นมูลนิธิ ข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองไม่ศึกษาประวัติ ทั้งที่เอกสารอยู่กับเขาหมด พอมาถึงกลับไปดูว่า มันเบิกจ่ายตามระเบียบนี้ได้ไหม ประเด็นนี้คือการตีความข้อกฎหมายที่ต่างกัน นี่คือปัญหา บอกให้เงินอุดหนุนไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ให้กันมาเกือบ 10 ปี ทำไมให้กันมาได้” คือความเห็นในครั้งนั้นของศิลปินดังที่มีบทบาทเคลื่อนไหวค้านยึดหอศิลป์ ถึงขนาดอ่านแถลงการณ์หน้าหอศิลป์ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ร่วมกับเครือข่ายศิลปินจำนวนมาก อาทิ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีต ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, จุมพล อภิสุข และวสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นต้น

สำหรับเนื้อหาโดยสรุปเรียกร้อง 3 ข้อในขณะนั้น ได้แก่

1.ให้ กทม.ต่ออายุสัญญาโอนสิทธิการใช้อาคารแก่มูลนิธิหอศิลป์ ทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

2.ขอให้แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ของ กทม.ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรร และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

3.การสรรหากรรมการมูลนิธิหอศิลป์ ขอให้ผู้ว่าฯ เห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิโดยกรรมการสรรหาประกอบไปด้วย ตัวแทนจาก กทม., ตัวแทนศิลปิน, ตัวแทนนักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ, ตัวแทนด้านเด็กและเยาวชน, ตัวแทนด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

มานิต ยังห่วงประเด็นอายุสัญญาโอนสิทธิที่ให้ใช้พื้นที่จะหมดลงภายใน 3 ปี คือ ปี 2564 ซึ่งเหล่าศิลปินมองว่าอยากให้มีการแก้ไขก่อน เนื่องจากมีภาคเอกชนต้องมาใช้บริการซึ่งย่อมต้องการความมั่นคง ต้องประเมินสถานการณ์ เพราะฉะนั้นผลกระทบจะเป็นลูกโซ่

ทว่า ยังไม่ถึงวันนั้น ก็เกิดเหตุ “ไล่ออก” ผอ.หอศิลป์ขึ้นมาเป็นปมร้อนอีกระลอก

ท่ามกลางความสงสัยของสังคมไทยในขณะนี้ ผศ.ประวิตรบอกว่า ขณะนี้ยังเฝ้ารอรับทราบ “เหตุผล” ที่แท้จริงจากคณะกรรมการ ซึ่งเคยขอไปตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

“ผมก็ยังดูท่าทีต่อไป เพราะเรื่องคงไม่จบวันนี้ คงมีความเคลื่อนไหวต่อ…”

สำหรับการฟ้องร้องจะมีขึ้นหรือไม่ (อดีต) ผอ.หอศิลป์บอกว่า คงต้องปรึกษาทนายในคดีการเลิกจ้าง “ไม่เป็นธรรม” อย่างไรก็ตาม เขาไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น เพราะ “ทุกท่านผมก็รู้จักหมด เคยทำงานด้วยกัน”

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าคิดผิด หรือเสียดาย ที่ลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วต้องมาเจออะไรอย่างนี้ เพราะนี่คือ “งานในฝัน”

ครั้นฟังคำถามว่า หากมีคนสนใจมาเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์คนใหม่ จะแนะนำว่าอย่างไร

เจ้าตัวบอก

“ผมเพิ่งพูดติดตลกกับแฟน ว่าคนมาเป็น…ถ้าไม่บ้าก็เมา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image