อาศรมมิวสิก : ‘ตูรันโด’และ‘รูซัลกา’สองอุปรากรว่าด้วยเทศนาธรรมความรัก : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

“อุปรากรไม่เคยน่าเบื่อหรอก คุณเชื่อผมเถอะ” เพื่อนอาวุโสชาวต่างชาติของผู้เขียนคนหนึ่งเคยกล่าวคำนี้กับผู้เขียนไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งสำหรับในเมืองไทยเรานั้นแม้จะมีการแสดงซิมโฟนีคอนเสิร์ต และเชมเบอร์มิวสิกอยู่เสมอๆ แต่ละครอุปรากร (Opera) นั้น ต้องจัดได้ว่าอยู่ในขั้นหาชมได้ยากทีเดียว เพราะการจัดการแสดงแต่ละครั้งใช้คณะนักแสดงและต้นทุนที่สูงมาก

อย่างไรก็ดี ในงาน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพ” ที่จัดขึ้นทุกปี ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ก็จัดเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้แฟนๆ ชาวไทย ได้มีโอกาสชมการแสดงอันยิ่งใหญ่นี้ได้ โดยในปีนี้ (ถือเป็นครั้งที่ 21) ทางคณะผู้จัดงานได้จัดการแสดงอุปรากร 2 เรื่องด้วยกันคือ “ตูรันโด” (Turandot) ผลงานของ “จาโคโม พุชชินี”(Giacomo Puccini) ที่ใช้เปิดเทศกาลในปีนี้ ในวันพุธที่ 11 กันยายน และเรื่อง “รูซัลกา” (Rusalka) ผลงานของ “อันโตนิน ดวอชาค” (Antonin Dvorak) ในคืนวันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ.2562 ซึ่งในปีนี้แสดงโดยคณะอุปรากร “เอกาเตรินเบอร์ก”
(Ekaterinburg) แห่งประเทศรัสเซีย

มีคำกล่าวในเชิงวิชาการที่พูดถึงอุปรากรว่า คือศูนย์รวมของการสร้างสรรค์ศิลปะในทุกแขนงของมนุษย์เข้ามาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การละคร, การขับร้อง, การบรรเลงดนตรี, เครื่องแต่งกาย, ฉาก, แสง, สี, เสียง…………ฯลฯ และวรรณคดี (ตัวบท) ศิลปะเหล่านี้มาหลอมรวมกันอยู่ในการแสดงอุปรากรแต่ละครั้ง

ละครอุปรากรต้องการสื่อ “สาร” (Message) ผ่านทุกช่องทางการรับรู้ของมนุษย์ทั้งจักษุประสาทและโสตประสาทไปพร้อมๆ กัน เมื่อแนวคิด, วัตถุประสงค์เป็นเช่นนี้ “ภาษา” จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ ของศิลปะชนิดนี้ นับเป็นคุณูปการอันสำคัญยิ่งของคณะผู้จัดงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารตัวบทที่แปลเป็นภาษาไทย (และภาษาอังกฤษ) กับผู้ชมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดที่เป็นชาวไทยด้วยการตั้งจอฉายภาพบทแปล 2 ภาษาข้างเวทีทั้งสองด้าน ซึ่งทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวบทได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง

Advertisement

ด้วยฝีมือการแปลชั้นครูที่มุ่งถ่ายทอดใจความด้วยเนื้อหา โดยไม่ติดอยู่กับขั้นการแปลตามอักขระ อีกทั้งหลายช่วงยังมีการแปลถ่ายทอดความด้วยสัมผัสคำเป็นร้อยกรองที่เรียกว่าได้รสคำของตัวบทในระดับวรรณคดีอย่างแท้จริง สมค่าคู่ควรแก่คำว่า “วรรณกรรมบทละคร” คุณูปการนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนได้เห็นถึงการเชื่อโยง ความหมาย, ข้อคิดและปรัชญาของความรักที่ได้สะท้อนย้อนแย้งถึงคุณและโทษของมันโดยละเอียด มันเป็นการตั้งคำถามให้เราต้องค้นหาต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น พลวัตแห่งความรัก ที่ขับเคลื่อนทั้งการสร้างสรรค์และทำลายล้างแค้นไปในเวลาเดียวกัน

นี่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นแก่นแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์ในทุกยุคสมัยที่ไม่เคยเปลี่ยน และศิลปะก็ได้ทำหน้าที่ของมัน คือสะท้อนความจริงเหล่านี้ให้ผู้คนได้ประจักษ์และฉุกคิดทบทวน

ตูรันโด-ปมรักที่บ่มถอนปมแค้น
จากการได้อ่านตัวบทแปลโดยละเอียดในขณะ ทำการแสดง ทำให้เราจับประเด็นสำคัญที่ได้บ่มเพาะบุคลิกภาพอันโหดร้าย, เย็นชาของเจ้าหญิงตูรันโด นั่นคือความแค้นฝังใจของพระนาง จากมรณกรรมของเจ้าหญิง “โหลวยู่หลิง” (Louling) เจ้าหญิงเลอโฉม บรรพบุรุษของพระองค์เมื่อนับพันปีก่อน ที่ถูกชายต่างถิ่นฉุดคร่าไปทรมานและสังหารทิ้งภายในคืนเดียวหลังประเทศแพ้สงคราม ร่างไร้วิญญาณในสุสานหลวงและเรื่องราวตำนานอันอัปยศนี้เอง ที่ได้สร้างความแค้นฝังใจให้พระองค์จงเกลียดจงชังเพศชาย และใช้ความงามของพระองค์หลอกล่อ ให้เจ้าชายจากต่างแดนเข้ามาเล่นเกมปริศนาเดิมพันความรักกับชีวิต กับพระนางจนเจ้าชายต่างแดนมากมายต้องมาจบชีวิตให้กับเกมเดิมพันอันโหดเหี้ยมนี้

Advertisement

ผู้เขียนรู้สึกว่าประเด็นนี้ช่างเปรียบเสมือนสำเนาหรือฉบับเทียบเคียงกับนิยายอาหรับราตรี (1001 Nights) ที่สุลต่าน “ชาห์ริอาร์” (Shahriar) ผู้โหดเหี้ยมสังหารสตรีทุกนางหลังจากผ่านการเป็นมเหสีของพระองค์เพียงคืนเดียว จากปมแค้นที่พระองค์เคยถูกมเหสีนอกใจมาครั้งหนึ่งในชีวิต ความเคียดแค้นฝังใจจนก่อโศกนาฏกรรมกับชีวิตคนบริสุทธิ์อื่นๆ อีกมากมายที่ต้องตกเป็นเหยื่อนับไม่ถ้วน วงจรบาปมหันต์นี้เกิดจากความรัก และมันก็สิ้นสุดหยุดลงได้ด้วยความรักแท้อีกเช่นกัน เจ้าหญิงตูรันโดหยุดการก่อโศกนาฏกรรมกับชีวิตเจ้าชายต่างถิ่น มากมายได้ก็ด้วยความรักแท้ที่พระนางมีต่อเจ้าชายคาลาฟ (Calaf) นั่นเอง

พุชชินีใช้เสียงดนตรีของวงออเคสตราขับเน้นความหมายของประโยคคำในตัวบทได้อย่างสอดรับ, เสริมความรู้สึกของตัวอักษรให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบทในช่วงสำคัญๆ อาทิ การทาย-การตอบปริศนา 3 ข้อ ของเจ้าหญิงตูรันโด กับเจ้าชายคาลาฟ ที่เป็นจุดตื่นเต้นสูงสุดของเรื่อง เสียงดนตรีจะช่วยเสริมความตื่นเต้นได้อย่างน่าทึ่งในชั่วขณะนั้น

ตัวบทบางช่วงแสดงถึงความรักในอุดมคติ, อุดมคติที่อาจเป็นที่ยากต่อความเข้าใจในบางยุคสมัย เช่น ช่วงที่นางรองของเรื่องที่ชื่อ “หลิว” (Liu) ซึ่งแอบหลงรักเจ้าชายคาลาฟ ข้างเดียวและเฝ้าติดตามกษัตริย์ติมูร์ พระบิดาของเจ้าชายคาลาฟอยู่มิได้ห่าง เธอปกป้องเจ้าชายที่เธอรัก, ผู้สูงส่งที่เธอรู้ดีว่าเป็นความหวังที่ไม่มีทางเป็นจริงได้ เมื่อเธอถูกทรมานให้บอกชื่อเจ้าชายคาลาฟ

เธอกล่าวว่า……. “ความรักนี้แม้เก็บงำไว้มิได้บอก แต่มันก็ยิ่งใหญ่จนแม้รสชาติแห่งการทรมานนี้ก็ยังหอมหวาน อันเปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าสำหรับหม่อมฉัน”

ใครก็ตามที่เกิดมาแล้วได้ประสบพบพานความรู้สึกรักอันยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ได้ปานนี้ ย่อมน่าจะได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้จริง

บางครั้งคำว่า “อุดมคติ” หรือ “น้ำเน่า” มันก็อยู่ที่การตีความและประสบการณ์ของตัวเราเอง ความรักที่เสียสละยอมดื่มกินรสแห่งความเจ็บปวดด้วยตัวเองแทนคนที่เรารักอาจเป็นน้ำเน่าในการตีความของบางคน แต่มันกลับเป็นอุดมคติอันงดงามสำหรับบางคน ฤๅว่าแท้จริงมันก็คือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสภาวะแห่งจิตใจของผู้ตีความที่เฝ้าดูเหตุการณ์กรณีของความรักแบบนี้นั่นเอง

อุดมคติแห่งความรักอันสูงส่งของแม่นางหลิวนี้ ทำให้ผู้เขียนอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับอุดมคติในความรักอันสูงส่งของคุณหญิงกีรติในนิยาย “ข้างหลังภาพ” ของนักเขียนสุภาพบุรุษ “ศรีบูรพา” นักเขียนไทยยกย่อง, ผู้บูชาอุดมคติอย่างแท้จริง, ด้วยใจจริงและด้วยชีวิตจริงๆ ของตัวท่านเอง

รูซัลกา : รักต้องห้ามข้ามภพภูมิ

โดยปกติเรามักนึกถึงอันโตนิน ดวอชาค ดุริยกวีชาวเช็กแห่งศตวรรษที่ 19 ในฐานะนักแต่งเพลงซิมโฟนีคนสำคัญของโลก โดยเฉพาะซิมโฟนีหมายเลข 9 บทสุดท้ายที่มีฉายาว่า “From the New World” ซึ่งประพันธ์ในขณะพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกา และเลิกเขียนเพลงซิมโฟนีแล้ว ดวอชาคหันมาให้ความสนใจในดุริยางคศิลป์ ที่นำไปผสมผสานกับศิลปะวรรณกรรม ซึ่งในกรณีนี้เขาได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมพื้นบ้านแนวเทพนิยายของโบฮีเมีย โดยนักเขียนวรรณกรรมแนวพื้นบ้านชาวเช็กที่ชื่อว่า “คาเรล ยาโรเมียร์ เออร์เบน” (Karel Jaromir Erben) วรรณกรรมพื้นบ้าน (แฝงแนวคิดสยองขวัญ) ของ คาเรล เออร์เบน นี้เองที่ดวอชาคได้นำเนื้อหาไปแต่งเพลงซิมโฟนิกโพเอ็ม (Symphonic Poem) หรือดนตรีซิมโฟนีเล่าเรื่องราวไว้ถึง 4 บทด้วยกัน และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องนางพรายน้ำ รูซัลกานี้เองที่ดวอชาคนำมาใช้เป็นเนื้อหาในการประพันธ์อุปรากรเรื่องนี้

กล่าวโดยเชิงขนาดโครงสร้าง นี่ไม่ใช่อุปรากรอลังการยิ่งใหญ่แบบเรื่อง “ตูรันโด” แต่ในด้านคุณค่าทางศิลปะ, เนื้อหา, ข้อคิดสอนใจนั้น มีประเด็นอะไรๆ ที่ทิ้งให้เราขบคิดมากมาย เนื้อหาของเรื่องที่กล่าวถึงโลกในอีกมิติหนึ่งของภูตและวิญญาณกับโลกมนุษย์ ที่แม้จะแยกจากกันโดยภพภูมิ แต่ก็ยังเชื่อมถึงกันด้วยสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือความรัก และสะท้อนให้เห็นว่า ความรักอันงดงามที่เชื่อมโลกสองภพภูมิเข้าด้วยกันนี้แหละที่เป็นตัวสร้างปัญหาความวุ่นวาย, ความสงบสุขของทั้งสองภพภูมิ

เรื่องของนางเอกที่เป็นพรายน้ำที่ข้ามภพภูมิยอมทุกข์ทรมานไปให้แม่มดแปลงร่างเป็นมนุษย์เพื่อจะมาใช้ชีวิตร่วมกับเจ้าชายที่ตนเองแอบหลงรัก นี่ดูว่าจะมีอะไรๆ หลายๆ อย่างที่สอดคล้องและพ้องตรงกับเทพนิยาย “เงือกน้อย” (The Little Mermaid) ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ็น (Hans Christian Andersen) นักเขียนชาวเดนมาร์ก (และยังมีอะไรๆ บางอย่างที่เหมือนกับตำนานแม่นาคพระโขนงของไทยเรา!)

นางพรายน้ำรูซัลกาที่หลงรักเจ้าชายหนุ่มรูปงาม แม้บุญไม่ถึงก็ยังดันทุรัง ทำทุกวิถีทางด้วยอำนาจของความรัก (ที่เป็นฝ่ายกิเลส)

ตัวบทในเรื่องรายละเอียดนั้น สอนใจเรื่องปรัชญาความรักได้ดีกว่าคำเทศนาทางศาสนาด้วยซ้ำไป แม้ความรักจะเป็นสิ่งงดงาม แต่ในอีกด้านหนึ่งเราจะต้องรู้เท่าทันให้ได้ว่า ความรักยังต้องผูกพันและสัมพันธ์กับเงื่อนไขอื่นๆ อีกนานัปการในวิถีชีวิตจริงของแต่ละคน

อุปรากรเรื่องนี้มีการแปลตัวบทที่งดงามแบบวรรณคดีที่เป็นแบบอย่างว่าคู่ควรแก่คำว่างาน “วรรณกรรมบทละคร”อย่างแท้จริง อาทิ ตอนที่เจ้าชายมาพบหน้ารูซัลกาที่เพิ่งแปลงร่างเป็นมนุษย์ เป็นครั้งแรก ตัวบทแปลว่าดังนี้

“…….เจ้างดงามดุจภาพฝันอันพิสุทธิ์
คือมนุษย์หรือร่างของนางฟ้า
เจ้าเข้ามาปกปักนางกวางป่า
ที่คลับคลาอยู่รางๆ หรืออย่างไร?
ข้าเลิกล่าด้วยกวางป่าก็คือเจ้า
คือดวงดาวสีทองผ่องไสว
ขับค่ำคืนดำหม่นให้พ้นไป

อรทัยจงคลาไคลไปด้วยกัน……..”
อุปรากรเรื่องนี้ยังสอดแทรกการวิพากษ์กิเลสมนุษย์ ได้อย่างถึงแก่น โดยทั้งหมดนี้ผ่านมุมมองจากโลกของภูตและพรายน้ำ ที่มีแต่ความสนุกรื่นเริง (เพราะโลกของพวกเขาอยู่กับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ที่ไม่มีพลังกิเลสอันร้อนแรงคอยขับเคลื่อนแบบโลกมนุษย์) ดังตัวอย่างบทเพลงวิพากษ์กิเลสมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมด้วยความหมายอันละเมียด นั่นคือบทเพลงร้องเดี่ยวเสียงเบส (Bass) ของ “วอดนิค” (Vodnik) เจ้าบาดาล ที่มีเนื้อความว่า

“……….อนิจจารูซัลกาหน้าซีดเผือด
ณ โลกนี้เจ้าเลือกมาเกลือกกลั้ว
โลกมนุษย์ใครข้องเป็นหมองมัว
ล้วนคนชั่วมิเหมือนบ้านบาดาลเรา…………”

อีกทั้งประโยคสั้นๆ จากบทเพลงร้องของเหล่านางพรายน้ำ ที่พากันรังเกียจรูซัลกาในร่างมนุษย์ ที่หัวใจแตกสลายกลับไปเยี่ยมโลกบาดาล “…..เจ้าเป็นมนุษย์แล้ว จงอย่าเอาความเศร้ามาปนเปื้อนพวกเรา ถ้ามาใกล้พวกเราๆ จักวิ่งหนี….”

อุปรากรเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพขั้นสูงของอันโตนิน ดวอชาคในฐานะนักแต่งเพลงซิมโฟนี เขาใช้ความสามารถด้านนี้ สรรค์สร้างเสียงดนตรีอันมีหลากหลายสีสันซึ่งเสริมบรรยากาศของมิติโลกแห่งภูตพรายน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ขับความหมายของตัวบทเพลงร้องให้ชัดเจนมีสีสันมากยิ่งขึ้นด้วยเทคนิคแบบที่เรียกกันว่า “Word Painting” กล่าวโดยรวมมันคือเทคนิคทางการสร้างเสียงดนตรีซิมโฟนีด้วยเทคนิคที่สูงด้วยประสบการณ์ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ในการเทศนาเรื่องความรัก ในมุมมองทางศาสนา มักจะชี้ให้เราเห็นแต่ด้านที่เป็นโทษ มองความรักเป็นกิเลส, ตัณหา ที่ดูจะน่ารังเกียจและจะต้องขจัดตัดขาด แต่เมื่อผ่านมุมมองจากอุปรากรทั้งสองเรื่องนี้ มันเป็นการนำเสนอ “ความจริงรอบด้าน” เกี่ยวกับปรัชญาความรัก ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ (ในยามที่พวกเราตกเป็นทาสของมันอย่างไม่ลืมหูลืมตา) ศิลปะ, การละครหรืออุปรากรนี้อาจถูกมองว่าเป็น “ข้าศึกแห่งพรหมจรรย์” ในจุดยืนและมุมมองของฝ่ายนับถือศาสนาตามอักขระอย่างสุดโต่ง, กระด้างและเคร่งครัด

แต่ถ้าได้อ่านตำนานเพลงร้องของหญิงเก็บดอกบัวในครั้งพุทธกาล และไม่ลืมว่ามงคลสูตรข้อที่ 8“สิป ปญจ” ความเป็นผู้รอบรู้ทางศิลปะจัดเป็นมงคลชีวิต ซึ่งเป็นคำสอนอันสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

อุปรากรสองเรื่องนี้คือเทศนาธรรมว่าด้วยความรักอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image