ฟัง”อัยยวัฒน์”เล่าเรื่อง 3 ปี”คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ฯ” บทพิสูจน์”พลังคนไทย”

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ขึ้นมา

โครงการดังกล่าวมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคม 4 ด้านใหญ่

หนึ่งคือ กิจกรรมด้านกีฬา (Sport Power) หนึ่งคือ กิจกรรมด้านดนตรี (Music Power) หนึ่งคือ กิจกรรมด้านชุมชน (Community Power) และอีกด้านหนึ่งคือ กิจกรรมด้านการศึกษาและสาธารณสุข (Education and Health Power)

กิจกรรมด้านกีฬา มีโครงการย่อยๆ อาทิ โครงการ “ฟ็อกซ์ ฮันท์” (Fox Hunt) ที่ตั้งใจจะคัดนักเตะเยาวชนไทยจากที่สมัครมาทั่วประเทศ คัดให้เหลือสิบกว่าคนเพื่อไปฝีกซ้อมและเรียนหนังสือที่เมืองเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ

Advertisement

มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่มีความสามารถทางฟุตบอลมีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย” ในชุมชนทั่วประเทศ โครงการแจกลูกฟุตบอล “ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย”

กิจกรรมด้านดนตรี ร่วมมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องเป่าระดับโลก

Advertisement

ขณะที่กิจกรรมด้านชุมชน ได้นำเอาเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทยมาผลิตสินค้าระดับโลก โดยนำไปวางจำหน่ายที่สนามคิง เพาเวอร์ เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

ที่ผ่านมาได้นำเทคนิคการย้อมครามจากสกลนคร ทำเป็นเสื้อ หมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า และอื่นๆ ไปวางจำหน่ายในชื่อคอลเล็กชั่น INDIGO

ต่อมานำเทคนิคการย้อมร้อนย้อมเย็น และเทคนิคการทอผ้าจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ผลิตเป็นเสื้อ หมวก ผ้าพันคอ กระเป๋า และอื่นๆ ไปวางจำหน่าย ในชื่อ คอลเล็กชั่น Thai Natural Dye

แต่ละคอลเล็กชั่นได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศ

ส่วนกิจกรรมด้านการศึกษาและสาธารณสุขนั้น มีโครงการมอบทุนการศึกษา โครงการ “พลังคนไทย สุขา สุขใจ” โครงการ “พลังคนไทย พลังใจให้ชีวิต” มอบตู้อบเด็กให้โรงพยาบาล โครงการ “ก้าวคนละก้าว-ก้าว” ที่มีพี่ตูน บอดี้สแลม วิ่งชักชวนให้คนไทยร่วมบริจาคให้โรงพยาบาล

วันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ถือโอกาสที่โครงการต่างๆ ดำเนินการมา 3 ปี เปิดมหานครแบงค็อก สกายบาร์ ชั้น 76 คิง เพาเวอร์ มหานคร เล่าความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ให้ฟัง

นายอัยยวัฒน์เล่าที่มาของโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ให้ฟังว่า ตั้งแต่ไปซื้อทีมเลสเตอร์ ซิตี้ แรกๆ คุณพ่อ (วิชัย ศรีวัฒนประภา) นั่งดูทีวีอยู่ที่อังกฤษ สื่อที่นั่นเขาไม่ได้ขึ้นจอว่าใครเป็นคนซื้อทีมฟุตบอล

เขาเขียนว่า “ไทย บิสซิเนสแมน” เป็นคนซื้อ

นายอัยยวัฒน์ย้ำว่า สื่อที่นั่นพูดถึงคนไทย

หลังจากนั้น ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ได้ขึ้นชั้นและเป็นแชมป์ เป็นจุดที่ทำให้คิดถึงศักยภาพของคนไทย

“ขณะเดียวกัน ผมเห็นคุณพ่อแม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นตั้งแต่เด็ก ผมได้บอกท่านไปว่าประเทศเรามีคนเดือดร้อนอีกเยอะ น่าจะเอาสิ่งที่เราถนัดไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน”

ในที่สุดก็เกิดโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ขึ้น ด้วยความเชื่อในศักยภาพคนไทย โดยโครงการดังกล่าวแยกเป็น 4 ด้าน คือ กีฬา ดนตรี ชุมชน สาธารณสุขและการศึกษา

สำหรับความคืบหน้าของโครงการด้านต่างๆ นายอัยยวัฒน์เริ่มต้นเล่าอย่างเป็นกันเอง

เริ่มจาก โครงการ 100 สนามฟุตบอลฯ

โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะอยากจะให้ชุมชนมีสนามฟุตบอลหญ้าเทียม ซึ่งทำไปแล้ว 60 แห่งทั่วประเทศ ผลที่เกิดขึ้น คือ ความเจริญของชุมชนนั้นๆ โรงเรียนที่ได้สนามฟุตบอล มีนักเรียนเข้ามาเรียนเพิ่ม มีคนรอบๆ มาเล่นฟุตบอลมากขึ้น มีการค้าขาย ส่งผลให้เกิดความคึกคักในชุมชน

กลายเป็นการสร้างคุณค่าให้กับเมืองและชุมชน ตรงกับแนวคิดสมัยนี้ที่เขาเรียกว่า CSV

โรงเรียนไหน ชุมชนใด ต้องการ ต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ชุมชนที่เกิน 500 คน มีความพร้อมที่จะดูแลสนามฟุตบอล ทางคิง เพาเวอร์ การันตีค่าดูแลรักษาให้ 6 ปี ซึ่งคุณภาพของสนามนั้นมั่นใจว่าดี เสื่อมทรุดยาก

และคุณสมบัติสำคัญอีกอย่างที่ชุมชนหรือโรงเรียนต้องรับปาก นั่นคือต้องอนุญาตให้ชุมชนมาเล่นได้ด้วย

ขณะนี้ทำไปได้ 60 แห่งแล้ว อีก 2 ปี จะทำให้ครบ 100 สนามตามเป้าหมาย

นายอัยยวัฒน์เล่าต่อถึงโครงการ “ล้านลูกล้านพลังฯ”

กิจกรรมที่ทำคือนำลูกฟุตบอลไปแจกให้เด็กและเยาวชน นายอัยยวัฒน์บอกว่า เรามีความถนัดด้านกีฬา สิ่งที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ ในเรื่องฟุตบอลอย่างหนึ่งก็คือ ลูกฟุตบอล

เด็กในกรุงเทพฯอาจจะรู้สึกเฉยๆ กับลูกฟุตบอล 1 ลูก แต่เด็กต่างจังหวัด ลูกฟุตบอล 1 ลูกเป็นอะไรหลายอย่างในชีวิตเขา

ฟุตบอลทำให้เขาแข็งแรง ทำให้เขาผ่อนคลาย ทำให้มีความสุข

“ผมเล่นฟุตบอลมา และเห็นว่าถ้าเรามีลูกฟุตบอลของเราเองเอาไว้ซ้อมจะเป็นประโยชน์มาก”

มาถึงปีนี้แจกไปแล้ว 5 แสนลูก และจะทยอยให้ครบ 1ล้านในอีก 2 ปีข้างหน้า

ส่วน “Fox Hunt” โครงการในฝันของเด็กและเยาวชนไทยหลายคนนั้น นายอัยยวัฒน์มั่นใจว่า เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นทีมเดียวที่สามารถทำได้จริง คือ ให้โอกาสเด็กไทยได้ไปฝึกซ้อมได้จริง

“เด็กๆ จะได้รับการฝึก อบรม พัฒนาตัวเอง ทั้งด้านฝีมือ ด้านความรู้ เพื่อพัฒนาความเป็นมืออาชีพ แล้วกลับมาพัฒนาประเทศไทย ตอนนี้รุ่นแรกได้กลับมาแล้ว บางคนได้ติดทีมชาติทั้ง U 17 U 19 บางคนไปเล่นไทยลีก ลีก 2 บ้าง ลีก 3 บ้าง น้องๆ ที่ไปฝึกฝีมือดีขึ้นทุกปี การหาเด็กจะหาทั่วประเทศ ตอนนี้มีผู้สมัครหลายพันคน เพราะเราทำได้จริง จึงมีคนสนใจ ทำมา 5 ปี ได้ 52 คน พอ 10 ปีก็น่าจะได้ 100 คน ซึ่ง 100 คน กลับมาแล้วสามารถสร้างลีกไทยให้ดีขึ้น อาจจะมีคนที่ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ อาจจะเป็นคนที่ทำให้ไทยเข้ารอบลึกๆ ได้”

นายอัยยวัฒน์บอกถึงความหวังที่อยากเห็น

ส่วนเสียงสะท้อนของน้องๆ ที่ไปฝึกซ้อมและเรียนที่เลสเตอร์ ซิตี้ นั้น นายอัยวัฒน์บอกว่า ต้องปรับตัว

“เขาต้องปรับตัว ต้องซ้อมมาก ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ชีวิตเปลี่ยนไป ต้องแข่งกับฝรั่ง แต่เขาก็บอกว่าสู้ครับพี่”

ขณะนี้น้องที่กลับมาได้สังกัดทีมฟุตบอลการท่าเรือ ทีมขอนแก่นเอฟซี และบางคนที่อยู่ในทีมฟุตบอลของเบลเยียม

นายอัยยวัฒน์เล่าต่อถึงโครงการที่เกี่ยวกับชุมชน โดยกลับมาที่เรื่องคุณค่าท้องถิ่นไทย

“ตอนทำโครงการก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้สะท้อน Value ของที่นั่น ทำอย่างไรให้เขาดีขึ้น”

ทราบมาว่า ทีมงานต้องทำงานอย่างหนัก จนกระทั่งไปปิ๊ง “ผ้าคราม” ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จากนั้นทีมดีไซเนอร์ได้เข้าไปออกแบบให้เข้ากับสินค้าที่ใส่โลโก้ทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้

อีกปีหนึ่ง ทีมงานทำงานเช่นเดิม แต่คราวนี้เปลี่ยนจากภูมิปัญญาภาคอีสาน ไปเป็นภูมิปัญญาภาคเหนือ โดยเอาเทคนิคการย้อมและการทอจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มาออกแบบเป็นสินค้าของเลสเตอร์ ซิตี้

“เวลาที่นำสินค้าไปขายที่อังกฤษ เราจะอธิบายรายละเอียดของจังหวัด หรือเมือง หรือชุมชนที่กำเนิดเป็นจุดกำเนิดของสินค้า ผ้าครามเป็นอย่างไร ย้อมกันอย่างไร บอกรายละเอียด ทำให้คนต่างประเทศสนใจ ถามว่าสกลนครอยู่ไหน แล้วก็อยากจะเดินทางมาเที่ยว อย่างที่สกลนคร ตอนนี้คุณยายที่ทำ ลูกๆ ต้องลาออกจากงานมาช่วย เพราะยายมีงานที่ต้องทำมากขึ้น”

นายอัยยวัฒน์บอกว่า การโปรโมตสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักได้เร็วนั้น คือ การใช้แบรนด์ทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ เพราะสินค้าแต่ละอย่าง กว่าจะเริ่มสร้างการรับรู้ กว่าจะอธิบาย กว่าจะเอาสินค้าออกไป ต้องใช้เวลา เรามองว่าทำอย่างไรจะทำให้ฝรั่งเข้าใจสินค้าได้เร็วที่สุด เพื่อให้เขาได้เห็นผลิตภัณฑ์ของไทย เห็นภูมิปัญญาไทยผสมกับแบรนด์ของเลสเตอร์ ซิตี้

การทำเช่นนี้ทำให้ภูมิปัญญาไทยมีชาวต่างชาติรู้จักเร็วขึ้น และให้การตอบรับเป็นอย่างดี

ส่วนสินค้าที่ผลิตแต่ละคอลเล็กชั่นนั้น นายอัยยวัฒน์ให้นโยบายไปว่าต้องเป็น Limited edition เท่านั้น

มาถึงโครงการด้านดนตรี ที่สนับสนุนการแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ นายอัยยวัฒน์บอกว่า ต้องการสนับสนุนให้นักดนตรีไทยที่มีความสามารถ มีอาชีพ มีโอกาสแข่งขันกับระดับนานาชาติ

ขณะที่โครงการด้านการศึกษาและสาธารณสุข ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลง

นายอัยยวัฒน์ขยายความว่า ปีนี้มีการปรับโครงสร้าง โครงการ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จากเดิม 4 ด้านหลัก เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกีฬา, ด้านดนตรี และด้านชุมชน

ส่วนด้านการศึกษาและสาธารณสุข ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินการจากรูปแบบโครงการต่างๆ สู่การร่วมสนับสนุนผ่าน “มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และศาสนาโดยตรง

มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นมูลนิธิ คิง เพาเวอร์ เดิมแล้วมาเปลี่ยนชื่อวันที่ 4 เมษายน

ส่วนการดำเนินการของมูลนิธิวิชัยฯ จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

กิจกรรมในโครงการด้านการศึกษา คือ การให้ทุนการศึกษา

ทั้งนี้ได้มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเดอ มงฟอร์ต ประเทศอังกฤษ ไปแล้วจำนวน 20 คน


ขณะที่กิจกรรมด้านสาธารณสุข มีโครงการ “พลังใจให้ชีวิต” มอบตู้อบเด็กให้โรงพยาบาล ซึ่งแม้บางคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วคนใช้เยอะ มีทั้งตู้ที่อยู่กับที่และตู้ที่เคลื่อนย้ายได้

ทุกโครงการ ขณะนี้เข้าไปอยู่ในมูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา ทำให้โครงการคิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ เหลือ 3 แกนคือ กีฬา ดนตรี และชุมชน ส่วนมูลนิธิดูเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา

โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการมา ทำให้ปีนี้ คิง เพาเวอร์ ได้รับรางวัลความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเลิศระดับเอเชีย “Asia Responsible Enterprise Awards 2019” ด้าน Social Empowerment สร้างชุมชน สร้างสังคมเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยพลังคนไทย

สำหรับความคาดหวังของนายอัยยวัฒน์ นอกจากที่เป็น “ผู้ให้” เองแล้ว ยังอยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ให้มากขึ้น

ที่ผ่านมาจึงให้พนักงานของบริษัทร่วมทำความดี ทั้งการนำลูกฟุตบอลไปให้คนในสังคมชุมชนตัวเอง ทั้งการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ

ทำให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจ

นายอัยยวัฒน์จบท้ายการเสวนาในวันนั้นว่า หลังจากครบ 5 ปี ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี ก็จะรีวิวสิ่งที่ได้ทำไปและผลที่เกิดขึ้น

เมื่อสอบถามถึงจำนวนเงินที่ใช้ไปในโครงการ นายอัยยวัฒน์บอกว่า ประมาณปีละ 200 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคือ ความรุ่งเรือง

เด็กและเยาวชนพัฒนาฝีมือ ความรู้ และมีโอกาสในการเป็นนักเตะ นักดนตรีมีโอกาสได้ประลองฝีมือและนำไปสู่อาชีพระดับนานาชาติ

ชุมชนคึกคักด้วยสนามฟุตบอลฯ ท้องถิ่นมีโอกาสประยุกต์ภูมิปัญญาให้เป็นสินค้าแล้วนำไปจำหน่ายที่อังกฤษ

ทั้งฝีเท้านักเตะ ทั้งสินค้าที่ดีไซน์จากภูมิปัญญา และอื่นๆ ล้วนได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ขณะที่นายอัยยวัฒน์เองนั้นได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน

ยิ่งเรียนรู้ยิ่งมั่นใจในความตั้งใจเดิมที่ผลักดันโครงการ “คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย” ให้เกิดขึ้น

นั่นคือ คนไทยมีศักยภาพ และเป็นศักยภาพที่โลกควรได้รับรู้

ประสบการณ์จากการทำโครงการมา 3 ปีคือข้อพิสูจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image