อาศรมมิวสิก : ดนตรีพิธีแต่งงาน ไม่ไทยแต่เป็นของนอกไปหมดแล้ว : โดย สุกรี เจริญสุข

ในฐานะที่เคยเป็นนักดนตรีและเล่นดนตรีในงานพิธีแต่งงานมาก่อน เมื่อเจอกับพิธีแต่งงานในสมัยปัจจุบัน ทำให้รับรู้และเข้าใจได้เลยว่า พิธีการได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว “พิธีไม่มีไทย” อีกต่อไป ความเป็นไทยนับวันจะล้าสมัยมากขึ้น คนในสังคมหันไปนิยมความเป็นอื่น นิยมพิธีนอก พิธีสากล ตั้งแต่พิธีการเข้าสู่พิธีแต่งงาน ชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็เป็นชุดที่สวยหรูที่สุดในประเพณีและความเชื่อ นิยมตัดเค้กแต่งงานที่สุดหรู ซึ่งถือเป็นจุดสุดยอดของพิธี เพลงดนตรีและวงดนตรี เป็นสิ่งที่ประดับงานแต่งงานให้ดูหรูสุดติ่งเท่าที่จะหาได้ในสังคม ผู้มีอำนาจในสังคมจึงนิยมของนอกอย่างหรู เพื่อแสดงถึงราคาความน่าเชื่อถือในสังคม

แน่นอนเรื่องวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยนั้นเปลี่ยนไปนานแล้ว ประเพณีความเชื่อ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความผิดหรือความถูก แต่เป็นเรื่องของค่านิยมและความนิยมของคนที่อาศัยอยู่ในสังคม เมื่อสังคมคนกรุง (เมืองใหญ่) ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย มีความเป็นอื่นมากกว่าความเป็นไทย มีความแตกต่างในเรื่องความเชื่อ มีความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจ มีคนจนและมีคนรวย มีความแตกต่างในฐานะของสังคม มีชนชั้นที่สูง มีคนชั้นล่าง มีรากหญ้าผู้ที่เข้ามาทำงาน ความแตกต่างเหล่านี้เป็นฐานะของสังคม ทำให้การจัดงานแต่งงานนิยมใช้พิธีกรรมตามฐานะของสังคม ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ “สุดหรู ดูงามตา และสง่าสม” การแต่งงานจึงเป็นการบ่งบอกฐานะทางสังคม

วันนี้พิธีแต่งงานไม่มีวงมโหรีปี่พาทย์อีกต่อไป พิธีกรรมที่แสดงถึงความเป็นไทย ก็ไม่ได้ทำอีกต่อไป ไม่มีเพลงมหาฤกษ์หรือเพลงนางนาคในงานแต่งงาน ไม่มีการสวมมงคลสมรส ที่สำคัญก็คือ ไม่มีเพลงไทยบรรเลงในงานแต่งงานอีกด้วย ดังนั้น เวทีของความเป็นไทยในพิธีแต่งงาน “ของเก่าหาย ของใหม่หด” เป็นเครื่องบ่งบอกให้ทราบว่า วัฒนธรรมดั้งเดิม ความเชื่อพื้นเมือง ประเพณีที่สืบทอดกันมานั้น หายไปหมดแล้ว

คนรุ่นใหม่มาจากไหน วัฒนธรรมใหม่มาจากไหน พิธีแต่งงานของคนรุ่นใหม่มาจากไหน

Advertisement

เนื่องจากคนพื้นเมืองที่เป็นกลุ่มคนดั้งเดิม เป็นเจ้าของที่ดิน อาศัยที่ดินโดยการยึดครองสืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย นับถือผีและมีประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ความรู้โบราณเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่นิยม

คนดั้งเดิมของไทยเหล่านี้ อย่างเก่งก็เติบโตขึ้นมาได้แค่ “เจ้าพ่อหรือเจ้าแม่” อาศัยใจกล้าหน้าสู้ ใช้บริวารเป็นพวก คนท้องถิ่นดั้งเดิมหากมีโอกาสได้รับการศึกษา ก็จะยึดวิถีชีวิตแบบเก่า “การศึกษาเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน” มีโอกาสก็อาศัยการฉ้อฉลและคดโกงเพื่อการสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างบริวาร

สําหรับคนในเมืองใหญ่ เป็นเมืองของความหลากหลาย ผู้คนในเมืองอาศัยการศึกษาที่ดีกว่า รู้วิธีใช้พลังความสามารถและแปรมาใช้เป็นอำนาจ กำหนดอำนาจ สามารถซื้อความสำเร็จเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต วิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่จึงแตกต่างไปจากคนพื้นเมืองดั้งเดิมสิ้นเชิง คนเมืองใหญ่รับเอาวัฒนธรรมที่เป็นนานาชาติ มีคนนานาชาติเข้ามาอาศัย มีการนำวัฒนธรรมนานาชาติเข้ามาใช้ จนเกิดชุมชนใหม่และมีวัฒนธรรมใหม่ โดยตัดขาดออกไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิม

คนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่มีอำนาจทางเศรษฐกิจคือมีเงิน มีอำนาจทางการศึกษาคือมีความรู้ ซึ่งเป็นความรู้ของโลก มีปัญญา มีอำนาจทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร อำนาจของคนรุ่นใหม่จึงดึงดูดวัฒนธรรมโลกมาใช้ คนรุ่นใหม่ยึดอาชีพทำมาหากินสร้างฐานะ โดยใช้ความสามารถเป็นหลัก และใช้เงินซื้อโอกาสในการสร้างตัว เพื่อจะอำนวยความสะดวกในการทำงาน “ความสามารถสร้างโอกาส และโอกาสสร้างโอกาส”

ความเป็นไทยในเมืองใหญ่นั้น ของเก่าหายไปของใหม่ก็หด ความเป็นไทยถอยร่นไปอยู่บ้านนอกที่ห่างไกลความเจริญ คนไทยไม่ได้มีอำนาจต่อรองทางวัฒนธรรมในเมืองใหญ่อีกต่อไป ผืนแผ่นดินที่เคยเป็นที่อยู่ของคนไทย ก็ไม่ได้เป็นที่ดินของคนไทยอีก เพราะบริบททางวัฒนธรรมที่อยู่รอบตัวเป็นพื้นที่วัฒนธรรมอื่นเสียหมดแล้ว จะเหลืออยู่เฉพาะก็เพียงภาษาพูดและอาหารของผู้ยากไร้เท่านั้น ในระยะอีก 10 ปีต่อไปนี้ เด็กไทยทั่วไปก็จะพูดภาษาอังกฤษและพูดภาษาจีนหมดแล้ว ภาษาหนังสือก็จะเป็นภาษานานาชาติมากขึ้น ชื่อคน ชื่อร้านอาหาร ก็จะไม่เป็นไทย ยกเว้นภาษาและวัฒนธรรมของคนจน

เอเยนซี่ (Agency) คือผู้มีอำนาจทางวัฒนธรรมตัวจริง บริษัทที่รับจ้างจัดพิธีงานแต่งงาน จะเสนอรูปแบบของพิธีแต่งงานให้แก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว (เลือก) ส่วนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเพิ่มเติมอะไรก็สามารถที่จะทำได้ โดยธรรมชาตินั้น บริษัทที่รับจ้างจัดพิธีงานแต่งงาน มีสูตรการจัดงานอยู่แล้ว ทุกสูตรพบว่าไม่เหลือความเป็นไทยอีกต่อไป เริ่มตั้งแต่งานพิธีกรรม การจัดปรับแต่งบริบทพิธีในงาน ฉากการถ่ายรูปในงาน ฉากการแสดงความเป็นมาของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว การถ่ายรูปเป็นเรื่องใหญ่ การจัดรูปแบบเค้กและการตัดเค้กแต่งงาน เป็นเรื่องที่หรูหราอลังการ

วงดนตรีและเพลงที่จะเล่นในงานแต่งงาน ขึ้นอยู่กับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเลือก มีวงดนตรีตั้งแต่ชิ้นเดียวแบบคาราโอเกะ มีนักดนตรีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หากเป็นงานหรูๆ ก็ต้องใช้วงใหญ่ที่เป็นวงออเคสตราก็มี สำหรับวงออเคสตราที่ใช้นั้น เมื่อก่อนนิยมวงเครื่องสายแค่ 4-5 ชิ้น วันนี้การจัดวงออเคสตราในงานพิธีแต่งงาน (20-30 ชิ้น) กลายเป็นของหรูของสังคมใหม่ไปเสียแล้ว การใช้วงออเคสตราในงานแต่งงาน กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสากลมากขึ้น

ความหรูของการใช้เพลงคลาสสิกและวงออเคสตราบรรเลงนั้น ซึ่งโรงแรมโอเรียนเต็ลได้ใช้วงเครื่องสาย 4-5 ชิ้น มานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี 2436 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ เพื่อจะบอกให้นานาชาติทราบว่า เป็นโรงแรมที่มีรสนิยมสูง มีความเป็นสากล เมื่อได้นำวงออเคสตรามาใช้บรรเลงในพิธีแต่งงาน ทำให้การแต่งงานของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวสุดหรูขึ้นมาทันที แสดงถึงความมีหน้าตาและงานที่มีรสนิยม

รสนิยมของงานที่นำวงออเคสตรามาบรรเลง ได้อุ้มทำให้งานแต่งงานหรูมากขึ้น อบอุ่น น่าฟัง น่ากิน และเป็นที่ยอมรับของแขกที่มาร่วมในงานด้วย ดูเหมือนว่าพิธีแต่งงานเป็นตัวกระตุ้นและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นมิตรมากที่สุด เข้าถึงได้โดยไม่ขัดแย้ง เพราะทุกคนเป็นญาติ เป็นมิตร เป็นเพื่อนที่ดี ทุกคนไปแสดงความยินดีกับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว เพราะความเป็นมิตรเป็นเสบียงอันประเสริฐ

ถ้าหากในวิถีชีวิตไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อาทิ ความเป็นอื่น การนิยมของนอก หัวนอก ความนิยมฝรั่ง ความเป็นสากล การนำเข้าความสำเร็จ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความขัดแย้งทันที เพราะในทางการเมืองจะต้องนิยมความเป็นไทยเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยจะมีความเป็นไทยอะไรเหลือในสังคมอีกแล้ว

ผลที่ได้จากพิธีการแต่งงานของคนรุ่นใหม่ อาทิ นักดนตรีไทยตกงาน วงดนตรีไทยตกงาน คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเพลงไทย ไม่รู้จักพิธีไทย ในทางกลับกัน นักดนตรีสากลจะมีงานมากขึ้น โดยเฉพาะนักดนตรีที่มีฝีมือสูง เพราะคนรุ่นใหม่มีฐานะที่ดี ต้องการคุณภาพสูงเพื่อประดับฐานะทางสังคม “ของดีมีคุณภาพ” คนรุ่นใหม่จะไม่เกี่ยงราคา สังคมคนรุ่นใหม่ต้องการฝีมือ ต้องการงานที่มีคุณภาพ เพราะคุณภาพเป็นราคาของความน่าเชื่อถือ คุณภาพเป็นมาตรฐานของความเป็นนานาชาติ พูดง่ายๆ ว่า กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย มีความเป็นนานาชาติที่ไม่แตกต่างไปจากเมืองนิวยอร์ก ลอนดอน หรือโตเกียวอีกต่อไป ความเป็นนานาชาติสามารถดูได้จากการจัดงาน พิธีงานแต่งงานของคนรุ่นใหม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

คนรุ่นเก่าของไทยนั้น ยังกลัววิถีชีวิตและความเปลี่ยนแปลง กลัวคนรุ่นใหม่ แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว มีอย่างน้อย 10 ปี เป็นความเปลี่ยนแปลงที่นุ่มนวล งดงาม หรูหราที่สุด โดยผ่านพิธีกรรมการแต่งงาน ซึ่งไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีใครคาดคิด ไม่มีใครรู้สึกสะดุด แต่ทุกคนรู้สึกถึงความประทับใจในบริบทของความเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำไป ไชโยประเทศไทย

ในที่สุด ผู้ชนะก็คือความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image