ธนาวิ โชติประดิษฐ การเมืองในจักรวาลศิลปะไทย

ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ

กระแสเผ็ดร้อนในวงการศิลปะที่พูดกันไม่หยุดในช่วงที่ผ่านมา เห็นจะหนีไม่พ้นกรณี “กวางจู”

เมื่อ “นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” หรือ กวป. ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู กรณีนำผลงานของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งเคยเข้าร่วมกับ กปปส. ไปจัดแสดงในนิทรรศการ “The Truth_ to Turn It Over” รำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวกวางจู

ตามมาด้วยการโต้แย้งกันระหว่างฝ่าย กวป.กับฝ่ายที่สนับสนุนอาจารย์สุธี และการร่วมลงชื่อสนับสนุนยาวเป็นหางว่าวในทั้งสองฝ่าย

คล้ายจะสร้างความร้าวฉานในวงการศิลปิน หรือแท้จริงแล้วความขัดแย้งนี้เพิ่งจะได้เผยตัวออกมา

Advertisement

ชื่อหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเคลื่อนไหวของ กวป. คือ “ธนาวิ โชติประดิษฐ” ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจบการศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนต่อปริญญาโท ด้าน ประวัติศาสตร์ศิลปะเปรียบเทียบตะวันตกและเอเชีย จากมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden University) เนเธอร์แลนด์

ปริญญาเอก ประวัติศาสตร์ศิลปะ จากเบิร์กเบค แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (Birkbeck, University of London) สหราชอาณาจักร

Advertisement

ที่ผ่านมาจะเห็นชื่อของเธอผ่านตาได้จากบทความด้านศิลปะในวารสารต่างๆ และล่าสุดผุดโปรเจ็กต์ทำวารสารวิชาการภาษาอังกฤษร่วมกับเพื่อนนักวิชาการและภัณฑารักษ์ในต่างประเทศ ในชื่อ “SOUTHEAST OF NOW: Directions in Contemporary and Modern Art” วารสารว่าด้วยศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเผยโฉมในอีกราว 2 เดือนข้างหน้า โดยมีทั้งรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Project MUSE และรูปเล่มตีพิมพ์แจกฟรีในช่วงเริ่มแรก

ธนาวิวางตัวเองต่อวงการศิลปะในฐานะ “ผู้ชม” ที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยบทบาทนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องมองปรากฏการณ์ในเชิงวิชาการ สะท้อนบางแง่มุมของวงการศิลปะไทย และแน่นอน ความก้าวหน้าทางวิชาการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันบนหลักการ

จากความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยส่งต่อมายังวงการศิลปะ เช่นเดียวกับวงการอื่นๆ ที่มีการปะทะทางอุดมการณ์

ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือก “ปกปิด” หรือ “เปิดเผย”

ธนาวิ โชติประดิษฐ

– กรณีกวางจูคืบหน้าไปถึงไหน?

เราเรียกร้องว่าให้แสดงจดหมายของ กวป. คู่กับงานของ อ.สุธี เขาต่อรองมาว่าจะไม่แสดงจดหมาย แต่จะเขียนแคปชั่นอธิบายงานใหม่และเชิญให้เรากับตัวแทนจาก กวป. อีกคนหนึ่งไปเล็กเชอร์เป็นกิจกรรมหนึ่งในนิทรรศการที่กวางจู ซึ่งได้ตอบรับคำเชิญไปแล้ว กำลังรอเขาตอบกลับมา ทั้งนี้ เรายังยืนยันว่าเขาควรแสดงจดหมายที่เราส่งไป

– จากกรณีนี้เหมือนวงการศิลปะแบ่งเป็นสองฝ่าย ปกติแบ่งกันชัดเจนไหม?

ฝ่ายที่เขาเป็น กปปส.ก็ชัดเจนว่าสนับสนุน กปปส. ร่วมเดินขบวน ประมูลงานหาเงินมาช่วย ทำกิจกรรมอาร์ตเลน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นอีกฝั่งหนึ่งได้หรือเปล่า เพราะมีทั้งคนที่เฉยๆ ไม่แสดงออกและคนที่เห็นชัดๆ ว่าไม่เอา กปปส. ทำให้การแบ่งสองฝั่งมันไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เพราะส่วนที่ไม่ใช่ กปปส.เราไม่รู้ว่าใครคิดอะไรอยู่บ้าง ไม่ใช่ทุกคนที่พูดชัดเจนแบบอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บางคนเลือกที่จะไม่พูดด้วยเงื่อนไขบางอย่างหรือเขาอาจไม่สนใจเลยก็ได้ มีหลายแบบ

– ไม่สามารถแบ่งได้ว่าเป็น อนุรักษนิยม-ก้าวหน้า?

เราพูดได้ว่าใครอนุรักษนิยม แต่ฝั่งไม่อนุรักษนิยม เราว่าพูดยาก เพราะทุกคนเงียบ ความเงียบนี้คล้ายๆความเงียบเรื่องการเมืองในภาพที่ใหญ่กว่านั้น เพราะไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ว่าใครคิดอะไร ไม่มีสนามที่ฟรีจริงๆ ให้คนพูดออกมาได้ ในวงการศิลปะก็เป็นเหมือนกัน มีเรื่องความเกรงใจ การพึ่งพากัน หรืออยู่ใกล้กันเกินไป ทั้งหมดกลายเป็นเงื่อนไขความเงียบของศิลปินจำนวนหนึ่ง

สังคมไทยรวมๆ เป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ จะมีเรื่องผู้อาวุโส ทั้งเรื่องอายุ ตำแหน่งและอิทธิพล แม้คำว่า “ศิลปะ” เหมือนจะมีเสรีภาพ แต่วงการศิลปะไทยก็อยู่ภายใต้สังคมไทยที่วัฒนธรรมคนไทยเป็นแบบนี้ เราอาจไม่พูดไม่ตั้งคำถาม ไม่แสดงตัวว่าโต้แย้งกับสิ่งที่ใหญ่กว่าเราในทางใดทางหนึ่ง เขาเลยเงียบกัน

– สามารถพูดได้ไหมว่าศิลปินส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งอนุรักษนิยม?

จะพูดว่าส่วนใหญ่ก็ได้ แต่เราเข้าใจว่าเขาคงคิดว่าตัวเองไม่ใช่อนุรักษนิยม กปปส.ก็เคลมว่าเป็นขบวนการประชาธิปไตย ทั้งที่สิ่งที่เขาทำนั้นขัดกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย จริงอยู่ว่าคอนเซ็ปต์อะไรก็ตามเมื่อเข้าไปในประเทศใดๆ ก็จะถูกปรับหรือดัดแปลงให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ เหมือนเรื่องทางวัฒนธรรมอื่นๆทั้งหมดนั่นแหละ แต่ถ้าการถูกปรับที่ว่าไปขัดหลักการพื้นฐานของสิ่งนั้น ก็คงพูดไม่ได้อีกต่อไปว่ายังเป็นสิ่งนั้นอยู่ ประชาธิปไตยแบบไทยไม่เหมือนกับประชาธิปไตยแบบอังกฤษหรืออเมริกาแน่นอน แต่ไม่ว่ามันจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไร หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพและความเสมอภาคต้องยังอยู่ ปัญหาของประชาธิปไตยของ กปปส. คือการไม่ปกป้องหลักการพื้นฐานเหล่านี้ และนั่นเองทำให้ประชาธิปไตยของ กปปส. ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นความเข้าใจผิด ว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย จริงๆ แล้วอยากจะเรียกว่าอำนาจนิยมแบบอำพราง

– เขาไม่ได้ยอมรับแนวคิดอนุรักษนิยม?

ศิลปินไทยส่วนใหญ่เวลาไปแสดงงานแนวการเมืองที่ต่างประเทศ เป็นการเสนอภาพตัวเองและผลงานว่าเป็นหัวก้าวหน้า ฉันด่านักการเมือง นักการเมืองเลว คอร์รัปชั่น สิ่งเหล่านี้เป็นภาพของศิลปินหัวก้าวหน้า ไม่ใช่ภาพของศิลปินอนุรักษนิยม การประท้วงคือสัญลักษณ์ของการต่อต้านและการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ปัญหาก็คือ พอคนเหล่านี้ประท้วงนักการเมือง แต่สถาบันอื่นที่สามารถคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจได้เหมือนกัน เขากลับไม่ตั้งคำถาม ไม่ประท้วง และแย่กว่านั้นคือสนับสนุนด้วยซ้ำ ทำให้ภาพการเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าของเขามีปัญหา

จริงๆ แล้วการด่านักการเมืองเป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะพรีเซ็นต์ว่าตัวเองเป็นหัวก้าวหน้า ไปถามเด็กมัธยมที่ไหนก็ได้ ง่ายที่สุดที่จะแสดงตัวเองว่า “เราคือหัวก้าวหน้า” การพูดแค่นี้คือความฉาบฉวย นักการเมืองคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่พูดเมื่อไหร่ก็ถูกเมื่อนั้น นั่นแปลว่าการด่านักการเมืองโดยตัวมันเองไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไร เพราะถึงที่สุดแล้ว ในการเมืองไม่ได้มีแต่นักการเมือง การที่ศิลปินไทยจำนวนมากติดอยู่กับนักการเมือง ไม่ไปแตะถึงสถาบันเชิงอำนาจอื่นๆ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าสถาบันเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ทำให้งานของเขาฉาบฉวยอย่างช่วยไม่ได้ งานศิลปะเหล่านี้ แตะการเมืองระดับแค่พื้นผิวแต่ใช้ท่าทีขึงขัง

– ศิลปินรุ่นใหม่มีแนวโน้มคิดฉีกออกมาจากความเป็นอนุรักษนิยม?

ก็มีศิลปินรุ่นใหม่หลายคนแหมือนกัน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้วก็ต่างกันเยอะ งานศิลปะส่วนใหญ่จะไม่สื่อสารกันตรงๆ ใช้อุปลักษณ์ สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสื่อความหมาย ศิลปะไม่ใช่เรื่องการสื่อความหมายในระบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย เป็นภาษาในอีกระบบหนึ่ง ความไม่ตรงไปตรงมานี้ด้านหนึ่งทำให้ศิลปะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้ศิลปินพูดเรื่องที่พูดด้วยภาษาธรรมดาไม่ได้ นี่คือข้อได้เปรียบของศิลปินที่คนอาชีพอื่นไม่มี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีศิลปินจำนวนน้อยมากที่ใช้ข้อได้เปรียบนี้พูดเรื่องที่พูดถึงได้ยาก

ถามว่ามีศิลปินที่ทำงานลักษณะที่ไม่ได้สนับสนุนอำนาจเหล่านี้ไหม คำตอบคือมี แต่น้อย ทั้งที่มีวิธีพูดได้หลายอย่างแต่เขาไม่ทำกัน อย่างไรก็ดี นี่พูดถึงเฉพาะศิลปินที่สนใจแตะต้องประเด็นเชิงสังคมหรือการเมืองเท่านั้น ศิลปินที่ทำงานในแนวทางอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

– ทำไมเกิดการไม่พยายามใช้ข้อได้เปรียบนี้?

มีการเซ็นเซอร์ตัวเองแหละ แต่ถามว่าจะมีใครเขาทำอะไรไหม ไม่มีหรอก เอาจริงๆ ไม่มีมนุษย์ไปดูงานศิลปะแล้วรู้ว่ามันเป็นเรื่องอะไรเท่ากับวรรณกรรมที่เขียนออกมาเป็นภาษาที่ทุกคนอ่านออก ความเสี่ยงของศิลปะมีน้อยมาก ตั้งแต่มีศิลปะไทยร่วมสมัยมา เท่าที่จำได้ ไม่รู้ว่าจำผิดหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่ผิด ยังไม่เคยมีการที่รัฐไปเซ็นเซอร์งานศิลปะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.ศิลปินเซ็นเซอร์ตัวเอง 2.พื้นที่ที่ศิลปินแสดงงานทำการเซ็นเซอร์ ไม่ได้ไปจนถึงระดับรัฐแบบที่ทหารหรือตำรวจมา หอศิลป์อาจขอให้ถอดงานแค่นั้น บางครั้งเป็นความกลัวของผู้จัด บางครั้งเป็นความกลัวของศิลปิน บางครั้งเป็นความอยู่กันคนละขั้วของผู้จัดกับศิลปิน หรือเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์แล้วมีคนมาโวยวายเลยถอดงาน แต่ก็อยู่แค่ในระดับนี้ เทียบกับสื่ออื่นอย่างวรรณกรรมหรือบทความวิชาการ ศิลปะปลอดภัยกว่าเยอะ ถ้าไม่มีคนเขียนอธิบายว่าสิ่งนี้คืออะไร คนอื่นไม่รู้หรอกว่าคุณพูดเรื่องอะไรกันอยู่ เพราะเต็มไปด้วยอุปลักษณ์มากมายที่สื่อความหมายที่คนทั่วไปไม่คุ้น

– เครือข่ายศิลปากรวางตัวเองอย่างไรในวงการศิลปะ?

เรียกว่าเป็นกลุ่มหนึ่งหรือสำนักหนึ่งดีกว่า ถามว่ามีอิทธิพลอยู่ไหม ก็มีนะ เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้ศิลปากรไม่ใช่กลุ่มๆ เดียวในวงการศิลปะ เมื่อเทียบกับสมัยก่อน เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแรกในประเทศก็เลยผลิตศิลปินออกมาก่อนใคร กลายเป็นวงการที่อุดมด้วยคนศิลปากร แต่จักรวาลนี้ ณ ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยอื่นที่มีการเรียนการสอนศิลปะ มีศิลปินที่ไปเรียนจากเมืองนอก ไม่ต้องเกี่ยวกับศิลปากร ไม่ต้องใช้ประโยชน์จากวงโคจรของศิลปากรก็มี ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มย่อยๆ ภายในวงการศิลปะเพิ่มมากขึ้น ศิลปากรในฐานะสำนักหนึ่งไม่ได้หายไป ในจักรวาลของศิลปะศิลปากรก็ยังมีบทบาทมีความสำคัญ เพียงแต่ว่ามีอย่างอื่นขึ้นมาควบคู่กันแล้วคนมองเห็นว่าช่องทางของเขาไม่ได้มีเพียงศิลปากรอีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ดี เราคิดว่าการมีหลายสำนักก็ไม่ใช่เรื่องดีเหมือนกัน มันไม่ควรมีสำนักหรือกลุ่มแก๊ง ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรมีเพื่อน แต่การมีสำนักเป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี

– ถือว่ายังเป็นกระแสหลักหรือเปล่า?

ขึ้นอยู่กับว่าเอาศูนย์กลางไว้ตรงไหน ถ้าเป็นการประกวดงานศิลปะในประเทศแน่นอนว่าศิลปากรเป็นหลัก แต่ถ้าเอาระดับนานาชาติ ศิลปินไทยที่ไปแสดงงานในเวทีต่างๆ ก็ไม่ได้มีแต่ศิลปากร มีศิลปินอื่นๆ นอกศิลปากรที่แหกคอกออกไปเจริญรุ่งเรืองมากมาย

การเป็นสำนักหมายความว่าคุณมีแนวทางเฉพาะของคุณและมีความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง อะไรที่นอกคอกนอกครูจึงอาจจะไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ทำให้คนที่เขาไม่สมยอมกับวิธีการทำงานศิลปะแบบนี้ ต้องไปหาพื้นที่อื่นที่เขาจะเติบโตได้ ซึ่งหลายคนก็ประสบความสำเร็จในการทำอย่างนั้น

– ทำไมวิวาทะ “ศิลปะเพื่อศิลปะ-ศิลปะเพื่อชีวิต” วนกลับมาอีกแล้ว?

เฉิ่มมากเลย ไม่ใช่คำถามสากลที่เป็นอมตะถามเมื่อไหร่ก็เป็นสากลหรอก ข้อถกเถียงนี้ที่วนกลับมาชี้ให้เห็นถึงความล้าหลังของวงการศิลปะไทย ที่ไม่สามารถสร้างข้อถกเถียงต่างจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วได้ การมองศิลปะอย่างเป็นวิชาการยังค่อนข้างอ่อนแอหรือเปล่า มีการกลับไปโควตว่าศิลปะคืออะไร ตามนิยามของศิลป พีระศรี อยู่อีกหรือ ไม่มีคำพูดของใครที่จะเป็นคำสอนแบบใช้ได้ตลอดกาลอยู่แล้ว สิ่งที่ อ.ศิลปพูดก็เป็นมุมมองของเขาเอง ไม่ใช่คัมภีร์ที่คนจะยึดถือตลอดกาล ทำไมทุกวันนี้คนยังพูดถึงนิยามศิลปะของ อ.ศิลปราวกับว่าเป็นคัมภีร์ที่ตอบคำถามจักรวาลได้

คำถามเรื่องศิลปะเพื่อชีวิต-ศิลปะเพื่อศิลปะเหมือนกัน…นี่ยุคจิตร ภูมิศักดิ์ หรือเปล่า ยังต้องถามอีกหรือ ถ้าทำศิลปะเพื่อชีวิตหรือไม่เพื่อชีวิต แล้วจะเป็นปัญหายังไง มีคนบ่นว่าบ้านเมืองแย่ขนาดนี้แล้ว ทำไมศิลปินยังทำงานที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสังคมการเมืองตรงๆ อยู่ได้ อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า เราตั้งคำถามกับศิลปินที่ทำงานแนวสังคมการเมืองว่าจุดยืนหรือเนื้อหาทางการเมืองที่แสดงออกผ่านงานศิลปะของเขาเป็นอย่างไร แต่สำหรับศิลปินที่ไม่ได้ทำงานแนวนี้เราก็ประเมินอีกแบบหนึ่ง ศิลปะคืออาชีพหนึ่งที่ทำตามความถนัด สมมุติคุณวาดรูปดอกไม้หาเลี้ยงชีวิต แต่มีความคิดเห็นทางการเมือง คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปวาดรูปการเมืองก็ได้ มีวิธีแสดงการมีส่วนร่วมแบบอื่นอีกตั้งเยอะ ไม่งั้นทุกคนก็ต้องลาออกจากงานไปเป็นแอคทิวิสต์สิ คิดว่าไม่แฟร์

– เป็นความใจแคบของฝ่ายก้าวหน้า?

เป็นความใจแคบของฝ่ายก้าวหน้า ใช่ แคบเกินไป ไหนคุณมาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพอะไรกันมากมาย หน้าที่การงานเป็นอย่างหนึ่ง วิธีแสดงออกต่างหากที่สำคัญ คุณอาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ แล้วยังไง ต้องเลิกวิจัยหอยทะเลไปช่วยชาวบ้านที่บ้านกรูดเหรอ เป็นคนละบทบาท เราสามารถมีบทบาทที่หลากหลายได้ เขาอาจจะรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยอยู่ในเฟซบุ๊ก ไปร่วมเดินขบวนหรือบริจาคเงินช่วยเหลือเรื่องที่เขาคิดว่าสำคัญก็ได้

– กรณีกวางจูถูกกล่าวหาว่าสร้างความขัดแย้งในวงการ ตามจริงแล้วมีความกลมเกลียวกันแค่ไหน?

ไม่มีความกลมเกลียวหรอก แต่เราคิดว่าปกติเขาจะอยู่แยกๆ กัน ไม่ค่อยมีกรณีอะไรที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน อยู่คนละวงโคจร มีการพูดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งหรือคนเสียประโยชน์ออกมาโวยวาย ถามว่าเราไปมีผลประโยชน์อะไรกับเขาเหรอ เราและอีกหลายๆ คนไม่ได้เป็นศิลปิน ทำงานศิลปะไม่เป็น การที่ภัณฑารักษ์ไปเลือกคนนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเสียอะไร

คำถามคือทำไมมีคนวิจารณ์งานคุณแล้วจึงต้องมองเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นการทำลายชื่อเสียง ทีคุณนั่งวิจารณ์นักการเมืองได้ ทำไมคนอื่นวิจารณ์คุณบ้างไม่ได้ ถ้าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก คนอื่นก็ต้องตั้งคำถามกับงานเขาได้เหมือนกัน ทีนี้การวิจารณ์ของใครจะฟังขึ้นหรือไม่ อยู่ที่วิธีการให้เหตุผลกับการเสนอข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนประเด็นของตัวเอง

– จะสร้างความแตกร้าวโกรธเคืองต่อเนื่องไปอีกไหม?

ความขัดแย้งคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คิดว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ควรมี มีแต่สังคมเผด็จการเท่านั้นแหละที่ทุกคนจะเห็นทุกอย่างไปในทางเดียวกันเป็นเอกฉันท์ เพราะคุณทำให้คนที่เห็นไปในทางอื่นต้องอยู่เงียบๆ การที่ความขัดแย้งได้แสดงออกมาเป็นเรื่องดี เพียงแต่ว่าพอแสดงออกมาแล้วอาจจะเละเทะก็ได้ ถ้าคนหนึ่งพูดแบบหนึ่ง อีกคนเลือกที่จะไม่ตอบแต่ไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง ก็เตลิดเปิดเปิง แต่คนดูนั่นแหละที่จะตัดสินว่าอะไรฟังขึ้นสำหรับเขา

เมื่อทุกฝ่ายมีสิทธิพูด ใครอยากจะพูดอะไรก็พูดออกมาแล้วให้คนดูตัดสิน เราเชื่อว่าสังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะอยู่และรับมือกับความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image