ระยองซ่อนสุข…ร่วมค้นหาความสุขที่ซ่อนอยู่ในจังหวัดระยอง

ภารกิจการค้นหา “เส้นทางแห่งความสุขกับ GC” ผ่านโครงการประกวดหนังสั้นและโครงการประกวดภาพนิ่ง ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “ระยอง…ซ่อนสุข” (Rayong’s Undiscovered Happiness) โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับจังหวัดระยอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับระยองในมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนผ่านเลนส์

“The Law Of Happiness” เป็นหนังสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน/นักศึกษา ซึ่งเป็นผลงานของพัชราภรณ์ มาลัยทอง นักศึกษา ชั้นปี 2 คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

พัชราภรณ์ หรือไข่ปลา เล่าถึงที่มาของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ว่า ได้ทราบข่าวการประกวดและมีความสนใจจะลอง ประกอบกับไม่เคยไปจังหวัดระยองมาก่อน จึงชวนพี่สาวว่าลองไปถ่ายทำหนังสั้นเข้าประกวด แม้ว่าจะไม่เคยเรียนด้านการวิดีโออย่างจริงจัง แต่เพราะเป็นคนชอบเล่นกล้องมาตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมีพี่ชายที่เรียนทางด้านนี้ช่วยสอน

“การไปถ่ายหนังสั้นครั้งนี้ ไม่ได้เขียนบทก่อน เป็นการออกเดินทางเที่ยวไปเรื่อยๆ ให้พี่สาวขับรถไป และค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวของระยองจากกูเกิล ระยองมีที่เที่ยวเยอะมาก ใช้เวลาในการถ่ายทำเพียง 3 วัน ถ่ายไปแล้วดูมุมกล้องว่าได้มั้ย ถ้าโอเคแล้วก็ไปถ่ายที่อื่นต่อ บอกพี่สาวซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องให้เขาเล่นเป็นธรรมชาติของเขา เหมือนไปเที่ยวด้วยกัน ความยากระหว่างถ่ายทำคือ ต้องมีแสง ถ้าแสงน้อยจะไม่สวย ก็ต้องรอแสง เราถ่ายไปก่อนพอมาตัดต่อถึงค่อยมาคิดบท ซึ่งใช้เวลาตัดต่อ 3 อาทิตย์”

Advertisement

“แนวคิดของหนูคือ การตั้งกฎสำหรับการท่องเที่ยวให้มีความสุข ซึ่งสุดท้ายแล้วจึงพบว่าเราไม่ต้องมีกฎก็ได้ เพียงแค่ออกเดินทางไปเรื่อยๆ หาความสุขให้กับตัวเอง สำหรับความสุขของระยอง คือ รอยยิ้มของชาวระยอง เพราะคนระยองเป็นกันเองและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อยากให้ทุกคนลองไปเที่ยว ระยองมีธรรมชาติสวยงาม” ไข่ปลาย้ำถึงความประทับใจต่อจังหวัดระยอง

“Sound Of Happiness” คือหนังสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไป เป็นผลงานของ บดินทร์ ไชยสมบัติ และ สมกมล แซ่โง้ว จาก The Wolf Film

Advertisement

บดินทร์และสมกมล เป็นฟรีแลนซ์ให้บริการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เห็นประกาศโครงการประกวด จึงมีความสนใจและตัดสินใจร่วมประกวดทันทีแม้เวลาจะค่อนข้างกระชั้น ทั้งสองได้วางแผนการถ่ายทำเริ่มจากหาข้อมูลว่าจังหวัดระยองมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ และพยายามหาสิ่งที่จะแตกต่างและไม่เหมือนที่คนส่วนใหญ่คิด เมื่อวางโครงเรื่องคร่าวๆ แล้วก็เดินทางมาถ่ายทำ ซึ่งใช้เวลาในการถ่ายทำ 1 อาทิตย์ เพราะเจอฝนตกถึง 4 วัน และตัดต่อ 2 วัน

สมกมลเผยว่า “สิ่งที่เรานึกถึงระยองเราจะนึกถึงทะเล แต่ปกติโดยส่วนตัวจะไม่อินกับทะเลเลย เลยมีความคิดว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ไม่คิดอยากจะมาทะเลเขาก็จะไม่มาเที่ยวทะเล แต่ถ้าเราเสนอมุมว่าระยองไม่ได้มีดีแค่ทะเล โดยจะใช้เสียง ให้ความสำคัญกับเสียง เพราะโดยปกติสถานที่จะดึงดูดให้คนมาแต่เสียง-กลิ่น-รส จะเติมเต็มความรู้สึกเวลาคนมาเที่ยว ซึ่งในหนังคือประสบการณ์จริง ตอนไปชุมชนเห็นเงียบๆ นึกว่าไม่มีอะไร แต่พอลองเข้าไป มีชาวบ้าน มีอาหาร ก็เป็นอีกฟีลหนึ่ง ทุกเวลามีเสียงของความสุข”

บดินทร์กล่าวเสริมว่า “ความสุขคือเสียงและบรรยากาศ ผมให้ความสำคัญกับ Ambient มาก สมมุติเราเดินไปจุดชมวิวเขาแหลมหญ้า ระยะทางที่ต้องเดินไกลพอตัว เสียงที่เราได้ยินคือเสียงเท้าที่เราเดิน ไปตลาดเช้าประแส พอไปนั่งปุ๊บ โมเมนต์นั้นเราก็ได้ยินเสียงต้มเลือดหมู คนใส่บาตร พระสวด เราอิ่มกับบรรยากาศตรงนั้นมากกว่า ผมอยากถ่ายทอดเสียงซึ่งเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ นักท่องเที่ยวอาจมาตามหาเสียงสักอย่างข้างในเขา เสียงมันจะอิ่มมากกว่าที่เห็น นอกจากนี้เรายังมีกิมมิคที่ซ่อนไว้อยู่ เช่น ปิ่นโตที่เราจะไม่ทราบว่ามีอะไรในปิ่นโต เราไม่รู้ว่าในปิ่นโตใส่อาหารอะไรในนั้น และหนังตะลุงเป็นตัวแทนของการซ่อน เขาซ่อนความสุขให้คนดู เขาอยู่ข้างหลังตลอด เราจะแทรกกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ นี้ เพื่อสื่อว่า ระยองมีความสุขที่ซ่อนอยู่ แต่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไร ต้องมาหากันเอง เราพยายามนำเสนอด้านภาพให้ดูแล้วอิ่ม เสียงที่เก็บมาเป็นส่วนเติมเต็มเข้าไป”


“ดีใจที่งานของเราได้เผยแพร่ สำหรับคนที่ไม่ชอบทะเล อยากบอกว่าจังหวัดระยองมีอย่างอื่นๆ นอกจากทะเล ให้ลองมาหาเสียงที่ชอบ ฝนตกก็มีที่เที่ยวได้ ทุ่งโปรงทอง เหมือนมีแต่ต้นไม้ แต่ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นคนมาเสพความสุข ชมบรรยากาศ เป็นที่ที่เหมือนซ่อนความสุขอยู่ข้างใน” บดินทร์และสมกมลพร้อมใจกันบอกและเชิญชวนค้นหาความสุขที่จังหวัดระยอง

สำหรับภาพนิ่ง “ครอบครัวประมง” คือผลงานชนะเลิศโครงการประกวดภาพนิ่ง ประเภทนักเรียน/นักศึกษา โดย วรรษชล เที่ยงแท้ นักศึกษา ชั้นปี 4 สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง กรุงเทพฯ

วรรษชล หรือฝน เรียนด้านถ่ายภาพและเป็นคนชอบการถ่ายภาพวิถีชีวิต สำหรับระยองนั้นก็เคยไปเที่ยวทะเล ไปเกาะต่างๆ ในครั้งนี้ ได้เห็นข่าวโครงการประกวดจึงสนใจและได้เดินทางมาระยองพร้อมเพื่อนๆ เพื่อถ่ายรูปส่งประกวด

“ปกติได้มาเที่ยวระยองบ่อยๆ ครั้งนี้ก็ลองมาดู ไปหาอาชีพที่ซ่อนอยู่ วันแรกก็ไปเซอร์เวย์ก็ไม่ได้อะไร วันที่ 2 ตอนเช้าตี 4 ตี 5 ก็เดินออกไปเรื่อยๆ จนมาเจอสะพานประแสสิน เห็นชุมชนประมง เห็นครอบครัวนี้กำลังเก็บปลาเลยขึ้นไปบนสะพาน จากมุมบนสะพาน เห็นน้องกำลังเล่น เลยให้น้อง 2 คนนอน ส่วนพี่ชาวประมงให้เขาทำเป็นปกติของเขา น้องก็เล่นอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว หนูก็อยู่บนสะพานถ่ายลงมาจากบนสะพาน ถ่ายยากเพราะตัวเล็ก ต้องเอื้อมมือออกไปถ่าย แต่พอได้เห็นรูปนี้ก็ชอบรูปนี้เลย โชคดีที่แสงดีด้วย” ฝนเล่าถึงที่มาของผลงาน และสรุปว่า

“ต้องการสื่อถึงอาชีพประมง อาชีพของชาวระยองก็มีอาชีพประมงเท่าที่หนูนึกออก เป็นอาชีพหลักที่เลี้ยงครอบครัว คนอื่นมองอาจคิดว่าอาชีพนี้ไม่น่าทำ เหม็นกลิ่นคาวปลา แต่พวกเขามีความสุขในบ้านหลังนี้ รูปนี้ให้น้องสื่อถึงความสุขของครอบครัวชาวประมง”

“สุขกายสุขใจ” เป็นผลงานของ กิตติพร แซ่ค่ง จากกรุงเทพมหานคร ผู้ชนะเลิศโครงการประกวดภาพนิ่ง ประเภทประชาชนทั่วไป

กิตติพรเป็นคนหาดใหญ่แต่มาทำงานที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่ง Senior operation manager ของบริษัทผู้ผลิตถุงมือแพทย์ โดยปกติมีความสนใจการถ่ายรูปและถ่ายเป็นงานอดิเรก รวมถึงการส่งภาพประกวดซึ่งเคยได้รางวัลมาหลายเวที เมื่อเห็นประกาศของโครงการทางเว็บไซต์ก็สนใจ เพราะระยองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 2 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น

“เราแบ่งระยองซ่อนสุขเป็น 2 หัวข้อ ระยองและซ่อนสุข ระยองเป็นจังหวัดที่มีทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ส่วนความสุข คือความสุขของคนระยอง เรามีเพื่อนเป็นคนระยองและทำงานที่ระยอง จึงถามว่ามีที่ไหนที่น่าสนใจและไม่ค่อยมีคนไปเที่ยว เพื่อนบอกว่า ที่อ่าวประดู่ หลังโรงงานของ ปตท. มีฟาร์มหอย ซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราก็ไม่เคยไป ก็ขับรถตามจีพีเอส วันแรกไปถึงบ่ายโมงก็ไม่ได้ถ่ายอะไร ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ไหน และแสงจ้ามาก วันต่อมาไปถ่ายตอนเช้ามืด ก็ขับรถวน ตอนประมาณ 8-9 โมงเช้าแสงกำลังดี เห็นหมู่บ้านเล็กๆ ฟาร์มหอย และด้านหลังเป็นโรงงาน เลยคิดว่าน่าสนใจ ก็เดินไปคุยกับชาวบ้านขอให้เขาพายเรือไปเก็บหอยแล้วเราก็ลงเรือไปถ่ายภาพ เป็นมุมที่ชาวบ้านพายเรือเก็บหอย และข้างหลังเป็นโรงงาน ปตท. ตอนพี่ที่พายเรือหันมายิ้ม เราได้ถ่ายรูปนี้พอดี จึงได้รูปนี้มาและส่งรูปนี้เข้าประกวด ภาพนี้สื่อถึงความสุขที่อยู่ร่วมกันได้ทั้งหมด ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ชาวบ้านและโรงงาน”

ในความคิดของกิตติพร คนระยองเป็นคนโชคดีมาก เพราะจังหวัดมีทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอยู่ด้วยกัน สามารถทำงานในระยองได้โดยไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน เปรียบกับคนจังหวัดอื่น บางที่มีเกษตรกรรมอย่างเดียว ถ้าไม่มีพื้นที่ทำกินก็ต้องไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง หรือบางที่มีอุตสาหกรรมอย่างเดียว ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีแต่อุตสาหกรรมก็ไม่มีความสุข แต่ระยองมีทั้ง 2 อย่าง อีกทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีชายทะเล มีทุเรียน มีบริษัทใหญ่ และโรงงานใหญ่ๆ ตั้งอยู่ มีทุกอย่างอยู่ร่วมกันโดยไม่มีปัญหา ไม่มีมลพิษ ทำให้ได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่นอย่างมาก

กิตติพรกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ระยองซ่อนสุข คือความสุขที่ซ่อนอยู่ในจังหวัด ซึ่งในความเป็นจริง ความสุขไม่ได้ซ่อนอยู่ แต่คนภายนอกไม่รู้ เมื่อมาคุยมาสัมผัสกับชาวบ้าน จะเห็นว่าความสุขคือสิ่งที่ธรรมดา คือการมีงาน มีเงิน มีบ้าน มีพื้นที่สีเขียว มีชีวิตสงบสุข แค่นี้ก็โอเคแล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image