อาศรมมิวสิก : คุณภาพมีมาตรฐานเดียว มาตรฐานต่อรองไม่ได้ : โดย สุกรี เจริญสุข

ชีวิตและโลกของความเป็นจริงในปัจจุบัน ทุกคนแข่งขันกันที่คุณภาพ เพราะคุณภาพเป็นเป้าหมายและจุดสูงสุดและของชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระดับส่วนบุคคล ระดับองค์กร หรือระดับชาติก็ตาม ต่างก็มุ่งไปที่ระดับคุณภาพสูงสุด แม้ไม่ได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือมาตรฐานสากลก็ตาม เมื่อเรายังต้องการมาตรฐาน ก็ต้องพยายามสร้างคุณภาพของเราต่อไป

หลายๆ องค์กรได้สร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา เพื่อจะบอกให้สังคมรับรู้ว่ามีคุณภาพมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานเชลล์ชวนชิม เปิบพิสดาร โกฮับเจ้าเก่า แม่กิมลั้ง วราภรณ์ โอเด้ง ชายสี่หมี่เกี๊ยว ไก่ย่างห้าดาว ไก่ย่างนิตยา ไก่ย่างวิเชียรบุรี เป็นต้น ล้วนเป็นการนำเสนอว่ามีคุณภาพที่มีมาตรฐานทั้งสิ้น แม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่ได้ขยายสาขาเป็นหมื่นสาขาทั่วประเทศ ก็โดยอาศัยมาตรฐานเดียวกัน การเปิดขาย 24 ชั่วโมงเหมือนกัน ร้านมีความสะดวกในการเข้าถึงเหมือนกัน มีสินค้าเหมือนกัน เป็นต้น ต้นทุนที่สำคัญของร้านที่ได้มาตรฐานก็คือ การรับรองความมีมาตรฐานและมีคุณภาพเดียวกัน

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน อาจารย์ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ ได้มาพบและแจ้งให้ทราบว่าได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนเปียโน จากสถาบันชั้นนำเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลว่า ไม่สามารถรักษามาตรฐานเอาไว้ได้

“ผู้บริหารไม่ต้องการมาตรฐานอย่างที่ทำอีกต่อไป และขอให้อาจารย์ไปขอโทษนักเรียน เพราะการเข้มงวดของอาจารย์กับนักเรียน ทำให้เด็กท้อถอย ผู้บริหารยังต้องการจำนวนนักเรียนมากกว่าคุณภาพ”

Advertisement

อีก 3 วันต่อมา อาจารย์ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา โดยให้เหตุผลว่า เมื่อไม่ต้องการคุณภาพแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม การบอกสังคมว่ามีคุณภาพ การหลอกให้นักเรียนหลงเชื่อว่ามีมาตรฐาน จึงไม่เป็นความจริง การทำงานในองค์กรที่ใหญ่แล้วทำงานในหน้าที่ให้มีคุณภาพไม่ได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อไปทำไม ออกไปทำงานส่วนตัว มีสตูดิโอส่วนตัว ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า

รู้สึกใจหาย เพราะอาจารย์ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ เป็นคนรุ่นใหม่ ได้รับการศึกษาดี มีฝีมือสูง ใครๆ ก็อยากได้ เมื่อเธอรู้สึกหัวใจสลายที่องค์กรชั้นนำไม่แยแสต่อคุณภาพ ทำให้เธอสิ้นหวังและหมดหวังที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาดนตรีของชาติ เพื่อให้เด็กได้เข้าสู่มาตรฐานและคุณภาพนานาชาติได้

รู้สึกสะเทือนใจและเสียใจ ที่คนเก่งที่มีอยู่ในสังคม เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของสถาบัน ต้องลาออกจากระบบไปทำงานในสตูดิโอส่วนตัว เท่ากับเป็นการปล่อยให้สถาบันดำเนินกิจการต่อไปโดยที่ไม่คำนึงถึงคุณภาพและไม่คำนึงถึงมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อเยาวชนที่เข้ามาศึกษาในวงกว้างต่อไป เพราะสำคัญผิดคิดเอาว่าตัวนั้นเก่ง เมื่อสถาบันหลอกเด็ก หลอกสังคม และทำให้เด็กเข้าใจผิดและหลงตัวเอง

Advertisement

เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น การศึกษาดนตรีของไทย ไม่มีใครเชื่อถือสถาบันการศึกษา คนเก่งทั้งหลายและครูคนเก่งที่มี ต่างก็เปิดสตูดิโอสอนดนตรีกันทั้งนั้น เพราะทุกคนเบื่อหน่ายระบบ ความเบื่อหน่ายที่มีต่อคนไม่เก่งและสิงสถิตอยู่ในระบบ ทำให้คนเก่งเบื่อ ต่อมาความเชื่อเหล่านั้นค่อยๆ หายไป เพราะเมื่อมีครูคนเก่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา อาทิ อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า อาจารย์แนนซี่ เว่ย อาจารย์โยฮันเนส นิคก้า เป็นต้น คนเหล่านี้ได้สร้างเด็กไทยให้เก่งได้มาตรฐานที่สูงมาก ซึ่งวันนี้เด็กไทยที่เก่งก็กลับมาทำงานให้กับระบบการศึกษาไทย

อีกอารมณ์หนึ่งก็รู้สึกดีใจ เมื่ออาจารย์ที่เก่งอยู่ไม่ได้ แล้วลาออกไปทำงานส่วนตัว อย่างน้อยก็รู้สึกสบายใจ ก็ยังดีเพราะยังได้สร้างมาตรฐานที่มีคุณภาพไว้ในสังคม ยังมีโอกาสสร้างเด็กไทยให้เก่ง เมื่อเด็กได้เรียนกับครูดนตรีคนเก่งที่ยังอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ คนเก่งก็คือคนเก่ง อยู่ที่ไหนก็ยังเป็นคนเก่งอยู่ดี คนเก่งนั้นมีมาตรฐานและมีคุณภาพที่ต่อรองไม่ได้

เมื่อพึ่งพิงระบบการศึกษาของชาติไม่ได้ คนในชาติก็ต้องดิ้นรนจัดการศึกษากันเอง ซึ่งไม่ต่างไปจากโรงเรียนนานาชาติหรือการจัดการศึกษาให้ลูกได้เรียนที่บ้าน การตั้งโรงเรียนขึ้นเองเพื่อให้ลูกได้เรียน เพื่อเพื่อนลูก แถมยังจัดการศึกษาให้กับลูกของเพื่อนด้วย สาเหตุสำคัญคือไม่สามารถฝากความหวัง ไม่เชื่อถือมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาที่รัฐจัดให้ ประชาชนเอกชนจึงต้องจัดการศึกษาเอง จัดฝึกอบรมครูดนตรีขึ้นเอง โดยแสวงหาและเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาครูดนตรีเสียเอง

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ อาจารย์คาทาร์ซานา โบโรวิค (Katarzyna Borowiak) นักเปียโนชาวโปแลนด์ ได้รับรางวัลจากการแข่งขันมากมาย เธอแสดงกับวงออเคสตราจากทั่วยุโรป ต่อมาได้ผันตัวเองเป็นครูสอนเปียโนและได้เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่โรงเรียนของเมนูฮิน (Yehudi Menuhin) ต่อมาเธอได้ย้ายไปอยู่ที่สถาบันดนตรีกิลด์ฮอลล์ (Guildhall) ซึ่งเธอได้เคยเข้ามาอบรมครูเปียโนในประเทศไทยมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ระหว่างวันที่ 8-13 ตุลาคม เธอก็กลับมาอีก โดยมีครูเปียโนมาจากออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย และไทย เข้าฝึกอบรม ซึ่งเท่ากับยกระดับการศึกษาดนตรีในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานนานาชาติ

อาจารย์ ดร.เอริ นาคากาว่า ได้พยายามสนับสนุนและนำเด็กไทยไปแข่งขันดนตรีที่เมืองโอซาก้า (Osaka) ประเทศญี่ปุ่น มาอย่างต่อเนื่องมาเป็น 10 ปีแล้ว เพื่อกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเด็กไทย โดยให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาดนตรีให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะถ้าพ่อแม่เข้าใจก็จะช่วยพัฒนาให้เด็กเก่งได้ง่ายขึ้น ดนตรีสามารถจะช่วยให้เด็กได้เดินทางไปขึ้นเวทีแสดงและเวทีแข่งขัน เพื่อวัดระยะฝีมือในระดับนานาชาติได้ ปีนี้อาจารย์กรุณา บุญยืน (หนูนา) ได้นำเด็กไปแข่งขันแสดงเดี่ยวนักไวโอลิน (4 คน) ระหว่างวันที่ 3-13 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้การเรียนดนตรีอยู่ในระดับมาตรฐานนานาชาติมากขึ้น ผลงานที่ได้ เป็นที่ 2 และที่ 6 ซึ่งอย่างน้อยก็วัดระยะได้ระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน การวัดคุณภาพและมาตรฐานเมื่อเทียบกับยุโรปนั้นก็จำเป็นมาก มาตรฐานดนตรีนั้นสำคัญมากคือการนำเด็กไทยไปเข้าค่ายในเยอรมนี เพื่อเด็กไทยจะได้เรียนรู้บ้านเมืองที่มีระเบียบ สังคมที่มีมาตรฐาน การศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิตนักเรียนดนตรี อาจารย์กรุณา บุญยืน กับคณะครูอีก 4 คน ได้นำนักเรียนวงเครื่องสาย 13 คน ไปเข้าค่าย 10 วัน ที่เมืองไวมาร์ (Weimar) เพื่อเข้าเรียนและดูการแข่งขัน โดยเด็กได้มีโอกาสไปดูค่ายกักกันในสมัยฮิตเลอร์ พาเด็กๆ ไปเมืองเบอร์ลินเพื่อฟังวงเบอร์ลินฟีลฮาร์โมนิก ได้สัมผัสเสียงดนตรีที่หอแสดงของกรุงเบอร์ลิน (Berlin) พาเด็กไปเมืองแรมไชด์ (Remscheid) เพื่อเข้าค่ายเครื่องสาย และไปต่อที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เพื่อไปดูหลุมฝังศพของบาค (Bach) ไปดูบ้านของเมนเดิลโซน (Felix Mendelssohn) ซึ่งเป็นนักดนตรีคนสำคัญของโลก

หากจะดูมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติที่มีในประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะวิชาดนตรี ศิลปะ และกีฬา กลายเป็นเรื่องที่ฮือฮาว่ามาตรฐานสูง ทั้งๆ ที่มาตรฐานเหล่านั้นเป็นเพียงพื้นฐานการศึกษาเท่านั้น เมื่อเด็กมีพื้นฐานที่ดีแล้ว การก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพในอาชีพใดก็ตาม เด็กสามารถทำได้เพราะว่ามีพื้นฐานที่ดี

ดังนั้น พ่อแม่ไทยโดยเฉพาะผู้มีอันจะกิน ต่างก็สนใจส่งลูกให้ได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย (ซึ่งมีอยู่ 207 โรงเรียน)

อีกงานหนึ่ง มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งได้จัดมาแล้ว 21 ปีแล้ว โดยผู้ที่หลงใหลรักวัฒนธรรมดนตรีและการแสดงที่มีรสนิยม เมื่อดำเนินการโดยนักธุรกิจ จึงทำให้กิจกรรมดำเนินอยู่ได้ดี คณะผู้ทำงานมองเห็นช่องว่างในสังคมไทย ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่ขาดรสนิยม ขาดแคลนการแสดงในระดับนานาชาติ หรือการแสดงที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ โดยเฉพาะการแสดงเพื่อประชากรชั้นนำในประเทศและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย การนำคณะบัลเลต์ที่มีชื่อเสียง การแสดงดนตรีที่เป็นวงระดับนานาชาติ อาทิ บูดาเปสซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Budapest Symphony Orchestra) มาแสดง ในเทศกาลปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน ถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2562 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ความจริงงานเทศกาลได้ยกระดับมาตรฐานวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ทำให้คนในชาติและชาวต่างชาติรู้สึกว่า ประเทศไทยเจริญ มีส่วนทัดเทียมกับวัฒนธรรมของเมืองใหญ่ๆ ในโลกนั่นเอง

คุณภาพนั้นมีมาตรฐานเดียวและเป็นมาตรฐานไม่สามารถที่จะต่อรองได้ ประเทศไทยจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในทุกๆ มิติ ไม่ได้อีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีทำให้โลกเล็กลง ความรู้ การศึกษาทำให้โลกเล็กลง การเดินทางไปมาหาสู่ของผู้คนทั้งโลกก็ทำให้โลกใบนี้เล็กลง ไทยในฐานะประเทศด้อยพัฒนาจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่พึ่งพิงและอยู่อย่างด้อยคุณภาพอีกต่อไปก็ไม่ได้

เราอาจจะยังหลอกตัวเองอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง หลอกกันเองได้อีกระยะหนึ่ง โดยพยายามปิดท้องฟ้าด้วยฝ่ามือ (ตัวเอง) หรือปิดตัวเองให้อยู่ในโลกกะลา พยายามมองไม่เห็นตัวเอง แต่คนทั้งโลกเขามองเห็นเราผ่านคุณภาพของประชาคม ผ่านโดรน และดาวเทียมได้หมดแล้ว เมื่อโลกทั้งโลกนับถือมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน ซึ่งต่อรองไม่ได้ เราจะพบแล้วว่ามาตรฐานโลกจัดให้เราเป็นอย่างไร เพราะคุณภาพเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอก เราจะยอมเปลี่ยนแปลง หรือจะคอยให้โลกเปลี่ยนแปลงเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image