สานสัมพันธ์สุวรรณภูมิ นับถอยหลัง’ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน’ ตามรอยอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 2

ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับโครงการ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน” ครั้งที่ 1 เมื่อพุทธศักราช 2560 นำมาซึ่งความแน่นแฟ้นในดินแดนสุวรรณภูมิที่เชื่อมร้อยหัวใจแห่งความศรัทธาด้วยพระพุทธศาสนาอันมั่นคงสถาพรมาเนิ่นนานนับพันๆ ปี

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการสานต่อโครงการดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-31 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ ด้วยความร่วมใจของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ชมรมโพธิคยา 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์

กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย รวม 5 ประเทศในเขตแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พร้อมใจกันร่วมโครงการอีกครั้งนับแต่ พระมหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว รูปที่ 4 มีแนวคิดสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว กระทั่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยครั้งสำคัญ โดยในครั้งนี้จะมีการเปิดงาน ณ วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

Advertisement

ส่วนพิธีปิดจะจัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยมี สมเด็จเทพวงศ์ สังฆราชแห่งกัมพูชา เป็นประธานฝ่านสงฆ์ และ พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

27 กันยายนที่ผ่านมา ในงานแถลงข่าวการจัดงานครั้งนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 6 บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ย่านงามวงศ์วาน นนทบุรี มีบุคคลสำคัญจากประเทศต่างๆ ทั้งแวดวงสงฆ์และฆราวาสเข้าร่วมอย่างล้นหลาม อาทิ พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล, นายวินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์, นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการมูลนิธิวีระภุชงค์, นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์, ณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา, นายคิน ฉ่วย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมโพธิคยา 980 หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศเมียนมา และ นายแก้วเจริญ เชียยิ่งยาง อธิบดีกรมโฆษณาศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ สปป.ลาว เป็นต้น

ศาสนาพุทธ ‘การทูตภาคประชาชน’

“การจัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เกินความคาดหมาย เพราะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากผู้นำสงฆ์ ผู้นำประเทศ ผู้นำท้องถิ่น และชาวพุทธทั้ง 5 ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง การจัดครั้งที่ 2 นี้จึงได้มีการเตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดีโดยนำเอาประสบการณ์จากครั้งแรกมาแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากครั้งแรกซึ่งเปิดโครงการในภาคอีสานที่ จ.อุบลราชธานี แล้วปิดโครงการที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตีในไทย แต่ครั้งที่ 2 นี้มีการเปลี่ยนเส้นทางใหม่เพื่อให้ชาวพุทธของภาคต่างๆ ในแต่ละประเทศได้มีส่วนร่วม”

คือคำกล่าวของนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการมูลนิธิวีระภุชงค์ ผู้มุ่งหวังให้ชาวพุทธในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ร่วมกันอย่างสันติดังเช่นที่เคยเป็นมา

ในขณะที่นายแก้วเจริญ เซี่ยยิ่งยาง อธิบดีกรมโฆษณาศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ เล่าถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ขณะนี้ทาง สปป.ลาวเตรียมความพร้อมสำหรับงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ชุดรับผิดชอบด้านพิธีการ สถานที่ การดูแลรักษาความสงบ การประสานงานต่างประเทศ และการประชาสัมพันธ์

“ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน” ครั้งที่ 2 เป็นงานที่ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นงานการเมืองที่เป็นการทูตภาคประชาชน ศาสนาพุทธ เป็นการทูตภาคประชาชน ปัจจุบันมีชาวลาวนับถือศาสนาพุทธกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติจึงตระหนักว่า ศาสนาพุทธสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมา ซึ่งมีการใช้มิติด้านศาสนาเชื่อมความสัมพันธ์ สปป.ลาว-ไทย และ สปป.ลาว-กัมพูชา แม้บางครั้งจะเกิดความตึงเครียดด้านชายแดน แต่การเมืองภาคประชาชนนั้นไม่มีปัญหาระหว่างกัน”

สำหรับงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรกเมื่อปี 2560 นั้น จัดเฉพาะที่ “แขวงจำปาสัก” แต่งานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งที่ 2 จะมีการจัดกิจกรรมทั้งที่นครเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนา โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวลาวเข้าร่วมงานให้มากที่สุด

บรรยากาศธรรมยาตรา ครั้งที่ 1 ใน สปป.ลาว
กัมพูชาเข้าร่วมโครงการด้วยความยินดียิ่ง

สร้าง ‘ศรัทธา’ เสริมความเข้มแข็ง จับมือร่วมภูมิภาค

ด้าน ดร.คิน ฉ่วย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมโพธิคยาฯ และหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศเมียนมา เล่าว่า จากประสบการณ์การเดินทางไปในประเทศลุ่มน้ำโขง พบว่ายังไม่มีศาสนสถานกลางที่เป็นศูนย์กลางของชาวพุทธเหมือนกับศาสนาอื่นๆ ประกอบกับสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้แม้จะมีพระสงฆ์กว่า 5 แสนรูป แต่ในระยะหลังประชาชนชาวเมียนมามีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลเมียนมาจึงเห็นความสำคัญของการก่อตั้ง “สมาคมชาวพุทธ” และร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับศาสนาพุทธ ดังเช่นมีการลงนามร่วมระหว่าง สมาคมพุทธเมียนมา กับ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดตั้ง ABC หรือ Asian Buddhist Community โดยการจัดงานที่พระธาตุอินทร์แขวน มีพุทธศาสนิกชนให้ความสนใจร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ดร.คิน ฉ่วย เชื่อว่า การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขงจะทำให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนามีศรัทธาที่แรงกล้าและไม่เปลี่ยนศาสนา โดยสำหรับการจัดงานธรรมยาตราครั้งที่ 2 ในดินแดนพม่าจะจัดขึ้นที่ ท่าขี้เหล็ก และ เชียงตุง ในรัฐฉาน โดยขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ และจากนี้ไปจะเป็นการเตรียมการในขั้นสุดท้าย โดยคาดหวังว่าจะทำให้ผู้คนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

ขบวนแห่ยิ่งใหญ่ สื่อความหมายอันลึกซึ้ง

สำหรับในฝั่งไทย ผศ.ดร.วรินทรีย์ เยาว์ธานี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดริ้วขบวนในพิธีเปิด บอกว่า งานครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัย อีกทั้งจังหวัดมีส่วนร่วมโดยสร้างสรรค์การแสดงต่างๆ รวมถึงขบวนแห่แบบล้านนาเพื่อให้งานยิ่งใหญ่และมีความหมาย

“ในขบวนแห่ต้องใช้นักศึกษาชายหญิงกว่า 100 คน ร่วมขบวน รวมทั้งนักศึกษาที่ได้รับตำแหน่งดาว-เดือน, นักศึกษาที่เคยเข้าประกวด รวมทั้งที่ได้รับตำแหน่ง CRRU model พร้อมด้วยมิสแกรนด์เชียงราย 2019 ร่วมนำขบวนด้วย เชื่อว่าจะสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงาน รวมถึงสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับค่าใช้จ่ายได้รับการสนับสนุนโดย ดร.นิวัตน์ แจ้งอริยวงศ์ ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้” รองอธิการบดี ม.ราชภัฏเชียงรายกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการแถลงข่าวในประเทศไทยแล้ว สถาบันโพธิคยาฯได้จัดแถลงข่าวธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงยังประเทศเพื่อนบ้านที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย โดยในประเทศกัมพูชามีการจัดแถลงที่โรงแรม Sofitel Phnompenh Phokeethra นำโดย รมว.กระทรวงข่าวสาร, รมช.กลาโหมและอุปนายกสมาคมมิตรภาพกัมพูชา-ไทย อีกทั้งปลัดกระทรวงศาสนากัมพูชา

รวมถึง นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ และนายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร อุปนายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา เป็นต้น

นับเป็นโครงการแห่งศรัทธาที่แผ่นดินทั้ง 5 ได้มีส่วนร่วมในการสืบสานพระพุทธศาสนาอย่างจริงแท้ มั่นคง และยั่งยืน

ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งที่ 2

โครงการที่เชื่อมร้อยจิตใจชาวพุทธลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกัน จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-31 ตุลาคม 2562 โดยมีพระสงฆ์ ฆราวาส และสื่อมวนชนจาก 5 ประเทศ เดินทางไปจาริกแสวงบุญร่วมกันใน 5 ดินแดนสุวรรณภูมิ อาทิ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช และตัวแทนพระสงฆ์ จาก 4 ประเทศ อาทิ พระอาจารย์ใหญ่มหาบุนมา รองประธานสงฆ์ สปป.ลาว, พระคุณเจ้า Baddanta Sandimar Bivumsa จากประเทศเมียนมา, พระคุณเจ้า Thich Thien Tam จากประเทศเวียดนาม

พิธีเปิดจัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม ที่วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประเทศไทย และพิธีปิดจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม ที่เสียมราฐ กัมพูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image