ปัดฝุ่นอาคารเก่ากว่า 130 ปี ‘โรงภาษีร้อยชักสาม’ ฟื้นความรุ่งเรืองริมเจ้าพระยา

ด้วยความงดงามทรงคุณค่า เปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 130 ปี บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน จึงพร้อมด้วย กรมศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดี บันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม อาคารศุลกสถาน หรือ โรงภาษีร้อยชักสาม บนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 5 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมเนรมิตอาคารดังกล่าวให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในย่านเจริญกรุง โดยจัดตั้งคณะทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้าร่วมพัฒนาโครงการ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง กับยู ซิตี้ ร่วมกันลงนามข้อตกลง โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ทำให้ในปัจจุบันนี้โครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสามได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร เริ่มต้นขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีโดยรอบพื้นที่ และสเกตช์ภาพเพื่อบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียดแล้ว

คาดการณ์ว่าการสำรวจจะเสร็จสิ้นช่วงต้นปี 2563 โดยข้อมูลจากการสำรวจและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นจะนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารโบราณสถาน และก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต

Advertisement

ไม่นานมานี้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ยู ซิตี้ ในฐานะประธานโครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสาม ได้ให้การต้อนรับตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเริ่มเข้าพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, อำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์, ประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากรรักษาการแทนอธิบดี และธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

คีรีกล่าวว่า อาคารศุลกสถาน หรือโรงภาษีร้อยชักสาม เป็นอาคารเก่าแก่ที่อยู่คู่กับย่านเจริญกรุง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอดีต โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ชุมชน รวมถึงยู ซิตี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเมินค่าไม่ได้ของทั้งตัวอาคารและชุมชนโดยรอบ จึงพร้อมใจสนับสนุนการดําเนินการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูอาคารอันทรงคุณค่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งนี้ ให้ยังคงมีประโยชน์และคุณค่าสําหรับคนรุ่นหลังต่อไป โดยจะเน้นการพัฒนาฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์เดิมแบบร่วมสมัย เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาชื่นชมความสวยงามในอดีตของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น

Advertisement

“บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า อาคารศุลกสถานนับเป็นหนึ่งในอาคารที่มีสถาปัตยกรรมยุโรปที่ทันสมัยที่สุดในอดีต เมื่อประกอบกับปัจจัยภายนอกอย่างการตัดถนนเจริญกรุง เพื่อขยายเมืองกรุงเทพฯในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณโดยรอบโรงภาษีร้อยชักสามจึงถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐาน นำมาซึ่งการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่

“ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังคงรายล้อมด้วยสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สถานทูตฝรั่งเศส, มัสยิดฮารูณ, วัดม่วงแค, ร้านค้าดั้งเดิม รวมถึงโรงเรียนและโบสถ์อัสสัมชัญ ในอดีต นอกจากจะใช้เป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าและขาออกที่เรียกว่า ‘ภาษีร้อยชักสาม’ แล้ว อาคารแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของงานสมโภชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ปัจจุบันตัวอาคารถูกปิดการเข้าใช้งาน อยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยมีโครงสร้างส่วนหนึ่งชำรุดผุพัง”

ประธานโครงการพัฒนาฯบอกอีกว่า ด้วยความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสามจะเป็นไปตามหลักการบูรณะอาคารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในทุกขั้นตอน โดยจะยึดการอนุรักษ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก และพลิกฟื้นกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ในแนวทางสากล เพื่อฟื้นคืนชีพสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในอดีตมากที่สุด

“การบูรณะจะเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากการศึกษาเสร็จสิ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การบูรณะอาคารโบราณสถานครั้งนี้จะทำให้อาคารแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง พร้อมต้อนรับความศิวิไลซ์ครั้งใหม่ในย่านริมน้ำเจ้าพระยาไปพร้อมๆ กัน”

สำหรับ “อาคารศุลกสถาน” ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ออกแบบและก่อสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2427-2431 ด้วยฝีมือของสถาปนิกและช่างรับเหมาชาวอิตาเลียน “โยอาคิม แกรซี่” ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลลาเดียน มีลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความโดดเด่นอยู่ที่มุขกลางที่ประดับด้วยนาฬิกา และระเบียงด้านหน้าซึ่งปรากฏซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ในอดีตใช้เป็นอาคารที่ทำการของศุลกสถาน กระทั่งปี พ.ศ.2502 ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ยาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไป

โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 ปี ประกอบด้วยการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี การบูรณะซ่อมแซมอาคารเดิม จำนวน 3 หลัง ด้วยการเสริมโครงสร้างและความแข็งแรง การตกแต่งภายนอก และการตกแต่งภายใน รวมถึงการสร้างอาคารใหม่อีก 1 หลัง ใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาท เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ย่านเจริญกรุงสู่เมืองแห่งความรุ่งเรืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image