คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : เจ้าสัว 4.0

ในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา คุณธนินท์ได้ขึ้นเวทีให้สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณสรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” โดยได้พูดถึงการบริหารความเสี่ยงสไตล์ซีพีว่า ใช้สูตร 30:70 และอธิบายว่าถ้ามีความเสี่ยงไม่เกิน 30% พร้อมลงทุน

เพราะไม่ว่าจะลงทุนไรไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง เว้นแต่เป็นโครงการใหญ่มากขนาดที่มีโอกาสทำให้บริษัทล้มละลายได้ เสี่ยงแค่ 10% ก็ไม่ทำ

“ความเสี่ยงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ยิ่งทำใหญ่ยิ่งเสี่ยงสูง ดังนั้น ถ้าทำใหญ่เกินความสามารถ อาจล้มละลายได้ อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัทใหญ่แล้วจะไม่ล้มละลาย”

นโยบายเครือซีพีจึงชัดเจนว่าเสี่ยงได้แต่ต้องไม่เกินตัว

Advertisement

การทำธุรกิจทั่วไป และสตาร์ตอัพเหมือนกันตรง “ไม่มีสูตรสำเร็จรูป” ต้องทำไปแก้ไป และไม่มีอะไรไม่เสี่ยง

“ถ้าเราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้องแล้วก็ให้เดินหน้าไป ระหว่างที่เสี่ยง สุดท้ายเป้าหมายต้องชัด ไปเจอภูเขาเจอเหวให้คิดหาทางหลีกเลี่ยง แก้ไขปัญหาไป ถ้าใครบอกว่าจะทำธุรกิจโดยไม่มีความเสี่ยงก็อย่าทำ ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรเต็มร้อย”

กรณีโครงการ “รถไฟความเร็วสูง” เจ้าสัวธนินท์ไม่ได้บอกว่าเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ และว่า “เป็นโครงการที่เสี่ยงแต่มีโอกาสสำเร็จถ้ารัฐบาลเข้าใจ”

Advertisement

“เขาตั้งชื่อว่า PPP คือรัฐร่วมกับเอกชน เอาจุดเด่นของเอกชนกับรัฐบาลมาบวกกัน แล้วลบจุดอ่อน

ของรัฐบาล แต่ในทีโออาร์ยังไม่ใช่ รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตกัน ไม่ใช่เอกชนเสี่ยง แต่รัฐบาลไม่เสี่ยง”

สำหรับการลงทุนของเครือซีพีในภาพรวมจะมุ่งไปใน 2 เรื่อง คือ อาหารปากท้อง และอาหารสมอง ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองสิ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้

“เราทำทุกเรื่องไม่ได้หรอก แต่ที่ทำเรื่องอาหาร ทำทีวี ทำโทรศัพท์ เพราะเป็นอาหารกาย และอาหารสมอง มนุษย์ขาดอาหารสองอย่างนี้ไม่ได้ อาหารกายทำให้อิ่มท้อง อาหารสมองให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ทั้งสองอย่างเป็นของคู่กันกับมนุษย์”

ส่วนธุรกิจค้าปลีก ถือเป็นธุรกิจต่อเนื่องที่ให้เรื่องความสะดวก เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในยุค 4.0 จะเห็นว่าทุกธุรกิจมีความต่อเนื่อง เกื้อหนุนกัน เวลาจะขยายธุรกิจ ถ้าเก่งเรื่องใดแล้วจะสามารถขยายไปข้างบนและข้างล่างได้หมด

“อย่างการผลิตรถยนต์ที่มีชิ้นส่วนสี่ห้าพันชิ้นก็ต้องมาผนึกกำลังอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง ต่อไปทุกอย่างในโลกยุค 4.0 จะเป็นอย่างนี้”

เมื่อถามว่า ถ้าต้องมาเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ในวันนี้ จะทำอะไร?

เจ้าสัวธนินท์บอกว่า ต้องไปเรียนรู้สิ่งใหม่จากสตาร์ตอัพ เพราะธุรกิจเก่ามีคนจับจองไปหมดแล้วทั้งยกตัวอย่างธุรกิจขนส่งที่ซื้อสินค้าจากเซเว่นอีเลฟเว่นไปส่งลูกค้า เก็บค่าส่งแล้วได้ข้อมูลลูกค้า มีการเชื่อมโยงกับมอเตอร์ไซค์ และแท็กซี่ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อรถเอง

เจ้าสัวธนินท์เรียกธุรกิจใหม่เหล่านี้ว่า “ธุรกิจตัวเบา” หมายถึงบรรดา “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ที่กำลังได้รับความนิยมนั่นล่ะ ไม่ว่าจะเป็น “แกร็บ, อูเบอร์, ไลน์แมน, แอร์บีเอ็นบี” ทั้งหลาย

“เขากำลังทุ่มเงิน เก็บค่าส่งถูกๆ หรือยอมขาดทุนช่วงแรกให้ได้ลูกค้า เพื่อให้คนไทยติดสะดวกซื้อ อยู่บ้านก็ซื้อได้ อยู่ที่ไหนก็ซื้อได้ เป็นโอกาสของเซเว่นฯมหาศาล แต่ถ้าเซเว่นฯยังไม่ตื่นก็อาจล้มได้ เพราะบริการเหล่านี้เขารู้จักลูกค้ามากกว่า บนเว็บไซต์ก็มีสิ่งที่เซเว่นฯมี และมีสิ่งที่เซเว่นฯไม่มี เช่น เสื้อผ้า”

เจ้าสัวย้ำอีกครั้งว่า อย่าคิดว่าบริษัทใหญ่ล้มไม่ได้ และว่า “วันนี้โลกกำลังเปลี่ยน บัลลังก์มหาเศรษฐีอาจเปลี่ยนได้ แต่การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโอกาสมหาศาลด้วย จึงต้องศึกษาให้ดีว่าจะคว้าโอกาสอย่างไร

“ในประวัติศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอ เก้าอี้จะมีที่ว่างเยอะ อยู่ที่เราจะหาเจอไหม”

คุณธนินท์บอกด้วยว่า “ในชีวิตไม่เคยฉลองความสำเร็จอะไร เพราะรู้ว่าพอสำเร็จแล้วจะตามมาด้วยปัญหา ยิ่งสำเร็จใหญ่ ปัญหาก็จะยิ่งใหญ่ อันเป็นที่มาของประโยคชื่อเดียวกับหนังสือ ?ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว?

“วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็ไม่ใช่แล้ว อาจมีคู่แข่งที่เหนือกว่าจึงต้องศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา มีอะไรต้องเปลี่ยน ต้องทำใหม่ และอย่าไปอิจฉาคนอื่น ดีใจนานไปไม่มีประโยชน์”

เช่นกันกับ “เมื่อผิดหวัง ล้มเหลว ก็ให้เสียใจแค่วันเดียว” พรุ่งนี้เริ่มใหม่แก้ตัวใหม่ สิ่งสำคัญคืออย่าตายไปก่อน ขอให้รักษาชีวิตไว้ ถ้ายังไม่ตายก็ยังมีโอกาสแก้ตัว ให้คิดว่า “ความล้มเหลวคือบทเรียน”

คุณธนินท์ในวัย 80 ยังไปทำงานทุกวันด้วย “ความสนุก” ที่โรงเรียนผู้นำ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่คุ้มค่า ถ้าสร้าง “คนเก่งคนดี” ขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” ที่ดีได้จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งต่อธุรกิจและประเทศได้มหาศาล

“เวลาทำงานให้คิดว่า ไปทำเรื่องสนุก อย่าไปคิดว่าเป็นภาระ เมื่อเจออุปสรรคให้คิดว่า เป็นอาหารสามมื้อของนักธุรกิจ”

ทั้งทิ้งท้ายว่า “ไม่มีอะไรที่ไม่มีปัญหา นอกจากไม่ทำ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้า เราเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็มีปัญหาเมื่อนั้น สมมุติอ้วนขึ้น โตขึ้น เสื้อผ้าก็ต้องเปลี่ยน เช่นกันกับทำธุรกิจที่ต้องเจอปัญหาแน่นอน ยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว ปัญหายิ่งมาก ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากปัญหาก็ยิ่งมาก”

ต้องถือว่า “ปัญหา” เป็นสิ่งที่มาคู่กันกับ “การเปลี่ยนแปลง” และให้คิดว่า “ปัญหา” คือ “ความท้าทาย”

แต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่อย่างซีพี หรือสตาร์ตอัพเกิดใหม่ การจะทำการงานให้สำเร็จ ไม่มีใครเก่งคนเดียว โดยเฉพาะการทำงานใหญ่จะสำเร็จได้ต้องมี “ทีมงาน”

“ถ้าไม่มีเพื่อนพนักงานช่วยกันทำ บริษัทก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ผู้นำที่ดี ไม่ว่าจะทำงานบริษัทหรือเป็นเจ้าของเอง ต้องคิดถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นอันดับแรก อันดับสองคือพนักงาน และคิดถึงตนเองเป็นอันดับสุดท้าย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image