เรียกร้อง‘ยุติโทษประหาร’ คงศักดิ์ศรี‘ความเป็นมนุษย์’

ทุกวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวัน ยุติโทษประหารชีวิตสากล สำหรับประเทศไทยเอง เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส

ช่วงหนึ่งของงาน ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต ให้ความเห็นอย่างห่วงกังวลว่า ประเทศที่นำโทษประหารมาใช้ใหม่ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เมื่อยกเลิกโทษประหารก็ไม่ได้ทำให้อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น ฉะนั้น การใช้โทษประหารจึงไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม

“ไม่นานนี้ ผู้พิพากษาทางใต้ของไทยยิงตัวเอง ไม่ทราบว่าท่านอยู่ใต้ความกดดันใดหรือไม่ แต่ท่านอยู่ในประเทศที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินประหารทำให้ท่านต้องมีความตึงเครียดมาก การเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินโทษประหารกับคนอื่นไม่ได้ต่างจากการทำหน้าที่ของเพชฌฆาตที่พาคนไปแขวนคอ สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกดี มีผู้พิพากษาหลายท่านที่เคยตัดสินโทษประหารชีวิตลาออกจากงานเพราะไม่ได้รู้สึกดี ในโลกนี้ หากเราต้องการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตงอกงาม และให้สังคมมีความกลมเกลียว เราต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต” ฮานน์กล่าว

ด้าน สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า นอกจากการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะคุ้มครองสิทธิของผู้ที่อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญาแล้ว ยังช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้คนอื่นในสังคม รวมถึงคนที่สนับสนุนการใช้โทษประหาร คนที่สนับสนุนความรุนแรงด้วย

Advertisement

“บางคดีเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษที่มีการใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวที่ค่ายทหาร 7 วันโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล จากนั้นส่งตัวไปศูนย์ซักถาม คุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งละ 7 วัน จนครบ 30 วัน ระหว่างนั้นจะมีการซักถามที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า ‘กรรมวิธี’ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าคือการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพหรือคำซัดทอด แล้วให้ลงชื่อยืนยันว่าไม่มีการทรมาน” สมชายกล่าว

สมชาย หอมลออ

ตลอดการเสวนาในวันนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้น ทว่าต้องการทางออกอย่างสันติ เพิ่มศักดิ์ศรีให้ความเป็นมนุษย์ โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ปรากฏตัวพร้อมอ่านถ้อยแถลงของเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ระบุว่า ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมต่างๆ สังคมจึงมีกระบวนการยุติธรรมเชิงโทษทัณฑ์ อาทิ การตัดสินโทษทางอาญา การราชทัณฑ์ และมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้แก่ การชดเชยผู้เสียหายและการคืนความสมานฉันท์สู่สังคม ทั้งนี้ โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา”

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิตจึงฝากข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคม ดังนี้ 1.ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง

2.ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษ จำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมี ดังนี้ 1.จำคุก 2.กักขัง 3.ปรับ 4.ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”

สุดท้าย ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image