อาศรมมิวสิก : ยุโรปขายวัฒนธรรมคลาสสิก วงคอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตรา แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ในงาน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ” ครั้งที่ 21 เป็นงานที่แสดงถึงความเป็นนานาชาติของสังคมกรุงเทพฯ โดยมีวงดนตรีและศิลปะการแสดงระดับที่เรียกว่า “นานาชาติ” ซึ่งก็มีคนเข้าชมหนาตามากทีเดียว ในคืนนั้น มีวงดนตรีคลาสสิก “คอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตรา” มาจากประเทศฮังการี รายการแสดงเริ่มเมื่อเวลา 19.30 น.

เพลงแรก เป็นการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งผู้จัดใช้วิธีเปิดแผ่นเสียงที่มีอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ความจริงหากเป็นไปได้ ในเมื่องานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาตินั้นจะมีวงดนตรีที่เก่งๆ ระดับนานาชาติเข้ามาแสดงทุกปี หากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมีกติกาว่า วงดนตรีจะต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยใช้โอกาสนี้ให้ทุกวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีสด อาจใช้ฉบับที่เรียบเรียงเสียงประสานฉบับที่มีอยู่แล้ว (ของพระเจนดุริยางค์ หรือของฮันส์ มอมเมอร์ หรือของพันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์) หรือเปิดโอกาสให้วงดนตรีเรียบเรียงเองก็ได้ แล้วบันทึกเสียงเก็บเอาไว้ เพราะการบรรเลงสรรเสริญพระบารมีสดโดยวงดนตรีระดับนานาชาติ เก็บเอาไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งที่สำคัญ จะทำให้บทเพลงสรรเสริญพระบารมีมีมิติในการฟังมากขึ้น ทั้งยังให้ความรู้สึกประทับใจที่แตกต่างกันออกไป เพราะว่าเป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้น มีโอกาสอยู่แล้ว

วงคอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตราจากฮังการี เริ่มต้นด้วยเพลงโหมโรง (Les Prludes) ของฟรันซ์ ลิซท์ (Franz Liszt) ซึ่งเป็นบทเพลงที่บรรยายภาพวาด ความยาว 17 นาที โดยเริ่มต้นจากทำนองที่แผ่วเบา แล้วค่อยๆ ดังขึ้นอย่างเร้าใจยิ่ง บทเพลงนี้ลิซท์ประพันธ์ขึ้นเมื่อ 175 ปีมาแล้ว (ค.ศ.1844)

ฟรันซ์ ลิซท์ (มีอายุระหว่าง ค.ศ.1811-1886) เป็นนักเดี่ยวเปียโนและเป็นนักประพันธ์เพลงชาวฮังการีที่มีชื่อเสียงมากในยุโรป ผลงานของเขาถือว่าเป็นผลผลิตของการศึกษาดนตรีแนวใหม่ การเริ่มต้นใหม่ของดนตรีเชื้อสายสำนักเยอรมัน ชื่อของฟรันซ์ ลิซท์ กลายเป็นชื่อของโรงเรียนดนตรี (Liszt Academy of Music) ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี และยังใช้เป็นชื่อของโรงเรียนดนตรี (Hochschule fr Musik Franz Liszt) ในเมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมนีด้วย

Advertisement

บทเพลงที่สอง (Symphonic Fantasy – Francesca da Rimini) เป็นบทเพลงของไชคอฟสกี (Pyotr Tchaikovsky) ความยาว 25 นาที เพลงนี้ฟังยากหน่อย เพราะเป็นเพลงที่เศร้าสร้อยของชีวิตอันมืดมนของเรื่องราวที่ไชคอฟสกีนำมาประพันธ์เป็นบทเพลง ส่งอิทธิพลของอารมณ์เพลงที่แรงกล้า และการบังคับจิตใจให้ผู้ฟังยอมรับความรู้สึกอันรันทดเช่นนั้น

เมื่อได้พักครึ่งไปแล้ว (20 นาที) ครึ่งหลังเป็นบทเพลงของเบลา บาร์ทอค (Bla Bartk) เป็นบทเพลงที่เป็นคอนแชร์โตสำหรับออเคสตรา (Concerto for Orchestra) ความยาว 37 นาที มีด้วยกัน 5 ท่อน แต่ละท่อนเป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีในวงออเคสตราผลัดกันเดี่ยว ซึ่งเล่นประกอบโดยวงออเคสตราเอง เพลงนี้บาร์ทอคได้นำทำนองเพลงพื้นบ้านของฮังการีมาเรียบเรียงให้เล่นด้วยวงออเคสตรา ประหนึ่งว่าเป็นการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันหรือเป็นการทำเพลงกระจอกๆ ให้โลกรู้จัก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำเพลงพื้นบ้านทั่วๆ ไปมาร้อยเรียงให้กับวงออเคสตรา เท่ากับการเปิดโลกดนตรียุโรปหรือโลกดนตรีคลาสสิก โดยรับเอาดนตรีอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากดนตรียุโรปอีกด้วย

เมื่อจบเพลงนี้แล้ว วงคอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตรา ได้เล่นเพลงแถมอีก 2 เพลงด้วยกัน คือ เพลงแรกเป็นเพลงโหมโรง (Ruslan and Ludmilla) ผลงานของมิคาอิล กลินคา (Mikhail Glinka) ซึ่งเป็นนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย วงดนตรีในยุโรปนั้นนิยมเล่นเพลงนี้เป็นเพลงแถม ความยาว 4.30 นาที ส่วนเพลงแถมที่สอง คือ เพลงฮังกาเรียนแดนซ์ (Hungarian Dance No. 2) ซึ่งเป็นผลงานของบรามส์ (Johannes Brahms) บรามส์นั้นได้เขียนเพลงฮังกาเรียนแดนซ์ไว้ถึง 21 บทด้วยกัน

Advertisement

ทุกบทก็นำทำนองเพลงของพวกยิปซีในฮังการีมาเขียนเรียบเรียงสำหรับวงออเคสตรา เป็นเพลงสั้นๆ ความยาวประมาณ 3.30 นาที

การแสดงดนตรีของวงคอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตราจบลงแค่นี้ รู้สึกยังไม่แทงใจเท่าไหร่นัก เพราะวงดนตรีได้รักษาเสียงแบบโบราณ นักดนตรีถูกฝึกให้ใช้เสียงแบบโบราณ โดยเฉพาะวงดนตรีในเขตยุโรปตะวันออกอย่างฮังการี เช็กรีพับลิค ยูโกสลาฟ และกลุ่มประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเดิม ในส่วนของนักดนตรีเอง ดูเหนื่อยและไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนักที่ได้มาเล่นในประเทศไทย เล่นแค่คืนเดียวก็บินกลับแล้ว นักดนตรีก็คงเล่นเพลงเหล่านี้มาหลายร้อยครั้งแล้ว แต่ดูเหมือนนักดนตรีก็คงทำงานแบบเทเลโฟนีออเคสตรา (Telephony Orchestra) คือรวมตัวกันแล้วรับไปเล่นงาน ไม่ต้องซ้อมเพราะรู้จักเพลงดี ยิ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยแล้ว ตัวจริงก็มีน้อยหน่อย ตัวแทนก็เล่นไปให้จบงาน

สำหรับอันเดร เคลเลอร์ (Andrs Keller) ผู้ควบคุมวง ใช้วิธีควบคุมวงแบบโบราณ คือก้มหน้าก้มตาดูโน้ต มือก็โบกวงให้เล่นไป คงเป็นงานที่เขาไม่ค่อยถนัดนัก เพราะไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ควบคุมวงอาชีพ เดิมนั้นเขาเป็นนักเล่นไวโอลินมาทั้งชีวิต เป็นนักไวโอลินหัวหน้าวงออเคสตรา เป็นนักไวโอลินผู้ก่อตั้งวงเครื่องสาย (Keller String Quartet) มีความชำนาญในการเล่นไวโอลิน เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องการจะเปลี่ยนอาชีพ โดยผันตัวเองไปเป็นผู้จัดเทศกาลงานแสดงดนตรีคลาสสิก เป็นผู้ควบคุมวงออเคสตรา เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และมีพรรคพวกเยอะ

อาจจะเป็นเพราะเหตุเหล่านี้ จึงทำให้เสียงของวงคอนแชร์โตบูดาเปสต์ซิมโฟนีออเคสตราออกมาแบบโบราณ ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา ไม่หนักแน่น เรื่อยๆ แต่แน่นอนความเป็นมาตรฐานและคุณภาพของยุโรปนั้น ได้ทำหน้าที่ครบถ้วนทุกประการ เมื่อมีนักดนตรีฝีมือสูง วงดนตรีมีชื่อเสียง และมีผู้ควบคุมวงดนตรีอาชีพ ที่เกิดมาเพื่อทำงานควบคุมวงดนตรี บทเพลงก็คงตื่นเต้นขึ้นกว่านี้อีกไม่น้อย

การมีวงดนตรีในระดับนานาชาติเข้ามาเสนอวัฒนธรรมเพลงคลาสสิกของยุโรป เล่นเพลงแบบโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่ เพลงโบราณเหล่านี้เป็นเพลงที่ผู้ฟังรู้จักเป็นอย่างดี บทเพลงถูกเล่นซ้ำๆ ผู้ฟังก็ได้ฟังเพลงซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า สามารถที่จะจับผิดและบอกถูกว่าชอบหรือไม่ชอบตามจริตของตนได้ แต่เพลงโบราณเหล่านี้ก็ถูกนำมาแสดงซ้ำๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

สามารถขายเป็นสินค้าให้แก่ผู้ฟังของโลกได้ และสามารถพูดได้ว่า ยุโรปนั้น ขายความเป็นวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิกทั้งทวีป

จากประสบการณ์มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (21 ปี) ทำให้ประเทศไทยได้เริ่มเรียนรู้ความเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น นักดนตรีต่างชาติเดินทางมาแต่ตัว ไม่ต้องเอาเครื่องดนตรีที่ขนย้ายยากมาอีกต่อไป เอามาเฉพาะเครื่องดนตรีส่วนตัว ส่วนอุปกรณ์ที่ขนย้ายยากและเครื่องดนตรีใหญ่ก็ให้มาหาเอาในเมืองไทยได้ อาทิ ฮาร์ป ดับเบิลเบส เครื่องกระทบ กลองใหญ่ ทิมปานี
ทั้งชุด ยกเว้นแต่เครื่องดนตรีส่วนตัวและอุปกรณ์เฉพาะตัวเท่านั้นที่นักดนตรีถือมาเอง ถือว่าประเทศไทยมีเครื่องและอุปกรณ์ชั้นนำ สามารถรองรับงานระดับนานาชาติได้แล้ว รวมทั้งหอแสดงดนตรีที่หรูอย่างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยก็มีแล้ว

เมื่อการแสดงจบลง ออกมาจากศูนย์วัฒนธรรมฯ ตอน 4 ทุ่ม แต่ก็ไปไหนไม่ได้เพราะว่าฝนตกหนัก แฟนเพลงทั้งหลายก็ต้องคอยให้ฝนหยุดก่อน ยกเว้นท่านที่มีคนขับรถ ก็สามารถให้คนขับรถเวียนไปรับท่านผู้มีเกียรติได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีคนขับรถหรือคนที่ใช้รถสาธารณะ ก็ต้องคอยให้ฝนหยุดเสียก่อน จึงจะกลับบ้านได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม น่าจะเสนองบประมาณเจาะอุโมงค์สำหรับคนเดิน จากสถานีรถไฟใต้ดิน (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เพื่อให้ประชาชนเดินเข้าออกที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้สะดวกกว่านี้ ซึ่งมีระยะทาง 400 เมตร นอกจากจะเจาะเป็นทางเดินกันแดดกันฝนแล้ว ก็ใช้พื้นที่เป็นตลาดขายของ ขายอาหาร เพื่อแก้ปัญหาร้านอาหารมีน้อย ที่นั่งพักคอยของศูนย์วัฒนธรรมฯ ไม่พอ หากท่านรัฐมนตรีคนปัจจุบันทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นงานชิ้นสำคัญที่ผู้คนจดจำว่าท่านได้ทำให้ประเทศนี้เจริญ มิติทางวัฒนธรรมไม่ใช่ว่าจะเป็นตัววัฒนธรรมอย่างเดียว แต่บริบทอื่นๆ ที่ประกอบให้วัฒนธรรมสมบูรณ์ขึ้น ก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

ประมาณว่า เมื่อแฟนเพลงออกจากบ้านไปฟังดนตรี เริ่มตั้งแต่ 4 โมงเย็น เพื่อไปฟังดนตรีตอนทุ่มครึ่ง รีบไปเพราะกลัวรถติดและไม่มีที่จอดรถ ฟังดนตรีเสร็จ 4 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้านก็เที่ยงคืน รวมเวลาที่ใช้ไป 8 ชั่วโมง หากไม่รักกันจริงก็คงไม่มีใครต้องเดินทางมาราธอนไป แต่ถ้าสามารถย่นย่อเวลา ย่นย่อค่าใช้จ่ายได้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดการเรื่องสาธารณูปโภคให้สำเร็จ ชีวิตไทยก็คงน่าอยู่ขึ้นกว่านี้

ฮังการีนั้นถือเป็นประเทศยากจนของยุโรป เป็นประเทศแรกที่มีรถไฟใต้ดินเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งคนจนทั้งหลายสามารถนั่งรถไฟใต้ดินไปฟังเพลงคลาสสิกได้อย่างสะดวกสบายและราคาถูกเสียด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image